insightsocialstudies การท่องเที่ยว ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตัวเอง (ตอน 2)

ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตัวเอง (ตอน 2)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เกริ่นนำเกี่ยวกับความเป็นมาของชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม และนำเสนอสถานที่สำคัญ 2 ที่ ซึ่งเป็นที่มาและจุดเริ่มต้นของความเป็น ชุมชนกุฎีจีน นั่นคือ ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง และโบสถ์+ชุมชนซานตาครูส ใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนแรกก็กลับไปอ่านกันก่อนได้นะครับ (กดตาม link ที่ให้ได้เลย) จะได้อินกันต่อกับชุมชนแห่งนี้ได้มากขึ้น

ชุมชนกุฎีจีนนอกจากศาลเจ้าพื้นที่ความเชื่อในพุทธมหายาน+เต๋า และโบสถ์พื้นที่ความเชื่อของชาวคาทอลิก ยังมีสถานที่น่าสนใจและเป็นพื้นที่ในอีก 2 วัฒนธรรมความเชื่อ เริ่มที่สถานที่แรกกันเป็นศาสนสถานในความเชื่อของชาวพุทธเถรวาท แต่ก็แฝงความเชื่ออื่นผสมปนอยู่ด้วย สมกับที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่เอ….เป็นที่ใดกันนะ มาร่วมทัศนากันต่อเลยครับ….

วัดกัลยาณมิตร; พื้นที่วัฒนธรรมความเชื่อของชาวจีนใน ชุมชนกุฎีจีน

ด้านหน้าวัดกัลยาณมิตร เมื่อมองจากริมฝั่งน้ำเจ้าพระยาด้านพระนคร (ท่าราชินี)

ที่มาและความหมายของชื่อวัด

สถานที่แห่งที่สามที่ผู้เขียนจะพาทุกคนไปสัมผัสความเป็นชุมชนกุฎีจีน ก็คือ วัดที่มีความหมายว่า “มิตรที่ดี” หรือ วัดกัลยาณมิตร นั่นแหละครับ โดยวัดแห่งนี้สามารถมาได้ 2 ทาง ถ้าที่ผู้เขียนแนะนำ คือ ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปัจจุบันบูรณะแล้ว ทางกว้างเดินสบาย ส่วนอีกทางก็เดินลัดเลาะเข้ามาทางซอยวัดกัลยาณ์ก็ได้ หรือใครมีรถส่วนตัวก็ขับเข้ามาผ่านถนนอรุณอัมรินทร์ตัดใหม่ เข้าวัดได้โดยตรงเลย ในวัดมีที่จอดรถครับ แต่จะมีค่าจอดเล็กน้อย

เรามาเริ่มกันที่ประวัติของวัดกัลยากันก่อนละกัน วัดนี้ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยานิกรบดินทร์ (เจ้าสัวโต แซ่อึ้ง เป็นชาวฮกเกี้ยน ต้นตระกูลกัลยาณมิตร) โดยท่านได้ถวายที่ดินของท่านให้เป็นพระอารามหลวง ต่อมารัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระวิหารหลวงและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ โดยมีพระราชประสงค์ให้เหมือนกรุงเก่า (อยุธยา) คือ มีพระโตอยู่นอกกำแพงเมืองเช่น วัดพนัญเชิง นอกจากนี้ยังถือเคล็ดจากการที่พระองค์มีพระนามว่า “โต” และนาม “โต” นี้ก็ยังพ้องกับชื่อของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ที่มีชื่อว่า “โต” เช่นกัน

