เฉลยแบบทดสอบ สาระเศรษฐศาสตร์ ชุดที่ 2
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 การเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นของคนงานโรงงานทอผ้า ส่งผลให้พนักงานจำนวนหนึ่งต้องว่างงานลง (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่ครูแป๊ปเพิ่มเติมตัวเลือกไป 1 ตัวเลือก จากข้อสอบ A-Net ปี 51 ซึ่งให้เราหาว่าตัวเลือกใดเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค แต่ละตัวเลือกก็จะหาตัวลวงต่างๆ มาหลอกเรา แต่หากนักเรียนแม่นในหลักสำคัญของการเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาคแล้ว การจะหาคำตอบจากโจทย์นี้ก็ไม่มีอะไรยากจนเกินความสามารถ
เข้าถึงเนื้อหา : ก่อนที่เราจะไปวิเคราะห์ตัวเลือก เพื่อหาคำตอบจากโจทย์นี้ เราลองมาทบทวนเนื้อหากันก่อนว่า เศรษฐศาสตร์จุลภาค กับมหภาค มันต่างกันอย่างไร
เศรษฐศาสตร์จุลภาค เป็นการศึกษาพฤติกรรมในส่วนย่อยของระบบเศรษฐกิจ ที่เน้นพฤติกรรมเฉพาะบุคคลหรือของหน่วยธุรกิจหรือของรัฐบาล โดยให้ความสนใจในเรื่องเป้าหมายของหน่วยเศรษฐกิจแต่ละหน่วย ตัวอย่างของการศึกษาเศรษฐศาสตร์จุลภาค เช่น ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องต้นทุนการผลิต กลไกราคา พฤติกรรมการบริโภค
เศรษฐศาสตร์มหภาค เป็นการศึกษาพฤติกรรมในส่วนรวมของระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้เน้นในพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่างของการศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาค เช่น ศึกษาเกี่ยวกับการเงิน การคลัง การธนาคาร เศรษฐกิจระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อเราพอเข้าใจความแตกต่างคร่าวๆ ของเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคแล้ว ทีนี้เราจะมาวิเคราะห์ตัวเลือกกันต่อ โดยตัวเลือกเหล่านี้ล้วนเป็น เศรษฐศาสตร์จุลภาค เราจะตัดออก
ตัวเลือกที่ 1 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารอาคารสงเคราะห์มีแนวโน้มจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทั่วๆ ไป >> จุดเน้นไม่ได้อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่อยู่ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์เท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค
ตัวเลือกที่ 2 ราคาจำหน่ายข้าวในประเทศในปีนี้มีระดับค่อนข้างสูงเนื่องจากได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่ >> เน้นที่ข้าว ไม่ได้เกี่ยวกับสินค้าอื่นๆ เลย ดังนั้นจึงต้องเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค
ตัวเลือกที่ 4 การเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้นของคนงานโรงงานทอผ้า ส่งผลให้พนักงานจำนวนหนึ่งต้องว่างงานลง >> สาเหตุหลักของปัญหาการว่างงานมาจากคนงานโรงงานทอผ้า เน้นหน่วยเศรษฐกิจหน่วยเดียว ดังนั้นจึงต้องเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค
ตัวเลือกที่ 5 ด้วยความนิยมในซีรีย์เกาหลีที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้บริษัทท่องเที่ยวจัดทำทัวร์ไปเกาหลีเพิ่มขึ้น >> เป็นการมองแค่ในภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก และมุ่งศึกษาโดยตรงที่บริษัทท่องเที่ยว เข้า concept พฤติกรรมผู้บริโภค จัดอยู่ในกลุ่มเศรษฐศาสตร์จุลภาค
สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก คำตอบของโจทย์นี้จึงตรงกับ ตัวเลือกที่ 3 อัตราว่างงานในช่วงหลายปีนี้มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นมาก นายอุทัยจึงเพิ่มชั่วโมงการทำงานของพนักงานให้สูงขึ้น แม้จะพูดถึงการเพิ่มชั่วโมงทำงานของโรงงานนายอุทัยเท่านั้น แต่สาเหตุที่นายอุทัยเพิ่มชั่วโมง มาจากอัตราว่างงานของสังคมภายนอก (หน่วยใหญ่ส่งผลต่อหน่วยย่อย) ดังนั้นตัวเลือกนี้จึงเป็นเศรษฐศาสตร์มหภาค (จำไว้ว่า หากโจทย์ระบุมาว่าอัตราการว่างงานของประเทศ จะต้องสัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์มหภาคเสมอ)
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 มีการกระจายรายได้และทรัพย์สินในกลุ่มประชากรได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ระบบเศรษฐกิจ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้วิเคราะห์หาข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ถือเป็นโจทย์ที่ออกตามเนื้อหาปกติ และก็ค่อนข้างเป็นเนื้อหาที่โดดเด่นที่ไม่ว่าอย่างไรเมื่อนักเรียนอ่านสาระเศรษฐศาสตร์ ต้องผ่านเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้นเพียงพิจารณาตัวเลือกรอบเดียว นักเรียนน่าจะพบคำตอบได้แน่นอน
