insightsocialstudies Uncategorized,สังคมวิทยา “วัฒนธรรม” สิ่งที่บ่งชี้ความเป็นมนุษย์

“วัฒนธรรม” สิ่งที่บ่งชี้ความเป็นมนุษย์

ในบทที่แล้วเราได้พอรู้จักความหมายของคำว่า วัฒนธรรม และความแตกต่างของคำนี้กับคำว่า อารยธรรม ซึ่งก็อย่างที่บอกไปมีคนนำไปใช้ผิดพอสมควร ในบทนี้อยากชวนผู้อ่านได้มาลองดูในเรื่องความสำคัญของวัฒนธรรมต่อมนุษย์กันบ้าง เมื่อจบบททุกคนจะได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรมมันสำคัญหรือจำเป็นต่อมนุษย์ยังไง? ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย….

เวลาที่เราพูดถึงคำว่า วัฒนธรรม สิ่งหนึ่งที่อยากให้ผู้อ่านได้รับรู้ไว้เลยก็คือ 

มันเป็นสิ่งที่มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น และยังเป็นสิ่งบ่งชี้สำคัญว่ามนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานอื่นๆ” 

แม้วัฒนธรรมจะมีความสำคัญในข้ออื่นๆ อีกหลากหลาย แต่นี่คือความสำคัญสูงสุดของคำนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประสบการณ์จากการสอนที่น่าสนใจอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง ตอนสอนนักเรียนครั้งหนึ่งเคยตั้งคำถามกับนักเรียนในข้อสอบแบบอัตนัยว่า

 เห็นด้วยหรือไม่กับคำกล่าวที่ว่า วัฒนธรรมมีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น จงแสดงเหตุผลประกอบ 

ซึ่งคำตอบที่ออกมาจะต้องตอบว่าเห็นด้วยดังที่ได้อธิบายไปแล้ว และคะแนนจะมากหรือน้อยดูกันที่เหตุผล แต่ทว่ามีนักเรียนคนหนึ่งเขียนคำตอบมาว่า ไม่เห็นด้วย พร้อมตั้งคำถามจากเหตุผลที่เค้าเขียนมาว่า 

จริงๆ แล้วสัตว์ไม่มีวัฒนธรรมจริงหรือ? เช่น การที่มดสามารถสร้างรัง แบ่งหน้าที่ การที่สุนัขหรือแมวมีกฎไม่ถ่ายรดในพื้นที่เดียวกัน เช่นนี้สัตว์เหล่านี้ก็บอกได้หนิว่ามันคือความเจริญในแบบของมัน”

การแบ่งหน้าที่ของมด ซึ่งเป็นข้อคำถามของนักเรียนว่า นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมหรือ?

ด้วยเหตุที่สอนไปเกินกว่า 10 ปีแล้วเลยไม่สามารถเอาตัวข้อสอบที่เด็กคนนี้ตอบมาให้ดูได้ แต่ตอนที่จะตรวจให้คะแนนก็นั่งคิดอยู่นะว่าเออ…เด็กคนนี้ก็คิดลึกดีนะ ไม่ได้ตกเป็นผลผลิตของการศึกษาไทย ที่บอกอะไรก็ต้องเชื่อหมด…555 แต่อย่างไรก็ตามแม้มันจะถูกในแง่ที่ว่าเป็นนิยามของมนุษย์ สัตว์มันไม่มีสิทธิกำหนดตัวมันเอง แต่ท้ายสุด

สิ่งที่สัตว์มันแสดงออกมานี้ เราจะต้องนิยามว่ามันคือ สัญชาตญาณ ไม่ใช่วัฒนธรรม” 

ซึ่งสัญชาตญาณเหล่านี้คือสัญชาตญาณที่ปรากฎในสิ่งมีชีวิตเช่นมนุษย์และสัตว์เพื่อความอยู่รอด

อ่าว…แล้วถามว่าทุกวันนี้มนุษย์ยังมีสัญชาตญาณอยู่ไหม? คำตอบ คือ ก็เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตยังไงมันก็ต้องมีแน่นอน 

พอมาถึงจุดนี้หากอยู่ในระหว่างการสอนเด็กก็คงจะถามไปแล้วว่า

อ่าว..แล้วรู้ไหมว่า 2 สัญชาตญาณเด่นที่มนุษย์มี และพยายามจะเอาวัฒนธรรมมากลบเพื่อให้มนุษย์แตกต่างออกไปจากสัตว์อื่น คืออะไร? 

