insightsocialstudies การท่องเที่ยว,วัฒนธรรม ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตนเอง (ตอนที่ 1)

ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตนเอง (ตอนที่ 1)

ด้วยเพราะเคยเขียนถึงเรื่องวัฒนธรรมไว้หลายตอน แต่ส่วนใหญ่เป็นทฤษฎี มาใน blog นี้ เลยอยากชวนทุกคนได้ไปสัมผัสกับวัฒนธรรมผ่านวิถีของผู้คนจริงๆ โดยสถานที่ที่ผู้เขียนจะเลือกมาเล่านี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องความหลากหลาย หนึ่งในลักษณะเด่นของสังคมไทยได้ด้วย สถานที่นี้ก็คือ “ชุมชนกุฎีจีน” ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเขตธนบุรีปัจจุบัน อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกชุมชนนี้ ก็เพราะคือเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนได้ทำทัวร์อยู่ เลยรู้สึกถึงความน่าสนใจทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในเรื่องความหลากหลายแต่สามารถหลอมรวมกันได้อย่างลงตัว

ชุมชนกุฎีจีน ชุมชนริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา

ชุมชนกุฎีจีน : ชุมชนฝั่งธนที่มีประวัติย้อนหลังได้ถึงสมัยธนบุรี

ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือก็คือฝั่งธนบุรีนั่นเอง โดยประวัติของชุมชนนี้เริ่มต้นที่สมัยธนบุรี (พ.ศ. 2310–2325)

เวลาไปเที่ยวและอยากค่อยๆ สัมผัสตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชุมชนนี้ ผู้เขียนแนะนำให้ไปที่ ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง และโบสถ์ซานตาครูสก่อนเลย รับรองได้อินตั้งแต่จุดเริ่มแน่นอน ดังนั้นไม่รอช้า เราไปย้อนหลังประวัติของชุมชน ผ่านสองสถานที่นี้กัน

ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง (ศาลเจ้าแม่กวนอิม)

ประตูทางเข้าศาล มีอักษรจีนเขียนไว้ อ่านจากขวาไปซ้ายนะ ส่วนตัวผู้เขียนชอบประตูนี้มาก เพราะมันดูเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างสิ่งปลูกสร้างเก่าคือประตู กับสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่อยู่รอบข้าง

“เกียนอันเก่ง” เป็นศาลเจ้าของชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน โดยหากดูจากชื่อ คือ 建安宫 (สำเนียงฮกเกี้ยน คือ เกียนอันเก่ง แต่ถ้าสำเนียงจีนกลาง คือ เจี้ยนอันกง) จะแปลตรงๆ ได้ว่า อาคารที่สร้างความสงบสุขร่มเย็นแก่ชาวฮกเกี้ยน ซึ่งหากใครเข้าไปชมภายในศาลก็จะสัมผัสถึงความรู้สึกนี้ได้ในทันที

“กุฎีจีน” ซึ่งเป็นชื่อของชุมชนแห่งนี้ ก็หมายถึง ศาลเจ้าแห่งนี้นั่นหละครับ โดยความหมายของคำว่า “กุฎี” ตามพจนานุกรม แปลได้ 2 ความหมาย คือ

ความหมายแรก : มาจากภาษาบาลี แปลว่า กุฏิหรือที่พัก

ความหมายที่สอง : ศาสนสถานของศาสนาอื่น

แต่ไม่ว่าจะเป็นความหมายไหนก็เชื่อมโยงกับศาลเจ้าแห่งนี้ได้ทั้งหมด หากเป็นความหมายแรกที่ว่าเป็นกุฏิ จะสื่อถึงที่พักของพระสงฆ์จีน คือ เชื่อกันว่าภายในศาลเจ้าจะมีพื้นที่ซึ่งเคยเป็นห้องที่พระสงฆ์จีนอาศัยอยู่ ส่วนหากเป็นความหมายที่สอง ก็จะสื่อถึงศาสนสถานตามความเชื่อของชาวจีน

