insightsocialstudies การเรียนการสอน ถึงเวลาที่เราต้องปรับการเรียนรู้สังคมศึกษาอย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

ถึงเวลาที่เราต้องปรับการเรียนรู้สังคมศึกษาอย่างจริงจังแล้วหรือยัง?

ครั้งที่แล้วได้พูดถึงภาพรวมของการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษา รวมถึงปัญหาจากการเรียนการสอนวิชานี้ในประเทศไทยไปคร่าวๆ ซึ่งสรุปได้ง่ายๆ คือ เนื้อหามาก เน้นจำ การให้ความสำคัญต่อวิชานี้ในสังคมไทยนั้นยังถือว่าต่ำมากถึงมากที่สุด แม้หลายคนจะเห็นความสำคัญอยู่บ้าง แต่การที่จะหาใครสักคนเข้ามาเปลี่ยนดูเหมือนจะยากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรเลยทีเดียว

ในครั้งนี้จึงอยากให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความสำคัญของวิชานี้ รวมถึงวิธีที่ผู้เขียนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้สังคมไทยของเราได้มีการพัฒนามากขึ้น โดยเมื่อเราพูดถึงความสำคัญของวิชาสังคมศึกษา เราสามารถมองได้ทั้งในระดับของตัวผู้ศึกษาเอง และสังคมโดยรวม

ในฐานะที่ผู้เขียนผ่านการเรียนในสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษามา เค้าจะบอกว่าเป้าหมายหรือความสำคัญสูงสุดของวิชานี้ คือ การทำให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม อย่างไรก็ตามหากเราตีความคำๆ นี้ดีๆ จะเห็นได้ว่ามันตีความได้ 2 แบบ แบบแรกคือเป็นพลเมืองดีในแบบที่รัฐต้องการหรืออยากให้เป็น แบบที่สองคือการเป็นพลเมืองที่ดีที่สามารถนำพาไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต แน่นอนว่า…การตีความในแบบที่สองย่อมดีกว่าแบบแรก เพราะนั่นหมายความว่าผู้เรียนจะสามารถจดจำ คิดวิเคราะห์ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ตนเรียนมาสู่ชีวิตของพวกเขาได้

ภาพการ์ตูนที่สื่อถึง “จิตสาธารณะ” ซึ่งบ่งบอกการเป็นพลเมืองดีรูปแบบหนึ่ง

แต่ถ้าถามว่า….ที่ผ่านมาการศึกษาวิชานี้ในบ้านเรา มันไปตอบโจทย์ความหมายของพลเมืองดีในการตีความแบบที่สองไหม? คำตอบคงมีชัดเจนแล้วจากในบทความแรกที่ผู้เขียนได้กล่าวไป 

เรามุ่งเน้นเนื้อหามากมายเต็มไปหมด แต่กลับไม่มีการจับมาเชื่อมโยง ตั้งคำถาม วิเคราะห์ ตลอดจนนำไปใช้ได้เลยสักอย่าง แต่ละเนื้อหาเรียนแยกๆ กัน เรียนเยอะมาก แต่ไม่ลึกหรือรู้ซึ้งซักอย่าง… 

ซึ่งแน่นอนหากเป็นแบบนี้จะหวังให้ผู้เรียนเอาไปใช้จริงคงเป็นเรื่องยาก แล้วถ้าถามว่าทำไมภาครัฐจึงไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เสียที คำตอบคือมันเป็นผลประโยชน์ของภาครัฐเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเนื้อหาที่อิงเรื่องประวัติศาสตร์ การเมืองการปกครอง นโยบายเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าผู้เขียนจะมองโลกในแง่ร้ายแล้วเอาแต่โทษภาครัฐหรือฝ่ายปกครอง แต่มันเป็นความจริงสำหรับการเมืองไทยในปัจจุบันที่ใครๆ ก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไร หากเรียนอย่างถูกต้องในเนื้อหาเหล่านี้ แน่นอนว่าผู้เรียนจะเข้าใจและรู้ซึ้งถึงความแตกต่างของการปกครองแบบประชาธิปไตยและเผด็จการอย่างชัดเจน เห็นที่มาของประชาธิปไตยในบ้านเราที่ค่อนข้างล้มลุกคลุกคลานมาก (อันนี้บอกเลย…ประวัติศาสตร์ไทยยุคประชาธิปไตย เด็กแทบไม่ได้เรียน ส่วนใหญ่จบที่ ยุค พ.ศ. 2475) และเข้าใจว่าเราจะต้องพัฒนาการเมืองเราอย่างไร

