Answer Key C-1

เฉลยแบบทดสอบสาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ชุดที่ 1

1) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 หน้าที่ในการผลิตเชิงเศรษฐกิจ (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (สถาบันทางสังคม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบในระบบ Entrance เก่า เดือนตุลา 41 แต่ครูแป๊ปเพิ่มเข้าไป 1 ตัวเลือกเพื่อให้สอดคล้องกับข้อสอบข้ออื่นๆ ภาพรวมออกในเชิงวิเคราะห์ แต่ไม่มีอะไรยาก จะมีบางตัวเลือกที่ดูจะใกล้เคียงกันอาจต้องวิเคราะห์ซักนิด พยายามตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่แน่ๆ ออกไปก่อนเพื่อเพิ่มโอกาสในการเก็บคะแนนจากโจทย์นี้ได้

วิเคราะห์ตัวเลือก :

ตัวเลือกที่ 4 หน้าที่ในการกำหนดสถานภาพของบุตร >> ถือเป็นหน้าที่หลักของครอบครัวไม่ว่าจะเป็นอดีตหรือปัจจุบัน หากเป็นกลุ่มสถานภาพด้านอาชีพจะผ่านการอบรมสั่งสอนและกำหนดสถานภาพของบุตรไปในตัว เช่น อนาคตต้องเป็นข้าราชการนะลูก จะมีอนาคตดี เป็นหมอสิเป็นอาชีพที่มีเกียรตินะ อะไรแบบนี้

ตัวเลือกที่ 2 หน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตร และ ตัวเลือกที่ 3 หน้าที่ในการให้ความรักแก่สมาชิก >> แม้ปัจจุบัน ภาพดังกล่าวจะเริ่มเลือนหายจากครอบครัวไทย แต่ไม่ว่ายังไงหน้าที่นี้ก็ยังถือเป็นหน้าที่หลักของครอบครัวไทย ที่กลุ่มคนในสังคมมุ่งหวังให้เป็นอยู่ดี โดยถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องมีความรักความอบอุ่นให้กัน ต้องเลี้ยงดูบุตรหลานของตนให้ดี แม้ปัจจุบันความเหินห่างระหว่างสมาชิกจะมีมากขึ้น แต่หน้าที่เหล่านี้ก็ยังคงดำรงอยู่กับครอบครัวไทยอยู่ดี

ตัวเลือกที่ 5 หน้าที่ในการให้การศึกษาจริยธรรมบุตร >> ตัวเลือกนี้อาจดูยากนิดนึง ตรงที่ว่าปัจจุบันเรื่องการศึกษา มีสถาบันการศึกษาซึ่งเข้ามามีบทบาทแทนที่สถาบันครอบครัวมากขึ้น แต่ว่า…คำว่า จริยธรรม ก็เป็นตัวชี้ขาดที่เราใช้ตัดตัวเลือกนี้ ทั้งนี้เพราะ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าไร คุณธรรมและจริยธรรม ก็ต้องเริ่มปลูกฝังมาจากครอบครัว หากครอบครัวทิ้ง และโยนภาระทุกอย่างให้กับสถาบันการศึกษา ก็ยากมากๆ ที่เด็กคนนั้นจะเติบโตขึ้นมาเป็นพลเมืองดีของสังคมได้

สรุปคำตอบ >> หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงได้ตัวเลือกที่ 1 หน้าที่ในการผลิตเชิงเศรษฐกิจ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ เนื่องจากสมัยก่อนครอบครัวไทยจะมีการสอนอาชีพให้กับสมาชิก แต่ปัจจุบันหน้าที่ดังกล่าวพบเห็นได้ในชนบทเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น การสอนอาชีพกลับไปเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษา อีกประเด็นที่เกี่ยวกับการผลิตเชิงเศรษฐกิจ คือ ไม่เฉพาะผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้นที่มีบทบาทในการผลิต ผู้หญิงก็มีบทบาทในการผลิต ผ่านการออกไปทำงานนอกบ้านเช่นกัน บางคนกลายเป็นผู้นำในการหาเงินให้กับครอบครัวก็มี กรณีของบุตร บางคนอาจได้เป็นดารานักแสดง หาเงินได้มากกว่าพ่อแม่ด้วยซ้ำ ทั้งหมดนี้มีเหตุผลพื้นฐานมาจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ร่วมกับค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

2) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 บุคคลไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (การจัดระเบียบทางสังคม-สถานภาพทางสังคม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 มองเผินๆ จะเหมือนยาก แต่หากค่อยๆ เช็คที่ตัวเลือกจะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรยากเลย ค่อยๆ ดูทีละตัว นักเรียนจะเห็นคำตอบทันที

เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : สถานภาพทางสังคม คือ ตำแหน่งของบุคคลในสังคม ซึ่งได้จากการเป็นสมาชิกในสังคม โดยสถานภาพจะทำให้บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบาทของตำแหน่งนั้นๆ ในทางสังคมวิทยา สถานภาพจัดออกได้เป็นหลายกลุ่ม ที่สำคัญเช่น

1) สถานภาพทางครอบครัว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย (ตัดตัวเลือกที่ 1)

2) สถานภาพทางอาชีพ เช่น ข้าราชการ (ทหาร-พลเรือน) แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ครู อาจารย์ ศิลปิน ศาสตราจารย์ (ตัดตัวเลือกที่ 2, 3 และ 5)

3) สถานภาพทางด้านเชื้อชาติ

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาเรื่องสถานภาพที่ครูแป๊ปอธิบายไปร่วมกับการหักตัวเลือกทิ้ง เราจึงได้คำตอบของโจทย์ข้อนี้มา ตรงกับตัวเลือกที่ 4 บุคคลไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ ทั้งสองนี้ไม่สามารถอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ โดยแรงงานข้ามชาติ อาจมองได้ว่าเป็นคนต่างด้าว เป็นการมองสถานภาพในลักษณะเชื้อชาติ แต่คำว่าบุคคลไร้สัญชาติ บ่งชี้ผ่านสัญชาติ คือ พื้นที่เกิดเป็นหลัก ตรงนี้จึงจัดสถานภาพออกมาคนละลักษณะกัน 

3) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ค่านิยม (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (การจัดระเบียบทางสังคม / วัฒนธรรม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า มี.ค. 45 โดยครูแป๊ปได้เพิ่มตัวเลือกเข้าไป 1 ตัวเช่นเคย ภาพรวมของคำถามไม่มีอะไรยาก คำว่า “กำหนดและชี้นำ” จะบอกเราชัดเจนว่าต้องตอบอะไร หากนึกไม่ออก ให้นักเรียนลองตีภาพสังคมไทยในปัจจุบัน ว่าในบรรดาตัวเลือกที่เค้าให้มา ตัวไหนมันกำหนดพฤติกรรมคนในสังคมได้มากสุด ซึ่งคำว่า คนในสังคม นี้อาจรวมถึงตัวนักเรียนไปด้วยเลยก็ได้นะ….

วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นตัวกำหนดหรือชี้นำพฤติกรรมของคนในสังคมโดยตรง

ตัวเลือกที่ 1 โลกทัศน์ >> คำนี้ หมายถึง มุมมองหรือความคิดของบุคคลหรือสังคมต่อโลกที่กำลังเป็นอยู่ เน้นที่การอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยอาศัยพื้นฐานการวิเคราะห์จากความเชื่อ พื้นความรู้ที่มีอยู่ ซึ่งจากความหมายนี้ชัดเจนว่า โลกทัศน์ย่อมไม่ได้เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมโดยตรง

ตัวเลือกที่ 3 วิถีประชา >> ถือเป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคม ด้วยเหตุนี้วิถีประชาจึงไม่ได้ชี้นำ แต่มุ่งเน้นให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติเลย โดยวิถีประชา คือ แบบแผนความประพฤติที่กระทำจนเคยชิน เป็นปกติวิสัย การไม่ทำจึงถือว่าเป็นการผิดหรือละเมิดกฎของสังคม

ตัวเลือกที่ 4 กฎหมาย >> ตัวนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของบรรทัดฐานทางสังคมเช่นกัน ดังนั้นไม่ชี้นำแน่นอน แต่ต้องปฏิบัติเท่านั้น