แน่นอนว่าก็ต้องมีเด็กที่ตอบได้และไม่ได้ต่างกันไป (ปล..แต่น้อยมากๆ ที่จะตอบได้ครบทั้งสองสัญชาตญาณ 5555) สำหรับคำตอบของคำถามนี้ ผู้เขียนได้มาจากสมัยเรียนปริญญาโท ในวิชาจิตวิทยาการศึกษา ซึ่งอาจารย์บอกว่า

2 สัญชาตญาณนี้ก็คือ สัญชาตญาณแห่งความดุร้ายและสัญชาตญาณด้านเพศ

พอมานั่งคิดๆ ดูมันก็จริงนะ เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ไม่สามารถคุม 2 สัญชาตญาณนี้ได้ มนุษย์จะไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉานเลย ลองคิดถึงคนที่โกรธจัดแล้วเอามีดจ้วงฆ่าอย่างไม่ยั้ง หรือเวลามนุษย์มีเพศสัมพันธ์กันหากเกิดในที่โล่งแจ้ง เราจะเห็นชัดทันทีว่า มนุษย์จะไม่ต่างอะไรจากสัตว์เดรัจฉานทันที และนี่แหละคือความสำคัญของวัฒนธรรม 

มนุษย์เราสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อชี้ถึงความเหนือกว่าของมนุษย์ต่อสัตว์ และมนุษย์จะใช้วัฒนธรรมไปกลบความเป็นสัญชาตญาณเหล่านี้ “

ที่เด่นชัด คือ เรื่องศาสนา มารยาท กฎหมาย ไม่มีทางแน่ๆ ที่สัตว์เดรัจฉานทั่วไปจะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ และนี่คือ นิยามเฉพาะของวัฒนธรรมต่อมนุษย์

การนั่งสมาธิ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่มาจากศาสนา ซึ่งสามารถใช้กลบสัญชาตญาณบางอย่างที่ไม่ดีได้

จากที่อธิบายมานี้ วัฒนธรรมจึงถือว่ามีความสำคัญต่อมนุษย์มาก ในทางสังคมวิทยาแล้ว การที่มนุษย์พยายามสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อกลบความเป็นสัญชาตญาณนี้มันจะไปอยู่ในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและการจัดระเบียบทางสังคม แต่ก็อย่างที่ผู้อ่านทุกคนเห็นหละ…. 

แม้ว่าจะสร้างวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมา แต่เพราะสัญชาตญาณเหล่านี้มันฝังอยู่ในมนุษย์ทุกคนในฐานะสัตว์โลก ดังนั้นการจะกลบฝังมันทิ้งไปเลยนั้นคงจะเป็นไปไม่ได้” 

เรายังคงเห็นปัญหาการข่มขืน อาชญากรรม และอื่นๆ ที่เกิดจากสัญชาตญาณเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง และถ้ามองตามความจริง ยิ่งเรากดลงเท่าไร ก็ยิ่งก่อเกิดความใคร่อยากรู้อยากเห็น สิ่งนี้จึงกลายเป็นหลักทางการตลาด ที่บรรดาสินค้าต่างๆ รวมถึงพวกภาพยนตร์ชอบนำไปเป็นจุดขายของตัวเอง เช่น น้ำหอม ที่เน้นโฆษณาเพื่อเพิ่มเสน่ห์ของผู้ใช้ ภาพยนตร์ที่เน้นขายความ sexy ของนักแสดง หรือขายความรุนแรง เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องอ่านเกมเหล่านี้ของผู้ผลิตให้ทัน

ซีรีส์เรื่อง Game of Thrones ซึ่งมีเรื่องราวที่พูดถึงความรุนแรงและ sex อย่างชัดเจน

และนี่คือ… ความสำคัญของวัฒนธรรมที่ส่งผลให้มนุษย์มีความแตกต่างไปจากสัตว์โลกอื่นๆ ตอนแรกคิดว่าจะจบเรื่องวัฒนธรรมแค่นี้ แล้วขยายเรื่องอารยธรรมเลยในบทหน้า แต่คิดๆ ดู แล้วยังเหลือเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมอีกเล็กน้อยที่อยากขยาย ในด้านลักษณะเฉพาะอื่นๆ ของมัน การอนุรักษ์ รวมถึงการนำคำนี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ก็เลยอยากรวมเรื่องเหล่านี้ไว้ในบทหน้าอีกบท ยังไงรออ่านต่อไปนะครับ…

If you like, please share this!