ในเรื่องของชื่อวัดกัลยาณมิตร ซึ่งแปลได้ง่ายๆ ว่ามิตรที่ดี นั้น ก็มาจากการที่รัชกาลที่ 3 ทรงถือว่าเจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นพระสหาย (มิตร) ที่ดีของท่าน จึงได้ให้ชื่อวัดเช่นนี้ จากนามของวัดและความเชื่อมโยงระหว่างลักษณะองค์พระในพระวิหารหลวง พระนามรัชกาลที่ 3 ตลอดจนชื่อของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ จึงทำให้ผู้คนที่มากราบไหว้ที่นี่จะขอพรให้ได้มิตรสหายที่ดี อันจะเกื้อหนุนให้สำเร็จในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะเรื่องการค้าขายต่างๆ ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้ว วัดกัลยายังมีชื่อเสียงในเรื่องการอำนวยพรให้เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัยด้วย

หากใช้ทางเดินเลียบแม่น้ำ ก็จะเข้าหน้าวัดพอดี และจะเจออาคารหลัก 3 หลังของวัดแบบนี้

สถาปัตยกรรมบริเวณภายนอกของวัด

เมื่อทราบประวัติคร่าวๆ ของวัดกัลยากันไปแล้ว เรามาเดินทางเข้าสู่วัดกัน จากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหรือจะเป็นบริเวณลานจอดรถหน้าวัดก็ได้ เราจะมองเห็นอาคารสำคัญ 3 หลังของวัด เรียงรายต่อกัน จากซ้ายไปขวา คือ พระอุโบสถ พระวิหารหลวง และพระวิหาร ทั้ง 3 อาคารนี้ ดูกันออกไหมครับว่า อาคารไหนน่าจะมีความสำคัญมากที่สุดของวัดนี้?

หากยังไม่รู้ประวัติ เพียงแค่มองโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมและขนาดของอาคารก็น่าจะดูออกกันเนาะ คำตอบก็คือ อาคารที่อยู่ตรงกลางหรือพระวิหารหลวง นั่นเอง ทั้งขนาดของอาคารที่ใหญ่โตกว่าและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ดูต่างจากพระอุโบสถที่อยู่ทางซ้ายและพระวิหารที่อยู่ทางขวาอย่างชัดเจน โดยขนาดที่ใหญ่กว่าถ้าคิดแบบง่ายๆ ก็เพราะพระวิหารหลวงถูกสร้างขึ้นโดยรัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ ดังนั้นอาคารใหญ่กว่าจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากมองที่เหตุผลลึกๆ ก็เพราะต้องประดิษฐานองค์พระขนาดใหญ่ที่พระองค์มีพระราชประสงค์ให้มีพระโตอยู่นอกกำแพงเมืองเช่นครั้งกรุงเก่าดังที่ผู้เขียนได้เล่าไปแล้วตั้งแต่ต้น

หน้าบันพระวิหารหลวงเป็นแบบไทยประเพณี มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนภาพในหน้าบันตกแต่งเป็นลายดอกพุดตาน
หน้าบันของพระอุโบสถ (ซ้าย) พระวิหาร (ขวา) ตกแต่งเป็นลายดอกไม้โดยใช้เศษกระเบื้องเคลือบจีน ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยม คือ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์

ในด้านโครงสร้างสถาปัตยกรรมนั้นแตกต่างอย่างเห็นชัด โดยพระวิหารหลวงก่อสร้างในลักษณะแบบประเพณีนิยมนั่นคือจะมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อันเป็นแนวคิดที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับใครที่ไม่ทราบว่าอะไรคือช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์หว่า ดูได้ที่รูปภาพด้านบนเลยนะครับ โดยทั้งสามนี้จะสื่อถึงครุฑยุดนาค

อย่างไรก็ตาม พระวิหารหลวงก็ยังมีสถาปัตยกรรมเฉพาะของรัชกาลที่ 3 นั่นคือ ลายตรงหน้าบัน ที่จะทำเป็นรูปลายดอกพุดตานหรือช่อดอกพุดตาน นอกจากนี้เสาก็จะเป็นลักษณะเสาเหลี่ยมแบบเกลี้ยงไม่มีบัวที่หัวเสา

