insightsocialstudies รัฐศาสตร์,รัฐศาสตร์-การเมืองการปกครอง นัยยะที่ซ่อนอยู่ในความหมายของคำว่า ประชาชน ราษฎร พลเมือง

นัยยะที่ซ่อนอยู่ในความหมายของคำว่า ประชาชน ราษฎร พลเมือง

ใน 2 บทที่ผ่านมา ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับคำว่า รัฐ ประเทศ รัฐชาติ ไป ทั้งในแง่ความหมาย การตีความ โดยมีการเชื่อมโยงสู่ปัญหาความขัดแย้งในโลกยุคปัจจุบันด้วย ซึ่งตอนแรกก็คิดว่าจะเปลี่ยนโหมดออกจากพวกรัฐศาสตร์บ้าง แต่มาคิดๆ ดู แล้วมันยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจจากเรื่องนี้เกี่ยวกับการแยกความเหมือนความต่างของคนที่อยู่ในรัฐจากคำนิยามต่างๆ เหลืออีกเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาสอนก็มักหยิบขึ้นมาถามนักเรียนอยู่เสมอ 

“เพราะคิดว่า มันเป็นคำที่คุ้นหูเราเหลือเกิน แต่เราจะเข้าใจความหมายที่แท้จริง หรือใช้คำเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องไหมน่า?”

ในที่นี้จะพิจารณาตามความหมายที่ปรากฎใน website สำนักงานของราชบัณฑิตยสภา

ประชาชน เป็นคำที่เกิดจากคำว่า ประชา คือ กลุ่มคน และชน หมายถึง คน มารวมกัน หมายถึง คนที่เกิดและอาศัยอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือว่าเป็นเจ้าของหรือสมาชิกของประเทศ โดยมักใช้ในความหมายพหูพจน์ หมายถึง หมู่คนหรือคนจำนวนมาก

ประชากร เป็นคำที่ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Population โดยมักใช้ในวิชาสถิติและการวิจัย หมายถึง กลุ่มของสิ่งต่างๆ ที่ผู้วิจัยสนใจและมุ่งศึกษา อาจเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ได้ เช่น คน สัตว์ พืช โดยรวมความหมายของคำนี้จะมุ่งเน้นที่จำนวน เป็นหลัก

ราษฎร หมายถึง ผู้ที่เป็นคนของประเทศ ถือสัญชาติเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน มีสิทธิตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกันทุกคน

พลเมือง หมายถึง คนที่มีสิทธิและหน้าที่ในฐานะประชาชนของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือประชาชนที่อยู่ภายใต้ผู้ปกครองเดียวกัน มักมีวัฒนธรรมเดียวกัน อนึ่งคำว่า พลเมือง มีความหมายต่างกับ ประชาชน ในแง่ที่เน้นสิทธิและหน้าที่มากกว่าคำว่า ประชาชน

ภาพการ์ตูนที่สื่อให้เห็นถึงคำว่าพลเมืองในบทบาทและหน้าที่ต่างกัน

จากนิยามของคำทั้งสี่ ผู้อ่านคงจะพอมองเห็นความเหมือนความต่างของคำได้คร่าวๆ แต่ยังอาจสับสนเล็กน้อยเมื่อเวลาจะนำมาใช้ ปกติเวลาสอนมักจะบอกเด็กแบบสรุปๆว่า

