Answer Key C-3

เฉลยแบบทดสอบสาระหน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ชุดที่ 3

1) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 บรรทัดฐานทางสังคม (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางสังคมวิทยา

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามถึงองค์ประกอบของการจัดระเบียบทางสังคมที่มีความสำคัญสูงสุด การหาคำตอบจากโจทย์นี้ นักเรียนจะต้องทราบก่อนว่าองค์ประกอบของการจัดระเบียบทางสังคมได้แก่อะไรบ้าง เมื่อทราบแล้วให้พิจารณาเลือกจากองค์ประกอบที่ทำให้เรามองเห็นภาพการจัดระเบียบได้ชัดเจนสูงสุด สามารถครอบคลุมทุกองค์ประกอบอื่นๆ ได้ครบถ้วน

เข้าถึงเนื้อหา : องค์ประกอบของการจัดระเบียบทางสังคมได้แก่ สถานภาพและบทบาท บรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยมทางสังคม และการควบคุมทางสังคม ในบรรดา 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบที่มีความสำคัญสูงสุด คือ บรรทัดฐานทางสังคม โดยบรรทัดฐานทางสังคม เปรียบเหมือนแนวทางสำคัญที่ให้สมาชิกในสังคมปฏิบัติตามเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าทั้งเรื่องการให้สมาชิกแสดงบทบาทให้ถูกต้องเหมาะสมตามสถานภาพที่ดำรงอยู่ การปฏิบัติตามค่านิยมทางสังคม แท้จริงแล้วก็คือการให้สมาชิกปฏิบัติบรรทัดฐานทางสังคมนั้นๆ เพื่อเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจนส่งผลต่อการเสียระเบียบของสังคมไป ส่วนการควบคุมทางสังคมก็คือองค์ประกอบที่ใช้สนับสนุนให้สมาชิกปฏิบัติตามบรรทัดฐาน

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่ได้อธิบายไป คำตอบของโจทย์นี้จึงอยู่ในตัวเลือกที่ 3 บรรทัดฐานทางสังคม

2) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 การส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน และพัฒนาการศึกษาแบบคิดวิเคราะห์ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางสังคมวิทยา (วัฒนธรรม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์วิเคราะห์ให้นักเรียนมองหานโยบายที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยเมื่อพิจารณาบางตัวเลือกจะเห็นว่าบางตัวตัดออกได้ง่ายๆ แต่จะมีบางตัวที่ต้องมานั่งคิดนิดหนึ่ง ให้นักเรียนพยายามเชื่อมโยงกับคำว่าพหุวัฒนธรรมดีๆ แล้วค่อยๆ พิจารณาจะเห็นคำตอบชัดเจนอยู่

เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : สังคมพหุวัฒนธรรม หมายถึง สังคมที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยพิจารณาจากเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวิถีชีวิตของประชากรที่แตกต่างกัน สภาพสังคมเช่นนี้จะถูกกำหนดมาจากการอพยพย้ายถิ่นฐาน ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์

จากความหมายของสังคมพหุวัฒนธรรม จะเห็นได้ชัดเจนว่า นโยบายที่ไม่สมควรส่งเสริมหรือพัฒนา เนื่องจากจะส่งผลให้สังคมเกิดความแตกแยกได้ คือ

ตัวเลือกที่ 1 การพัฒนาการศึกษาประวัติศาสตร์ในแนวทางแบบชาตินิยม และตัวเลือกที่ 2 การรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำชาติ >> ทั้งสองนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือก่อให้เกิดความคิดแบบเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์นิยมขึ้น ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ความต่าง ความหลากหลาย หากยิ่งพัฒนาผลที่ตามมาคือการแก่งแย่งเพื่อความเป็นหนึ่งในสังคมของวัฒนธรรมหรือเผ่าพันธุ์ใดเพียงเผ่าพันธุ์หนึ่ง และจะสร้างความบาดหมางให้กับวัฒนธรรมหรือเผ่าพันธุ์ที่ไม่ได้ถูกหลอมรวมเข้ากับนโยบายแบบชาติหรือเผ่าพันธุ์นิยมนั้น

ตัวเลือกที่ 4 การยกระดับการศึกษาและการท่องเที่ยวของท้องถิ่นให้สอดคล้องกับเมืองใหญ่ >> ท้องถิ่นมีความแตกต่าง มีอัตลักษณ์ที่เป็นของตัวเอง การยกระดับเป็นสิ่งที่ดี แต่การทำให้สอดคล้องกับเมืองใหญ่ก็เท่ากับสอนให้ละทิ้งวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ของพื้นที่ตัวเองไป ผลจะเกิดขึ้นได้ 2 กรณี กรณีแรกคือได้รับการต่อต้านจากคนในพื้นที่ กรณีที่สองคือวัฒนธรรมในท้องถิ่นจะค่อยๆ ถูกกลืนไปหมด