สำหรับอาคารอีก 2 หลัง คือ พระอุโบสถและพระวิหารนั้นจะมีสถาปัตยกรรมเป็นแบบพระราชนิยม หรือจะเรียกง่ายๆ ว่าสถาปัตยกรรมในแนวที่รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯ ซึ่งจะเป็นการนำศิลปะแบบจีนมาผสม ข้อสังเกตง่ายๆ คือ จะไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนตรงหน้าบันก็จะตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบจีนเป็นลายรูปดอกไม้ ส่วนตัวเสาก็จะเป็นเสาเหลี่ยมแบบไม่มีบัวที่หัวเสา

ดังนั้นเวลาพวกเราไปเที่ยววัดแล้วทรงอาคารเป็นลักษณะเช่นว่านี้ก็ให้รู้ไว้เลยว่า อาคารหลังนั้นจะต้องถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 แน่นอน

เจดีย์ย่อมุมบรรจุอัฐิเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ผู้สร้างวัดกัลยาณมิตร ล้อมรอบด้วยถะหรือเจดีย์จีน 4 มุม
เจดีย์จีนที่มียอดเป็นองค์ปรางค์ ล้อมรอบด้วยถะหรือเจดีย์จีน 4 มุม

ในบริเวณลานหน้าวัด บริเวณฝั่งซ้ายจะมีเจดีย์แบบย่อมุมที่บรรจุอัฐิของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ โดยเจดีย์นี้จะถูกล้อมรอบด้วยถะหรือเจดีย์แบบจีนอีกทีหนึ่ง ส่วนฝั่งขวาจะเป็นเจดีย์แบบจีนที่มียอดเป็นองค์ปรางคอีกทีหนึ่ง ล้อมรอบเจดีย์องค์นี้ด้วยถะหรือเจดีย์แบบจีนอีก 4 ด้านเช่นกัน และตรงทางที่จะไปสู่ทางเข้าพระวิหารหลวงก็จะมีศาลาเก๋งจีน แค่นี้ท่านผู้อ่านก็คงเห็นส่วนผสมทางวัฒนธรรมอย่างที่ผู้เขียนบอกไปตั้งแต่ต้นแล้วใช่ไหม แต่ยังไม่หมดนะ ด้านในตัววัดยังมีอีกมากเลยหละ ค่อยๆ เข้าไปดูกัน

กระถางธูปที่ใช้ปักธูปบูชาทีกง และโขลนทวารแบบจีน บริเวณหน้าพระวิหารหลวง
เทียนสีแดง และเทวรูปเทพจีน สะท้อนความเชื่อการเซ่นไหว้แบบจีนในวัดเถรวาทแบบไทย
ทีกง หรือเทพฟ้าดิน ซึ่งเป็นคติของชาวจีนที่จะไหว้เทพองค์นี้ก่อนไหว้เทพองค์หลักหรือเทพประธานอีกทีหนึ่ง ตัวอักษรภาษาจีนด้านหลังอ่านได้ว่า เทียนตี้ฟู่หมู่ หมายถึง พ่อฟ้าแม่ดิน โดยเปรียบ ฟ้า คือ พ่อ และ ดิน คือ แม่

วัดไทยในภาพของความเป็นจีน

เมื่อเดินเข้ามาสู่บริเวณด้านในตัววัด สิ่งแรกที่ทุกคนจะเห็น คือ กระถางธูปแบบจีนขนาดใหญ่ และด้านหน้าก็คือ โขลนทวารหรือซุ้มประตูหินขนาดใหญ่สีทึม ซึ่งเห็นทีเดียวก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นศิลปะจีน และเมื่อมองบริเวณพื้นที่หน้าพระวิหารหลวงทั้งหมดนี้ก็จะเห็นความเป็นจีนเต็มไปหมด เช่น การใช้เทียนเล่มแดง เทวรูปเทพจีนซึ่งจะอำนวยพรต่างกัน แต่ที่เด่นๆ และผู้เขียนคิดว่าคนที่เข้ามากราบไหว้น่าจะเลือกขอพรกับท่านเยอะ เช่น เทพเจ้าแห่งความรัก เทพเจ้าโชคลาภ เรื่องยอดฮิตในการขอพร