ตัวเลือกที่ 5 ความเชื่อ >> วัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล จะต่างจากค่านิยม ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่สังคมให้ ดังนั้นเมื่อพูดถึงความเชื่อ จึงใช้เป็นตัวกำหนดหรือชี้นำพฤติกรรมของคนในสังคมไม่ได้ กรณีที่เราบอกว่าความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ให้คุณค่ากับเรื่องนั้นเรื่องนี้ตรงนี้จะกลายเป็นค่านิยมทันที

สรุปคำตอบ : เมื่อหักตัวเลือกได้ครบ เราก็จะได้คำตอบทันทีว่า วัฒนธรรมที่มีส่วนในการกำหนดและชี้นำพฤติกรรมของคนในสังคมโดยตรง คือ ตัวเลือกที่ 2 ค่านิยม โดยค่านิยม คือ คุณค่าในเรื่องหรือสิ่งต่างๆ ที่สังคม มองว่าคือสิ่งที่ถูก ควรปฏิบัติ (หรือผิด ไม่ควรปฏิบัติ) เน้นที่การชี้นำหรือแนะต่อคนในสังคม ไม่ได้มีลักษณะบังคับ ทั้งนี้ค่านิยมจะมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญต่อเรื่องหรือสิ่งนั้นๆ ของคนในสังคมเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะทำผ่านการโฆษณา การบอกต่อจากผู้อื่น และแน่นอนที่สุดสำหรับยุคนี้ Social Network จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเผยแพร่หรือสร้างค่านิยมเลย 

4) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 มีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับรัฐ-องค์ประกอบรัฐ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 44 โดยครูแป๊ปเพิ่ม 1 ตัวเลือกเข้าไปเช่นเดียวกับโจทย์ข้อสอบเก่าข้ออื่นๆ แม้จะถามในเนื้อหาที่ดูจะไม่ยาก คือ องค์ประกอบของรัฐในเรื่องประชากร แต่นักเรียนจะต้องแปลความหมายของคำว่า “รัฐชาติ” ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่โจทย์ข้อนี้นำมาถามให้ได้ด้วย มิฉะนั้นก็อาจจะตอบผิดได้ไม่ยากนัก

เข้าถึงเนื้อหา : คำว่า รัฐชาติ หรือในภาษาอังกฤษ คือ Nation State เกิดจากการนำคำ 2 คำ คือ รัฐ กับชาติ มารวมความหมายกัน ดังนั้นเราจะแยกความหมายของคำเหล่านี้ออกเป็นส่วนๆ ก่อน

รัฐ หมายถึง ชุมชนทางการเมืองของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง มีอาณาเขตของดินแดนที่แน่นอน และอยู่ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลเดียวกัน

ชาติ หมายถึง ชุมชนของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และมีความผูกพันในทางวัฒนธรรมร่วมกัน

รัฐชาติ สื่อถึงชุมชนทางการเมืองซึ่งต้องมีลักษณะดังนี้

  • ประชากรในรัฐมีความผูกพันในทางวัฒนธรรม (ชาติ)
  • ประชากรในรัฐมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน (ชาติ)
  • มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง (รัฐ)
  • มีอาณาเขตของดินแดนที่แน่นอน (รัฐ)
  • มีรัฐบาลชุดเดียวกันทำหน้าที่ในการบริหารงาน (รัฐ)

ลักษณะของรัฐในลักษณะที่เรียกว่า “รัฐชาติ” หรือ Nation State นี้ ถูกสร้างขึ้นมาจากแนวคิดของชาติตะวันตกในช่วงสมัยใหม่ (C.15-16) ซึ่งพยายามจะสร้างศูนย์กลางการปกครองของตนขึ้นมาเพื่อสลัดอำนาจออกจากคริสตจักรในช่วงสมัยกลาง โดยการสร้างความเป็นเอกภาพเพื่อก่อเกิดศูนย์กลางที่เป็นหนึ่งเดียวกันนี้ คือ กำหนดสัญลักษณ์ของชาติขึ้นมา เช่น เชื้อชาติ ภาษา ศาสนา สถาบันกษัตริย์ แล้วหลอมรวมสิ่งเหล่านี้ให้ก่อเกิดความเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อที่จะบ่งบอกความเป็นชาตินั้น