ประวัติหรือความเป็นมาของศาลเจ้า

แรกเริ่มบริเวณพื้นที่นี้มีศาลเจ้าอยู่ 2 ศาล คือ ศาลเจ้ากวนอู และศาลเจ้าโจวซือกง สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยนที่ติดตามพระเจ้าตากสินมายังกรุงธนบุรี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) บรรพบุรุษของตระกูลตันติเวชกุลและตระกูลสิมะเสถียรได้เดินทางมาสักการะและเห็นสภาพที่ทรุดโทรมจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าใหม่ในพื้นที่เดิม และยังได้เปลี่ยนเทพประธานเป็นเจ้าแม่กวนอิม โดยช่วงแรกๆ มีภิกษุจีนอยู่จริงจึงกลายเป็นที่มาของชื่อกุฎีจีน ดังที่ผู้เขียนได้เขียนไปตั้งแต่ต้น

สถาปัตยกรรม; ความใส่ใจในแบบชาวจีนฮกเกี้ยน

เมื่อแรกก้าวเข้ามาที่บริเวณลานโล่งหน้าศาลเจ้านั้น สิ่งที่เราทุกคนจะมองเห็นอันดับแรกเลย คือ สถาปัตยกรรมในลักษณะแบบจีนฮกเกี้ยนซึ่งจะต่างจากแบบจีนแต้จิ๋วอย่างชัดเจน นั่นคือ ทรงของหลังคาที่จะมีความลาดเอียงมากกว่า สีตกแต่งที่ดูไม่ฉูดฉาด บานประตูก็จะทำเป็นภาพวาดเขียนสีซึ่งใหญ่กว่าที่อื่น หน้าต่างแกะสลักจากไม้ในลวดลายมังกร มีสี่บาน สองบานตรงกลางทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม ในขณะที่อีกสองบาน ด้านซ้ายและขวาทำเป็นรูปวงกลม เหนือบานประตูตรงกลางแกะสลักด้วยไม้และมีป้ายชื่อศาลเกียนอันเก่งเขียนไว้เป็นอักษรจีน รายละเอียดเหล่านี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งเน้นความสำคัญของการตกแต่งแม้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

โครงสร้างภายนอกของศาลเจ้า บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของชาวจีนฮกเกี้ยน
งานแกะสลักเหนือประตูกลาง และป้ายชื่อศาลเจ้า บ่งบอกถึงความละเอียดในงานของชาวจีนฮกเกี้ยน

อีกจุดที่ไม่อยากให้พลาด คือ บริเวณประตูด้านข้าง โดยประตูนี้เป็นประตูของพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่พำนักของภิกษุจีนเมื่อสมัยแรกเริ่มของศาลเจ้า ด้วยการมีต้นไม้อยู่ทั้งสองข้าง และรอยลอกบริเวณผนัง จึงทำให้พื้นที่นี้มีความลงตัวในการถ่ายรูปมาก ได้แบบ vintage เลยทีเดียว ลองจัดมุมถ่ายกันดู สวยแน่นอน ผู้เขียนรับประกัน…..

ประตูหน้าทางเข้าพื้นที่ซึ่งเชื่อว่าเคยเป็นที่พำนักของภิกษุจีน

ภายในศาลเจ้า; สงบ พักใจ และขอพรให้เราสมปรารถนากับเจ้าแม่กวนอิมและองค์เทพหม่าโจ้ว

จากด้านนอก เราลองเข้าไปในตัวศาลกัน ภายในเราจะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ ต่างจากศาลเจ้าอื่นๆ ที่เคยไปมาก เสียดายที่มีกฎห้ามถ่ายรูปเลยเก็บภาพบริเวณด้านในมาไม่ได้ แต่จะลงเป็นภาพเจ้าแม่กวนอิมที่เลือกจากinternet มาลงให้ดูละกันนะครับ เมื่อก้าวเข้ามาในศาล สิ่งแรกที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้คือบริเวณผนังใกล้ประตู จะทำเป็นภาพเขียนสีเทพอารักษ์ เมื่อเดินไปอีกนิดบริเวณด้านซ้ายจะพบกับเทพไช่ซิงเอี้ย เทพเจ้าที่อำนวยโชคด้านการเงิน ส่วนบริเวณตรงกลางด้านในจะประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม องค์เทพประธานของศาลเจ้า และมีเจ้าแม่ทับทิมอยู่ด้านข้างด้วย นอกจากนี้ด้านข้างซ้ายและขวาจะวาง 18 อรหันต์ด้วย

เจ้าแม่กวนอิม ขนาบ 2 ด้านซ้าย-ขวา คือ หม่าโจ้วหรือเจ้าแม่ทับทิม (ภาพจาก https://www.bangkokbigears.com/ โดยคุณธนิศร หลักชัย)