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ ไม่ใช่ลักษณะรวมถึงข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ตัวเลือกที่ 3 เอกชนจะมีแรงจูงใจในการผลิตสูงกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น และ ตัวเลือกที่ 4 กลไกราคาจะมีผลในการกำหนดราคาสินค้าสูงกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น >> ทั้งสองลักษณะนี้ เป็นข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ไม่ใช่ของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม
ตัวเลือกที่ 5 การกำหนดราคาสินค้าและบริการในระบบมีเสถียรภาพเหนือกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น >> เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเสถียรภาพ ลักษณะเด่นที่สุดของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือ การวางแผนจากรัฐ (ตรงข้ามกับทุนนิยม ที่ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกราคาในตลาด) ด้วยเหตุนี้รัฐจึงสามารถแทรกแซงราคาในตลาดได้ทุกเวลา เสถียรภาพ (ความมั่นคง) ในการกำหนดราคาจึงไม่มีทางเกิดขึ้นได้
ตัวเลือกที่ 1 จัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับระบบเศรษฐกิจแบบอื่น >> ยากที่จะมีประสิทธิภาพ เงื่อนไขอยู่ที่ความสามารถในการจัดการของรัฐบาล จำนวนประชากร รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีก ลักษณะนี้เราก็เห็นกันได้ชัดเจนในปัจจุบันอยู่แล้วว่า ประเทศที่เลือกใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมีลักษณะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่ถือว่าเป็นข้อดีของระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม คือ ตัวเลือกที่ 3 มีการกระจายรายได้และทรัพย์สินในกลุ่มประชากรได้ดีกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น เนื่องจากลักษณะเด่นของระบบจะเน้นที่การวางแผนจากภาครัฐ เอกชนจะไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตได้ แต่ละครัวเรือนจะได้รับความเท่าเทียมในการได้รับทรัพยากรตามที่รัฐกระจายลงไป ความต่างในการถือครองทรัพยากร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของรายได้หรือทรัพย์สิน จึงมีค่อนข้างน้อยถึงไม่มี โดยยิ่งรัฐดึงทรัพยากรจากเอกชนหรือแทรกแซงตัวระบบมากเท่าไร (มาก = สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ / ปานกลางถึงน้อย = สังคมนิยมประชาธิปไตย) ความเท่าเทียมจะมีมากจะเท่านั้น อย่างไรก็ตามความต่างก็ยังเกิดขึ้นได้ระหว่างภาครัฐ กับเอกชน นั่นเอง
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (การบริหารจัดการทรัพยากร)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับเรื่องหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดสถานการณ์ที่นางสมศรีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากราคาน้ำตาลทรายที่ตนซื้อมาบริโภค ข้อนี้นักเรียนจะต้องใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อวิเคราะห์เชื่อมโยงว่าในกรณีนางสมศรี เธอควรไปร้องเรียนที่หน่วยงานใด
สรุปคำตอบ : ในกรณีของที่นางสมศรีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากราคาน้ำตาลทรายที่ตนซื้อมาบริโภค เพราะถูกห้างสะดวกซื้อหลอกลวง เธอจะต้องไปร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) (ตัวเลือกที่ 1) เนื่องจากหน่วยงานนี้มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม และได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบ รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภค
ตัวเลือกที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. >> ควบคุมกำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอาง วัตถุเสพติด เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตราย ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ติดตามตรวจสอบเมื่อผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยจากอันตรายหรือปัญหาที่เกิดจากการบริโภค รวมทั้งเผยแพร่ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจในการเลือกซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภค (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น)
ตัวเลือกที่ 3 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. >> กำหนดรับรองและพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานโดยการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของ สมอ.