อีกสิ่งที่บ่งชี้ความเชื่อของชาวจีนโดยเฉพาะชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนอย่างชัดเจน คือ การวางทีกงหรือเทพฟ้าดิน ไว้หน้าพระวิหารหลวง ซึ่งเป็นคติที่ว่าจะไหว้เทพองค์นี้ก่อนไหว้เทพองค์หลักหรือเทพประธานอีกทีหนึ่ง ในกรณีของวัดกัลยาก็คือ หลวงพ่อโต องค์พระประธานในพระวิหารหลวง และบริเวณทางเข้าตามที่ผู้เขียนได้กล่าวไป จะมีกระถางธูปขนาดใหญ่ นั้นก็ไว้ปักธูปบูชาทีกงหรือเทพฟ้าดินนั่นเอง ทั้งหมดนี้เราจะเห็นชัดเลยว่า วัดนี้แม้รวมๆ จะเป็นวัดพุทธแบบเถรวาท แต่ก็ผสมผสานกับแนวคิดความเชื่อแบบการไหว้เทพจีนในคติของลัทธิเต๋าอยู่หลายเรื่องเช่นกัน

พระพุทธไตรรัตนนายกหรือซำปอกง พระประธานในพระวิหารหลวง

ซำปอกง; ศูนย์รวมความศรัทธาของชาวไทยและชาวจีน

เอาหละถึงเวลาที่เราจะเข้าไปสู่ภายในพระวิหารหลวงกันแล้ว ซึ่งภายในนี้คงไม่มีสิ่งใดที่จะโดดเด่นไปกว่าองค์พระประธานขนาดใหญ่ที่มีนามว่า พระพุทธไตรรัตนนายก หรือคนจีนมักเรียกกันว่า “ซำปอกง” ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาตั้งแต่ต้นว่า รัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยากให้มีพระโตอยู่นอกกำแพงเมืองเหมือนสมัยอยุธยา ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงโปรดให้จำลองพระประธานจากพระวิหารของวัดพนัญเชิงที่อยุธยามาเป็นพระประธานที่พระวิหารหลวงของวัดกัลยานี้

อย่างไรก็ตาม องค์พระประธานที่วัดกัลยาจะมีขนาดเล็กกว่าที่วัดพนัญเชิง ใครที่เคยไปวัดพนัญเชิงมาแล้วคงจะเห็นความต่างได้ชัดเจน แต่ก็ยังถือว่าใหญ่นะ ถ้าเทียบกับพระประธานในวัดอื่นๆ ส่วนนามขององค์พระคือ “พระพุทธไตรรัตนนายก” นั้นเป็นนามที่รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวาย โดยชื่อจะเหมือนกับพระที่วัดพนัญเชิง และชื่อนี้ก็สัมพันธ์กับชื่อองค์พระที่ชาวจีนเรียกด้วย คือ “ซำปอกง”

ขุนนางในราชสำนักจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่เป็นผู้นำในการออกสำรวจทางทะเล และหนึ่งในเส้นทางที่เจิ้งเหอเดินทางมาคือ กรุงศรีอยุธยา โดยเชื่อกันว่า เจิ้งเหอมีส่วนร่วมในการปฏิสังขรณ์วัดพนัญเชิงด้วย

ชื่อของเจิ้งเหอในวัยเยาว์ คือ ซานเป่า (三保) แปลได้ว่า บุตรคนที่สามซึ่งมีค่าประดุจสมบัติ นามนี้เองที่สัมพันธ์กับชื่อ ซำปอ ส่วนคำว่า กง หมายถึงผู้เป็นใหญ่

หลังจากเจิ้งเหอเสียชีวิตลง ด้วยคุณงามความดีต่างๆ ที่ท่านทำ ท่านได้จึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพ และยังได้รับการเคารพนับถือจากชาวจีนเรื่อยมา