พูดถึงเจ้าแม่กวนอิมแล้ว ท่านคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรตามการตีความในพุทธศาสนามหายานแบบของจีนซึ่งภายหลังก็มีอิทธิพลต่อชาติที่ได้รับอารยธรรมจีนด้วยเช่นกัน จุดเน้นของเจ้าแม่คิดว่าทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว คือ เน้นเรื่องความเมตตากรุณา การช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ แต่สำหรับศาลเจ้าเกียนอันเก่งนี้ด้วยลักษณะเครื่องทรงของท่านที่เป็นชุดทรงงานบวกกับการวางคู่กับเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งจะอำนวยเรื่องการเดินทาง การทำมาค้าขาย ดังนั้นผู้ที่มากราบไหว้ที่นี่จึงมักขอพรกันในเรื่อง “หน้าที่การงาน การทำธุรกิจให้สำเร็จเป็นส่วนใหญ่” เมื่อไหว้ขอพรกันแล้ว บริเวณพื้นที่ที่วางเจ้าแม่กวนอิมและหม่าโจ้ว ให้เราลองมองไปกำแพงด้านซ้ายและขวาจะพบกับจิตรกรรมฝาผนังเรื่องสามก๊ก แม้จะวาดไว้นานแล้ว แต่ก็ยังความสวยงามอยู่มาก

อาคารรอง; ภาพสะท้อนของการผสมผสานทางความเชื่อ

ทางด้านซ้ายมือของอาคารหลัก จะมีอาคารรอง ซึ่งเชื่อกันว่าเคยเป็นที่พำนักของภิกษุจีนในสมัยเริ่มแรก (ที่ประตูด้านนอก ผู้เขียนแนะนำว่า เป็นจุดถ่ายรูปแบบ vintage นั่นแหละ) ปัจจุบันพื้นที่หนึ่งของอาคารนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ในปางที่แตกต่างกัน และจะมีพระสังกัจจายน์วางอยู่ด้านหน้า หากเราสังเกตพุทธลักษณะของพระพุทธรูปเราจะรู้ทันทีว่าเป็นพระพุทธรูปแบบไทยในแนวนิกายเถรวาท ซึ่งถือว่าต่างไปจากเทพต่างๆ ที่เราได้เห็นมาในอาคารหลัก ที่เป็นเทพจีนในแนวลัทธิเต๋า หรือพระโพธิสัตว์ในแนวคิดพุทธศาสนานิกายมหายาน ลักษณะเช่นนี้เป็นการบ่งบอกถึงการเคารพความเชื่อหลักของคนไทยเดิมคือพุทธศาสนานิกายเถรวาท และยังสามารถชี้ถึงการผสมผสานทางความเชื่อในชุมชนกุฎีจีนได้อีกด้วย ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับพระสังกัจจายน์ ที่ได้รับการนับถือและบูชาทั้งทางเถรวาทและมหายาน โดยส่วนใหญ่คนจะขอพรท่านในเรื่องโชคลาภ เรื่องของการผสมผสานทางความเชื่อนี้จึงยิ่งชัดเจน ตรงจุดนี้ยังมีตู้ที่เก็บป้ายวิญญาณบรรพชนของชาวจีนที่อาศัยยังชุมชนนี้ และมีเตาเผากระดาษเงินกระดาษทองเวลาที่เซ่นไหว้เทพหรือบรรพบุรุษด้วย

จากศาลเจ้าเกียนอันเก่ง สถานที่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “กุฎีจีน” และเรื่องราวของชาวจีนภายใต้ความเชื่อและวัฒนธรรมของลัทธิเต๋า และพุทธศาสนานิกายมหายาน คราวนี้ผู้เขียนจะพาทุกคนไปยังพื้นที่วัฒนธรรมและความเชื่อจุดที่ 2 ของชุมชน “กุฎีจีน” อันสัมพันธ์กับชื่อที่ว่า “ฝรั่งหลังกะดีจีน” โดยจากศาลเจ้าเกียนอันเก่ง ให้เราเดินเลียบในเส้นทางริมแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาทางด้านฝั่งสะพานพระพุทธยอดฟ้า ไม่นานก็จะเจอที่นี่แล้ว