ตัวเลือกที่ 4 กรมการค้าภายใน >> คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้าและบริการ ไม่ถูกเอาเปรียบทางด้านราคาและปริมาณจากผู้ประกอบการ รับเรื่องราวร้องเรียนจากผู้บริโภคในกรณีที่ราคาสินค้าที่ซื้อมาไม่เป็นธรรม มีการกักตุนสินค้า สินค้าไม่ติดป้ายราคา รวมทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้ราคาสินค้าในตลาดสูงจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค โดยจะทำงานร่วมกันกับกระทรวงพาณิชย์
ตัวเลือกที่ 5 กระทวงสาธารณสุข >> ควบคุมดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศทั้งหมดตามชื่อหน่วยงาน โดย อย. ก็สังกัดภายใต้กระทรวงนี้
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ปริมาณซื้อลดลงโดยเคลื่อนย้ายไปบนเส้นอุปสงค์เดิม (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (กลไกราคา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามในเรื่องยอดฮิตของ part เศรษฐศาสตร์ คือ เรื่องกลไกราคา ซึ่งข้อนี้ถ้ามองจริงๆ ถือว่าไม่ยากมากนัก โดยต้องใช้พื้นฐานเรื่องกราฟกลไกราคาบ้าง ถ้าเข้าใจ การหาคำตอบจะทำได้เร็วมากๆ
เข้าถึงเนื้อหา : ปกติแล้ว เมื่อเราพูดถึงเรื่องกราฟกลไกราคา คือ กราฟ Demand และ Supply อันดับแรกที่เราต้องรู้ก่อน คือ เรื่องตัวกำหนดอุปสงค์-Damand และอุปทาน-Supply ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรก เราเรียกว่า ตัวกำหนดโดยตรง ซึ่งหมายถึง ราคา จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณของอุปสงค์และอุปทานในเส้นของตนเอง ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปตามกฎของอุปสงค์ (ราคาสูง อุปสงค์ลด ราคาต่ำ อุปสงค์เพิ่ม) และกฎของอุปทาน (ราคาสูง อุปทานสูง ราคาต่ำ อุปทานต่ำ)
ประเภทที่สอง เราเรียกว่า ตัวกำหนดโดยอ้อม เช่น รายได้ รสนิยม แฟชั่น การโฆษณา ในกรณีอุปสงค์ และ ต้นทุน นโยบายด้านภาษีของภาครัฐ ในกรณีอุปทาน ตัวกำหนดโดยอ้อมนี้จะมีผลให้เส้นอุปสงค์และอุปทานเคลื่อนย้ายไปจากจุดเดิม (เคลื่อนไปทั้งเส้น) โดยหากเคลื่อนไปทางขวา หมายถึง อุปสงค์ อุปทานเพิ่มขึ้น หากเคลื่อนกลับมาทางซ้าย หมายถึง อุปสงค์ อุปทานลดลง
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาและกราฟที่ครูแป๊ปอธิบายมา นักเรียนคงมองเห็นชัดเจนแล้วใช่ไหมว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 4 ปริมาณซื้อลดลงโดยเคลื่อนย้ายไปบนเส้นอุปสงค์เดิม เนื่องจากตัวกำหนดที่โจทย์ให้มา คือ ราคา ซึ่งถือเป็นตัวกำหนดโดยตรง ดังนั้นตามกฎอุปสงค์ เมื่อราคาเพิ่มสูงขึ้น ปริมาณอุปสงค์ (ซื้อ) จึงต้องลดลง โดยจะย้ายในเส้นอุปสงค์เดิม
ตัวเลือกที่ 1-3 >> กล่าวในลักษณะเดียวกัน คือ เคลื่อนทั้งเส้น ตัวกำหนดต้องเป็นตัวกำหนดโดยอ้อม ดังที่ได้อธิบายไปในส่วนเข้าถึงเนื้อหา
ตัวเลือกที่ 5 ปริมาณขายลดลงโดยเคลื่อนย้ายไปบนเส้นอุปทานเดิม >> อธิบายผิดตามกฎอุปทาน โดยปกติราคาสินค้าเพิ่ม อุปทาน (ปริมาณขาย) ต้องเพิ่ม ไม่ใช่ลด
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 รัฐบาลจะต้องรับซื้ออ้อยส่วนเกินจากชาวไร่อ้อย (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (กลไกราคา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับเรื่องกลไกราคา แต่มุ่งประเด็นคำถามไปในเรื่องการแทรกแซงกลไกราคาของภาครัฐ โจทย์นี้เราจะต้องใช้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดราคาขั้นต่ำหรือที่เรียกกันว่า ราคาประกัน ของภาครัฐ ในการหาคำตอบ
