เฉลยแบบทดสอบสาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ชุดที่ 2
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ความยุติธรรมเสมอภาค (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (สังคมและวัฒนธรรมไทย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้มีลักษณะออกแนววิเคราะห์ในประเด็นเรื่องค่านิยมในสังคมไทย โดยมีคำสำคัญที่โจทย์ให้มา คือ รากฐานสำคัญเพื่อการสร้างสังคมที่ยั่งยืน การหาคำตอบเราจะต้องใช้คำนี้ไปวิเคราะห์หาเหตุผลจากค่านิยมในแต่ละตัวเลือกดูว่า ค่านิยมใดที่อยู่ในกรอบของความคิดนี้
สรุปคำตอบ : ค่านิยมที่สังคมไทยยังให้ความสำคัญน้อย คือ ตัวเลือกที่ 5 ความยุติธรรมเสมอภาค เห็นได้ชัดจากหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ความยุติธรรม มีการเลือกข้างในการตัดสินคดีต่างๆ อย่างชัดเจน ความเสมอภาคทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีน้อยถึงน้อยมาก ปัญหาการกระจายรายได้ คนที่มีฐานะสูงมีอยู่แค่หยิบมือแต่ที่มีฐานะต่ำมีค่อนประเทศ ตรงนี้สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเห็นได้ชัด กรณีการเมืองจะถูกปิดกั้นด้วยการศึกษา ซึ่งเราเห็นชัดในปัจจุบันถึงโอกาสความเท่าเทียมทางการศึกษาซึ่งมีผลจากเศรษฐกิจ มีรายได้น้อยก็เรียนแบบตามหลักสูตรไป ไม่มีโอกาสเรียนในโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรดีๆ สอน การคิดวิเคราะห์จะมีน้อยถึงน้อยมาก เน้นจำอย่างเดียว ผลคือไม่มีทางทันเล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง ซึ่งแน่นอนความเสมอภาคทางการเมืองไม่เกิดขึ้น สรุปได้ว่า ค่านิยมด้านความยุติธรรมเสมอภาค นับเป็นค่านิยมที่สำคัญอย่างมากต่อสังคมเรา ซึ่งพยายามบอกตัวเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่รากฐานความคิดกลับไม่มีเลย ซ้ำร้ายยังมีบางคนกลับไปเน้นย้ำด้วยว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับสังคมเรา ซึ่งแน่นอนว่าหากคิดเช่นนี้การสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืนก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
ตัวเลือกที่ 3 ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และ ตัวเลือกที่ 4 ความกตัญญูกตเวที >> คนในสังคมเราจะให้ความสำคัญมาก ดูได้จากการนำเสนอข่าวสาร รวมถึงการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นเพราะทั้งสองค่านิยมนี้มีพื้นฐานมาจากหลักธรรมทางพุทธศาสนา
ตัวเลือกที่ 1 ความรับผิดชอบ และ ตัวเลือกที่ 2 ความขยันหมั่นเพียร >> จริงอยู่ที่ว่าทั้งสองค่านิยมนี้คนในสังคมเราก็ให้ความสำคัญไม่ได้มากนัก แต่หากไปเทียบกับเรื่องความยุติธรรมเสมอภาค ยังถือว่าให้ความสำคัญมากกว่า อย่างน้อยเราก็เห็นได้ในวงการศึกษา การทำงาน ทั่วไป
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 คนมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (การเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามถึงตัวเลือกที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองของสังคมไทย ข้อนี้หากนักเรียนดูเผินๆ จะเห็นว่าถูกแทบทุกข้อ ดังนั้นเราจึงต้องหาคำตอบจากตัวเลือกที่ถูกที่สุดโดยพิจารณาจากขอบเขตของตัวบ่งชี้ ซึ่งจะต้องมองเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนสุด เน้นการมองภาพรวมไม่ใช่ภาพย่อย
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นเมืองของสังคมไทยได้ชัดเจนที่สุดตรงกับตัวเลือกที่ 2 คนมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น ซึ่งเราจะพิจารณาได้จากระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไทยทุกวันนี้ ซึ่งนับวันจะมีแต่ความห่างเหิน การพึ่งพาต่อกันมีลดน้อยลง ผู้คนหันไปหาวัตถุ มองเทคโนโลยีต่างๆ อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์มือถือของตนเองมากขึ้น ความผูกพันทางจิตใจที่เคยมีแน่นแฟ้นในครอบครัว ตลอดจนในสังคมหน้าที่การงานก็เริ่มเลือนหายไป เหล่านี้ล้วนแต่บ่งบอกความเป็นปัจเจกชน (เน้นการอยู่ตัวคนเดียว ให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าสังคม) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การดำเนินชีวิตในสังคมเมือง)