โบสถ์และชุมชนซานตาครูส

โบสถ์ซานตาครูส ด้านฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ถ่ายตอนเส้นทางเลียบแม่น้ำ ยังไม่เสร็จ แต่ตอนนี้เสร็จแล้วนะ…)

“โบสถ์ซานตาครูส” ถือเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งที่เป็นเอกลักษณ์ของ “ชุมชนกุฎีจีน” โดยด้านหน้าโบสถ์จะหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นถ้าเราเข้าด้านนี้ก็คือเราเข้าในฝั่งด้านหน้าของโบสถ์นั่นเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่อาคารสถานที่รวมถึงศาสนสถานสมัยก่อนจะหันออกสู่แม่น้ำ เนื่องจากเส้นทางน้ำถือเป็นเส้นทางสายหลักในการคมนาคมสื่อสารต่างจากปัจจุบันที่ถนนเป็นเส้นทางหลักแทน

ประวัติและที่มาของโบสถ์ซานตาครูส

“โบสถ์ซานตาครูส” เป็นโบสถ์คาทอลิก ประวัติของโบสถ์รวมถึงชุมชนบริเวณโบสถ์นี้ เริ่มต้นสมัยธนบุรีเช่นเดียวกับศาลเจ้าเกียนอันเก่ง โดยในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวโปรตุเกสได้มีส่วนในการช่วยเหลือพระเจ้าตากสินในการทำสงครามกับพม่า โดยเฉพาะความช่วยเหลือในด้านการพยาบาล ด้วยเหตุนี้พระเจ้าตากสินจึงได้มอบที่ดินผืนหนึ่งให้กับพวกเขา ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณโบสถ์ซานตาครูสนี้นั่นเอง

จากประวัติตรงนี้จึงชัดเจนว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ก็ล้วนแต่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยธนบุรีนู้นแหนะ แต่ด้วยการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับคนไทยในบริเวณพื้นที่นี้นับแต่อดีตมา จึงทำให้ทุกวันนี้คนในพื้นที่นี้ถูกหลอมรวมกลายเป็นคนไทยกันไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศาสนารวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่างที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน คืออะไรนั้น ผู้เขียนจะค่อยๆ พาทุกคนเข้าไปชมกันครับ

โบสถ์ซานตาครูส ศาสนสถานที่เป็นเอกลักษณ์ของ ชุมชนกุฎีจีน

แม้ประวัติของโบสถ์ซานตาครูสจะย้อนหลังไปได้ถึงยุคธนบุรี แต่โบสถ์ซานตาครูสที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้สร้างใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เองนะ ถือเป็นโบสถ์ซานตาครูสหลังที่สาม หลังแรกสร้างในปี พ.ศ. 2313 มีลักษณะเป็นอาคารไม้ขนาดเล็ก ใช้งานได้ 65 ปี ก็ทรุดโทรมลง จึงสร้างหลังที่สอง โดยหลังนี้จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไปทางจีนอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะคนในชุมชนซานตาครูสนี้อาศัยอยู่ในใกล้กับชุมชนชาวจีนในบริเวณพื้นที่ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง และวัดกัลยา จึงได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมา (อีกทั้งมีชาวจีนส่วนใหญ่หันมานับถือคาทอลิกด้วย) โบสถ์หลังนี้ใช้ต่อมาอีก 81 ปี ก็ทรุดโทรมลง ในสมัยรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2459) จึงมีการสร้างหลังใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือหลังที่เราเห็นในปัจจุบัน

สถาปัตยกรรม : ความสวยงามกับส่วนผสมที่ลงตัว

ด้วยการที่โบสถ์หลังที่สามนี้สร้างในยุคที่อิทธิพลตะวันตกมีบทบาทต่อโลกมาก จึงไม่ต้องแปลกใจว่า รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโบสถ์หลังนี้จึงต้องมีลักษณะนี้เช่นกัน ที่น่าสนใจคือไม่ใช่แค่ศิลปะแบบเดียว แต่เป็นส่วนผสมระหว่าง 2 แบบ คือ Renaissance กับ Neo-Classic โดยจุดเด่นของโบสถ์อยู่ที่ทรงโดม ส่วนภายในตัวอาคารเพดานจะมีความสูงมาก จึงใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดานแบบโค้ง สำหรับใครที่สนใจจะเข้าชมภายในตัวโบสถ์ โบสถ์จะเปิดเพียง 2 ช่วง คือ เช้ากับเย็น ตามเวลาสวดภาวนาครับ