เข้าถึงเนื้อหา : เมื่อรัฐเข้าไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยผ่านการกำหนดราคาประกัน (หรือราคาขั้นต่ำ) จะก่อให้เกิดอุปทานส่วนเกินในตลาด ทั้งนี้เพราะราคาประกันคือราคาที่อยู่สูงกว่าดุลยภาพ เกินกว่าความต้องการในการซื้อ (อุปสงค์) ดังนั้นอ้อยที่รัฐบาลเข้าไปกำหนดราคาประกัน จะยิ่งเหลือล้นตลาด รัฐบาลสามารถหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้ 2 วิธี
1) รับซื้อผลผลิตอ้อยที่เหลือทั้งหมด เพื่อพยุงไม่ให้ราคาในตลาดต่ำจนเกินไป แนวทางดังกล่าวเรียกว่า นโยบายพยุงราคา (รัฐจะใช้นโยบายนี้เพียงบางพื้นที่ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องงบประมาณ และพื้นที่เก็บสินค้า)
2) จ่ายเงินอุดหนุน โดยให้ชาวไร่อ้อย (หรือผู้ผลิตสินค้าอื่นๆ ที่เข้ามาให้รัฐบาลช่วยกำหนดราคาประกัน) ขายสินค้าให้หมดเต็มจำนวน แล้วรัฐค่อยเข้าไปจ่ายเงินอุดหนุนให้ภายหลัง
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่ครูแป๊ปอธิบาย นักเรียนจะเห็นได้ทันทีว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 2 รัฐบาลจะต้องรับซื้ออ้อยส่วนเกินจากชาวไร่อ้อย ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายพยุงราคา
ตัวเลือกที่ 1 โรงงานน้ำตาลจะซื้ออ้อยได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาดุลยภาพ >> การซื้อในราคาต่ำกว่าดุลยภาพ หมายถึง ภาวะขาดทุน ของชาวไร่อ้อย ซึ่งเป็นไปได้ที่กรณีนี้จะเกิดขึ้น เพราะตามหลักกลไกราคา เมื่อผลิตเพิ่มขึ้น ไม่มีทางที่จะบังคับให้ผู้ซื้อซึ่งในที่นี้คือโรงงานน้ำตาล ซื้อในราคาประกันซึ่งเป็นราคาที่มีอุปทานส่วนเกินได้ (หักล้างตัวเลือกที่ 5) หากชาวไร่อ้อยจะขายหมด จะต้องไปขายที่ราคาต่ำกว่าดุลยภาพเดิม อย่างไรก็ตามเมื่อกรณีเกิดขึ้น รัฐจะต้องจ่ายเงินอุดหนุนในส่วนที่ชาวไร่อ้อยขาดทุนกลับไปด้วย
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 การผลิตก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (ตลาดและการกำหนดราคา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนมองหาผลดีของตลาดผูกขาด ซึ่งในบางตัวเลือกจะมีศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์บางคำปรากฎอยู่ด้วย หากนักเรียนต้องการได้คะแนนจากโจทย์ข้อนี้ก็มีความจำเป็นต้องเข้าใจความหมายของศัพท์เหล่านี้ด้วย
สรุปคำตอบ : เมื่อเทียบจากทุกตัวเลือกจะเห็นได้ชัดว่า ตัวเลือกที่บ่งถึงผลดีของตลาดผูกขาดต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมส่วนรวมมีเพียงตัวเลือกเดียว คือ ตัวเลือกที่ 2 การผลิตก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด คำๆ นี้ หมายความว่า การผลิตสินค้าจำนวนมากจะส่งผลให้ประหยัดต้นทุนจากวัตถุดิบที่ราคาลดลงได้ ทั้งนี้เนื่องจากในตลาดผูกขาดจะมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวในการผลิต ไม่มีคู่แข่ง ในกรณีที่ผู้ผลิตเลือกผลิตสินค้าในปริมาณที่มากได้ ต้นทุนของวัตถุดิบที่นำมาผลิตจะลดลง ยังผลให้ราคาสินค้าลดลงในที่สุด กรณีที่เกิดภาวะเช่นนี้ ผู้บริโภคซึ่งหมายถึงสังคมโดยรวมย่อมได้รับประโยชน์
ตัวเลือกที่ 1 สินค้าที่ผลิตเป็นกลุ่มสินค้าจำเป็น >> กรณีตลาดผูกขาดจะไม่มีการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้กรณีเป็นสินค้าจำเป็น สังคมโดยรวมเดือดร้อนแน่นอน
ตัวเลือกที่ 3 ผู้บริโภคมีความต้องการในสินค้าที่ผลิตในปริมาณมาก >> ความหมายคล้ายตัวเลือกที่ 1 กรณีแบบนี้เสียเปรียบผู้ผลิตที่ผูกขาดแน่นอน
ตัวเลือกที่ 4 ใช้กระบวนการผลิตที่ทันสมัยมุ่งสร้างความแปลกใหม่ให้กับสินค้า และ ตัวเลือกที่ 5 มีกระบวนการเข้าถึงผู้บริโภคด้วยการใช้รายการส่งเสริมการขายที่น่าสนใจ >> แม้ลักษณะนี้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมได้ แต่ตลาดผูกขาดจะไม่ได้มีกระบวนการผลิตในลักษณะเช่นนี้ ในตลาดผูกขาด ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องทำให้สินค้าตัวเองต่าง และก็ไม่จำเป็นต้องจัดรายการส่งเสริมการขายด้วย เพราะตัวเองเป็นผู้ผลิตรายเดียว ยังไงผู้บริโภคก็ต้องมาซื้อสินค้าและบริการของตนอยู่แล้ว