ในแง่เศรษฐกิจ เรามักจะเรียนแต่ในเชิงเนื้อหาทางเศรษฐศาสตร์โดยตรง แต่ก็เรียนแบบผิวเผิน ไม่สามารถจับมาโยงอะไรกับปัจจุบันได้นัก เช่น เรียนเรื่องการกำหนดราคาขั้นสูง ขั้นต่ำในตลาด ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงราคาของภาครัฐ แต่กลับไม่มีนโยบายอะไรในเชิงรูปธรรมเวลาที่รัฐเอาไปใช้จริงเพื่อให้ผู้เรียนเห็นเป็นภาพตัวอย่าง ซึ่งความจริงมันสามารถโยงได้ทั้งเรื่องการจำนำราคาข้าวที่ใช้สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และการประกันราคาที่ใช้สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเหล่านี้มันทำให้ผู้เรียนไม่รู้เลยว่า เราจะเรียนเนื้อหามากมายก่ายกองในวิชาสังคมศึกษานี้ไปเพื่ออะไรกัน? ความจริงในเรื่องเศรษฐกิจ หากว่าเราจับพวกเนื้อหาทางเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ไปโยงกับประวัติศาสตร์ ให้ผู้เรียนมองเห็นทิศทางการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยซึ่งสามารถย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัยเลยก็ได้ แล้วชี้จุดอ่อนจุดแข็งของการพัฒนาแบบตรงไปตรงมา จนมาถึงยุคปัจจุบัน ผู้เรียนจะร้องอ๋อทันทีว่าทำไมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันจึงดูล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ทำไมเกษตรกรซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของไทยจึงยังยากจนข้นแค้นอยู่ แล้วเราควรพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในทิศทางใด

ตัวอย่างเนื้อหาประวัติศาสตร์ในหนังสือเรียน

เมื่อเราหันไปมองเนื้อหาสังคมศึกษาที่บ้านเราเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่ามีแต่เนื้อหาอันแน่นไปหมด แต่ยิ่งอ่านยิ่งงง เพราะภาษาที่เขียนอ่านยากมากๆ (เผลอๆ ยากกว่าหนังสือพวกอธิบายเกร็ดความรู้ทางสังคมที่ขายกันในท้องตลาดอีก) ประวัติศาสตร์ที่เรียนก็มุ่งเน้นแต่ความรุ่งเรืองของรัฐตามแนวทางชาตินิยม ไม่เคยชี้จุดอ่อน ของพัฒนาการในแต่ละช่วง บทบาทผู้นำโดยเฉพาะกษัตริย์ไม่ต้องพูดถึง ไม่มีลบเลย… ซึ่งความจริงใครๆ ก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้… การเมืองการปกครองก็เรียนแบบเอาแค่ concept คร่าวๆ ไป ตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเชื่อมโยงมีน้อยมาก เอาง่ายๆ ถ้าถามผู้เรียนระดับ ม.6 ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุดที่จะเรียนสังคมศึกษา ว่าเข้าใจความต่างระหว่าง รัฐ ชาติ ประเทศ ไหม? แล้วกรณีไต้หวัน ฮ่องกง เราควรจะเรียกว่าประเทศไหม เชื่อว่ามากกว่า 50% ยากจะตอบคำถามพวกนี้ได้อย่างชัดเจน ยกเว้นผู้เรียนที่สนใจเรื่องพวกนี้จริงๆ และไปศึกษาเพิ่มเติมมา หรือครูผู้สอนในโรงเรียนมีความสามารถและใส่ใจสอนเรื่องพวกนี้เพิ่มเติม

ตัวอย่างของหนังสือเรียนสังคมศึกษา ที่ปัจจุบันแยกเนื้อหาออกเป็นเล่มๆ เต็มไปหมด

จากที่ยกตัวอย่างมา ผู้อ่านคงจะพอมองเห็นคร่าวๆ แล้วว่า สังคมศึกษา มันเป็นวิชาที่สำคัญอย่างไร 

หากเราเรียนอย่างถูกต้อง คำว่าพลเมืองดี ในการตีความที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต คงจะเป็นเป้าหมายที่ไม่ยากเกินไปที่เราจะทำให้มันเกิดขึ้น” 