ตัวเลือกอื่นๆ >> ถือเป็นตัวบ่งชี้ถึงแนวโน้มสู่ความเป็นเมืองของสังคมไทยได้เช่นกัน แต่จะเป็นองค์ประกอบย่อยๆ มองเฉพาะด้าน ต่างกับตัวเลือกที่ 2 ที่มองไปที่ระบบความสัมพันธ์ เน้นให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไป
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 วัฒนธรรมสากลต้องไม่ขัดแย้งต่อค่านิยม และความเชื่อเดิมที่มีอยู่ (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (วัฒนธรรม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามถึงเกณฑ์การรับวัฒนธรรมจากต่างชาติ แม้จะออกวิเคราะห์ แต่ถ้าค่อยๆ พิจารณาตัวเลือกจะเห็นคำตอบได้ไม่ยาก พิจารณาที่ความสมเหตุสมผลโดยไม่ลืมลักษณะสำคัญของการเป็นวัฒนธรรมเป็นหลัก
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 วัฒนธรรมสากลต้องไม่ขัดแย้งต่อค่านิยม และความเชื่อเดิมที่มีอยู่ เพราะในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่การรับวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาแล้วจะไม่ขัดแย้งกับความเชื่อและค่านิยมเดิม โดยความขัดแย้งดังกล่าวหากเป็นเรื่องที่ดี สร้างสรรค์ ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมเรา ก็นับเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ เช่น การรับวัฒนธรรมประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกเข้ามา ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับความเชื่อเดิมในเรื่องการแบ่งชนชั้น ความไม่เท่าเทียมในสังคม จากลักษณะสังคมแบบศักดินาของไทย แต่ก็ส่งผลให้สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพิ่มขึ้น ลักษณะดังกล่าวยังเข้ากับลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของการเป็นวัฒนธรรมด้วย นั่นคือ วัฒนธรรมมีลักษณะเป็นพลวัต หมายความว่า วัฒนธรรมต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ หากวัฒนธรรมหยุดนิ่ง ไม่มีการพัฒนาใดๆ ตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป วัฒนธรรมนั้นๆ จะตายหรือถูกทอดทิ้งไปในที่สุด
ตัวเลือกที่ 2 วัฒนธรรมสากลต้องสามารถยึดโยงกับโครงสร้างทางสังคมที่มีอยู่เดิมได้ และ ตัวเลือกที่ 3 วัฒนธรรมสากลต้องอยู่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับวัฒนธรรมไทยที่มีอยู่เดิมได้ >> นี่เป็นเกณฑ์ที่ถูกต้องในการรับวัฒนธรรมสากลแล้ว โดยวัฒนธรรมใหม่ที่เรารับเข้ามาจะต้องผสมผสานกับวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมของเราได้ ไม่ใช่เข้ามาทำลายโครงสร้างทางสังคมหรือวัฒนธรรมเก่าที่เรามีไปทั้งหมด พิจารณาได้จากช่วงที่สังคมไทยเราในอดีตรับพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นวัฒนธรรมจากอินเดียเข้ามา เราก็นำความเชื่อทั้งสองมาผสานเข้ากับความเชื่อผี ซึ่งเป็นความเชื่อเดิมที่เรามีอยู่ได้อย่างลงตัว
ตัวเลือกที่ 4 วัฒนธรรมสากลต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากเดิมที่มีอยู่ และ ตัวเลือกที่ 5 วัฒนธรรมสากลต้องมีส่วนเกื้อหนุนให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้นจากพื้นฐานที่มีอยู่เดิม >> ทั้งสองตัวเลือกมีความหมายที่ไปในด้วยกัน นั่นคือ การยกระดับสังคมหรือวัฒนธรรมเดิมของเราให้ดีขึ้น ซึ่งมันก็เป็นลักษณะที่ถูกต้องในการเลือกรับวัฒนธรรมสากลเข้ามา หากวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาทำให้สังคมและการพัฒนาต่างๆ ของเราแย่ลงกว่าเดิม แล้วเราจะรับเข้ามาทำไม จริงไหม?