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 มูลค่าการกู้ยืมจากประชาชนและสถาบันการเงินในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ GDP ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 8 (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (การเงิน การคลัง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 โดยประเด็นหลักที่ถาม คือ เรื่องหนี้สาธารณะซึ่งเป็น concept จากเรื่องการเงิน การคลัง แต่นำไปเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเราเรียกกันว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ตอนแรกที่ครูแป๊ปเห็นโจทย์นี้ว่าจะให้ 3 ดาวละ เพราะรู้สึกว่ายากพอควร แต่หากค่อยๆ วิเคราะห์ไปทีละตัวเลือก และแม่นในความหมายของคำว่า หนี้สาธารณะ การจะหาคำตอบจากโจทย์นี้ก็ไม่ได้ยากเกินระดับขนาดนั้น
เข้าถึงเนื้อหา : ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบจากโจทย์นี้กัน เรามาทำความเข้าใจกับ 2 เนื้อหาที่โจทย์ตั้งเป็นคำถามก่อน คือ
หนี้สาธารณะ ตามคำอธิบายของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ระบุว่า หมายถึง หนี้ที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจกู้ หรือหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่ไม่รวมถึงหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจให้กู้ยืมเงินโดยกระทรวงการคลังมิได้ค้ำประกัน
GDP หรือ Gross Domestic Product เรียกเต็มๆ ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ วัดจากมูลค่าผลผลิตของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ในประเทศ โดย GDP ถือเป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตัวหนึ่ง
สรุปคำตอบ : เมื่อเทียบการก่อหนี้สาธารณะของรัฐเทียบกับ GDP ในทุกตัวเลือกแล้ว ครูแป๊ปขอเลือกตอบ ตัวเลือกที่ 5 มูลค่าการกู้ยืมจากประชาชนและสถาบันการเงินในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ GDP ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 8 โดยมีเหตุผลของการตอบตัวเลือกนี้ 2 เหตุผล คือ
- จำนวนหนี้ที่ก่อไม่มากกว่า GDP หรือผลผลิตมวลรวมในประเทศ
- เป็นการก่อหนี้ภายในประเทศ ต่อให้ต้องจ่ายผลตอบแทน แต่เงินก้อนนั้นก็ยังหมุนเวียนใช้ภายในประเทศ อีกทั้งยังก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปริมาณเงินที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นด้วย
ตัวเลือกที่ 1 มูลค่าการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และ GDP ขยายตัวร้อยละ 5 >> ตัวเลือกผิดตรงที่การก่อหนี้เท่ากับ GDP ตามหลัก GDP จะต้องขยายตัวมากกว่าปริมาณการก่อหนี้
ตัวเลือกที่ 2 มูลค่าการกู้ยืมโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และ GDP ขยายตัวร้อยละ 10 และ ตัวเลือกที่ 3 มูลค่าการกู้ยืมโดยตรงจากรัฐบาลต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และ GDP ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 2 >> ควรเป็นการกู้จากในประเทศมากกว่าเนื่องจากการกู้จากต่างประเทศจะเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน
ตัวเลือกที่ 4 มูลค่าการกู้ยืมโดยตรงและการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และ GDP ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4 >> ตัวเลือกนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแหล่งเงินกู้มาจากไหน ในประเทศหรือต่างประเทศ ต่างจากตัวเลือกที่ 5 ซึ่งระบุชัดไปเลยว่ามาจากประชาชนและสถาบันการเงินในประเทศ ดังนั้นเลือกตอบตัวเลือกที่ 5 จึงชัดเจนกว่า