  1. พลเมืองจะมุ่งในเรื่องสิทธิและหน้าที่ เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับคำว่า รัฐ โดยตรง และปกติคนที่อยู่ในประเทศทุกคนไม่ได้เป็นพลเมือง จุดชี้วัดเรามักจะมองกันที่การมีบัตรประชาชนหรือมีชื่อในทะเบียนราษฎร์ ส่วนคำว่า ประชาชน ความหมายจะคล้ายคำว่า พลเมือง แต่จะเน้นในเชิงความหมายทั่วไป ไม่ได้มองที่รัฐเป็นหลัก หรือพูดอีกนัยตามที่สำนักราชบัณฑิตยสภาเน้น คือ ไม่ได้มองเรื่องหน้าที่เป็นหลักเหมือนคำว่า พลเมือง ด้วยเหตุนี้คนที่เกิดและอาศัยในประเทศไทยทุกคนอาจเป็นประชาชนไทย แต่ไม่ได้เป็นพลเมืองไทยทุกคน เช่น เด็กและพระ เป็นต้น
  2. คำว่า ราษฎร คำนี้ การนำมาใช้ มักอยู่ใน 2 กรณี คือ ใช้กับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารเสมอ และในอีกกรณีหนึ่งที่เราจะได้ยินบ่อยครั้ง คือ คำว่า ผู้แทนราษฎร ซึ่งกรณีที่สองนี้ ความหมายค่อนข้างสื่อเข้ากับที่สำนักราชบัณฑิตยสภาให้ไว้มากกว่า อย่างไรก็ตามหากเราเอาคำว่า ราษฎรนี้ไปเทียบกับคำว่า พลเมือง ในเชิงความหมาย จะเห็นว่าคล้ายกันมากๆ จุดเน้นที่พอมองความต่างได้บ้าง คือ คำว่า พลเมือง จะมุ่งเน้นไปในเรื่องสิทธิ-หน้าที่มากกว่า เช่น พลเมืองดีควรไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ส่วนราษฎร ตามการเน้นความหมายของสำนักราชบัณฑิตยสภา จะมองในเรื่องสัญชาติ มากกว่า
  3. คำว่า ประชากร จะมุ่งเน้นความหมายในเรื่องจำนวนและใช้ประโยชน์ในวิชาสถิติ เป็นหลัก

ในการมองเรื่ององค์ประกอบของรัฐ องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ คำว่า ประชากร ซึ่งเวลาพูดถึงคำนี้ จะมีการแบ่งย่อยลงไปอีก 3 กลุ่ม คือ พลเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ คนต่างด้าว สำหรับคำว่าพลเมือง เราได้เรียนรู้ความหมายกันไปแล้ว เหลืออีก 2 คำ ที่ควรมาทำความเข้าใจกันเล็กน้อย

ภาพกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย ซึ่งเราถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐในเรื่องประชากร

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า 

กลุ่มชาติพันธุ์หรือในภาษาอังกฤษ คือ Ethnic Group หมายถึง กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ทำให้สมาชิกกลุ่มมีวัฒนธรรม ประเพณี บรรทัดฐาน ภาษา และความเชื่อในแนวเดียวกัน อัตลักษณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดรุ่นต่อรุ่น บุคคลภายนอกอาจเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มได้ด้วยการแต่งงานหรือวิธีการอื่นๆ ตามที่สังคมนั้นกำหนด

สำหรับคำว่า 

คนต่างด้าว หรือ Alien หากพิจารณาจากเนื้อหากฎหมายคนเข้าเมือง จะระบุความหมายรวมๆ ว่า หมายถึง บุคคลในประเทศซึ่งมิใช่พลเมืองของประเทศนั้น แบ่งย่อยได้ 3 ประเภท คือ คนต่างด้าวที่กฎหมายอนุญาต (Legal Alien) ซึ่งรวมถึงนักท่องเที่ยว แรงงานชั่วคราว ผู้พำนักถาวรตามกฎหมายและผู้พำนักวีซ่านักเรียน / คนต่างด้าวผิดกฎหมาย (illegal Alien) และ คนต่างด้าวชาติศัตรู (Enemy Alien)

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2560 ของไทย ซึ่งก่อนจะร่างยังมีประเด็นถกเถียงระหว่างคำว่า พลเมืองและประชาชน

จากคำที่เกี่ยวข้องกับคำว่า ประชาชน ที่ยกมาเขียนในบทนี้ทั้งหมด ผู้อ่านคงสงสัยว่า

แล้วเราจำเป็นต้องรู้เรื่องราวทั้งหมดนี้ด้วยหรือ? “

เพราะหลายคนก็มองว่ามันเป็นแค่ตัวหนังสือหรือภาษาก็เท่านั้น จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้มันอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ จนบางทีเราอาจมองข้ามมันไป การที่เราเข้าใจในคำเหล่านี้มีผลมากๆ ในกรณีการรักษาสิทธิของตัวเราเอง เพราะภาษาเหล่านี้ไปปรากฎในกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศ หรือเป็นคำที่บางทีนักการเมืองก็เอาไปใช้สร้างเป็นนโยบายหรือชื่อพรรคการเมืองโดยอ้างว่าทำเพื่อประชาชนมากมาย ความเข้าใจในความหมายที่แท้จริงยังทำให้เราใช้คำเหล่านี้ได้อย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ และเหนือสิ่งอื่นใด คือ 