ตัวเลือกที่ 5 การสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและอัตลักษณ์ของท้องถิ่น >> นโยบายนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากหากเทียบกับนโยบายจาก 3 ตัวเลือกที่หักทิ้งไป แต่เพียงการสร้างสำนึกและอัตลักษณ์ ไม่เพียงพอจะทำให้ผู้คนที่มีความแตกต่างดำรงชีวิตได้อย่างราบรื่น เนื่องจากแต่ละกลุ่มจะสนใจแต่วัฒนธรรมของตน ไม่สนใจวัฒนธรรมที่ต่างไปจากตน

สรุปคำตอบ : เมื่อเราหักตัวเลือกออกครบหมดแล้ว เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 3 การส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน และพัฒนาการศึกษาแบบคิดวิเคราะห์ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยหลักสิทธิมนุษยชน มุ่งเน้นความเท่าเทียมกันในสังคม ทุกคนคือมนุษย์เหมือนกัน ไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติ ในขณะที่การศึกษาที่มุ่งเน้นให้คิดวิเคราะห์ จะสร้างสังคมที่มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เช่น เรียนรู้จุดเด่น จุดเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ที่อาจมีทั้งความต่างและปรากฏการณ์ที่มีความร่วมมือกันอยู่ บางครั้งอาจเรียนรู้ปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เพื่อหาหนทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้

3) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 สัดส่วนประชากรในวัยผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น (สามัญ 61) *

เนื้อหาที่ใช้ถาม : สังคมวิทยา (สังคมและวัฒนธรรมไทย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 ถามเราในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ดูจากโจทย์อาจมองว่ายาก แต่ถ้าพิจารณาที่ตัวเลือกดีๆ ง่ายมากๆ เพราะข้อนี้เราสามารถใช้วิธีตัดตัวเลือกทิ้งได้ ตัวที่ไม่ใช่ ค่อนข้างเห็นได้ชัด และภาพผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เป็นคำตอบก็มีการพูดถึงมากตามสื่อต่างๆ ในทุกวันนี้ หากนักเรียนได้ตามข่าวสารบ้างนะ 555

วิเคราะห์ตัวเลือก

ตัวเลือกที่ 3 สัดส่วนแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนแน่นอนมากขึ้น, ตัวเลือกที่ 4 สัดส่วนผู้อยู่อาศัยในเขตเมืองที่เริ่มเบาบางมากขึ้น และตัวเลือกที่ 5 สัดส่วนรายได้ระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ปานกลางใกล้เคียงกัน >> 3 ตัวเลือก ผิดอย่างไม่ต้องสงสัย นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศไทยอย่างแน่นอน ข้อต่างด้าวทุกวันนี้ยังมีข่าวลักลอบเข้าเมือง หรือขนส่งผ่านนายหน้าเข้ามาแบบผิดกฎหมายอยู่เลยแล้วมันจะมีจำนวนแน่นอนได้อย่างไร? อีก 2 ตัวเลือกที่เหลือ เห็นๆ อยู่แล้วว่าผิด โดยครูแป๊ปคิดว่านักเรียนก็คงทราบดีโดยที่ครูแป๊ปไม่จำเป็นต้องยกอะไรมาอธิบายใช่ไหม?

ตัวเลือกที่ 2 สัดส่วนประชากรชายและหญิงที่ใกล้เคียงกัน >> จากข้อมูลล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 จากประชากรทั้งประเทศ คือ 66,558,935 เป็นประชากรชาย 32,605,100 ประชากรหญิง 33,953,835 ตรงนี้คงบอกนักเรียนได้ชัดเจนนะว่า มันไม่ใกล้กันเท่าไร ดูไปแล้วสัดส่วนประชากรหญิงจะมากกว่า

สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 สัดส่วนประชากรในวัยผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น โดยสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ประชากรผู้สูงวัยมีมากกว่าวัยเด็ก และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า คือ ปี พ.ศ. 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัย 20 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรไทย สภาพการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสภาพสังคมและวัฒนธรรม อำนาจซื้อหรือการบริโภคจะเปลี่ยนไป สินค้าเพื่อสุขภาพจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น การจ้างงานอาจต้องขยายช่วงอายุออกไป นอกจากนี้ยังมีผลต่อระบบสวัสดิการโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ภาครัฐต้องเร่งรีบจัดสรรเพื่อให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ด้วย

4) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามในเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบของรัฐ ซึ่งถือเป็นเนื้อหาพื้นฐานเวลาที่เราเริ่มเรียนในบทรัฐศาสตร์ของสาระหน้าที่พลเมือง ตรงนี้จึงถือเป็นการออกตามเนื้อหา ไม่มีอะไรยาก ทุกอย่างเรียนมากันแล้วทั้งสิ้น ให้นักเรียนใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ในการหาคำตอบได้เลย