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 การประกาศใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวของประเทศอุตสาหกรรม (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ+การเงิน การคลัง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในประเด็นหลักจากเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ แต่เมื่อพิจารณาไปที่ตัวเลือกจะเห็นได้ว่าโยงกลับไปสู่เรื่องการเงิน การคลัง ด้วย มองเผินๆ จะเหมือนถูกทุกข้อ นักเรียนจะต้องค่อยๆ พิจารณาทีละตัวเลือกดีๆ ว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มันส่งผลต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจจริงไหม
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกเหล่านี้ มีผลต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
ตัวเลือกที่ 2 การค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น >> ยิ่งขยายยิ่งส่งผลให้การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการลดข้อจำกัดทางการค้าต่างๆ ลง
ตัวเลือกที่ 4 การดำเนินนโยบายเปิดเสรีทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนา >> ชื่อบอกชัดเจน เปิดเสรี นั่นหมายความว่าลดหรือเลิกใช้มาตรการต่างๆ ที่จะเป็นการสกัดกั้นการเข้ามาของเงินจากต่างประเทศ
ตัวเลือกที่ 1 กำไรที่เติบโตเพิ่มมากขึ้นของบรรษัทข้ามชาติ >> ลักษณะดังกล่าวบ่งบอกให้ประเทศต่างๆ รู้ว่า trend การค้าเสรีกำลังขยายตัว การลงทุนระหว่างประเทศมีเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจย่อมส่งผลดีต่อประเทศตน
ตัวเลือกที่ 3 เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินที่ได้รับการพัฒนาให้มีความทันสมัย หลากหลายมากขึ้น >> เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลให้การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น
สรุปคำตอบ : หลังวิเคราะห์ตัวเลือกแล้ว นักเรียนจะเห็นได้ว่าตัวเลือกที่ไม่ใช่เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศ คือ ตัวเลือกที่ 5 การประกาศใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวของประเทศอุตสาหกรรม นโยบายการคลังแบบขยายตัวจะใช้เพื่อแก้ปัญหาเงินฝืด ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ให้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุล กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการขยายโครงการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ ลดภาษี จุดเน้นของนโยบายจะเน้นที่แก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก แม้จะมีการส่งเสริมการจ้างงานและการลงทุนซึ่งอาจมีผลไปถึงการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน แต่ก็ตอบไม่ได้ชัดเจนว่าการจ้างงานและการลงทุนนั้นจะเป็นชาวต่างชาติทั้งหมดหรือไม่ ในความจริงอาจเน้นเพียงนักลงทุนภายในประเทศก็ได้ อีกทั้งจุดเน้นยังต้องมุ่งที่การสร้างรายจ่ายของภาครัฐเองด้วย
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 GDP = GNP-รายได้สุทธิจากต่างประเทศ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (การพัฒนาเศรษฐกิจ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 วัดความเข้าใจของนักเรียนเกี่ยวกับเรื่อง GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในข่าวเศรษฐกิจต่างๆ การหาคำตอบทำได้ไม่ยากนัก เพียงเราเข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า GDP ก็จะนำพาเราไปพบตัวเลือกที่เป็นคำตอบได้