การเรียนรู้ที่จะมองเห็นและตระหนักในความสำคัญของนัยความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำต่างๆ เหล่านี้…..

If you like, please share this!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Post

Drama ฮ่องกง-ไต้หวัน เราควรจะจัดกลุ่ม 2 พื้นที่นี้ว่าอยู่ในสถานะไหนดี?Drama ฮ่องกง-ไต้หวัน เราควรจะจัดกลุ่ม 2 พื้นที่นี้ว่าอยู่ในสถานะไหนดี?

สืบเนื่องจากบทก่อน ที่ยังเล่าได้ไม่หมด เพราะคิดว่าประเด็นนี้ดูน่าจะต้องพูดอีกยาว เลยจัดให้เป็นบทใหม่เลยจะดีกว่า… คิดว่าหลายคนคงได้ยินประเด็น drama เกี่ยวกับฮ่องกงและไต้หวัน มาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะกรณีฮ่องกง ซึ่งบานปลายกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ รวมถึงเป็นกระแสจากดาราที่แสดงในละครวายของไทยด้วย ซึ่งแน่นอนก็มีหลายฝ่ายพูดกันไปต่างๆ นานา “ประเด็นสำคัญจาก Drama ในเรื่องนี้ คือ ความจริงแล้ว เราควรเรียกไต้หวัน และฮ่องกง ว่าเป็นประเทศ หรือเป็นรัฐ ได้ไหม? แล้วการเรียกร้องสิทธิโดยเฉพาะกรณีฮ่องกง นี่ถือว่าถูกต้องในเชิงรัฐศาสตร์หรือไม่?”  ในบทนี้เราจะมาหาคำตอบในประเด็นนี้กันโดยเชื่อมโยงความรู้จากเนื้อหาที่เล่าไปแล้วในบทที่ผ่านมา สำหรับผู้อ่านท่านใดที่เพิ่งเข้ามาอ่านในบทนี้ แล้วอยากทราบเนื้อหาเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการแยกรัฐกับชาติย้อนกลับไปดูในบทก่อนหน้านี้ได้นะครับ เริ่มจาก ไต้หวัน ก่อน ไต้หวันหรือเกาะฟอร์โมซา เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ. 1949 โดยผู้สถาปนา

ไขความหมายของคำว่า รัฐ ชาติ ประเทศ มันคืออะไร และมีอะไรซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้ไหม?ไขความหมายของคำว่า รัฐ ชาติ ประเทศ มันคืออะไร และมีอะไรซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้ไหม?

หลังจาก Intro ผ่านไป 2 บท ครั้งนี้ถึงเวลาต้องเอาเกร็ดความรู้จากวิชาสังคมมาเล่าสู่กันฟังละ เริ่มแรกด้วยเรื่องราวที่มาจากเนื้อหาทางรัฐศาสตร์ เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำว่า รัฐ ชาติ หรือประเทศ กันมาบ้าง แต่เคยนึกสงสัยกันไหมว่า สามคำนี้มันคืออะไรกันแน่? มีความแตกต่างกันบ้างไหม? มีนัยยะของความหมายอะไรที่ซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้หรือไม่? ในบทนี้เราจะมาร่วมไขคำตอบของคำทั้งสามนี้กัน! เริ่มจากคำว่า “รัฐ” (State) ความหมายของคำนี้ จะเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง นิยามหลักๆ ของมัน คือ “ชุมชนทางการเมือง” ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ประชากร (ในที่นี่จะหมายรวมถึงคน 3 กลุ่ม คือ พลเมือง กลุ่มชาติพันธุ์