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 อำนาจนิยม : มีโอกาสที่สังคมจะขาดระเบียบและกฎกติกา (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (รูปแบบการเมืองการปกครอง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้มีรูปแบบรัฐบาลหลายๆ แบบมาให้นักเรียนจากนั้นให้นักเรียนมองหาจุดอ่อนในรูปแบบการปกครองที่ไม่ถูก เป็นข้อสอบที่ออกตามเนื้อหาเลย ไม่มีอะไรยาก ชื่อรูปแบบรัฐเหล่านี้ นักเรียนได้เรียนผ่านมาหมดแล้วในเนื้อหารัฐศาสตร์
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่างๆ เหล่านี้ อธิบายจุดอ่อนของรูปแบบรัฐบาลได้ถูกต้องแล้ว
ตัวเลือกที่ 1 ประชาธิปไตย และ ตัวเลือกที่ 4 เสรีนิยม >> ทั้งสองเกี่ยวกันโดยตรง การแก้ไขปัญหาใดๆ จะค่อนข้างล่าช้าเพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด และเนื่องจากเป็นการปกครองที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น มีกระบวนการตรวจสอบชัดเจนทั้งในตัวกฎหมายและนอกกฎหมาย-ประท้วง บางครั้งจึงมีผลให้การบริหารขาดความมั่นคงไม่ต่อเนื่อง (ไม่มีเสถียรภาพ)
ตัวเลือกที่ 2 อนุรักษ์นิยม >> การปกครองยึดหลักความคิดแบบเดิมๆ ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้การพัฒนาประเทศอาจล่าช้า
ตัวเลือกที่ 3 ราชาธิปไตย >> เห็นได้บ่อยครั้งถึงการตัดสินใจที่ผิดพลาดของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากแม้จะมีข้าราชการขุนนางเป็นที่ปรึกษา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะผิดพลาดไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น นโยบายการนำชาวฝรั่งเศสโดยเฉพาะกลุ่มทหารและกลุ่มบาทหลวงเข้ามาในสยามจำนวนมากของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็นำความไม่พอใจมาสู่ขุนนางขั้วตรงข้ามกับพระองค์รวมถึงฝ่ายสงฆ์และภาคประชาชน นำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหารของพระเพทราชาต่อพระองค์
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่แสดงถึงจุดอ่อนของรูปแบบรัฐบาลไม่ถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 5 อำนาจนิยม : มีโอกาสที่สังคมจะขาดระเบียบและกฎกติกา โดยรูปแบบรัฐแบบอำนาจนิยม เป็นโครงสร้างหนึ่งของการปกครองแบบเผด็จการ มีลักษณะเป็นเผด็จการทหารเน้นที่การควบคุมอำนาจทางการเมือง ซึ่งถ้านักเรียนมองให้ดีรูปแบบรัฐเช่นว่านี้ ก็ใกล้เคียงกับรูปแบบรัฐไทยในปัจจุบัน (ค.ศ. 2020) แม้เราจะได้รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมา แต่หากเราใจเป็นกลางพอก็จะรู้ได้ว่ากลไกของกฎหมายต่างๆ มันมิใช่ประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ท้ายสุดกลุ่มทหารที่มาจากการรัฐประหารก็ยังคงปกครองเราภายใต้พรรคการเมืองที่เขาสร้างมันขึ้นมานั่นเอง (ไม่ต้องบอกก็รู้ใช่ไหมว่า พรรคอะไร?) แล้วเมื่อเรามองไปที่กฎระเบียบ กติกาต่างๆ นักเรียนเห็นว่าเป็นอย่างไร? มันขาดหรือ? แน่นอนว่าไม่ ในทางตรงข้ามบ้านเมืองเราเต็มไปด้วยกฎที่มาจากรัฐบาลประชาธิปไตยในกรอบอำนาจนิยม ดังนั้นชัดเจนเลยว่าจุดอ่อนของรูปแบบรัฐแบบอำนาจนิยมย่อมไม่ใช่ การขาดระเบียบและกฎกติกา แน่นอน
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 การพัฒนาหลักประชาธิปไตยให้กลายเป็นวิถีชีวิตของทั้งสังคม (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (รูปแบบการเมืองการปกครอง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ครูแป๊ปคิดว่าน่าสนใจมากๆ เลยเลือกมาเป็นหนึ่งในแบบทดสอบชุดนี้ เป็นคำถามที่ใกล้ตัวเราสุดๆ เนื่องจากสังคมไทยเราปัจจุบันเป็นไปตาม concept นี้เลย การหาคำตอบให้นักเรียนมองภาพรวม ปัจจัยที่เป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน ครอบคลุมทุกเรื่อง นั่นหละคือคำตอบ
