ได้บอกเล่าเรื่องราวที่สัมพันธ์กับเนื้อหาทางรัฐศาสตร์ไป 3 บทละ มาในบทนี้ขอเปลี่ยนโหมดไปที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็น part ที่ถนัดสุดของผู้เขียนบ้าง แต่จะว่าไปแล้วเรื่องราวที่จะมาแชร์ให้ผู้อ่านในวันนี้มันก็ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์เสียทั้งหมด บางส่วนก็ยังสัมพันธ์กับเนื้อหาทางสังคมวิทยาอยู่บ้าง หากผู้อ่านยังพอจำกันได้อยู่ก้อน่าจะรู้ว่าเนื้อหาสังคมวิทยากับรัฐศาสตร์ มันรวมอยู่ในสาระหน้าที่พลเมืองนั่นเอง แต่คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะลืมนะ 555 ไม่เป็นไรผ่านๆ ไปต่อกันเลย
เนื้อหาที่จะยกขึ้นมาเขียนวันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า วัฒนธรรมกับอารยธรรม ซึ่งเชื่อแน่ว่าผู้อ่านทุกคนต้องเคยได้ยินคำทั้งสองมาแล้วอย่างแน่นอน แต่ปัญหาคืออาจจะยังไม่รู้หรือเข้าใจความต่างของคำทั้งสองอย่างแท้จริง จริงๆ ทั้งสองคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งในกันและกัน หากพิจารณาในเชิงความหมายและการนำไปใช้ นิยามที่ให้อาจต่างกันบ้าง แต่รวมๆ จะมีเนื้อความหมายหลักคล้ายกัน ดังนั้นเริ่มแรกเราไปดูที่ความหมายตามการบัญญัติศัพท์ของสำนักราชบัณฑิตยสภากันก่อน จากนั้นจึงค่อยไปเทียบความเหมือนความต่างและการนำไปใช้อย่างถูกต้อง
วัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม ซึ่งแสดงออกได้ทั้งทางจิตใจและวัตถุ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของสังคมมีหลายอย่าง เช่น ความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกในสังคม มารยาท
อารยธรรม มาจากคำว่า อารย (อา-ระ-ยะ) แปลว่า เจริญ ผู้เจริญ และคำว่าธรรม คือ ธรรมชาติหรือลักษณะโดยทั่วไป รวมความมีความหมายว่า ความเจริญของสังคมในทุกด้านที่ได้สั่งสมมา
ทั้ง 2 คำนี้ในภาษาอังกฤษก็คือ คำว่า Culture และ Civilization ตามลำดับ ซึ่งถ้าเราดูที่ความหมายจากการนิยามของสำนักราชบัณฑิตยสภาจะเห็นว่าความหมายดูจะไม่ค่อยต่างกันเท่าไร จุดต่างมีอยู่นิดเดียว คือ
“อารยธรรมเน้นมองในภาพรวม และดูจะมีภาพที่ใหญ่กว่า”
แต่หากมองในเชิงประวัติศาสตร์หรือสังคมศาสตร์แล้ว ทั้งสองคำมีความต่างกันพอควร ปกติแล้วเวลาสอน จะบอกนักเรียนแบบสรุปง่ายๆ ว่า
วัฒนธรรม สามารถระบุความหมายได้สองแบบ แบบแรก คือ แบบแผนวิถีชีวิตอันดีงามของมนุษย์ แบบสอง คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น โดยจุดเน้นสำคัญของการเป็นวัฒนธรรม คือ ต้องเกิดจากมนุษย์ เป็นได้ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
อารยธรรม คือ ความเจริญขั้นสูงของมนุษย์ มีการสั่งสมมานานพอสมควร มีลักษณะเป็นระบบสังคมที่มีลักษณะซับซ้อน เป็นแม่แบบและส่งต่ออิทธิพลให้เกิดวัฒนธรรมในพื้นที่อื่นๆ อีก
สิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างวัฒนธรรมกับอารยธรรม คือ อารยธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีวัฒนธรรมก่อน เมื่อสั่งสมจนถึงระดับหนึ่ง คือ เกิดความเจริญในระดับเมืองหรือรัฐ แล้วมีอิทธิพลส่งต่อให้กับวัฒนธรรมในพื้นที่อื่น (หรือรวมถึงอารยธรรมในพื้นที่อื่นๆ ก็ได้) จะขยายกลายเป็นอารยธรรม จากลักษณะเช่นนี้ในโลกของเราจึงมีอารยธรรมน้อยกว่าวัฒนธรรม ความเจริญในบางพื้นที่เป็นได้เพียงวัฒนธรรม ไม่สามารถขยายเป็นอารยธรรมได้
ตัวอย่างของอารยธรรมในโลกของเรา เช่น อารยธรรมจีน อารยธรรมอินเดีย อารยธรรมอิสลาม อารยธรรมเมโสโปเตเมีย ในทวีปเอเชีย อารยธรรมกรีก อารยธรรมโรมัน ในทวีปยุโรป อารยธรรมอียิปต์ ในทวีปแอฟริกา
อย่างไรก็ตาม คำว่า อารยธรรม เวลานำคำไปใช้จริง หลายคนที่เอาไปใช้ไม่ได้มองในเชิงสังคม-ประวัติศาสตร์ แบบที่เขียนมา แต่ไปมองในเชิงภาษามากกว่า ดังนั้น เวลาพูดอารยธรรมเลยเหมารวมหมด เช่น อารยธรรมไทย อารยธรรมญี่ปุ่น แบบนี้ ซึ่งเวลาผู้เขียนเห็นก็จะรู้สึกแปลกๆ ตามสไตล์ครูสังคม-ประวัติศาสตร์ เพราะไทย ไม่ได้เป็นแม่แบบทางความเจริญให้กับชนชาติอื่น แต่เรารับอารยธรรมจากที่อื่นมาผสมผสานจนเป็นเรา ที่เห็นเด่นชัด คือ อารยธรรมอินเดีย เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่รับอารยธรรมจีนมาผสมผสานจนเป็นตัวเอง ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วทั้งไทยและญี่ปุ่น ควรเรียกว่าวัฒนธรรม ไม่ใช่อารยธรรม
ความเข้าใจในคำทั้งสองอย่างถูกต้องจะทำให้สามารถนำคำไปใช้สื่อความได้อย่างชัดเจน สามารถเชื่อมโยงกับประเด็นต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมและอารยธรรมที่อยากนำมาเขียนบอกเล่าสู่กันฟังอยู่อีก แต่คิดว่าสำหรับบทนี้คงยาวพอแล้ว… ยังไงไว้ติดตามต่อในบทต่อไปนะครับ