เพิ่มเติมเกี่ยวกับเจิ้งเหอ หลายคนอาจเรียนรู้มาว่า ท่านเป็นขันทีชาวมุสลิม ซึ่งก็ถูก แต่ภายหลังท่านได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา และยังมีบทบาทในการจัดทำพระสูตร รวมถึงทำบุญบูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง ประเด็นนี้ด้วยที่ท่านได้รับการเคารพนับถือจากชาวจีนมาก

เอาหละเรามาดูเรื่องพุทธปฏิมาขององค์พระซำปอกงกันบ้าง พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปแบบปางมารวิชัย ศิลปะอู่ทอง ซึ่งเป็นศิลปะที่นิยมทำกันในช่วงอยุธยาตอนต้น โดยเราสังเกตพระพุทธรูปในลักษณะศิลปะแบบนี้ได้จากใบพระพักตร์ที่ค่อนข้างเหลี่ยม

ในคติพุทธแบบมหายานและคติเต๋า เราจะตีกลองก่อนการไหว้เจ้า
มีเซียมซีให้เสี่ยงทาย และอ่านคำทำนายได้ที่บอร์ดตรงผนัง

วัฒนธรรมความเชื่อที่ซ่อนอยู่ภายในวัด

ภายในพระวิหารหลวง จะมีจุดให้ทำทานถวายข้าวสาร ผ้าจีวร และแน่นอนเมื่อเป็นวัดสไตล์จีนก็ย่อมต้องมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมจีนอยู่ด้วย เช่น เซียมซี ฮู้หรือยันต์จีน แต่ที่น่าสนใจ คือ กลอง ตรงนี้นับได้ว่าเป็นการผสมทางวัฒนธรรมความเชื่อได้อย่างกลมกลืน

“โดยตามคติของพุทธแบบเถรวาท เราจะตีระฆังภายหลังจากเราได้ไหว้พระทำบุญกันแล้วเพื่อเป็นการบอกกล่าวบุญที่เราได้ทำไป และยังมีคติที่ซ่อนอยู่ว่า เสียงระฆังที่ดังออกไปก็เหมือนชื่อเสียงคุณงามความดีของเราที่แผ่ขยายออกไป แต่ในคติพุทธแบบมหายาน หรือคติทางลัทธิเต๋าที่นิยมไหว้องค์เทพต่างๆ แล้ว จะตีกลองก่อนการไหว้ใดๆ เพื่อเป็นการเรียกเทพหรือเรียกเจ้าว่าเรามาไหว้ มาเคารพท่านแล้วนะ”

หอระฆัง ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับพระวิหารหลวง

และระฆังของที่วัดกัลยาก็โดดเด่นกว่าที่อื่นด้วยนะ เพราะระฆังที่นี่เป็นระฆังในวัดที่ใหญ่สุดในประเทศไทย หลังไหว้องค์ซำปอกงกันแล้ว อย่าลืมมาตีระฆังบอกบุญกุศลที่ทำกันไปแล้วด้วยนะ โดยหอระฆังจะอยู่ระหว่างพระวิหารหลวงกับพระวิหาร

ความน่าสนใจที่ซ่อนอยู่ของพระอุโบสถ

เสร็จจากพระวิหารหลวงกันแล้ว อย่าเพิ่งรีบเดินออกจากวัดกันหละ ลองเดินไปพระอุโบสถที่อยู่ทางซ้ายมือของพระวิหารหลวงดู ที่นี่ก็มีอะไรน่าสนใจอยู่นะ นับตั้งแต่การประดับบานประตูด้วยรูปเทพอารักษ์แบบจีน กรอบประตูและบานหน้าต่างก็ทำเป็นภาพดอกไม้ในแจกัน ภาพต้นไม้ ในแบบศิลปะจีน ส่วนจิตรกรรมฝาผนังแม้จะลอกค่อนข้างมาก แต่ก็ยังเห็นถึงความงามหรือเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในภาพได้ไม่น้อย ซึ่งล้วนแต่แสดงถึงภาพวิถีชีวิตของผู้คนในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระอุโบสถ ศิลปะพระราชนิยมอย่างชัดเจน และเมื่อเป็นอุโบสถก็จะต้องมีใบเสมาบ่งบอกเขต กรณีวัดกัลยาจะทำเป็นซุ้มเสมาคู่
พระพุทธรูปปางป่าลิไลย์ พระประธานของพระอุโบสถ
บานและขอบประตู รวมถึงบานหน้าต่างล้วนแต่บ่งบอกความเป็นจีนทั้งสิ้น