ภายในโบสถ์ซานตาครูส ในช่วงเวลาสวดภาวนา

ในเรื่องของชื่อ คำว่า “ซานตาครูส (Santacruz)” ทุกคนคงน่าจะพอเดาได้จากประวัติของโบสถ์ที่ผู้เขียนได้เล่าไปตอนต้น ว่าต้องเป็นภาษาโปรตุเกสแน่นอน โดยคำว่า Santacruz หมายถึง กางเขนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Cross) โดยที่ได้ชื่อนี้ก็เพราะว่า ในวันที่โบสถ์ซานตาครูสหลังแรกเปิดตรงกับวันเฉลิมฉลองไม้กางเขน ตรงนี้เองเลยกลายเป็นชื่อของโบสถ์รวมถึงชุมชนบริเวณนี้ไปโดยปริยาย

ภาพวาดริมกำแพงแสดงแผนที่ของชุมชนและพื้นที่รอบข้าง

จากบริเวณโบสถ์ หากเข้ามาทางเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทางซ้ายมือของโบสถ์จะเป็นเส้นทางเล็กๆ ที่นำเราเข้าสู่ชุมชน เมื่อเข้ามา จุดแรกที่จะเจอคือ ภาพวาดริมผนัง ที่ทำเป็นแผนที่ของชุมชนกุฎีจีนและพื้นที่บริเวณรอบข้าง ซึ่งทำให้เรามองเห็นผังของชุมชนได้ชัดเจน เดินไปอีกนิดก็จะเป็นตรอกเล็กๆ ที่มีภาพกราฟฟิตี้บอกเล่าวิถีชุมชนอยู่ แต่ด้วยพื้นที่ตรอกค่อนข้างเล็ก ใครที่อยากถ่ายภาพบริเวณพื้นที่นี้อาจต้องใช้ความพยายามซักเล็กน้อยนะ

ภาพวาดบริเวณกำแพงแสดงวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ภาพวาดบริเวณกำแพงที่สื่อถึงวิถีชีวิตแห่งสายน้ำ
ตรอกทางเข้าเล็กๆ ที่จะนำเราไปสู่ชุมชน ตลอดทางล้วนมีกระถางต้นไม้ ประดับให้ดูร่มรื่นน่าเดิน

ตลอดทางของชุมชนเราจะเห็นการตกแต่งพื้นที่ได้อย่างลงตัวกับโครงสร้างบ้านเรือน ที่ชอบมาก คือ การนำกระถางต้นไม้เล็กๆ มาจัดเรียง ตรงนี้เคยพานักท่องเที่ยวมาเดิน เค้าชมมากว่าดูน่ารักเก๋ไก๋ดี และยังมีอีกหลายจุดที่จะแชะแค่ภาพซีน จะเซลฟี่ หรือถ่ายแบบ portrait ก็เรียกได้ว่าสวยลงตัวหมด ดังนั้นคนที่ชอบถ่ายภาพห้ามพลาดเชียว

บริเวณด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน

จากบริเวณตรอกที่มีภาพกราฟฟิตี้ เดินมาอีกนิดหนึ่งก็จะเจอ “พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคุณนาวินี พงศ์ไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา ศาสนาและรากเหง้าของ ชุมชนกุฎีจีน โดยพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านส่วนตัว 3 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นร้านกาแฟและร้านขายของที่ระลึก ส่วนพิพิธภัณฑ์จะอยู่ชั้น 2 และ 3

การจัดแสดงบริเวณชั้น 2
อาหาร+เครื่องเทศ สมุนไพร

ชั้น 2 จัดแสดงในหัวข้อ “กำเนิดสยามโปรตุเกส” บอกเล่าถึงการเข้ามาของชาวโปรตุเกสนับตั้งแต่สมัยอยุธยา การก่อตั้งชุมชน รวมถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวโปรตุเกสต่อสยาม เช่นเรื่องอาหาร ภาษา

ชั้น 3 จัดแสดงในหัวข้อ “กำเนิดกุฎีจีน” บอกเล่าถึงที่มาของชุมชนนับตั้งแต่ได้รับพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมถึงจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนคาทอลิกแห่งนี้

อาหารของชาวโปรตุเกสแบบจำลอง เรียกว่ายั่วน้ำลายกันได้เลย…
ภาพวิวเมื่อมองจากชั้นดาดฟ้า