สำหรับแนวทางการแก้ไขเพื่อให้เป้าหมายและความสำคัญของวิชานี้เกิดขึ้นได้จริงกับผู้เรียน อันดับแรกจะต้องไปปรับที่เนื้อหาก่อน ลดเนื้อหาลงมาบ้าง อะไรไม่จำเป็นให้ตัดทิ้ง แต่พยายามจับเนื้อหาให้มาเชื่อมโยงกัน แก้ไขเนื้อหาในบางจุดโดยเฉพาะกับสาระศาสนา ประวัติศาสตร์ ให้มีการตั้งคำถามจากเรื่องราวที่ได้เรียนไป มีกรณีศึกษาชัดเจนเพื่อให้มองเห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของสิ่งที่เรียน กรณีหนังสือเรียนทั่วไปถือว่าเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าควรปรับอันดับแรกๆ เพราะจากการใช้ ภาษาอ่านเข้าใจยากมาก น่าเบื่อ…. ควรปรับภาษาใหม่ สื่อสารตรงๆ มีการสรุป concept ในสิ่งที่อยากบอกให้ชัดเจน พร้อมการตั้งคำถามที่เน้นคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงกับเนื้อหาประกอบกันไป

จริงๆ แล้ว มันมีแนวทางการแก้ไขเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและยกระดับวิชาสังคมศึกษาขึ้นในสังคมไทยของเราอีกหลายแนวทางมาก แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคนในสังคมของเรายังไม่เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนา ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงมีความตั้งใจที่อยากจะเผยแพร่ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการสอนวิชาสังคมศึกษามามากกว่า 10 ปี ต่อผู้อ่าน ผู้อ่านที่แม้อาจจะไม่ได้เป็นเด็กประถมหรือมัธยมแล้ว ก็จะได้ประโยชน์และเข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับเนื้อหาต่างๆ ของวิชานี้เพิ่มขึ้น บางทีอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงกับชีวิตได้เลย อย่างเช่น เราเคยคิดกันไหมว่า คำว่า รัฐ ชาติ ประเทศ มันต่างกันไหม แล้วพลเมือง ประชาชน ประชากร หละ คือ? เวลาเราเห็นเจดีย์ตามวัด เอ๊ะ….ทำไมมันมีหลายแบบจัง แต่ละแบบมีความหมายอะไรซ่อนอยู่ไหม?

ทั้งหมดนี้…ผู้เขียนไม่ได้เพียงต้องการให้ผู้อ่านได้รับความรู้ไปเท่านั้น แต่ยังหวังว่าผู้อ่านจะเห็นถึงความสำคัญของวิชาสังคมศึกษา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาของบ้านเรา

If you like, please share this!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Post

สังคมศึกษา วิชาที่ถูกลืม….สังคมศึกษา วิชาที่ถูกลืม….

แม้ปัจจุบันจะเริ่มผันตัวเองไปเป็นไกด์แล้ว แต่ก็ยังรักงานสอน และก็ยังทำประกอบกันไปกับการเป็นไกด์ ความรู้สึกที่ชอบเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมตั้งแต่เด็ก จึงหล่อหลอมให้พัฒนาสู่อาชีพทั้งสองในปัจจุบัน แต่ก็ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาเพิ่มเติมกรณีที่เริ่มมองอาชีพไกด์เป็นตัวเสริมกับงานครู คือ จริงๆ ภาษาเนี่ยก็ไม่ได้เกลียดหรอก แต่เรียนทีไรก็ไม่ได้ดีซักที… อาจเป็นเพราะมีโอกาสในการใช้น้อยครับ เขียนผ่านไป 1 ย่อหน้า สิ่งที่อยากจะเล่าก็คือ เรื่องราวเกี่ยวกับงานที่ผู้เขียนทำอยู่ ซึ่งก็คือ การเป็นครูสอนวิชาสังคมศึกษา นั่นเอง จากประสบการณ์ที่สอนในโรงเรียนถึง 3 ที่ และสอนพิเศษทั่วไปอีก มีสิ่งที่เหมือนๆ กันอย่างหนึ่ง คือ “วิชาสังคมศึกษามักเป็นวิชาที่ถูกลืมหรือให้ความสำคัญน้อยมาก” แม้จะถูกกำหนดเป็น 5 วิชาหลัก