1 thought on ““วัฒนธรรม” สิ่งที่บ่งชี้ความเป็นมนุษย์”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Related Post

วัฒนธรรมกับอารยธรรม มันเหมือนหรือต่างกันยังไงหนอ?วัฒนธรรมกับอารยธรรม มันเหมือนหรือต่างกันยังไงหนอ?

ได้บอกเล่าเรื่องราวที่สัมพันธ์กับเนื้อหาทางรัฐศาสตร์ไป 3 บทละ มาในบทนี้ขอเปลี่ยนโหมดไปที่ประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็น part ที่ถนัดสุดของผู้เขียนบ้าง แต่จะว่าไปแล้วเรื่องราวที่จะมาแชร์ให้ผู้อ่านในวันนี้มันก็ไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์เสียทั้งหมด บางส่วนก็ยังสัมพันธ์กับเนื้อหาทางสังคมวิทยาอยู่บ้าง หากผู้อ่านยังพอจำกันได้อยู่ก้อน่าจะรู้ว่าเนื้อหาสังคมวิทยากับรัฐศาสตร์ มันรวมอยู่ในสาระหน้าที่พลเมืองนั่นเอง แต่คิดว่าส่วนใหญ่น่าจะลืมนะ 555 ไม่เป็นไรผ่านๆ ไปต่อกันเลย เนื้อหาที่จะยกขึ้นมาเขียนวันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคำว่า วัฒนธรรมกับอารยธรรม ซึ่งเชื่อแน่ว่าผู้อ่านทุกคนต้องเคยได้ยินคำทั้งสองมาแล้วอย่างแน่นอน แต่ปัญหาคืออาจจะยังไม่รู้หรือเข้าใจความต่างของคำทั้งสองอย่างแท้จริง จริงๆ ทั้งสองคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกัน ถือเป็นส่วนหนึ่งในกันและกัน หากพิจารณาในเชิงความหมายและการนำไปใช้ นิยามที่ให้อาจต่างกันบ้าง แต่รวมๆ จะมีเนื้อความหมายหลักคล้ายกัน ดังนั้นเริ่มแรกเราไปดูที่ความหมายตามการบัญญัติศัพท์ของสำนักราชบัณฑิตยสภากันก่อน จากนั้นจึงค่อยไปเทียบความเหมือนความต่างและการนำไปใช้อย่างถูกต้อง วัฒนธรรม หมายถึง ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงามของสังคม

มนุษย์สร้างและใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมอย่างไรกัน?มนุษย์สร้างและใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมอย่างไรกัน?

บทที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัวของมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ โดยมีจุดแบ่งสำคัญ คือ การที่มนุษย์สามารถสร้างสรรค์วัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อบ่งชี้ความเจริญและกลบสัญชาตญาณลงไป มาในบทนี้ เราจะลงลึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมกับมนุษย์ให้มากขึ้น ว่าเราสร้างและใช้ประโยชน์จากมันในลักษณะใดๆ บ้าง ซึ่งเรื่องการใช้ประโยชน์นี้ยังสามารถเชื่อมไปได้ถึงเรื่องการอนุรักษ์ด้วย ถ้าพร้อมแล้วเรามาลุยกันเลย….. เกี่ยวกับความหมาย และลักษณะเฉพาะตัวได้คุยกันไปใน 2 บทที่ผ่านมาแล้ว.. ดังนั้นในบทนี้จึงอยากขยายเกี่ยวกับประเภท รูปแบบ และลักษณะอื่นๆ ของวัฒนธรรม บ้าง เพื่อจะได้วิเคราะห์เชื่อมโยงไปถึงการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ได้เข้าใจมากขึ้น ปัจจุบันวัฒนธรรมสามารถแบ่งได้หลากหลายประเภทมาก แต่ที่นิยมใช้เป็นเกณฑ์มากที่สุด คือ เกณฑ์ที่กำหนดจากพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ซึ่งจะแบ่งวัฒนธรรมเป็น 4 ลักษณะ คือ วัฒนธรรมประเภทคติธรรม ได้แก่ พวกคติความเชื่อ