Highlight ที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาดในชั้นนี้ คือ แบบจำลองโบสถ์ซานตาครูสทั้ง 3 หลัง ซึ่งผู้เขียนได้เขียนไว้แล้วตรงส่วนประวัติของโบสถ์ มาตรงนี้ทุกคนจะเห็นพัฒนาการของโบสถ์ได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการจำลองห้องนอน รวมถึงอาหารของชาวโปรตุเกสให้เห็นด้วย เรียกว่ายั่วน้ำลายได้เลยแหละ แม้จะเป็นของจำลองก็ตาม เมื่อเสร็จจากชั้นนี้แล้ว หากมีเวลาอย่าเพิ่งรีบลงกันนะ แนะนำว่าให้ขึ้นไปชมวิวของชุมชนกุฎีจีนที่ชั้นดาดฟ้า จะเห็นถึงสถาปัตยกรรม ผังบ้านเรือนชุมชน สถานที่ใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน

อยากลิ้มลองรสชาติอาหารสยาม-โปรตุเกส ต้องที่นี่เลยนะ..

สำหรับใครที่เห็นแบบจำลองอาหารโปรตุเกสแล้วอยากลิ้มลองรสชาติ ผู้เขียนแนะนำว่าพอเดินออกจากบ้านพิพิธภัณฑ์ให้เลี้ยวซ้าน เดินไปอีกนิดจะเจอบ้านที่เขียนหน้าบ้านว่า “บ้านสกุลทอง” ซึ่งจะมีอาหารไทย-โปรตุเกสไว้ให้ทุกคนที่อยากสัมผัสรสชาติได้ลองเข้ามาทานกัน เมนูเด่นๆ ที่ไม่ควรพลาด เช่น หมู/เนื้อซัลโม ขนมจีนแกงไก่คั่ว / จีบตัวนก / กุ้งกระจกม้วน / ส้มฉุน ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ จะสามารถ walk-in เข้ามานั่งทานได้เลย แต่ถ้าเป็นวันธรรมดาหรืออยากทานเป็นแบบ Private Course ให้นัดหมายล่วงหน้าอย่าน้อย 3 วัน ผ่านเบอร์โทร 062-605-5995

หน้าตาอาหารทั้งคาวและหวาน เรียกน้ำย่อยกันพอได้ไหมครับ…

พูดถึงอาหารแล้ว มีขนมที่เรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนกุฎีจีนและสะท้อนการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่างลงตัวนั่นคือ “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” ขนมเค้กชิ้นแรกๆ ที่เริ่มทำในไทย รูปร่างของขนมคล้ายขนมไข่ กรอบนอกนุ่มใน มีรสชาติที่ลงตัวมาก โดยการทำขนมทุกวันนี้ยังคงใช้เตาถ่านแบบโบราณอยู่

ภายในร้านธนูสิงห์ เบื้องหลังความอร่อยของขนมฝรั่งกุฎีจีน

การทำขนมฝรั่งได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกสนับตั้งแต่สมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีวัตถุดิบสามอย่าง คือ แป้งสาลี ไข่เป็ด และน้ำตาลทราย โดยนำมาตีให้ส่วนผสมเข้ากันจนขึ้นฟูและนำมาเทลงบนแม่พิมพ์ จากนั้นโรยหน้าขนมด้วย ลูกเกด ลูกพลับ ฟักเชื่อม รวมถึงน้ำตาลทราย อันเป็นวัฒนธรรมจีน ส่วนที่โรยหน้านี้ล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ ฟักเชื่อมก่อให้เกิดความร่มเย็น น้ำตาลทรายก่อให้เกิดความมั่งคั่งไม่รู้จบ ลูกพลับอบแห้งและลูกเกดถือเป็นของมีราคาแพงและให้คุณค่าทางอาหาร

ขนมฝรั่งและโกโก้จากร้านธนูสิงห์ แวะเวียนไปทานกันได้นะครับ

ปัจจุบันมีร้านที่ขายขนมฝรั่งกุฎีจีนเหลือไม่มาก โดยร้านที่ผู้เขียนจะแนะนำ คือ ร้านธนูสิงห์ จะอยู่ด้านใน ใกล้ๆ กับเรือนจันทนภาพ รสชาติกรอบนอกนุ่มใน ไม่หวานไป ไม่เลี่ยน โดยร้านธนูสิงห์เปิดเป็นคาเฟ่ด้วย ไปนั่งจิบกาแฟ ชา หรือโกโก้ควบคู่กับทานขนมฝรั่งก็ได้รสชาติไปอีกแบบนะ คนขายก็ friendly เป็นกันเองมากเลย