สรุปคำตอบ : เมื่อเรานำเนื้อหาจากส่วนเข้าถึงเนื้อหามาวิเคราะห์ตัวเลือกเพื่อหาคำตอบ จะพบได้ทันทีว่า ตัวเลือกที่เป็นการผสมความหมายของรัฐกับชาติ มีเพียงตัวเลือกเดียว นั่นคือ ตัวเลือกที่ 4 มีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และอยู่ในอาณาเขตเดียวกัน โดยข้อความว่า มีเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม บ่งชี้ความหมายของประชากรในชาติ ส่วนข้อความที่ว่า อยู่ในอาณาเขตเดียวกัน บ่งชี้ความหมายของประชากรในรัฐ

ตัวเลือกที่ 1 มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและสมานสามัคคีกัน >> ค่อนข้างเอียงทางชาติอย่างเดียว และที่ผิดมาก คือ สมานสามัคคี จุดเน้นต้องมองที่ความผูกพันทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากกว่า

ตัวเลือกที่ 2 และ 3 >> เป็นความหมายของประชากรในรัฐ 

ตัวเลือกที่ 5 >> เป็นความหมายของประชากรในชาติ 

5) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 เพราะการจัดสรรผลประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนทุกคนย่อมทำไม่ได้ (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (รูปแบบการเมืองการปกครอง-ประชาธิปไตย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่าในรุ่น A-Net ปี 51 ซึ่งก็เทียบได้กับข้อสอบวิชาสามัญในปัจจุบันนั่นแหละ คำถามโดยรวมออกเป็นการวิเคราะห์ข้อเสียของประชาธิปไตย หากมองผ่านๆ อาจคิดว่ายาก แต่อ่านตัวเลือกทีละตัวเลือก แล้วจะพบว่ามันไม่ยากในการหาคำตอบจากโจทย์นี้เลย

วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกเหล่านี้ล้วนไ่ม่ใช่ข้อเสียของระบอบประชาธิปไตยในแง่ที่ว่า “การดำเนินการยาก”

ตัวเลือกที่ 1 เพราะต้องให้ประชาชนไปเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร >> เหตุผลนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับคำว่า ดำเนินการยาก และอีกอย่างมันก็ไม่ใช่ข้อเสียของการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วย ลองคิดดูซิว่า ถ้าเราไม่ให้ประชาชนไปเลือกผู้แทน แล้วเราจะได้รัฐบาลมาปกครองประเทศได้อย่างไร

ตัวเลือกที่ 2 เพราะการตัดสินใจต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ >> อาจเป็นข้อเสียของประชาธิปไตยได้ แต่หากนำไปโยงกับคำว่า ดำเนินการยาก เหตุผลนี้จะยังไม่เกี่ยวกันเสียทีเดียว 

ตัวเลือกที่ 3 เพราะหาคนดีมาทำหน้าที่บริหารประเทศได้ยาก >> แม้จะจริงในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะกับประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา แต่เมื่อนำไปโยงกับประเด็นสำคัญที่โจทย์ถาม คือ ดำเนินการยาก เหตุผลนี้ก็ยังอธิบายไม่ตรงประเด็น 

ตัวเลือกที่ 4 เพราะยากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจในหลักประชาธิปไตย >> ก็ถือเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ในสังคมการเมืองแบบไทยๆ ภาพนี้ก็มีให้เห็นได้ชัด ที่เราได้ยินบ่อยๆ ก็คำว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ไง 555 แต่ก็เช่นเดียวกับตัวเลือกที่ 2 และ 3 เหตุผลนี้อธิบายไม่ตรงประเด็นหลักที่โจทย์ถาม คือ ดำเนินการยาก

สรุปคำตอบ >> ตัวเลือกที่บ่งชี้ข้อเสียของการปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเด็นที่ว่า การดำเนินการยาก ได้ถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 5 เพราะการจัดสรรผลประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนทุกคนย่อมทำไม่ได้ ด้วยความซับซ้อนของสังคม ความหลากหลายของปัญหาและประชากร จึงเป็นไปได้ยากมากที่รัฐซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนจะสามารถจัดสรรผลประโยชน์ให้ตรงกับความต้องการของประชากรได้ทุกกลุ่ม ส่วนใหญ่รัฐจะลำดับความช่วยเหลือ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่กำลังเสียผลประโยชน์หรือเดือดร้อนมากที่สุดก่อน ดังนั้นแม้ว่า เราจะบอกว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นหลัก แต่พอจะปฏิบัติจริง มันก็ไม่ได้ตอบสนองให้กับประชาชนทุกกลุ่มหรือทุกคนได้เสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในแต่ละเหตุการณ์ด้วย