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 4 การพัฒนาหลักประชาธิปไตยให้กลายเป็นวิถีชีวิตของทั้งสังคม เนื่องจากเมื่อหลักประชาธิปไตยกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมแล้ว จิตสำนึกในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการยอมรับในความคิดที่แตกต่างกัน มันก็จะเกิดขึ้น เมื่อคนตระหนักในวิถีประชาธิปไตยเหล่านี้แล้ว การที่จะเปลี่ยนการปกครองของประเทศกลับไปสู่เผด็จการ จึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทุกคนรู้ดีว่า หากกลับไปวิถีเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
ตัวเลือกที่เหลือถือเป็นส่วนย่อยของตัวเลือกที่ 4 อีกที คือ พูดง่ายๆ วิถีชีวิตคลุมทุกอย่างครบหมดแล้ว….
กรณี ตัวเลือกที่ 5 การกำหนดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองให้กับประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ >> ถามว่ารัฐธรรมนูญปี 60 มีบัญญัติไหม? คำตอบ คือ มี แต่แล้วไงอะ มีการปฏิบัติได้จริงตามบัญญัติไหม นักเรียนคงมีคำตอบในตัวเองนะ…
ตัวเลือกที่ 2 การยอมรับกติกาประชาธิปไตยในหมู่ชนชั้นนำ และ ตัวเลือกที่ 3 การสลายขั้วการเมืองที่ขัดแย้งกันในหมู่ประชาชน >> ทั้งสองเกี่ยวข้องกันโดยตรง โดยเฉพาะการสลายขั้ว ซึ่งอันนี้เป็นยูโทเปียแบบคนไทย (อุดมคติ) ที่ปรารถนาให้เกิดเหลือเกิน แต่ในสถานการณ์ความจริงของสังคมเราในปัจจุบัน นักเรียนคงเห็นชัดเจนว่า มันทำได้จริงหรือ? ความขัดแย้งมันมีในสังคมประชาธิปไตยเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงแต่หากเรายึดโยงในเรื่องเหตุผล เคารพในความต่าง ปัญหาพวกนี้ก็ไม่ใช่เป็นประเด็นอะไรที่น่ากลัวขนาดนั้น… สำหรับสังคมไทย ยิ่งหลีกเลี่ยงมันก็ยิ่งเกิด เพราะเราไม่เคยแก้ปัญหาตรงจุดของมันเสียที
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 การตรากฎกระทรวง (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (การเมืองการปกครองตามรัฐธรรมนูญ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 ถามในประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ อาจต้องใช้เวลาในการพิจารณาตัวเลือกเล็กน้อย แต่ไม่ยากเกินไปในการหาคำตอบ
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ ล้วนเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
ตัวเลือกที่ 2 การเรียกประชุมรัฐสภา >> เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 122 ในรัฐธรรมนูญ 60 ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม
ตัวเลือกที่ 3 การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง >> เป็นไปตามมาตรา 15 ในรัฐธรรมนูญ 60 ที่ว่า การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
ตัวเลือกที่ 4 การทำหนังสือสัญญาสันติภาพ >> เป็นไปตามมาตรา 178 ในรัฐธรรมนูญ 60 ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
ตัวเลือกที่ 5 การให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง >> เป็นไปตามมาตรา 171 ในรัฐธรรมนูญ 60 ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่ไม่ใช่พระราชอำนาจตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 การตรากฎกระทรวง ตามรัฐธรรมนูญแล้ว การตรากฎกระทรวงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ ที่จะตราขึ้น เมื่อตราแล้วให้เสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก็สามารถประกาศร่างกฎกระทรวงนั้นเป็นกฎหมายได้ โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เป็นข้อตกลงพหุภาคีระดับสากลที่มีผลบังคับใช้ผูกพันกับรัฐที่ร่วมลงนาม (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : สิทธิมนุษยชน
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ใช้ประเด็นเรื่องปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นคำถาม แม้จะออกโดยเน้นไปที่ความหมาย ความเป็นมา แต่รวมๆ ก็อาจลึกลงไปกว่าที่เราเรียนตามหน้าหนังสือเรียนอยู่บ้าง ข้อสอบยากระดับกลางๆ ระวังการวิเคราะห์ตัวเลือกดีๆ เพื่อไม่ให้ผิดพลาดในการเลือกคำตอบ
เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้รับการยกร่างขึ้นภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 (หักล้างตัวเลือกที่ 3) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่ความสูญเสียอีก ถือเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนทั่วทุกแห่ง ตัวปฏิญญาได้รับการยกร่างขึ้นในปี ค.ศ. 1947 โดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 8 คน มีนาง Eleanor Roosevelt อดีตภริยาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน และเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ให้การสนับสนุนและรับรองตัวปฏิญญา (หักล้างตัวเลือกที่ 5) การลงคะแนนเสียงกระทำในปี ค.ศ. 1948 มีประเทศที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุน 48 ประเทศ ไม่มีประเทศใดลงคะแนนเสียงคัดค้าน (หักล้างตัวเลือกที่ 2) แต่ทั้งนี้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาตินี้ จะไม่มีผลผูกพันในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา จะเห็นได้ทันทีว่าตัวเลือกที่กล่าวถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไม่ถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 4 เป็นข้อตกลงพหุภาคีระดับสากลที่มีผลบังคับใช้ผูกพันกับรัฐที่ร่วมลงนาม อย่างไรก็ตามแม้ในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศจะไม่ได้มีผลผูกพัน แต่ประเทศต่างๆ ที่ร่วมลงนามก็ถือเป็นพันธกรณีที่ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม (กรณีแตกแถวไม่สนใจไม่ปฏิบัติตาม มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน เช่น กรณีรัฐไทยปัจจุบัน ซึ่งลงนามในปฏิญญาฉบับนี้ แต่การปฏิบัติของรัฐบาลต่อพลเมืองที่มีความเห็นต่างทางการเมืองในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ก็เป็นการตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ว่าปฏิญญาฉบับนี้ไม่ได้มีผลผูกพันกับรัฐไทยที่ต้องปฏิบัติตามเลย)
ตัวเลือกที่ 1 ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ที่ส่งผลให้เกิดการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศภาคีที่ร่วมลงนาม >> เป็นผลการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยแต่ละประเทศจะบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนออกมาตามกรอบของปฏิญญาฉบับนี้
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วสามารถถวายฎีกาเพื่อให้มีการพิจารณาคดีใหม่ได้ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : นิติศาสตร์ (ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมาย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับกฎหมายวิธีสบัญญัติ โดยรวมๆ เหมือนจะยาก แต่หากอ่านช้าๆ ทีละตัวเลือก พิจารณาภาษารวมถึงความสมเหตุสมผลให้ดีจะเห็นว่ามีตัวเลือกเดียวที่อธิบายผิด
เข้าถึงเนื้อหา : กฎหมายวิธีสบัญญัติ คือ กฎหมายที่บัญญัติถึงกระบวนการในการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นตามกฎหมายสารบัญญัติ ตัวอย่างของกฎหมายประเภทนี้ เช่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สรุปคำตอบ : เมื่อพิจารณาจากทุกตัวเลือกแล้ว จะเห็นว่า ตัวเลือกที่ 5 คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วสามารถถวายฎีกาเพื่อให้มีการพิจารณาคดีใหม่ได้ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยจุดที่ข้อความนี้ไม่ถูก คือ คำพิพากษาที่ถึงที่สุด ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่ว่าจะอาญาหรือแพ่ง เมื่อถึงที่สุดแล้ว คือ จบ ไม่สามารถจะอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆ ได้อีกต่อไป ข้อความสนับสนุนชัดเจนในคำที่กล่าวนี้ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์มาตรา 147 ระบุว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง…..”