เส้นทางก่อนถึงร้านธนูสิงห์ อีกหนึ่งจุดที่เหมาะกับการแชะภาพเก็บเป็นที่ระลึกมาก
เรือนจันทนภาพ เมื่อมองจากชั้นดาดฟ้าของพิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน เห็นหน้าจั่วลายแสงอาทิตย์ชัดเจน

ทานกันอิ่มแล้วก็อย่าเพิ่งรีบเดินออกจากชุมชนไปก่อนหละ ใกล้ๆ กับร้านธนูสิงห์ จะเป็นเรือนจันทนภาพ ผู้เขียนเคยเข้าไปเยี่ยมในเรือนครั้งหนึ่งกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เรียนไกด์มาด้วยกัน เจ้าของ คือ คุณป้าแดง จารุภา เล่าว่าเรือนนี้รื้อมาจากเมืองจันทบุรี เป็นเรือนไทยไม้สักแบบวิคตอเรียนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จุดที่น่าสนใจของเรือนไม้สักแห่งนี้อยู่ที่หน้าจั่วที่ทำเป็นลักษณะลายแสงอาทิตย์ ส่วนบริเวณหย่องหน้าต่างและซุ้มประตูจะแกะสลักลวดลายพุดตานแบบจีน เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในจะเป็นแนวตะวันตก เรียกว่าผสมวัฒนธรรมหลากหลายได้อย่างลงตัวเชียวหละ ปกติหากใครสนใจเข้าเยี่ยมชมเรือนจันทนภาพติดต่อผ่านทางชุมชนก่อนนะครับ เพราะคุณป้าแดงไม่ได้อยู่ประจำที่เรือนนี้

บริเวณหย่องหน้าต่างแกะสลักลวดลายพุดตานแบบจีน

ภาพบรรยากาศในตัวเรือนจันทนภาพ

ก่อนเดินลัดเลาะออกจากชุมชน จะผ่านเรือนไม้ทรงบ้านขนมขิงที่เราเห็นเวลาเราเดินผ่านเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างทางจากโบสถ์ซานตาครูสไปถึงศาลเจ้าเกียนอันเก่ง แต่คราวนี้เราจะเห็นบริเวณทางเข้าของบ้าน ก็ดูได้อารมณ์ไปอีกแบบหนึ่ง

สำหรับชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้ ยังเหลือสถานที่สำคัญอีก 2 ที่ ที่ผู้เขียนยังไม่ได้พาทุกคนไป เนื่องจากบทความนี้เริ่มยาวละ ยังไงขอยกยอดไปบทต่อไปละกันนะ จะเป็นที่ไหนนั้น รอติดตามกันนะทุกคน…

If you like, please share this!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Post

ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตัวเอง (ตอน 2)ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตัวเอง (ตอน 2)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เกริ่นนำเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม และนำเสนอสถานที่สำคัญ 2 ที่ ซึ่งเป็นที่มาและจุดเริ่มต้นของความเป็น ชุมชนกุฎีจีน นั่นคือ ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง และโบสถ์+ชุมชนซานตาครูส ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรกก็กลับไปอ่านกันก่อนได้นะครับ (กดตาม link ที่ให้ได้เลย) จะได้อินกันต่อกับชุมชนแห่งนี้ได้มากขึ้น ชุมชนกุฎีจีนนอกจากศาลเจ้าพื้นที่ความเชื่อในพุทธมหายาน+เต๋า และโบสถ์พื้นที่ความเชื่อของชาวคาทอลิก ยังมีสถานที่น่าสนใจและเป็นพื้นที่ในอีก 2 วัฒนธรรมความเชื่อ เริ่มที่สถานที่แรกกันเป็นศาสนสถานในความเชื่อของชาวพุทธเถรวาท แต่ก็แฝงความเชื่ออื่นผสมปนอยู่ด้วย สมกับที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เอ….เป็นที่ใดกันนะ มาร่วมทัศนากันต่อเลยครับ…. วัดกัลยาณมิตร; พื้นที่วัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนใน ชุมชนกุฎีจีน