6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (การเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อสอบ O-Net ของปี 61 นี้เลือกประเด็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ขององค์กรอิสระและศาลมาเป็นคำถาม ข้อสอบยากในระดับปานกลาง หากนักเรียนไม่ค่อยสนใจตามข่าวสารการเมือง ข้อนี้ก็อาจยากนิดนึง ต้องค่อยๆ ดูทีละตัวเลือก แล้วตัดออก จะเพิ่มโอกาสในการตอบคำถามจากโจทย์นี้ได้ถูกต้องมากขึ้น

วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกเหล่านี้ ระบุบทบาทขององค์กรอิสระและศาลตามรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง

ตัวเลือกที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญ – ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง >>  ไม่ใช้บทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นหน้าที่ของศาลฎีกา ตามข้อบัญญัติในมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญปี 2560

ตัวเลือกที่ 3 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน – ยึดทรัพย์สินของข้าราชการระดับสูงที่ทุจริตเงินแผ่นดิน >> ตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 240 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่ได้เพียงกำกับการตรวจเงินแผ่นดิน และการลงโทษจะทำได้เพียงโทษทางปกครองกรณีทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ (เช่น ปลดจากตำแหน่ง) แต่ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ กรณียึดทรัพย์จะต้องมีคำสั่งศาลลงมาก่อน (และก็ไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินด้วย)

ตัวเลือกที่ 4 คณะกรรมการเลือกตั้ง – ยึดทรัพย์ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง >> ไม่สามารถยึดทรัพย์ได้ กรณีทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 224 ที่ทำได้ คือ ระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการเลือกตั้ง รวมถึงระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เท่านั้น การยึดทรััพย์จะต้องผ่านการพิพากษามาจากศาลก่อน

ตัวเลือกที่ 5 ศาลปกครอง – พิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง – ผิดเช่นกัน หน้าที่นี้เป็นของศาลอาญาแผนกคดีอาญา ว่าด้วยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 

สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่สามารถระบุบทบาทหน้าที่ขององค์กรกับอำนาจตรวจสอบรัฐตามรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้อง ตรงกับตัวเลือกที่ 1 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 มาตรา 234 ซึ่งระบุหน้าที่ของคณะกรรมการนี้ใน ข้อ 2 ที่ว่า ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ตำแหน่งราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 

7) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 สมพงษ์เคารพเหตุผลของผู้อื่น (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : สิทธิมนุษยชน

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนวิเคราะห์ตัวเลือกว่าตัวไหนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ข้อความจะวนไปวนมา กับคำว่าเหตุผล ลองค่อยๆ พิจารณาทีละตัว เทียบกับหลักความจริงในแง่การเคารพในสิทธิของผู้อื่นซึ่งเป็นหัวใจของหลักสิทธิมนุษยชน นักเรียนจะเห็นคำตอบทันที

สรุปคำตอบ : พฤติกรรมที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จะตรงกับตัวเลือกที่ 1 สมพงษ์เคารพเหตุผลของผู้อื่น เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้อื่น ลักษณะดังกล่าวเป็นไปตามหลักการเคารพสิทธิของบุคคลอื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน 

ตัวเลือกที่เหลือ ล้วนไม่สามารถบ่งบอกเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้ชัดเจน หัวใจของการส่งเสริม จะต้องมองที่การเคารพในสิทธิรวมถึงความคิดเห็นของผู้อื่นเป็นหลัก แม้ว่าเหตุผลหรือความคิดนั้นจะตรงข้ามกับเหตุผลหรือความคิดของตน กรณีตัวเลือกที่ 5 สมชายมักนำเหตุผลของผู้อื่นมาเปรียบเทียบกับเหตุผลของตนเองเสมอ พฤติกรรมนี้ก็ยังไม่บ่งบอกเรื่องการเคารพในสิทธิของผู้อื่นที่ชัดเจน หากนำมาเปรียบเทียบแล้วพยายามนำเหตุผลของตนเองไปกดผู้อื่นโดยใช้แต่อารมณ์อันนี้ก็จบ…..

8) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย (ประเภทของกฎหมาย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 43 ภาพรวมของคำถามอยู่ในระดับกลางๆ ถามหาประเภทกฎหมาย การจะหาคำตอบจากโจทย์นี้ สิ่งสำคัญ คือ นักเรียนต้องรูัก่อนว่ากฎหมายมหาชน คืออะไร พอรู้ตรงนี้จะทำให้เชื่อมไปหาคำตอบได้ง่ายขึ้น

วิเคราะห์ตัวเลือก : กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่บัญญัติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐหรือรัฐกับเอกชน โดยรัฐเป็นฝ่ายอยู่เหนือเอกชน ซึ่งจากความหมายนี้ เราจึงใช้ตัดตัวเลือกที่ทั้งหมดไม่ใช่กฎหมายมหาชน ได้ดังนี้

ตัวเลือกที่ 1 >> มีเพียงกฎหมายอาญาเท่านั้นที่เป็นกฎหมายมหาชน ส่วนกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดกเป็นกฎหมายเอกชน

ตัวเลือกที่ 2 >> กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายมหาชน ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายเอกชน

ตัวเลือกที่ 3 >> กฎหมายว่าด้วยทรัพย์สิน กฎหมายว่าด้วยหนี้ เป็นกฎหมายเอกชน ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายมหาชน

ตัวเลือกที่ 5 >> กฎหมายมรดก เป็นกฎหมายเอกชน ส่วนกฎหมายปกครอง และประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายมหาชน 

สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่ประกอบด้วยกฎหมายมหาชนทั้งหมด คือ ตัวเลือกที่ 4 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย โดยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นกฎหมายมหาชนอยู่แล้ว ส่วนกฎหมายล้มละลาย แม้จะเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สิน แต่เนื่องจากการล้มละลายจะมีผลที่เศรษฐกิจโดยรวมด้วย หากกิจการที่ล้มนั้นเป็นกิจการสำคัญ มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงจัดให้กฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายมหาชน ในขณะที่กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ถูกจัดเป็นกฎหมายมหาชน เนื่องจากจะมีข้อบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องพยานและอัตราค่าฤชาธรรมเนียมต่างๆ เหล่านี้ล้วนแสดงความสัมพันธ์ของรัฐที่เหนือเอกชนตามหลักกฎหมายมหาชน

9) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 นายขาวบิดาของนายเขียวให้รถยนต์แก่นางสาวขำเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันว่านายเขียวและนางสาวขำจะสมรสกันในอนาคต (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : กฎหมายในชีวิตประจำวัน (กฎหมายแพ่ง)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามเกี่ยวกับกฎหมายแพ่ง ซึ่งก็เช่นเคยของการถามข้อสอบกฎหมายในชีวิตประจำวัน จะยกมาเป็น Case Study แล้วถามความถูกต้องตามหลักกฎหมาย ข้อสอบเป็นการวิเคราะห์ ซึ่งเราจะหาคำตอบกันได้ถูกก็ต่อเมื่อ เข้าใจประเด็นหลักที่โจทย์ถาม นั้นคือ การหมั้นที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแพ่งนั้น ต้องมีลักษณะเป็นอย่างไร

เข้าถึงเนื้อหา : ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 ระบุเกี่ยวกับการหมั้นที่สมบูรณ์ไว้ว่า การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

สรุปคำตอบ : จากข้อบัญญัติตามกฎหมายแพ่งที่ยกมา จะเห็นได้ทันทีว่า ตัวเลือกที่แสดงถึงการหมั้นที่สมบูรณ์จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 3 นายขาวบิดาของนายเขียวให้รถยนต์แก่นางสาวขำเพื่อให้เป็นที่เข้าใจกันว่านายเขียวและนางสาวขำจะสมรสกันในอนาคต โดยตามหลักวัฒนธรรมไทย ฝ่ายชายต้องเป็นฝ่ายให้ของหมั้นต่อหญิง (ตัดตัวเลือกที่ 2) ตรงนี้ถือเป็นจุดสำคัญซึ่งก็อยู่ในบทบัญญัติอย่างชัดเจน เน้นที่ “หญิง” ไม่ใช่ฝ่ายหญิง นะ เพราะฝ่ายหญิงอาจหมายถึง ผู้ปกครอง ได้ ในทางกฎหมายต่อให้ผู้ปกครองของฝ่ายหญิงรับของหมั้นมาจากฝ่ายชาย แต่ถ้าหญิงที่ฝ่ายชายต้องการให้รับหมั้น เค้าไม่ยินยอม การหมั้นก็ไม่สมบูรณ์หรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลนี้ ตัวเลือกที่  4 และ 5 จึงผิดไป

ตัวเลือกที่ 1 นายดำจัดพิธีหมั้นระหว่างตนและนางสาวแดงโดยการเชิญญาติผูัใหญ่ทั้งสองฝ่ายมาเป็นสักขีพยานร่วมกัน >> Case นี้ก็ไม่ได้ทำให้การหมั้นสมบูรณ์ได้เช่นกัน ไม่มีการพูดถึงเรื่องของหมั้น ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การหมั้นสมบูรณ์เลย

10) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 นายดำยืมรถยนต์จากนายแดงต่อมานายดำนำรถยนต์ไปขายให้นายขาว (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : กฎหมายในชีวิตประจำวัน (กฎหมายอาญา)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในเรื่องกฎหมายในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับโจทย์ข้อ 9 แต่เปลี่ยนมาเป็นกฎหมายอาญา และเป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 โดยโจทย์ข้อนี้เค้าต้องการวัดเราโดยตรงในเรื่อง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และเลือกคำว่า ยักยอก ซึ่งเราๆ ก็น่าจะได้ยินกันบ่อย แต่จะรู้ไหมว่าความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้ คืออะไร?

วิเคราะห์ตัวเลือก : Case จากตัวเลือกต่อไปนี้ ไม่ใช่การยักยอกตามกฎหมายอาญา

ตัวเลือกที่ 2 นายดำหลอกให้นายแดงเผลอแล้วแอบหยิบโทรศัพท์ของนายแดงไป >> Case นี้ คือ การลักทรัพย์ ตามความหมายที่ว่า เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเป็นสิทธิของตนเองโดยทุจริต

ตัวเลือกที่ 3 นายดำหลอกนายแดงว่านายขาวให้มารับสินค้าแล้วนายแดงก็ยอมส่งมอบสินค้าให้ >> Case นี้ คือ การฉ้อโกงทรัพย์ ตามความหมายที่ว่า หลอกหลวงหรือแสดงข้อความอันเป็นเท็จให้เจ้าของทรัพย์หลงเชื่อและส่งมอบทรัพย์ให้แก่ผู้หลอกลวง

ตัวเลือกที่ 4 นายดำเจตนาทำให้คอมพิวเตอร์ที่นายแดงฝากไว้ไม่สามารถใช้การได้ >> Case นี้ คือ การทำให้เสียทรัพย์ ตามความหมายที่ว่า ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหาย

ตัวเลือกที่ 5 นายดำเผาเอกสารสัญญากู้ยืมเงินที่นายดำเป็นลูกหนี้ต่อนายแดง >> Case นี้ไม่ตรงกับความหมายในเรื่องความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เลย แต่ไปโยงกับเรื่องการทำสัญญา คือ โดยปกติตามหลักกฎหมาย การทำสัญญาต้องทำ 2 ฉบับ คือ ฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ ใน Case นี้ต่อให้ฝ่ายนายดำ ลูกหนี้เผาสัญญาของตนทิ้งไป แต่ฝ่ายแดง ย่อมต้องมีสัญญาอีกฉบับเก็บไว้แน่นอน ดังนั้นการเผาไป 1 ฉบับ จึงไม่ได้ช่วยอะไรเลย… และไม่เป็นความผิดตามกฎหมายด้วย

สรุปคำตอบ : หลังการตัดตัวเลือกออกครบ เราจึงได้ตัวเลือกที่ตรงกับความหมายของคำว่า ยักยอก คือ ตัวเลือกที่ 1 นายดำยืมรถยนต์จากนายแดงต่อมานายดำนำรถยนต์ไปขายให้นายขาว ทั้งนี้เป็นไปตามความหมายของคำว่า ยักยอก ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ที่ว่า ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก…..

จบการเฉลยชุดที่ 1
If you like, please share this!