สรุปคำตอบ : เกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งรัฐออกเป็นรัฐเดี่ยวหรือรัฐรวมนั้น ตรงกับเกณฑ์ใน ตัวเลือกที่ 5 ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น โดยเกณฑ์สำคัญในการจัดประเภทของรัฐออกเป็นรัฐเดี่ยวหรือรวมนั้น จะพิจารณาจากรูปแบบของรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่นเป็นหลัก

หากเป็นรัฐที่รวมอำนาจอธิปไตยไว้ที่ศูนย์กลางหรือเมืองหลวงเพียงแห่งเดียว มีเพียงรัฐบาลเดียวที่มีอำนาจในการบริหารกิจการต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกดินแดนทั้งหมด เช่นนี้แล้วถือเป็น รัฐเดี่ยว ในรัฐประเภทนี้แม้จะมีรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ด้วย แต่รัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้เกิดจากการกระจายอำนาจที่รัฐบาลกลางกำหนดขอบเขตให้ รัฐบาลกลางยังมีอำนาจเหนือกว่าที่จะแทรกแซงหรือสงวนการตัดสินใจในนโยบายสำคัญ

กรณีของรัฐรวม หมายถึง รัฐที่เกิดจากการรวมตัวของรัฐตั้งแต่สองรัฐขึ้นไป โดยแต่ละรัฐยังคงมีสภาพเป็นรัฐอย่างเดิม แต่การใช้อำนาจอธิปไตยของแต่ละรัฐจะต้องถูกจำกัดลงตามข้อตกลงที่กระทำกัน โดยรัฐบาลของรัฐรวมจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ รัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐหรือรัฐบาลของแต่ละรัฐ รัฐแต่ละรัฐจะมอบอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับผลประโยชน์อันเป็นส่วนรวมของรัฐทั้งหมดให้แก่รัฐบาลกลาง เช่น การทหาร ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเงินการคลัง กิจการที่เหลือนอกจากนี้รัฐบาลของแต่ละรัฐจะบริหารจัดการเอง

สำหรับ รัฐรวม ในโจทย์จะกล่าวแยกเป็น 2 ประเภท คือ สหพันธรัฐ กับสมาพันธรัฐ โดยตามความหมายของรัฐรวมที่ครูแป๊ปกล่าวไปข้างต้นจะตรงกับ สหพันธรัฐ ซึ่งทุกวันนี้ ประเทศที่มีรูปแบบเป็นรัฐรวมจะเป็นลักษณะนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ออสเตรเลีย 

สำหรับ สมาพันธรัฐ หมายถึง รัฐที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของรัฐต่างๆ ตามสนธิสัญญา โดยรัฐสมาชิกต้องมีความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงจะเกิดการดำเนินกิจกรรมของสมาพันธ์ได้ และมีสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสมาชิกเป็นองค์กรทำหน้าที่ต่างๆ ในนามของรัฐสมาชิก โดยที่รัฐสมาชิกยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ สภาผู้แทนไม่ได้มีอำนาจในการควบคุมการกระทำภายในรัฐสมาชิก นอกจากนี้ แต่ละรัฐมักจะมีความร่วมมือกันในบางเรื่องเท่านั้น เช่น ด้านความมั่นคงหรือนโยบายเศรษฐกิจ ตัวอย่างสมาพันธรัฐที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบัน คือ สหภาพยุโรป ส่วนสมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ เป็นเพียงแค่ชื่อ โดยสวิสเซอร์แลนด์มีรูปแบบรัฐแบบสมาพันธรัฐในช่วงก่อนปี ค.ศ. 1846 แต่หลังจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสหพันธรัฐ เพียงแต่ชื่อยังคงใช้ว่า สมาพันธรัฐ ตามเดิม

ตัวเลือกที่ 1 ประมุขของรัฐ >> เป็นเกณฑ์ที่ใช้แบ่งรัฐเป็น ราชอาณาจักร (ประมุขของรัฐ คือ กษัตริย์) และสาธารณรัฐ (ประมุขของรัฐ คือ ประธานาธิบดี)

5) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 สร้างอำนาจมั่นคงต่อรัฐบาล **

เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (รูปแบบการเมืองการปกครอง)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนวิเคราะห์หาข้อความบ่งชี้หรือสัมพันธ์กับการปกครองแบบเผด็จการ ซึ่งนักเรียนจะต้องอาศัยการวิเคราะห์ทางภาษาให้ดีๆ เพื่อโยงเข้ากับหลักการปกครองแบบเผด็จการ โดย Key ที่จะทำให้นักเรียนไม่พลาดในการหาคำตอบจากโจทย์นี้ คือ นักเรียนจะต้องตอบให้ได้ว่าหัวใจของการปกครองแบบเผด็จการอยู่ที่ใด เพียงนักเรียนตอบคำถามนี้ได้นักเรียนก็จะสามารถเห็นข้อความที่สื่อถึงการปกครองแบบนี้ได้ทันที

เข้าถึงเนื้อหา : หัวใจสำคัญสูงสุดของการปกครองแบบเผด็จการ คือ การให้ความสำคัญกับรัฐเหนือสิทธิเสรีภาพของประชาชน เน้นการมองที่อำนาจและผลประโยชน์ของรัฐเหนือสิ่งใด ลักษณะดังกล่าวเป็นไปตามทฤษฎีแสนยานุภาพหรือทฤษฎีพลกำลังซึ่งถือเป็นหนึ่งในทฤษฎีกำเนิดรัฐ โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่าการปกครองมีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้ายีดครองและการบังคับ รากฐานของรัฐ คือ อำนาจ โดยอำนาจคือสิ่งที่ก่อให้เกิดความถูกต้อง ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าคือรัฐ สามารถที่จะข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่าและสร้างกฎเกณฑ์เพื่อจำกัดสิทธิของผู้อื่นได้ ด้วยเหตุนี้แนวคิดตามทฤษฎีพลกำลังจึงเป็นที่มาของการปกครองแบบเผด็จการทุกรูปแบบ (รวมถึงการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือการปกครองแบบกษัตริย์ ด้วย)

สรุปคำตอบ : จากหัวใจสำคัญของการปกครองแบบเผด็จการตามที่ได้กล่าวไป ข้อความซึ่งบ่งชี้ถึงแนวคิดเผด็จการได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 2 สร้างความมั่นคงต่อรัฐบาล คำว่า ความมั่นคง=เสถียรภาพ ต่อเนื่อง ซึ่งจริงๆ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคงจะต้องมีในระดับหนึ่ง มิฉะนั้นการบริหารใดๆ จะมีปัญหา เกิดความไม่ต่อเนื่องในการบริหารงาน อย่างไรก็ตามเมื่อนำข้อความนี้ไปเทียบกับตัวเลือกอื่น ข้อความนี้จะสื่อหรือบอกถึงการปกครองแบบเผด็จการมากที่สุด ด้วยเหตุที่ว่ายิ่งสร้างความมั่นคงก็เท่ากับว่าทำให้รัฐบาลสามารถครองอำนาจได้ยาวนาน การสร้างความมั่นคงยังจะต้องมีเครื่องมือต่างๆ มาเสริมสร้างและในขณะเดียวกันก็ใช้ปกป้องตัวเองจากฝ่ายตรงข้าม บางกรณีใช้ปราบปรามได้อีก ภายหลังการประท้วง การต่อต้านใดๆ จะทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ ท้ายสุด รัฐบาลจะสำคัญสูงสุด ใครจะมาเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือคิดเห็นขัดแย้งใดๆ ไม่ได้เลย และแน่นอนว่านี่ก็คือเผด็จการ

ข้อความในตัวเลือกที่ 1 และ 4 โยงกับหลักการของการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยตรง ในขณะที่ข้อความในตัวเลือกที่ 3 และ 5 แม้ไม่ได้โยงกับหลักการประชาธิปไตย แต่ก็ไม่สะท้อนถึงการปกครองแบบเผด็จการ

ตัวเลือกที่ 1 พัฒนากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด >> โยงกับหลักนิติธรรมซึ่งจะใช้ควบคุมอำนาจรัฐได้ ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่ากฎหมายนี้ควรถูกเขียนขึ้นจากประชาชนซึ่งถือเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่เขียนจากคณะบุคคลที่ไม่ได้ยึดโยงจากประชาชนซึ่งแม้ภายหลังจะนำมาให้ประชาชนลงประชามติแต่กระบวนการเริ่มแรกที่ไม่ได้นำประชาชนมามีส่วนร่วมก็เป็นนัยยะที่สื่ออยู่แล้วเนื้อในของกฎหมายอาจถูกเขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ของบุคคลเฉพาะกลุ่มได้ แน่นอนว่าหากกฎหมายลักษณะนี้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นก็เป็นอันแน่ชัดว่า มันไม่ใช่ประชาธิปไตย (ควบคุมอำนาจรัฐไม่ได้อย่างแท้จริง)  

ตัวเลือกที่ 4 สร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชน >> โยงกับหลักความเสมอภาค แม้ในความจริงรัฐประชาธิปไตยทุกรัฐ ก็ยากมากที่พลเมืองทุกคนจะเท่ากัน แต่ในเชิงหลักการของประชาธิปไตยแล้วต้องเสมอภาคกัน รัฐไหนจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเพียงใด เราดูได้จากหลักการข้อนี้ ยิ่งความเท่าเทียมในสังคมมีมาก ก็หมายความว่าสังคมของรัฐนั้นดำเนินครรลองประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (หลักความเสมอภาคจะปรากฏอยู่ในข้อความภายในรัฐธรรมนูญ)

ตัวเลือกที่ 3 กำหนดให้พลเมืองมีหน้าที่ต่อรัฐ >> ข้อความนี้ไม่โยงกับหลักการประชาธิปไตยโดยตรง แต่ถือเป็นเรื่องปกติที่พลเมืองทุกคนจะต้องมีหน้าที่ต่อรัฐ เช่น การเสียภาษี การไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การเป็นทหาร ทั้งหมดนี้เป็นครรลองปกติของทุกรัฐ ที่จะทำให้รัฐเดินหน้าต่อไป ตอบสนองต่อระบบการบริหาร จัดการทรัพยากร โครงสร้างการปกครองทั้งหมดของรัฐ

ตัวเลือกที่ 5 รักษาความสงบเรียบร้อยให้กับบ้านเมือง >> ข้อความนี้ไม่ได้โยงกับหลักการปกครองแบบประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ถือเป็นเรื่องปกติของทุกรัฐที่บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย หากมีแต่ความวุ่นวาย ประท้วง ต่อต้าน ก็ยากมากที่รัฐนั้นจะดำเนินต่อไปได้

6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : รัฐศาสตร์ (การเมืองไทยตามรัฐธรรมนูญ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามถึงเรื่องราวสุด Hot ประเด็นการเมืองใหญ่ในช่วงเวลานี้ (ค.ศ. 2020-2021) นั่นคือ เรื่องราวเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเปรียบเทียบกับตัวรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเก่า บางตัวเลือกจะง่ายในการตัดออก แต่บางตัวเลือก นักเรียนก็อาจจะต้องมีพื้นฐานความรู้นิดนึง มิฉะนั้นก็อาจตอบผิดไปได้เหมือนกัน

วิเคราะห์ตัวเลือก : ประเด็นในตัวเลือกเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นบทบัญญัติซึ่งเพิ่งกำหนดมาในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 60 ทั้งสิ้น

ตัวเลือกที่ 2 ในการลงมติเห็นชอบในร่างแก้ไขจะต้องได้รับเสียงจากวุฒิสภา 1 ใน 3 หรือ 84 คน และตัวเลือกที่ 5 จะต้องได้เสียงจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ในการแก้ไข >> อยู่ในมาตรา 256 ข้อ 6 ที่ว่า “การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (หมายถึง พรรคฝ่ายค้าน-ครูแป๊ปขยายความ) ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา” ซึ่งตรงพรรคฝ่ายค้านไม่ค่อยเป็นปัญหาเท่าไรในการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ตรงวุฒิสภา เป็นปัญหาที่เสมือนกุญแจล็อคที่ทำให้การจะแก้รัฐธรรมนูญทำได้สุดแสนยากและกลายเป็นประเด็นที่ร้อนแรงดังที่นักเรียนทุกคนก็น่าจะทราบดี และทั้งหมดมันก็เพิ่งมาโผล่ในรัฐธรรมนูญ 60 นี้ อันได้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับเจ้าปัญหา…. 

ตัวเลือกที่ 3 ในการแก้ไขในหมวดวิธีแก้รัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการทำประชามติก่อน >> อยู่ในมาตรา 256 ข้อ 8 ที่ว่า “ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้ ก่อนดำเนินการตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดำเนินการตาม (7) ต่อไป” เกี่ยวกับบทบัญญัติเรื่องนี้ก็เพิ่งมีขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับ 60 นี้ เหมือนกัน ก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีลักษณะเช่นนี้ ซึ่งก็มีผลให้รัฐธรรมนูญนี้แก้ไขยากเหลือคณา…

ตัวเลือกที่ 4 ศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิวินิจฉัยชี้ขาดว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นสามารถผ่านได้หรือไม่หากเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ และมีการร้องขอ >> ตรงตามบทบัญญัติในมาตรา 256 ข้อ 9 ที่ว่า “ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธยตาม (7) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือทั้งของสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญตาม (7) ขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8)  และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้” บัญญัติยาวเฟื้อยมาก 5555 ซึ่งก็อีกแหละ กฎพิสดารแบบนี้ (ที่เรียกว่าพิสดาร ก็เพราะว่าทั้ง สว. และศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชนเลย แต่ไฉนมีอำนาจเช่นนี้ด้วย….) มีแต่รัฐธรรมนูญ 60 เจ้าปัญหาฉบับนี้เท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวแน่นอน

สรุปคำตอบ : หลังจากเราวิเคราะห์ตัวเลือกจบเรียบร้อย เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 1 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน สามารถเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ เนื่องจากบทบัญญัติซึ่งเป็นเงื่อนไขข้อนี้ถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (ในรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่ในมาตรา 291 ข้อ 1) ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นบทบัญญัติซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมา

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : แต่ถึงรัฐธรรมนูญ 60 จะระบุว่า ประชาชนมีสิทธิเสนอร่าง ซึ่งก็ปรากฎว่าเสนอผ่านเข้าไปจริงๆ แต่แล้วยังไง… สุดท้ายถูกตีตกไงครับ 555 นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกให้เราทราบว่า พลเมืองไทยนี่จะมีสิทธิมีเสียงจริงอ๊ะป่าว?

7) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 คุณค่าความเป็นมนุษย์ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พลเมืองดีในวิถีประชาธิปไตย+สิทธิมนุษยชน

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ซึ่งเนื้อหาที่ถามค่อนข้างอัพเดทมากๆ และค่อนข้าง Hot เลยทีเดียว เชื่อว่านักเรียนหรือคนใกล้ชิดของนักเรียนน่าจะได้ผ่านประสบการณ์เรื่องนี้กันมาบ้าง เนื้อหาที่ถามโยงได้ถึง 2 เนื้อหา คือ พลเมืองดีในวิถีประชาธิปไตยกับสิทธิมนุษยชน การหาคำตอบจากโจทย์ไม่ยากเกินไปนัก หลายตัวเลือกหักทิ้งได้ง่ายๆ เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับประเด็นที่โจทย์ถามเลย แต่อาจมีบางตัวเลือกที่ใกล้เคียง ตรงนี้อาศัยองค์ความรู้พื้นฐานจากเนื้อหาในการหาคำตอบด้วย

เข้าถึงเนื้อหา : จากโจทย์ประเด็นที่นักเรียนควรทราบก่อนเพื่อจะได้หาตัวเลือกที่เป็นคำตอบได้อย่างถูกต้อง คือ คำว่า หลักการหรือคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตย โดยแบ่งได้ 3 หลักการหรือคุณค่า ดังนี้

  1. เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมามีคุณค่าเท่ากันมิอาจล่วงละเมิดได้ การมีอิสรถาพและความเสมอภาค การยอมรับในเกียรติภูมิของแต่ละบุคคล โดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางสังคม ยอมรับความแตกต่างของทุกคน ทั้งนี้ในหลักการหรือคุณค่าข้อนี้จะมีองค์ประกอบย่อย 4 องค์ประกอบ คือ สำนึกรู้ในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ / ตระหนักในความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ / เคารพในความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรม / ยึดหลักอดทน อดกลั้น ต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง
  2. เคารพสิทธิ เสรีภาพ และกฎกติกาของสังคมที่เป็นธรรม โดยให้ความสำคัญต่อสิทธิ เสรีภาพ การมีกฎกติกาที่วางอยู่บนความยุติธรรมและชอบธรรม มีหลักนิติรัฐในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมิให้ถูกละเมิด 
  3. รับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่นและสังคม โดยตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นเนื้อหาที่มีคุณลักษณะสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเอง ต่อสังคม การดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผล

สรุปคำตอบ : จากหลักการหรือคุณค่าพื้นฐานของประชาธิปไตยใน 3 ข้อที่กล่าวมา นักเรียนจะเห็นได้ว่า ที่โยงกับเรื่อง Hate Speech โดยตรงคือ หลักการข้อแรก ตรงกับตัวเลือกที่ 3 คุณค่าความเป็นมนุษย์ เนื่องจากการกระทำในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายไม่ยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล ละเมิดเรื่องอิสรภาพและความเสมอภาคของบุคคล ตรงกับองค์ประกอบย่อยของหลักข้อแรก เกือบทุกข้อ โดยเฉพาะที่บอกว่า ยึดหลักอดทน อดกลั้น ต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง

เสริมความรู้ : เกี่ยวกับเรื่อง Hate Speech นี้เนื่องจากในรอบปีที่ผ่านมานับเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศเรามากๆ ครูแป๊ปก็อยากบอกให้เป็นแง่คิดกับนักเรียนทุกคนว่า หากเรายึดในหลักประชาธิปไตยหรือเราต้องการให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ความเห็นต่างทางการเมืองเป็นสิ่งที่ยังไงมันก็ต้องมี (หรือแม้แต่คนที่ไม่แสดงความคิดเห็น) เราจะไปตัดสินเขาหรือไปแทรกแซงชีวิตเขานั้นมันจะยิ่งทำให้ประชาธิปไตยที่เราทุกคนเรียกร้องอยู่ถูกบั่นทอนคุณค่าของมันลงเท่านั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางความคิด เราควรหาแนวทางสร้างสรรค์เช่นการหาช่องทางในการคุยกันด้วยเหตุและผลมากกว่า นำข้อดีของแต่ละเรื่องมารวมกัน ครูแป๊ปรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่ถ้าเราตั้งใจมุ่งมั่นทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ และนี่แหละจึงจะเรียกว่า “ประชาธิปไตยที่แท้จริง”

8) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 สัญญาเช่าเครื่องจักร อายุสัญญา 2 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : นิติศาสตร์ (กฎหมายที่ใช้ในชีวิตประจำวัน-แพ่ง)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามวัดความรู้ของนักเรียนเกี่ยวกับกฎหมายสัญญาพาณิชย์ต่างๆ โดยรวมค่อนข้างยากอยู่ เพราะต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติของข้อกฎหมาย พยายามหักล้างตัวเลือกที่คิดว่าไม่ใช่ออกก่อน เพื่อเพิ่มโอกาสในการตอบถูกให้กับตัวเรามากขึ้น

วิเคราะห์ตัวเลือก

ตัวเลือกที่ 2 สัญญากู้ยืมเงิน 5,000 บาท >> กรณีนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อทั้งผู้ให้กู้และผู้กู้จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีต่อศาลได้

ตัวเลือกที่ 3 สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ราคา 800,000 บาท และตัวเลือกที่ 1 สัญญาซื้อขายโทรศัพท์มือถือราคา 30,000 บาท >> สัญญาทั้งสองประเภทนี้จะต้องทำเป็นหนังสือ ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 ……อนึ่งสัญญาจะขายหรือจะซื้อทรัพย์สินอย่างใดๆ ดั่งว่ามานี้ก็ดี คำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินเช่นว่านั้นก็ดี ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญหรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ …บทบัญญัติที่ว่ามาในวรรคก่อนนี้ ท่านให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย

ตัวเลือกที่ 4 สัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ อายุสัญญา 1 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท >> ด้วยเหตุที่อาคารพาณิชย์เป็นอสังหาริมทรัพย์จึงต้องทำเป็นหนังสือ ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่…..

สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงสรุปได้ว่า สัญญาที่ทำด้วยวาจาโดยลำพังก็สามารถฟ้องร้องได้ คือ ตัวเลือกที่ 5 สัญญาเช่าเครื่องจักร อายุสัญญา 2 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 100,000 บาท ทั้งนี้เครื่องจักรเป็นสังหาริมทรัพย์ กรณีการเช่าทรัพย์ไม่ได้มีข้อบัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นการฟ้องร้องจึงทำได้แม้เพียงเป็นสัญญาทางวาจา

9) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 จับผู้ต้องหามาควบคุมในห้องขังที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : นิติศาสตร์ (กฎหมายอาญา)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ถามในเนื้อหาซึ่งสัมพันธ์กับบทบัญญัติในกฎหมายอาญา หากนักเรียนได้ลองกวาดสายตาดูจากตัวเลือกทั้งหมดจะเห็นชัดเจนเลยว่า ตัวเลือกไหนที่เป็นคำตอบ ดังนั้นสำหรับครูแป๊ปแล้ว โจทย์ข้อนี้จัดว่าง่ายมากๆ เก็บคะแนนมาได้ไม่ยากเลย

สรุปคำตอบ : เมื่อพิจารณาจากตัวเลือกทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า กรณีที่พนักงานสอบสวนสามารถทำได้ตามข้อกฎหมาย ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในชีวิตและร่างกาย คือ ตัวเลือกที่ 5 จับผู้ต้องหามาควบคุมในห้องขังที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87 ที่ว่า ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่า 48 ชั่วโมง (หรือ 2 วัน) นับแต่เวลาที่มาถึงสถานีตำรวจ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จะยึดเวลาเกิน 48 ชั่วโมงได้เท่าที่จำเป็น แต่รวมกันแล้วต้องมิให้เกิน 3 วัน นั่นคือ จะควบคุมตัวที่สถานีตำรวจได้สูงสุดไม่เกิน 3 วัน

กรณีที่ปรากฎในตัวเลือกที่เหลือถือว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหมด เช่นกรณีในตัวเลือกที่ 3 ซึ่งถูกเรียกว่า วิสามัญฆาตกรรม แม้อาจเกิดได้ แต่ต้องเป็นเรื่องใหญ่มีผลต่อชีวิตของบุคคล เช่น จับผู้บริสุทธ์เป็นตัวประกันอยู่ หรือไม่ยอมมอบตัวทั้งที่ใช้ความพยายามจากตำรวจอย่างที่สุดแล้วซึ่งก็ควรต้องเป็นกรณีคดีหลักๆ อย่างกรณีฆ่าคน แต่สำหรับตามตัวเลือกที่ 3 คือ แค่ขโมยของถึงขนาดวิสามัญ อันนี้ก็เกินไป… ส่วนของตัวเลือกที่ 4 จริงๆ ควรจะไม่ผิด ถ้าขออนุญาตจากผู้ต้องหาก่อน แต่นี่ทำเลย ก็ผิดแน่นอน

10) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 นายแดง ชำเรานางสาวเดือนขณะนอนหลับอยู่เพราะคิดว่านางสาวเดือนให้ทำ นายแดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (*)

เนื้อหาทีใช้ถาม : นิติศาสตร์ (กฎหมายอาญา)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 59 ให้บทบัญญัติทางกฎหมายมาแล้วให้เราไปหาตัวเลือกที่เป็นกรณีความผิดตามบัญญัติที่ให้มา ซึ่งง่ายแสนง่าย เพราะตัวเลือกที่จะเป็นคำตอบค่อนข้างจะมองเห็นได้ชัด ดังนั้นโจทย์นี้จึงไม่มีอะไรเลย จุดเน้นคือถ้าเราเข้าใจคำว่าข่มขืนตามบทบัญญัติได้อย่างถูกต้องก็จะไม่มีทางเลือกคำตอบผิดไปแน่นอน

วิเคราะห์ตัวเลือก : กรณีในตัวเลือกเหล่านี้ล้วนไม่ได้มีความผิดในข้อหาข่มขืนตามมาตรา 276

ตัวเลือกที่ 1 นายแดง ชำเราศพนางสาวเดือน นายแดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา >> การข่มขืนศพ ปัจจุบัันได้มีการกำหนดโทษแล้ว ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558 มาตรา 366/1 ผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไ่ม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 366/2 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม กรณีชำเราศพนี้ ก็ไม่ใช่ความผิดในข้อหาข่มขืนตามมาตรา 276 ดังที่โจทย์ต้องการแต่อย่างใด

ตัวเลือกที่ 2 นายแดง ชำเราสุนัขของนางสาวเดือน โดยนางสาวเดือนไม่ยินยอม นายแดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา >> กรณีนี้ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ พ.ศ. 2537 มาตรา 3, 20 และ 31 ซึ่งระบุว่า ผู้ใดทารุณกรรมสัตว์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ความผิดชำเราสัตว์ลักษณะเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ความผิดในข้อหาข่มขืนตามมาตรา 276 ดังที่โจทย์ต้องการ

ตัวเลือกที่ 3 นายแดง ชำเรานางสาวเดือนเพราะนางสาวเดือนหลงเชื่อว่าที่นายแดงเป็นดาราชื่อดัง นายแดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา >> กรณีนี้ไม่มีความผิดในกรณีข่มขืนกระทำชำเราเลย เพราะฝ่ายหญิงสมยอม แต่หากจะฟ้องร้อง นางสาวเดือนก็สามารถฟ้องร้องนายแดงได้ในกรณีหลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จอันก่อให้เกิดความเสียหาย

ตัวเลือกที่ 4 นายแดง ชำเรานางสาวเดือนเพราะนางสาวเดือนค้าประเวณีซึ่งผิดกฎหมาย นายแดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา >> กรณีค้าประเวณีก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่การข่มขืนกระทำชำเรา ดังนั้นจึงเป็นความผิดตามมาตรา 276 ไม่ได้ แต่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยกรณีนี้ นางสาวเดือนหากเต็มใจขาย ถือว่าผิดตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (แต่ถ้าไม่ยินยอม ถูกบังคับไม่ผิด) และหากกรณีนางสาวเดือน อายุต่ำกว่า 18 ปี นายแดงจะผิดตามมาตรา 8 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

สรุปคำตอบ : จากการวิเคราะห์ตัวเลือกครบ เราจึงสรุปได้ว่า กรณีที่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตามมาตรา 276 ตรงกับตัวเลือกที่ 5 นายแดง ชำเรานางสาวเดือนขณะนอนหลับอยู่เพราะคิดว่านางสาวเดือนให้ทำ นายแดงมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา โดยลักษณะการกระทำของนายแดงตามตัวเลือกนี้ ตรงตามข้อบัญญัติมาตรา 276 นายแดงจะไม่สามารถอ้างได้ว่า นางสาวเดือนให้ทำ เนื่องจากนางสาวเดือนหลับอยู่ อย่างไรก็ตามในเชิงรูปคดี อาจต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติมว่านางสาวเดือนหลับจริงไหม หากไม่มีบุคคลที่สามหรือหลักฐานอื่นยืนยัน

จบการเฉลยชุดที่ 3
If you like, please share this!