สำหรับพระประธานของพระอุโบสถ นับว่าโดดเด่นแตกต่างจากที่อื่นเช่นกัน โดยเป็นพระพุทธรูปปางป่าลิไลย์ ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปประจำวันพุธกลางวันด้วยนะ โดยความหมายที่ซ่อนอยู่ของพระพุทธรูปปางนี้ คือ ความสามัคคี ลดความขัดแย้ง เอาตรงๆ พระพุทธรูปทุกปางเนี่ยก็มีเรื่องราวซ่อนอยู่แหละ แต่จะให้เล่าทั้งหมดคงไม่จบบทแน่…. ไว้ว่างๆ ผู้เขียนจะรวบรวมเป็นหนึ่งบทเลยละกันนะครับ

เสร็จจากวัดกัลยาณมิตรแล้ว ยังเหลืออีกที่หนึ่งที่ผู้เขียนอยากพาผู้อ่านทุกคนไปชมกัน ทั้ง unseen และ amazing อย่างมากเลย… เป็นที่ไหนนั้น ไปกันต่อเลยครับ

มัสยิดบางหลวง; มัสยิดทรงไทย อีกหนึ่งเสน่ห์ของ ชุมชนกุฎีจีน

จากวัดกัลยา เราสามารถเดินลัดเลาะกุฏิสงฆ์ที่อยู่ด้านหลังออกมาสู่ถนนอรุณอมรินทร์ตัดใหม่ได้อีกครั้ง และเมื่อข้ามฝั่งไปเราจะเห็นทางเข้าสู่ชุมชนซึ่งผู้คนในพื้นที่นี้จะมีความเชื่อที่ต่างไปจากพื้นที่ก่อนหน้านี้ที่ผู้เขียนได้พาทุกคนไปชมกัน นั่นคือ ชุมชนมุสลิม อีกหนึ่งความเชื่อสำคัญของผู้คนในชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ทางเข้าสู่ชุมชนมัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) เข้าได้ 2 ทาง แต่ผู้เขียนแนะนำเส้นที่ 2 (รูปทางขวา) นะครับ

ชุมชนแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “ชุมชนกุฎีขาว” ทางเข้าของชุมชนจะมี 2 ทาง ทางแรกจะอยู่ตรงข้ามกับวัดกัลยาเลย อีกทางหนึ่งจะเป็นตรอกเล็กๆ อยู่เชิงสะพานข้ามคลองบางหลวง ผู้เขียนแนะนำเส้นที่สองนะครับ เพราะทัศนียภาพรวมๆ ดีกว่า เดินง่ายกว่า

มัสยิดบางหลวงในแบบแนวนอน
ภาพเมื่อครั้งยังทำทัวร์อยู่ ชาวอเมริกันในครั้งนั้นก็ดูจะอึ้งๆ ว่าอาคารนี้ คือ มัสยิด หรือนี่?

สถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์

เมื่อเดินไปได้ซักระยะหนึ่ง (ไม่เกิน 5 นาที) ก็จะมาถึงอาคารหน้าตาแบบในภาพเลยครับ หากผู้เขียนไม่ขึ้นหัวข้อไว้ให้ตอนต้นหรือบอกความเป็นมาของชุมชนกุฎีขาวนี้ก่อน จะดูกันออกไหมว่า อาคารแห่งนี้คืออะไร? คิดว่าร้อยทั้งร้อยทุกคนต้องคิดว่านี่คือวัดอย่างแน่นอนใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วนี่คือมัสยิด ตรงนี้เองที่ผู้เขียนเกริ่นนำตั้งแต่ต้นว่าที่นี่ amazing ส่วน unseen นั้นหมายถึงอยู่ในชุมชน ถ้าไม่ตั้งใจเข้ามาจริงๆ ก็จะไม่พบสถานที่แบบนี้แน่นอน

