เฉลยแบบทดสอบ สาระเศรษฐศาสตร์ ชุดที่ 3
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 นาย ง ดูโทรทัศน์ดึกเกินไปจึงนอนตื่นสาย (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 42 โดยครูแป๊ปเพิ่มไป 1 ตัวเลือกเพื่อให้เข้ากับข้อสอบปัจจุบัน ให้หาตัวเลือกที่สัมพันธ์กับเศรษฐศาสตร์น้อยที่สุด ออกเป็นแนววิเคราะห์ในระดับที่ไม่ยากมากแต่สำหรับบางคนอาจงงๆ กับโจทย์นี้ได้ จุดสำคัญคือให้เราดูที่เป้าหมายหรือประโยชน์สำคัญจากวิชาเศรษฐศาสตร์ ใช้หลักนี้เป็นตัวพิจารณาคำตอบ แล้วนักเรียนจะพบคำตอบได้ไม่ยาก
สรุปคำตอบ : เมื่อพิจารณาจากตัวเลือกทั้งหมดแล้ว จะเห็นได้ว่า ตัวเลือกที่สัมพันธ์กับวิชาเศรษฐศาสตร์น้อยสุด คือ ตัวเลือกที่ 4 นาย ง ดูโทรทัศน์ดึกเกินไปจึงนอนตื่นสาย ด้วยเหตุผลที่ว่าหากเราเทียบกับพฤติกรรมของบุคคลในอีก 4 ตัวเลือกที่เหลือ นาย ง ดูจะไม่ได้วางแผนหรือกำหนดอะไรในใจเลย เพียงแต่ปล่อยให้เวลาผ่านไปกับความเพลิดเพลินในการดูโทรทัศน์ของตัวเองจนท้ายสุดก็ต้องตื่นสาย โดย Keyword สำคัญซึ่งสะท้อนให้เราเข้าใจการใช้ประโยชน์จากวิชาเศรษฐศาสตร์ของ นาย ง น้อยมากๆ ก็คือ คำว่า ดึกเกินไป นั่นเอง..
ตัวเลือกที่เหลือล้วนแต่สะท้อนถึงการวางแผน เตรียมการ ตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรตามข้อจำกัดของตนเอง อย่างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่มีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้นทั้งสิ้น
ตัวเลือกที่ 1 เลือกว่ายน้ำ ค่าเสียโอกาส คือ ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ตัวเลือกที่ 2 เลือกไปเรียนภาษา ค่าเสียโอกาส คือ เรียนคณิตศาสตร์
ตัวเลือกที่ 3 เลือกที่จะเลี่ยงรถติด ค่าเสียโอกาส คือ ต้องตื่นตีห้า
ตัวเลือกที่ 5 เลือกที่จะทำข้อสอบข้อสุดท้ายก่อน ค่าเสียโอกาส คือ อาจทำข้อแรกไม่ทัน
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เศรษฐกิจเจริญเติบโตสูงกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น เพราะมีเสรีภาพในการแข่งขันเป็นแรงจูงใจ (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ระบบเศรษฐกิจ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามเกี่ยวกับลักษณะที่ไม่ถูกต้องของระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งเมื่อกวาดสายตาดูที่ตัวเลือกแล้วจะเห็นได้ว่า ง่ายมากๆ หลักคิดง่ายๆ คือ ผสม ต้องมี 2 ฝั่ง นั่นคือ เอกชนและรัฐ ตัวเลือกไหนไม่ชัดเจนในลักษณะดังกล่าว ตัวเลือกนั้นจะกลายเป็นคำตอบทันที
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่ไม่ใช่ลักษณะที่ถูกต้องของระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ ตัวเลือกที่ 4 เศรษฐกิจเจริญเติบโตสูงกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น เพราะมีเสรีภาพในการแข่งขันเป็นแรงจูงใจ คำสำคัญที่บ่งชี้ว่าลักษณะนี้ผิดแน่นอน คือ ข้อความที่ว่า เศรษฐกิจเจริญเติบโตสูงกว่าระบบอื่น ซึ่งในปัจจุบันทุกระบบต่างมีปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรด้วยกันทั้งนั้น ปัญหาจะมีน้อยหรือมากขึ้นอยู่กับแนวทางการจัดการของรัฐนั้น และต่อให้ระบบเศรษฐกิจแบบผสมจะมีเสรีภาพในการแข่งขันเป็นแรงจูงใจ แต่ระบบนี้ก็ยังมุ่งเน้นการการวางแผนของภาครัฐร่วมกับเอกชนด้วย ดังนั้นบางครั้งเสรีภาพก็อาจถูกควบคุมผ่านนโยบายบางนโยบายของภาครัฐได้ ทั้งนี้ความเป็นผสมนี้ไม่ได้กำหนดตายตัวในแต่ละประเทศที่เลือกใช้ระบบ บางประเทศอาจเอียงทางทุนนิยมซึ่งมุ่งเน้นที่กลไกราคามากกว่า บางประเทศอาจเอียงทางสังคมนิยมซึ่งเน้นการวางแผนและกำหนดทิศทางจากภาครัฐมากกว่า
ตัวเลือกที่ 2 และ 4 มีคำว่า สมาคมการค้า และสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นการมองในภาคเอกชนเป็นหลัก เน้นที่การรวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองหรือกำหนดนโยบายบางอย่างเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน ซึ่งในหลายลักษณะภาครัฐจะเข้ามามีส่วนในการร่วมกำหนดนโยบาย ข้อกำหนดทางกฎหมาย ค่าแรง ร่วมด้วยจากจุดนี้จึงชัดเจนว่า เป็นลักษณะของระบบเศรษฐกิจแบบผสม