ตัวเลือกที่เหลือล้วนเป็นเนื้อหาในส่วนกฎหมายวิธีสบัญญัติ
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 เด็กชายไก่ได้เข้าไปใช้บริการคอมพิวเตอร์ในร้านอินเทอร์เน็ตของนายไข่ที่คิดค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท เป็นเวลา 1 ชั่วโมง (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : นิติศาสตร์ (กฎหมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทยข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามเกี่ยวกับเรื่องสัญญาเช่าทรัพย์ ซึ่งเป็นธรรมดาของการออกข้อสอบกฎหมาย โจทย์จะให้เราวิเคราะห์จากสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งข้อนี้หากไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องการเช่าทรัพย์มาดีพอก็อาจจะทำให้ตอบผิดได้ง่ายๆ เพราะแต่ละตัวเลือกก็ดูลวงพอควร หัวใจสำคัญของการหาคำตอบ คือ นักเรียนจะต้องทราบว่า การจะเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ต้องมีเงื่อนไขอะไรสำคัญบ้าง
เข้าถึงเนื้อหา : เงื่อนไขสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ มี 5 ข้อใหญ่ ดังนี้
1. เป็นสัญญาที่มีบุคคล 2 ฝ่าย คือ ผู้ให้เช่าฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นบุคคลที่ให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินโดยได้รับค่าเช่าตอบแทน กับผู้เช่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นบุคคลซึ่งได้ใช้หรือหรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน โดยตกลงจะชำระค่าเช่า
2. ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง
3. ผู้เช่าตกลงให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น สัญญาเช่าทรัพย์สินเป็นสัญญาต่างตอบแทนเนื่องจากว่าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีหนี้ตอบแทนกัน กล่าวคือ ผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าได้ใช้สอยหรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าโดยได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทน ในทางตรงกันข้ามฝ่ายผู้เช่าซึ่งเมื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่า หากสัญญาเช่านั้นไม่มีการจ่ายค่าเช่าเป็นการตอบแทน ก็อาจไม่ใช่สัญญาเช่า แต่อาจเป็นสัญญาอื่น เช่น สัญญายืม หรือหากเป็นการให้อยู่ในอาคารโดยไม่คิดค่าเช่าก็เป็นเรื่องสิทธิอาศัย เป็นต้น
4. การเช่านั้นมีกำหนดระยะเวลาจำกัด การเช่าทรัพย์สินจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการเช่าเสมอ ซึ่งคู่สัญญาอาจตกลงกันได้เป็น 2 ลักษณะคือ อาจกำหนดเป็นชั่วโมง วัน สัปดาห์ เดือน หรือปี ก็ได้ หรือจะกำหนดระยะเวลาการเช่าตลอดอายุของผู้เช่าหรือของผู้ให้เช่าก็ได้
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่อธิบายไปในส่วนเข้าถึงเนื้อหา นักเรียนจะพบได้ทันทีว่า ตัวเลือกที่ตรงกับลักษณะของสัญญาเช่าทรัพย์ คือ ตัวเลือกที่ 3 เด็กชายไก่ได้เข้าไปใช้บริการคอมพิวเตอร์ในร้านอินเทอร์เน็ตของนายไข่ที่คิดค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำในตัวเลือกนี้เป็นเพียงตัวเลือกเดียวใน 5 ตัวเลือกที่มีการจ่ายค่าเช่าอย่างชัดเจน เป็นไปตามลักษณะสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ข้อ 3
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 นายเอ ลักทรัพย์ผู้โดยสารบนเครื่องบินญี่ปุ่น ขณะจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : นิติศาสตร์ (กฎหมายในชีวิตประจำวัน)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามนักเรียนเกี่ยวกับความผิดอาญาโดยเชื่อมโยงกับจุดหรือสถานที่เกิดเหตุซึ่งไม่ใช่เป็นพื้นที่ภายในประเทศเสมอไป จัดเป็นโจทย์ที่ยากข้อหนึ่ง เพราะเนื้อหากฎหมายที่เราเรียนกันทั่วไปจะไม่ค่อยลงลึกเท่านี้ จุดหลักที่จะทำให้เราหาคำตอบได้ถูก คือ จะต้องทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความผิดซึ่งเชื่อมโยงกับสถานที่หรือพื้นที่เกิดเหตุด้วย
เข้าถึงเนื้อหา : ตามหลักกฎหมายไทย การกระทำความผิดจะยึด “หลักดินแดน” มาเป็นหลักพิจารณาในการนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการตามหลักกฎหมายของเรา คำว่า ดินแดน ในที่นี้ หมายถึง พื้นดิน พื้นน้ำ อ่าวไทย ทะเลห่างจากฝั่งที่เป็นดินแดนของประเทศไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล และรวมถึงพื้นอากาศเหนือพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยนอกจากความหมายนี้แล้ว ยังได้ขยายขอบเขตอำนาจของศาลไทยจนถึงอากาศยานหรือเรือไทยด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรค 2 ว่า “การกระทำความผิดบนเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร” ซึ่งคำว่าราชอาณาจักรในที่นี่ คือ ประเทศไทย และอากาศยานไทย หมายถึง อากาศยานที่ถือสัญชาติไทยหรือจดทะเบียนในประเทศไทย ส่วนผู้กระทำความผิดไม่จำกัดว่าเป็นผู้ใดหรือมีสัญชาติใด
วิเคราะห์ตัวเลือก : จากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น นักเรียนจะเห็นได้ทันทีเลยว่า การกระทำความผิดของบุคคลตามตัวเลือกเหล่านี้ มีความผิดตามกฎหมายไทยแน่นอน
ตัวเลือกที่ 2 นายบี ลักทรัพย์ผู้โดยสารบนเครื่องบินการบินไทย ขณะบินเหนือน่านฟ้าฝรั่งเศส >> เพราะเขียนชัดเจนว่า เครื่องบินการบินไทย
ตัวเลือกที่ 3 นายซี ทำร้ายร่างกายผู้โดยสารบนเรือเดินสมุทรของไทยขณะอยู่ในน่านน้ำสากล >> เพราะเขียนชัดเจนว่า เรือเดินสมุทรของไทย
ตัวเลือกที่ 4 นายดี ลักทรัพย์ผู้โดยสารบนเครื่องบินการบินไทย ขณะจอดที่สนามบินสหรัฐอเมริกา >> เพราะเขียนชัดเจนว่า เครื่องบินการบินไทย
กรณี ตัวเลือกที่ 5 นายเอฟ หมิ่นประมาทชาวไทยด้วยกัน ขณะท่องเที่ยวที่เกาหลีใต้ >> ไม่ได้มีเรื่องอากาศยานหรือเรือเดินสมุทรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มีคำสำคัญ คือ ชาวไทยด้วยกัน ซึ่งคำๆ นี้บ่งชัดเจนว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องผิดตามกฎหมายของไทยหากว่ามีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้นภายหลัง แม้สถานที่เกิดจะไปเกิดที่ต่างประเทศก็ตาม
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหารวมถึงการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงสรุปได้ว่า ตัวเลือกที่ 1 นายเอ ลักทรัพย์ผู้โดยสารบนเครื่องบินญี่ปุ่น ขณะจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ทั้งนี้เพราะแม้ตัวสถานที่จะยังอยู่ในพื้นที่ประเทศไทย แต่ตัวอากาศยานเป็นของต่างชาติ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ผิดตามกฎหมายของเรา แต่จะผิดตามกฎหมายของเจ้าของอากาศยานนั้น กรณีนี้ คือ ของญี่ปุ่น