ชื่ออย่างเป็นทางการของมัสยิดนี้ คือ “มัสยิดบางหลวง” แต่ชื่อเก่า คือ “กุฎีขาว”

คำว่า กุฎี ผู้เขียนเคยให้ความหมายไปแล้วในบทแรกของเรื่องชุมชนกุฎีจีน ว่าหมายถึง ศาสนสถานของศาสนาอื่น (ในที่นี้คืออิสลาม) ส่วนขาวนั้นเพราะตัวอาคารที่เป็นสีขาว ยกเว้นส่วนเพดานและหลังคาที่เป็นสีเขียว

และหากเราดูภาพรวมของอาคารนี้ ผู้เขียนอยากถามทุกคนว่าดูกันออกไหมครับ ว่าน่าจะสร้างขึ้นในช่วงสมัยใด? ลองค่อยๆ นึกจากตอนที่เราดูสถาปัตยกรรมของวัดกัลยาก็ได้นะ…

คำตอบคือ รัชกาลที่ 3 นั่นเอง สังเกตได้จากเสา ที่จะเป็นเสาเหลี่ยมแบบเกลี้ยง สันนิษฐานกันว่าอาคารมัสยิดหลังแรกสร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โดยพ่อค้ามุสลิมที่มีชื่อว่า “โต๊ะหยี” แต่อาคารได้พังลงในช่วงรัชกาลที่ 3 จึงมีการสร้างใหม่เป็นรูปแบบอย่างที่เห็นนี้

ลายศิลปะ 3 ชาติ บนหน้าบันมัสยิดบางหลวง สิ่งที่บ่งชี้ถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว

จุดเด่นของมัสยิดอยู่ตรงหน้าบันซึ่งประดับด้วยปูนปั้นลายศิลปะ 3 ชาต ที่กรอบหน้าบันเป็นเครื่องลำยองประดับห้ามลายไว้บนยอดเป็นศิลปะไทย ส่วนภายในหน้าบันเป็นปูนปั้นลายดอกพุดตานก้านแย่ง ศิลปะจีน ที่นิยมนำมาประดับตกแต่งในงานศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 โดยลายดอกพุดตานนี้ยังใช้ประดับตามกรอบประตูและหน้าต่างของมัสยิดด้วย สำหรับตรงกลางจะทำเป็นรูปพานที่ใช้ลายใบอะแคนทัส (Acanthus) ศิลปะแบบตะวันตก มารองรับดอกบัวที่ภายในบรรจุตัวอักษรที่อ่านได้ว่า อัลลอฮ์ ศาสดาของศาสนาอิสลาม โดยใช้วิธีการเล่นอักษร เขียนคำเดียวกันแบบสองด้าน จุดนี้เองที่บ่งชัดว่าอาคารหลังนี้ คือ มัสยิด ไม่ใช่วัด..