เข้าถึงเนื้อหา : GDP หรือ Gross Domestic Product เรียกเต็มๆ ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ วัดจากมูลค่าผลผลิตของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ในประเทศ โดย GDP ถือเป็นตัวชี้วัดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศตัวหนึ่ง ทั้งนี้ในการวัดมูลค่า GDP เราจะพิจารณาที่พื้นที่ที่ผลิตเป็นหลักโดยไม่สนใจว่าผลผลิตที่เกิดนั้นจะเกิดจากคนชาติใด
สรุปคำตอบ : จากความหมายและวิธีการวัดมูลค่า GDP จึงทำให้เราสรุปได้ว่า สูตรที่ถูกต้องในการวัดมูลค่า GDP ตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 GDP = GNP-รายได้สุทธิจากต่างประเทศ เนื่องจากจุดเน้นของ GDP คือ เน้นที่พื้นที่ประเทศที่ผลิตเป็นหลัก โดยไม่สนใจเชื้อชาติ ดังนั้นตามสูตรเมื่อนำมาคิดเทียบกับ GNP ซึ่งมองที่เชื้อชาติเป็นหลัก จึงต้องจัดรายได้สุทธิจากปัจจัยการผลิตที่ได้รับจากต่างประเทศออก
ตัวเลือกที่เหลือล้วนไม่ใช่สูตรการคิด GDP ที่ถูกต้อง
เสริมความรู้ : กรณีที่จะคิด GNP หรือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ สูตรการคิดจะกลับกันเป็น GNP = GDP+รายได้สุทธิจากต่างชาติ-รายได้ของชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าจุดเน้นของ GNP อยู่ที่เชื้อชาติที่ผลิต
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 การจัดสรรที่ดินทำกิน (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (การพัฒนาเศรษฐกิจ-เศรษฐกิจชุมชน)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องสหกรณ์ ซึ่งดูโดยรวมๆ เหมือนจะง่าย แต่ข้อนี้ให้ระวังตรงการวิเคราะห์ตัวเลือกให้ดี นักเรียนต้องชัดเจนในเรื่องบทบาทหน้าที่ของสหกรณ์การเกษตรซึ่งเป็นประเด็นคำถาม หากไม่ชัดเจนก็อาจตอบผิดไปได้อย่างง่ายดาย
เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : ตามข้อมูลจาก Website กรมส่งเสริมสหกรณ์ ระบุไว้ว่า สหกรณ์การเกษตร มีหน้าที่หลักๆ ดังนี้
- ธุรกิจการซื้อ คือ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร และสิ่งของจำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก (หักล้างตัวเลือกที่ 1)
- ธุรกิจการขายหรือรวบรวมผลผลิต ให้แก่สมาชิกทำให้มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น สมาชิกจะได้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกดราคารับซื้อผลผลิตจากพ่อค้า (หักล้างตัวเลือกที่ 2)
- ธุรกิจธนกิจ (สินเชื่อ) ให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สมาชิกเพื่อไปลงทุนเพื่อการเกษตร รวมถึงการรับฝากเงิน เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักและเห็นคุณค่าประโยชน์ของการออมทรัพย์และเพื่อเป็นการระดมทุนในสหกรณ์ (หักล้างตัวเลือกที่ 4 และ 5)
- ธุรกิจการส่งเสริมอาชีพและบริการสหกรณ์
- การศึกษาอบรม
สรุปคำตอบ : จากหน้าที่หลักๆ ของสหกรณ์การเกษตรที่ครูแป๊ปยกมากล่าวนี้ นักเรียนจะเห็นได้ชัดเจนว่า หน้าที่ที่ไม่ปรากฎ คือ หน้าที่ในตัวเลือกที่ 3 การจัดสรรที่ดินทำกิน ด้วยเหตุนี้ตัวเลือกนี้จึงเป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยหน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของสหกรณ์นิคม ทั้งนี้จุดต่างสำคัญระหว่างสหกรณ์นิคมกับสหกรณ์การเกษตร คือ สหกรณ์การเกษตรมักจัดตั้งในพื้นที่ที่เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองแล้ว ส่วนสหกรณ์นิคม รัฐเป็นเจ้าของที่ดินในครั้งแรกแล้วจึงนำไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรในภายหลัง