เฉลยแบบทดสอบ สาระเศรษฐศาสตร์ ชุดที่ 1
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ผู้บริโภคมีเงินจำนวนจำกัด (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า มี.ค. 44 ถามถึง concept สำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ การเลือกบริหารจัดการทรัพยากร หาคำตอบได้ง่ายมาก เพียงเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องมาศึกษาเศรษฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ความรู้ที่สำคัญกับมนุษย์เราเพราะอะไร ก็จะมองเห็นคำตอบทันที
เข้าถึงเนื้อหา : วิชาเศรษฐศาสตร์ คือ วิชาที่ศึกษาถึงการจัดสรร บริหารหรือวางแผนการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัดได้สูงสุด)
สรุปคำตอบ : จาก concept ของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ครูแป๊ปบอกไปในส่วนเข้าถึงเนื้อหา จึงสรุปได้ว่าตัวเลือกที่เป็นเหตุผลว่าการเลือกซื้อตู้เย็นแทนการไปเที่ยว เป็นการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ คือ ตัวเลือกที่ 5 ผู้บริโภคมีเงินจำนวนจำกัด โดยเหตุผลหลักที่เรามาจัดสรรทรัพยากรหรือตัดสินใจเลือกใช้มันให้เกิดประสิทธิภาพ ก็มีพื้นฐานมาจากการที่ทรัพยากรที่เรามีอยู่นั้นมีจำกัด นั่นเอง (หากมีไม่จำกัด วิชาเศรษฐศาสตร์ ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องศึกษามัน) ในกรณีการเลือกซื้อตู้เย็นแทนการไปเที่ยว นี้ ทรัพยากรที่จำกัด ก็คือ เงิน และเมื่อมีการเลือก อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ถูกเลือก ในทางเศรษฐศาสตร์ เราจะเรียกมันว่า ค่าเสียโอกาสหรือ Opportunity Cost หมายถึง มูลค่าสูงสุดที่สูญเสียไปจากการเลือกใช้ทรัพยากร ในกรณีตัวอย่างนี้ก็คือ การไปเที่ยว นั่นเอง
ตัวเลือกที่ 2, 3 และ 4 ล้วนเป็นเหตุผลทั่วๆ ไป ของการตัดสินใจเลือกบริโภค แต่ไม่ใช่เหตุผลหลักที่ส่งผลให้การตัดสินใจเลือกซื้อครั้งนี้เป็นการตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์
กรณี ตัวเลือกที่ 1 มีการกำหนดทางเลือกในการตัดสินใจ >> แม้จะมีการสร้างทางเลือกขึ้น แต่ที่เลือกก็เป็นเพราะปัญหาที่เกิดจากความจำกัดของทรัพยากร นั่นเอง
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ทุกระบบเศรษฐกิจประสบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหมือนกัน (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ระบบเศรษฐกิจ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์แนววิเคราะห์ โดยให้หาความถูกต้องจากข้อความที่กล่าวเกี่ยวกับเรื่องระบบเศรษฐกิจ ไม่มีอะไรยาก โดยพื้นฐานความรู้ที่เราต้องมีเพื่อพิชิตโจทย์นี้ คือ ต้องรู้ลักษณะเด่น จุดอ่อน-จุดแข็งของระบบเศรษฐกิจแบบต่างๆ ตามที่เค้าให้มา หรือถ้าไม่รู้จริงๆ อ่านตัวเลือกดีๆ แล้วพิจาณาตามตรรกะของเหตุผลก็ได้ แล้วจะเห็นคำตอบในทันที
วิเคราะห์ตัวเลือก : อันดับแรกเรามาตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่คำตอบออกกันก่อนดีกว่า
ตัวเลือกที่ 1 ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่ประสบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ >> กล่าวผิดแน่นอน ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม คือ การกระจายทรัพยากรให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกคน พูดง่ายๆ คือ เรื่องปัญหาการกระจายรายได้ นั่นเอง มันจะมีคนรวยที่มีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรได้แค่หยิบมือหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่ที่เหลือ จะทำได้แค่ปานกลาง ต่ำหรือไม่ได้เลย ในบางครั้งยังถูกเอาเปรียบด้วยซ้ำ นอกจากนี้ข้อดีในเรื่องอิสระในการใช้ทรัพยากรของระบบทุนนิยม ก็กลายเป็นปัญหาได้ในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งความขาดแคลนและคุณภาพของทรัพยากรที่ถูกนำมาใช้
ตัวเลือกที่ 2 ระบบเศรษฐกิจแบบผสมไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศที่ปกครองแบบเผด็จการได้ >> ข้อนี้ก็กล่าวผิดเช่นกัน การปกครองแบบเผด็จการนั้นมีหลายแบบ หากเป็นแบบคอมมิวนิสต์ ก็อาจไม่ได้นำระบบผสมมาใช้ แต่ถ้าเป็นเผด็จการแบบอำนาจนิยม แนวเผด็จการทหาร (เช่นประเทศเราไง 5555) ก็สามารถเอามาใช้ได้ โดยการผสมจะเอียงฝั่งทุนนิยมมากกว่าหรือฝั่งสังคมนิยมมากกว่า ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำหรือรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นผู้เลือก
ตัวเลือกที่ 3 ระบบเศรษฐกิจแบบผสมจะใช้กลไกราคาอย่างเดียวในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ >> ผิดเช่นกัน ในระบบผสม มันต้องมีทั้งเครื่องมือของระบบทุนนิยมและสังคมนิยม ทั้งนี้จะใช้ฝั่งไหนมากกว่ากันก็อยู่ที่ผู้นำหรือรัฐบาลของรัฐนั้น โดยกลไกราคาเป็นเครื่องมือของฝั่งทุนนิยม ถ้าฝั่งสังคมนิยม ก็คือ การวางแผนจากรัฐ นั่นเอง
ตัวเลือกที่ 4 ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น >> ผิดอีกเช่นกัน ทุกระบบล้วนมีปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งนั้น กรณีระบบสังคมนิยม ปัญหาสำคัญ คือ เสรีภาพในการผลิตและการบริโภค สามารถถูกจำกัดได้โดยภาครัฐ และการแทรกแซงระบบของรัฐผ่านการวางแผนนั้นก็จะไปลดแรงจูงใจในการผลิตได้อีก เช่นนี้แล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าระบบสังคมนิยมแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าระบบอื่น
สรุปคำตอบ : เมื่อหักตัวเลือกออกครบ เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 5 ทุกระบบเศรษฐกิจประสบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจเหมือนกัน เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยเป็นความจริงที่ว่าทุกระบบจะต้องประสบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความจำกัดของทรัพยากร และการหาทางแก้ไขตามแนวทางของแต่ละระบบต่างก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่
ระบบทุนนิยม – ปัญหาการกระจายรายได้ + ทรัพยากร / การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง
ระบบสังคมนิยม – การขาดแรงจูงใจในการผลิตของภาคเอกชน / เสรีภาพในการบริโภคถูกจำกัด
ระบบผสม – หากการแทรกแซงจากภาครัฐเกิดมากจนเกินไป หรือขาดความรู้ในการวางแผนเข้าไปแทรกแซงกลไกราคาในตลาดโดยตรงก็ส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมาได้ / รัฐและเอกชนรายใหญ่มักร่วมมือกันหาผลประโยชน์ต่างๆ จากผู้บริโภค
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 การเลือกผลิตสินค้าและบริการ การเลือกวิธีการผลิต และการกระจายสินค้าและบริการ (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค-การบริหารจัดการทรัพยากร
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ออกตามเนื้อหาปกติ ถามในเรื่องปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็ง่ายดายมาก เพราะเชื่อว่าทุกคนต้องเรียนเนื้อหานี้ผ่านมาแล้วทุกคนแน่นอน
เข้าถึงเนื้อหา : ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างจำนวนทรัพยากรและความต้องการของมนุษย์ โดยในขณะที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดแต่ความต้องการของมนุษย์กลับมีอย่างไม่จำกัด ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องหาทางจัดสรรทรัพยากรเพื่อจะสามารถตอบสนองต่อความต้องการในการใช้ของตนได้ เกิดเป็นปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจซึ่งสัมพันธ์กับ Question Word ในภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ
What จะผลิตอะไร เกี่ยวข้องกับจำนวนและประเภทหรือชนิดของทรัพยากรที่จะผลิต
How จะผลิตอย่างไร เกี่ยวข้องกับกรรมวิธีที่ใช้ในการผลิตว่าจะผลิตด้วยวิธีอย่างไร
For Whom จะผลิตเพื่อใคร เกี่ยวข้องกับการกระจายทรัพยากรหรือสินค้าและบริการที่ผลิตได้ว่าจะกระจายไปให้บุคคลกลุ่มใด
ทั้งนี้คำตอบที่ได้ออกมาจะส่งผลให้แนวทางการจัดสรรทรัพยากรแตกต่างกันไป ยิ่งคำตอบที่เราตอบได้ชัดเจนมากเท่าใด การจัดสรรทรัพยากรจะเกิดประสิทธิภาพมากเท่านั้น
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่อธิบายมา เราจึงได้ตัวเลือกที่ 4 การเลือกผลิตสินค้าและบริการ การเลือกวิธีการผลิต และการกระจายสินค้าและบริการ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยทั้ง 3 คำนี้ ตรงกับ What / How / For Whom ตามที่ได้อธิบายไปทุกอย่าง
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมายอดขายสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก นายอุทัยจึงเพิ่มชั่วโมงการทำงานของพนักงานให้สูงขึ้น (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค-การบริหารจัดการทรัพยากร
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ A-Net ปี 51 ซึ่งเทียบได้กับข้อสอบสามัญในระบบ Admission ปัจจุบัน โจทย์เป็นแนววิเคราะห์โดยนำเรื่องระยะเวลากับการผลิตมาเป็นคำถาม โดยรวมโจทย์ไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป ประเด็นสำคัญคือนักเรียนจะต้องทราบ concept เรื่องระยะเวลากับปัจจัยการผลิตเพื่อจะไปวิเคราะห์ตัวเลือกหาคำตอบได้ หากไม่ทราบโอกาสตอบผิดจะมีสูงมาก
เข้าถึงเนื้อหา : ในทางเศรษฐศาสตร์จะแบ่งการปัจจัยการผลิตออกเป็น 2 กลุ่ม ตามระยะเวลาในการผลิต
ปัจจัยการผลิตแบบคงที่ (Fixed Input) – ปัจจัยการผลิตที่จะไม่สามารถเพิ่มหรือลดได้ในกระบวนการผลิตระยะสั้น ซึ่งได้แก่ ปัจจัยประเภททุนและเทคโนโลยี เช่น เครื่องมือ เครื่องจักร อาคาร ในกระบวนการผลิตระยะสั้นหากต้องการเพิ่มหรือลดปัจจัยการผลิตจะต้องไปเพิ่มหรือลดที่ปัจจัยการผลิตแบบผันแปร
ปัจจัยการผลิตแบบผันแปร (Variable Input) – ปัจจัยการผลิตที่สามารถเพิ่มหรือลดได้ตลอดกระบวนการผลิต ได้แก่ แรงงาน และวัตถุดิบ
ปัจจัยการผลิตทั้งสองกลุ่มนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์มักจะนับรวมอยู่ในกลุ่มของต้นทุน ซึ่งหากเป็นการผลิตระยะสั้น (Short Run) จะประกอบด้วย ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) และต้นทุนผันแปร (Variable Cost) แต่หากเป็นการผลิตระยะยาวจะมีเพียงต้นทุนผันแปรเท่านั้น
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อพอเข้าใจเนื้อหาแล้ว ทีนี้เรามาวิเคราะห์ตัดตัวเลือกกันต่อเลย
ตัวเลือกที่ 1 เนื่องจากมีลูกค้ามาใช้บริการมากขึ้น นายอุทัยจึงขยายเคาน์เตอร์หน้าร้านให้กว้างขึ้นมากกว่าเดิม โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ >> ต้นทุนที่เปลี่ยนคือ เคาน์เตอร์ ซึ่งเราถือว่าอยู่ในกลุ่มปัจจัยการผลิตคงที่ ประเภททุน ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่สถานการณ์การผลิตระยะสั้น
ตัวเลือกที่ 3 บริการซักผ้าแบบหยอดเหรียญเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นายอุกฤษจึงซื้อเครื่องซักผ้าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเครื่องเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา >> ต้นทุนที่เปลี่ยนคือ เครื่องซักผ้า ซึ่งเราถือว่าอยู่ในกลุ่มปัจจัยการผลิตคงที่ ประเภทเครื่องจักร ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่สถานการณ์การผลิตระยะสั้น
ตัวเลือกที่ 4 จากข่าวเรื่องสารตะกั่วในหม้อก๋วยเตี๋ยว นายอุภัยจึงตัดสินใจเลิกกิจการ และขายรถก๋วยเตี๋ยวไปเมื่อสัปดาห์ก่อน >> ต้นทุนที่เปลี่ยนคือ รถก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเราถือว่าอยู่ในกลุ่มปัจจัยการผลิตคงที่ ประเภททุน ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่สถานการณ์การผลิตระยะสั้น
ตัวเลือกที่ 5 ด้วยความนิยมในการเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ นายอุทกจึงเช่าตึกเพื่อให้มีเนื้อที่ในการสอนเพิ่มขึ้น >> ต้นทุนที่เปลี่ยน คือ เช่าตึก ซึ่งเราถือว่าอยู่ในกลุ่มปัจจัยการผลิตคงที่ ประเภททุน ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่สถานการณ์การผลิตระยะสั้น
สรุปคำตอบ : หลังจากเราหักล้างตัวเลือกทิ้งแล้ว เราก็จะเหลือ ตัวเลือกที่ 2 ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมายอดขายสินค้าเพิ่มสูงขึ้นมาก นายอุทัยจึงเพิ่มชั่วโมงการทำงานของพนักงานให้สูงขึ้น เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ด้วยเหตุที่ว่าต้นทุนที่เปลี่ยนไปเป็นการจ้างพนักงาน (ปัจจัยกลุ่มแรงงาน) ดังนั้นนี่จึงเป็นสถานการณ์การผลิตระยะสั้น ให้นักเรียนจำง่ายๆ ว่า ถ้าระยะสั้น เราจะเปลี่ยนแปลงปัจจัยการผลิต เราจะเปลี่ยนได้แค่ปัจจัยกลุ่มผันแปรเท่านั้น กลุ่มคงที่ เราจะเปลี่ยนไม่ได้
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ราคาและปริมาณดุลยภาพลดลง (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค-กลไกราคา
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามในเรื่องกลไกราคา ซึ่งเป็นคำถามใน part econ ที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องออกทุกปี ทุกฉบับของข้อสอบ มารอบนี้ทำให้ยากขึ้นเล็กน้อย โดยให้นักเรียนต้องแปลความหมายของคำว่า สินค้าด้อย กันก่อน แต่โดยรวมก็ไม่มีอะไรยาก ถ้าไม่เข้าใจความหมายจริงๆ ให้ลองแปลแบบดิบๆ แบบที่เข้าใจเลยก็ได้ แต่จุดสำคัญคือต้องเทียบกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพในกราฟกลไกราคาหรือกราฟอุปสงค์-อุปทานได้ หากทำตรงนี้ได้ คะแนนของโจทย์นี้ก็จะอยู่กับเราเห็นๆ
เข้าถึงเนื้อหา : สินค้าด้อย (inferior good) หมายถึง สินค้าที่อุปสงค์จะเปลี่ยนไปในทิศทางตรงข้ามกับรายได้ของผู้บริโภค โดยถ้ารายได้ของบริโภคมีเพิ่มขึ้น อุปสงค์ต่อสินค้าก็จะน้อยลง ซึ่งหากนำมาเทียบเป็นกราฟกลไกราคาจะออกมาดังนี้จากกราฟ เดิมราคาดุลยภาพและปริมาณดุลยภาพต่อสินค้าอยู่ที่ 0PE และ 0QE ตามลำดับ แต่ต่อมาเมื่อรายได้ของผู้บริโภคมีเพิ่มขึ้น อุปสงค์ของผู้บริโภคที่จะมีต่อสินค้าด้อยนี้จะลดลง ราคาดุลยภาพและปริมาณดุลยภาพจึงลดไปอยู่ที่ 0P’E และ 0Q’E’ ตามลำดับ
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหารวมกับคำอธิบายกราฟที่ครูแป๊ปเขียนไป เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 1 ราคาและปริมาณดุลยภาพลดลง เป็นคำตอบจากโจทย์นี้
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ต้องใส่ใจกับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ให้มีความแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค-ตลาดและการกำหนดราคา
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญ ปี 61 ซึ่งหยิบเรื่องตลาดในทางเศรษฐศาสตร์มาเป็นคำถาม ซึ่งเนื้อหาเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องยอดฮิตที่ข้อสอบไม่ว่าจะ O-Net หรือวิชาสามัญ ชอบออกเหลือเกิน รอบนี้มาให้วิเคราะห์เล็กน้อยโดยหยิบเอาสินค้าขึ้นมาเป็นคำถาม แน่นอนว่านักเรียนจะต้องมองให้ออกก่อนว่า สินค้าที่โจทย์ยกมานี้ อยู่ในกลุ่มของตลาดแบบใด ถ้าตอบได้โอกาสหาคำตอบได้ถูกต้อง ก็มีเพิ่มสูงขึ้นแล้ว
วิเคราะห์ตัวเลือก : บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นบริการที่โจทย์ยกมาเป็นคำถาม จะจัดอยู่ในกลุ่มของตลาดผู้ขายน้อยราย ด้วยเหตุนี้เราจึงตัดเลือกต่างๆ เหล่านี้ออก เพราะไม่ใช่ลักษณะของตลาดผู้ขายน้อยราย
ตัวเลือกที่ 2 เผชิญกับการแข่งขันที่สูง เนื่องจากมีผู้ผลิตจำนวนมากในตลาด >> คำว่า ผู้ผลิตจำนวนมาก เป็นลักษณะสำคัญของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ และตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด
ตัวเลือกที่ 3 เผชิญกับการแข่งขันที่สูง เนื่องจากคู่แข่งรายใหม่เข้ามาตลาดได้อย่างเสรี >> ข้อความที่ว่า คู่แข่งรายใหม่เข้ามาตลาดได้อย่างเสรี เป็นลักษณะสำคัญของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ และตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด
ตัวเลือกที่ 4 สามารถกำหนดราคาค่าบริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่ผลิตได้ เนื่องจากมีอำนาจผูกขาดแบบสมบูรณ์ >> คำว่า อำนาจผูกขาดแบบสมบูรณ์ บอกชัดเจนว่านี่เป็นลักษณะตลาดผูกขาด ไม่ใช่ตลาดผู้ขายน้อยราย
ตัวเลือกที่ 1 สามารถให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือด้วยต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง >> ลักษณะนี้ไม่ตรงกับตลาดประเภทใดเลย แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ตลาดผูกขาดมีต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์มากนัก แต่เพราะมีคำว่า คู่แข่ง ก็ผิดในลักษณะของตลาดผูกขาดแล้ว อีกทั้งการจะมีต้นทุนต่ำกว่าหรือไม่ ถ้ามองลักษณะตลาดทุกประเภท ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ประกอบการที่จะบริหารธุรกิจหรือองค์กรของตนเอง
สรุปคำตอบ : จากการตัดตัวเลือกออกทั้งหมด เราจึงได้ตัวเลือกที่ 5 ต้องใส่ใจกับการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ให้มีความแตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่นๆ เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยลักษณะสำคัญของตลาดผู้ขายน้อยรายซึ่งเป็นลักษณะของตลาดเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย (มีผู้ประกอบการหลักๆ 3 รายใหญ่ คือ AIS, DTAC และ TRUE) คือ ลักษณะของสินค้าจะมีความแตกต่างหรือไม่แตกต่างกันก็ได้ แต่ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตจะต้องหาวิธีสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดให้แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น ราคา ปริมาณ รูปแบบของสินค้าหรือบริการ เพื่อให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดให้มากที่สุด ตรงนี้ดูได้จากพวกกลยุทธ์การตลาด บรรดา promotion ต่างๆ ที่พวกผู้ประกอบการขยันเอาออกมา คิดว่านักเรียนก็คงเห็นแล้วใช่ไหมว่าเค้าแข่งขันกันขนาดไหน
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ธนาคารกลางลดการขายสินเชื่อเพื่อการบริโภค (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค-การเงิน
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ซึ่งเมื่อเทียบกับข้อสอบใน part econ ของปีนี้ทั้งหมด ครูแป๊ปว่าโจทย์นี้ยากที่สุด ด้วยเหตุที่ว่าเนื้อหาที่ออก ออกลงลึกมากกว่าเนื้อหาที่ปรากฎในหนังสือเรียนส่วนใหญ่ หากนักเรียนไม่ได้สนใจหรือศึกษาเรื่องนี้แบบลงลึกจริงๆ จะตัดตัวเลือกได้แค่บางข้อที่เห็นชัดว่าผิด แต่โอกาสจะตอบถูกนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย…
เข้าถึงเนื้อหา : นอกจากนโยบายการเงินจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ที่ใช้แก้ปัญหาเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ที่ใช้แก้ปัญหาเงินฝืด แล้ว ยังมีเครื่องมือของนโยบายการเงินอีก 2 ลักษณะ คือ
– การควบคุมเชิงปริมาณ (Quantitative Methods) ประกอบด้วย การซื้อขายหลักทรัพย์/การดำเนินการผ่านตลาดเงิน (Open Market Operation; OMO), อัตราเงินสำรองตามกฎหมาย (Legal Reserve Ration), อัตราซื้อลด/อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน
– การควบคุมเชิงคุณภาพ (Qualitative Methods) ประกอบด้วย ควบคุมสินเชื่อเพื่อการบริโภค, ควบคุมสินเชื่อเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์, การชี้นำหรือขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อเราได้เนื้อหาตามที่โจทย์ถามมาแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาดึงตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกกัน
ตัวเลือกที่ 4 ธนาคารกลางลดอัตราเงินสดสำรองกฎหมาย >> ตัวเลือกนี้ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง นอกจากผิดที่เครื่องมือว่าไม่ใช่มาตรการทางการเงินที่ใช้ควบคุมเชิงคุณภาพ (ต้องเป็นควบคุมเชิงปริมาณ) แล้ว ยังผิดที่การแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วย การลดอัตราเงินสำรอง เป็นนโยบายการเงินที่ใช้แก้เงินฝืด ไม่ใช่เงินเฟ้อ (ถ้าลด หมายความว่า เงินยังอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์มาก ดังนั้นการใช้จ่ายจึงต้องมีมากต่อไป–ก่อเกิดเงินเฟ้อต่อ)
ตัวเลือกที่ 1 ธนาคารกลางขายหลักทรัพย์ >> ถูกที่แก้เงินเฟ้อ แต่ผิดที่มาตรการทางการเงิน เพราะการขายหลักทรัพย์อยู่ในกลุ่มมาตรการการควบคุมเชิงปริมาณ (คุณภาพ จะเน้นที่สินเชื่อ)
ตัวเลือกที่ 2 ธนาคารกลางเพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลด >> ถูกที่แก้เงินเฟ้อ แต่ผิดที่มาตรการทางการเงิน เพราะอัตรารับช่วงซื้อลด อยู่ในกลุ่มมาตรการการควบคุมเชิงปริมาณ
ตัวเลือกที่ 3 ธนาคารกลางเพิ่มอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน >> ถูกที่แก้เงินเฟ้อ แต่ผิดที่มาตรการทางการเงิน เพราะอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน อยู่ในกลุ่มมาตรการการควบคุมเชิงปริมาณ
สรุปคำตอบ : หลังตัดตัวเลือกออกครบ เราจึงได้ตัวเลือกที่ 5 ธนาคารกลางลดการขายสินเชื่อเพื่อการบริโภค เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยเรื่องสินเชื่อเพื่อการบริโภค จัดอยู่ในกลุ่มของมาตรการทางการเงินที่เน้นการควบคุมเชิงคุณภาพ และใช้แก้เงินเฟ้อได้ แม้คำว่า ลดการขาย อาจทำให้นักเรียนหลายคนงงได้ว่าธนาคารกลางขายได้ด้วยหรือ ไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารพาณิชย์หรอกหรือ แต่หากเทียบกับตัวเลือกอื่นแล้ว ยังไงตัวเลือกนี้ก็ชัดสุดที่จะเป็นคำตอบ อีกทั้งเราอาจตีความภาษาไปซักนิดว่า การลดการขาย อาจหมายถึง ควบคุมผ่านพวกกลุ่มสถาบันการเงินอื่นอีกที ก็ได้
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะมีดุลการชำระเงินเกินดุลได้ ถ้าดุลบัญชีทุนของประเทศนั้นเกินดุล (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค-เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 41 ภาพรวมออกตาม concept เนื้อหาเรื่องบัญชีดุลการชำระเงินที่เราเรียนกันไป ดังนั้นจึงไม่มีอะไรยาก หากนักเรียนจำได้ว่า เวลาเราดูบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ เราต้องดูอะไรบ้าง หรือบัญชีนี้มีบัญชีอะไรย่อยๆ เป็นองค์ประกอบบ้าง แค่นี้ก็สามารถผ่านโจทย์ข้อนี้ได้แล้ว…
เข้าถึงเนื้อหา : เวลาที่เราจะดูบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ นักเรียนต้องจำให้ดีว่า มันมีบัญชีย่อยที่เป็นองค์ประกอบดังนี้
1. บัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะประกอบไปด้วยอีก 4 บัญชีย่อย คือ บัญชีการค้า บัญชีบริการ บัญชีรายได้ บัญชีเงินโอนหรือบัญชีบริจาค
2. บัญชีทุนและการเงิน
3. บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ (ยอดรวมของบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศดูที่บัญชีนี้)
และเราจะรู้ว่าบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเกินดุลหรือขาดดุล ได้โดยนำผลรวมของบัญชีเดินสะพัดกับบัญชีทุนและการเงินมารวมกันแล้วหักด้วยค่าความคลาดเคลื่อนสุทธิ ตัวเลขดังกล่าวจะแสดงที่บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ
สรุปคำตอบ : จากคำอธิบายเกี่ยวกับบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศที่บอกไป นักเรียนจะเห็นได้ทันทีว่า ตัวเลือกที่กล่าวได้ถูกต้อง ตรงกับตัวเลือกที่ 3 ประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะมีดุลการชำระเงินเกินดุลได้ ถ้าดุลบัญชีทุนของประเทศนั้นเกินดุล การจะรู้ว่าสถานะของบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร จะต้องนำผลรวมของบัญชีเดินสะพัดกับบัญชีทุนและการเงินมารวมกัน ซึ่งข้อความจากตัวเลือกนี้ก็อธิบายตามกฎข้อนี้ทุกอย่าง
ตัวเลือกที่ 1 ประเทศที่ขาดดุลการค้า จะต้องขาดดุลการชำระเงินด้วย ผิด ดุลการค้าเป็นบัญชีย่อยในบัญชีเดินสะพัด และบัญชีเดินสะพัดก็เป็นบัญชีย่อยในบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศอีกที ดังนั้นจึงสรุปไม่ได้ว่าถ้าดุลการค้าขาดดุลแล้วดุลการชำระเงินจะต้องขาดดุลตาม
ตัวเลือกที่ 2 ประเทศที่ขาดดุลการชำระเงินจะต้องขาดดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย ผิด เพราะบัญชีดุลการชำระเงินจะเกินดุลหรือขาดดุลยังต้องมองจากบัญชีทุนและการเงินประกอบด้วย ในกรณีนี้แม้ว่าบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล แต่บัญชีทุนและการเงินอาจขาดดุลในปริมาณที่มากกว่า ท้ายสุดจึงส่งผลให้บัญชีดุลการชำระเงินขาดดุลได้
ตัวเลือกที่ 4 ประเทศที่ขาดดุลการค้าจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลได้ ถ้าดุลบัญชีทุนของประเทศนั้นเกินดุล ผิด บัญชีเดินสะพัดคือบัญชีเดินสะพัด บัญชีทุนคือบัญชีทุน (เรียกเต็มว่า บัญชีทุนและการเงิน) ไม่เกี่ยวกัน การนำผลรวมของสองบัญชีนี้มารวมกันก็เพื่อดูยอดของบัญชีดุลการชำระเงินระหว่างประเทศเท่านั้น การที่บัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลในขณะที่ดุลการค้าขาดดุล จะต้องไปพิจารณาที่ยอดของดุลบริการ รายได้ เงินโอนหรือบริจาคประกอบ
ตัวเลือกที่ 5 ประเทศที่มีดุลบริการเกินดุลจะส่งผลให้บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศเกินดุล ผิด บัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศ เป็นยอดรวมจากบัญชีเดินสะพัดกับบัญชีทุนและการเงิน รวมกัน และบ่งชี้ว่าบัญชีดุลการชำระเงินจะเกินหรือขาดดุล แต่ว่า..ดุลบริการเป็นแค่ส่วนหนึ่งของบัญชีเดินสะพัดเท่านั้น จะมาบอกว่าพอดุลบริการเกิน แล้วบัญชีทุนสำรองระหว่างประเทศจะเกินดุลไปด้วย ย่อมไม่ถูกต้อง
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค-การพัฒนาเศรษฐกิจ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ซึ่งออกตามเนื้อหาปกติ แต่ถ้าถามครูแป๊ป ครูแป๊ปมองว่าโจทย์ข้อนี้ยากพอควร ด้วยเหตุที่ปกติ เรื่องแผนพัฒนาฯ นี่เค้ามักจะถามช่วงแผนฯ 8-12 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องการพัฒนาหลายๆ อย่าง หรือไม่ก็เน้นแผนฯ 1 ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานต่างๆ แต่นี่ถามแผนฯ 7 ซึ่งข้อสอบรุ่นหลังๆ นี่ไม่เคยมีถามมาเลย หากนักเรียนไม่ได้อ่านเนื้อหาเรื่องนี้มาโดยตรง ก็นะ มีแต่ต้องตัดตัวเลือกให้เหลือน้อยสุดเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้คะแนนจากโจทย์นี้
สรุปคำตอบ : เนื้อหาหรือเป้าหมายที่ปรากฎในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 เป็นครั้งแรก ตรงกับตัวเลือกที่ 2 การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 คือ การรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อให้การเจริญเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ / ให้มีการกระจายรายได้และกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาคและชนบทให้กว้างขวางยิ่งขึ้น / เร่งรัดพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้เรื่องการพัฒนาที่รอบด้าน (ยั่งยืน) เป็นเรื่องที่ปรากฎในแผนฯ 7 นี้เป็นครั้งแรก
ตัวเลือกที่ 1 การกำหนดนโยบายด้านประชากร >> ปรากฎครั้งแรกในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515-2519) ผ่านเรื่องการให้ความสำคัญกับการวางแผนครอบครัว
ตัวเลือกที่ 3 การวางแผนลักษณะจากบนไปล่างและมีการกระจายสู่ระดับภูมิภาคและพื้นที่ >> ในเรื่องการกระจายสู่ระดับภูมิภาคและพื้นที่ ปรากฎชัดเจนในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) ในเรื่องการกระจายการพัฒนาในรูปแบบภาคและภูมิภาค
ตัวเลือกที่ 4 การพัฒนาสมรรถนะทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนและคุณภาพชีวิต >> คำว่า สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ตีความได้ว่า ยกระดับเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งตรงนี้จะปรากฎชัดในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมโดยนำเอาเรื่องทรัพยากรมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนา
ตัวเลือกที่ 5 การเพิ่มบทบาทขององค์กรประชาชนในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม >> วัตถุประสงค์ในเรื่องจะปรากฎผ่านแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายภายในชุมชนเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาทั้งชนบทและเมืองอย่างยั่งยืน มีการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมไทย
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 นางจันชวนเพื่อนบ้านที่มีเวลาว่างมาร่วมกลุ่มกันสานกระบุงไม้ไผ่ส่งขายร้านค้าในเมืองและนำรายได้มาแบ่งปันกัน (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค-การพัฒนาเศรษฐกิจ (เศรษฐกิจพอเพียง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ A-Net ปี 50 ถามในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งก็ถือเป็นอีกเรื่องที่ข้อสอบ part econ ชอบหยิบมาออก ข้อนี้ไม่มีอะไรยาก เพียงนักเรียนเข้าใจเป้าหมายรวมถึงแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงคร่าวๆ ก็สามารถพิชิตข้อสอบข้อนี้ได้แล้ว
เข้าถึงเนื้อหา : พฤติกรรมที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การที่ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ไม่คอยแต่พึ่งพาปัจจัยจากภายนอก แต่สร้างการผลิตด้วยตนเอง โดยมีการร่วมมือกับคนในชุมชน มีการศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนางานของตนอยู่เสมอ เมื่อได้ผลผลิตสามารถส่งออกขายและนำรายได้มาแบ่งปันกันได้ (ลักษณะดังกล่าวจะก่อเกิดการกระจายรายได้ไปในชุมชนด้วย)
สรปคำตอบ : จากเนื้อหาในส่วนเข้าถึงเนื้อหา เมื่อนำมาเทียบกับตัวเลือกจะเห็นได้ทันทีว่า พฤติกรรมที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจพอเพียง คือ ตัวเลือกที่ 2 นางจันชวนเพื่อนบ้านที่มีเวลาว่างมาร่วมกลุ่มกันสานกระบุงไม้ไผ่ส่งขายร้านค้าในเมืองและนำรายได้มาแบ่งปันกัน เน้นที่ความร่วมมือกันในชุมชน การแบ่งปัน และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การรู้จักสร้างผลผลิตของตนเอง ลดการพึ่งพา
ตัวเลือกที่ 1, 3 และ 4 ล้วนมีจุดบกพร่องในพฤติกรรมซึ่งไม่สะท้อนเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น
ตัวเลือกที่ 1 นางสุขขายไก่สดในตลาดโดยไม่มีวันหยุด เพื่อให้มีเงินพอชำระค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ที่ซื้อให้ลูกชายขับขี่ไปโรงเรียน >> สะท้อนถึงความไม่พอดี ตามใจลูก
ตัวเลือกที่ 3 นายเอกประกาศขายบ้านที่อยู่อาศัยมานาน 25 ปี เพื่อรวบรวมเงินไว้รักษาพยาบาลมารดาที่ป่วยเป็นโรคไตต้องเสียค่าใช้จ่ายฟอกไตทุกสัปดาห์ >> คำว่า ขายบ้าน สะท้อนให้เห็นว่า ที่ผ่านมาดำเนินชีวิตด้วยความประมาท ขาดการออมไว้ เมื่อถึงคราวต้องใช้ก็ต้องสูญเสียทุกอย่างที่มี
ตัวเลือกที่ 4 นายวิทย์หาเลี้ยงตัวเองด้วยการขับรถแท็กซี่รับจ้าง สัปดาห์ใดได้รับรายได้มากก็จะหยุดขับรถในบางวัน สัปดาห์ใดได้รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ก็จะออกขับรถทุกวัน >> สะท้อนถึงความประมาทในการใช้ชีวิต ไม่ประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดในอนาคต
กรณี ตัวเลือกที่ 5 นางศรเปลี่ยนบ้านของตัวเองให้เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ ในชุมชนของเธอ >> ตรงนี้ไม่ได้แสดงถึงจุดบกพร่องอะไรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ประโยชน์ที่ได้จากการกระทำเมื่อเทียบกับตัวเลือกที่ 2 จะชัดเจนหรือได้น้อยกว่า อีกทั้งการเปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียน กรณีนี้ก็ต้องพิจารณาเพิ่มด้วยว่า ทำเป็นการค้าไหม หรือทำเพื่อช่วยเหลือจริงๆ ดังนั้นการตอบตัวเลือกที่ 2 จึงถือว่าเหมาะสมกว่า