ความงามภายในมัสยิด

มิห์รอบ ซึ่งทำเป็นลวดลายศิลปะไทย-จีน-ตะวันตก เช่นเดียวกับศิลปะบนหน้าบัน

ภายในมัสยิดจะเป็นโถงโล่งเพื่อใช้ในการละหมาด ผนังตกแต่งด้วยจานที่มีภาษาอาหรับเขียนอยู่ภายใน ส่วนหน้าต่างทำจากไม้และทาด้วยสีเขียวทั้งหมด บนหน้าต่างจะมีกรอบรูปประดับอยู่ อีกจุดที่น่าสนใจจะอยู่ด้านในสุด ที่เรียกว่า มิห์รอบ (ออกเสียงว่า เมี๊ยะหรอบ) ซึ่งจะใช้ระบุทิศที่มุสลิมทุกคนจะต้องหันไปเวลาละหมาด (กรณีประเทศไทย คือ ทิศตะวันตก โดยหันไปทางประเทศซาอุดิอารเบีย) ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะตรงจุดนี้จะทำเป็นซุ้มสามยอดประดับด้วยกระจกสีและยังประดับด้วยลายพันธุ์พฤกษาศิลปะไทย-จีน-ตะวันตก ลักษณะเดียวกันกับลายบนหน้าบัน สะท้อนถึงการผสมผสานทางศิลปวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว โดยทั้งหมดนี้สร้างขึ้นแทนของเดิมที่ชำรุดลงในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเจ้าสัวพุก มุสลิมชาวจีนต้นตระกูลพุกภิญโญ

ภายในมัสยิดจะไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้านะครับ ถ้าอยากเข้าชมสามารถติดต่อได้กับอิหม่ามที่ดูแลมัสยิดโดยตรง

และนี่คือทั้งหมดของชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อ ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างแต่ผู้คนในชุมชนก็สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้มานับแต่อดีต สะท้อนผ่านวิถีชีวิต รูปแบบงานทางศิลปกรรม วัฒนธรรมการดำรงชีวิต ว่างๆ ในวันหยุดไม่รู้จะไปไหนดี ลองมาเดินเที่ยวในย่านชุมชนกุฎีจีนกันได้นะครับ แล้วจะสัมผัสได้ถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแบบไทย

ที่ไม่มีหรอกคำว่าไทยแท้หนะ… แต่รากเหง้าทางวัฒนธรรมไทยของเราจริงๆ คือ การผสมหยิบยืมทางวัฒนธรรมต่างๆ และหลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมไทยอย่างที่เห็นในปัจจุบัน…..

ก่อนจากกันไปฝากอีก 1 ช่องทางการติดตาม blog ผ่าน medium นะครับ สามารถไป follow ติดตามอ่าน blog ของครูแป๊ปได้ที่นี่เช่นกันนะครับ


If you like, please share this!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Post

ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตนเอง (ตอนที่ 1)ชุมชนกุฎีจีน; หลากหลายวัฒนธรรมแต่กลมกลืนในตนเอง (ตอนที่ 1)

ด้วยเพราะเคยเขียนถึงเรื่องวัฒนธรรมไว้หลายตอน แต่ส่วนใหญ่เป็นทฤษฎี มาใน blog นี้ เลยอยากชวนทุกคนได้ไปสัมผัสกับวัฒนธรรมผ่านวิถีของผู้คนจริงๆ โดยสถานที่ที่ผู้เขียนจะเลือกมาเล่านี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องความหลากหลาย หนึ่งในลักษณะเด่นของสังคมไทยได้ด้วย สถานที่นี้ก็คือ “ชุมชนกุฎีจีน” ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในเขตธนบุรีปัจจุบัน อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกชุมชนนี้ ก็เพราะคือเส้นทางหนึ่งที่ผู้เขียนได้ทำทัวร์อยู่ เลยรู้สึกถึงความน่าสนใจทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในเรื่องความหลากหลายแต่สามารถหลอมรวมกันได้อย่างลงตัว ชุมชนกุฎีจีน : ชุมชนฝั่งธนที่มีประวัติย้อนหลังได้ถึงสมัยธนบุรี ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือก็คือฝั่งธนบุรีนั่นเอง โดยประวัติของชุมชนนี้เริ่มต้นที่สมัยธนบุรี (พ.ศ. 2310–2325) เวลาไปเที่ยวและอยากค่อยๆ สัมผัสตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชุมชนนี้ ผู้เขียนแนะนำให้ไปที่ ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง และโบสถ์ซานตาครูสก่อนเลย รับรองได้อินตั้งแต่จุดเริ่มแน่นอน ดังนั้นไม่รอช้า เราไปย้อนหลังประวัติของชุมชน ผ่านสองสถานที่นี้กัน