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (การจัดสรรทรัพยากร-การบริโภค)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามถึงอิทธิพลที่ส่งผลให้ผู้บริโภคตัดสินใจผิดพลาดในการซื้อสินค้ามากที่สุด คำสำคัญหลักจากโจทย์ที่นักเรียนจะต้องจับไว้เพื่อใช้เป็นหลักคือ คำว่า ตัดสินใจผิดพลาด ในฐานะที่นักเรียนเป็นผู้บริโภค ให้นักเรียนลองถามตัวเองดูว่าในบรรดา 5 ตัวเลือก นักเรียนจะตัดสินใจผิดพลาดเพราะอิทธิพลใดมากที่สุด
วิเคราะห์ตัวเลือก : จาก 5 ตัวเลือก ที่โจทย์กำหนดมา เราจะหาคำตอบผ่านข้อมูลที่ส่งมาให้เราตัดสินใจ เรียงลำดับความน่าเชื่อถือจากมากไปหาน้อย ได้ดังนี้
ตัวเลือกที่ 1 การได้รับแจกสินค้าตัวอย่าง >> การตัดสินใจจะผิดพลาดน้อยที่สุด เพราะอย่างน้อยนักเรียนก็ได้ใช้สินค้านั้นแล้ว ย่อมทราบดีถึงคุณลักษณะและความเหมาะสมที่นักเรียนจะเลือกบริโภคสินค้านั้น
ตัวเลือกที่ 3 การแนะนำของเพื่อน >> หากเพื่อนเรามาแนะนำสินค้าให้กับเรา (ในฐานะที่เขาเป็นผู้บริโภคสินค้านั้นมาก่อน ไม่ใช่เป็นผู้ขายนะ) ย่อมแน่นอนว่าเขาต้องให้ข้อมูลจริงเกี่ยวกับสินค้านั้นกับเราว่าตกลงที่เขาบริโภคไปดีหรือไม่ดี ไม่ใช่แสดงแต่ภาพด้านบวกหรือด้านดีของสินค้าอย่างเดียว เช่นการโฆษณาจากผู้ผลิตสินค้านั้นโดยตรง ดังนั้นการแนะนำของเพื่อน จึงไม่น่าจะส่งผลให้เราตัดสินใจบริโภคผิดพลาดได้ (อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเพื่อนเมื่อเปรียบกับการได้รับแจกสินค้าตัวอย่าง กรณีหลังย่อมน่าเชื่อถือมากกว่า เพราะเราเป็นผู้บริโภคเองเลย ไม่ใช่มีคนมาบอก)
ตัวเลือกที่ 5 การอ่านประสบการณ์ใช้จริงจากกระทู้ในอินเทอร์เน็ต >> หากเทียบกับการแนะนำของเพื่อน วิธีนี้ย่อมมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า เนื่องจากมาจากคนไกลตัวและเราก็ยังไม่แน่ใจว่าคนที่เขียนประสบการณ์ในกระทู้นั้นมีส่วนได้ส่วนเสียกับสินค้านั้นหรือเปล่า อย่างไรก็ตามด้วยวิธีการนี้เราก็ยังได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวสินค้าได้มากกว่าการสาธิตการใช้หรือการโฆษณาผ่านสื่อ ซึ่งใช้เวลาในการนำเสนอให้กับเราเพียงเล็กน้อย
ตัวเลือกที่ 2 การสาธิตวิธีการใช้สินค้า >> ส่วนใหญ่จะพบได้ตามห้างสรรพสินค้า หรือเวลามี sale มาขายตามบ้าน วิธีนี้มาจากผู้ขายโดยตรงดังนั้นหากเทียบความน่าเชื่อถือจึงสู้ 2 ตัวเลือกแรกไม่ได้ เพราะคงไม่มีผู้ขายรายใด จะสาธิตแล้วชี้ถึงข้อบกพร่องของสินค้าตนเองแน่นอน อย่างไรก็ตามการที่เขาสาธิตวิธีใช้สินค้าให้กับเรา อย่างน้อยเราก็ยังได้รู้ว่า สินค้านี้ใช้อย่างไร ให้ประโยชน์อย่างไร นักเรียนยังมีข้อมูลตัดสินใจซื้อ ไม่ถึงขนาดจะส่งผลให้นักเรียนตัดสินใจพลาดได้มากนัก
สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงสรุปได้ว่า การที่ผู้บริโภคตัดสินใจผิดพลาดนั้นเป็นเพราะ ตัวเลือกที่ 4 การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เมื่อเปรียบการโฆษณากับวิธีการจาก 4 ตัวเลือกที่เราวิเคราะห์มาข้างต้น การโฆษณาจะให้ข้อมูลในการบริโภคต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด และเมื่อเราได้ข้อมูลน้อย ก็เป็นไปได้มากที่การตัดสินใจในการบริโภคของเราจะผิดพลาดได้ โดยการโฆษณาจะเน้นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ใช้วิธีทุกอย่างที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าของเขา ซึ่งบางครั้งผู้บริโภคก็อาจหลงกลลวงต่างๆ ได้ง่าย หากไม่ศึกษาข้อมูลของสินค้าเพิ่มเติมผ่าน 4 ตัวเลือกข้างต้นประกอบ
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เส้นอุปสงค์เคลื่อนไปทางขวา (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (กลไกราคา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 59 ถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดุลยภาพซึ่งเป็น concept หลักของเรื่องกลไกราคา ที่นักเรียนต้องเรียนผ่านกันมาแล้วแหละ โดยรวมไม่ยากนัก อันดับแรก คือ ต้องตีความให้ได้ก่อนว่า สถานการณ์ที่โจทย์ให้มานี้มันมีผลกระทบต่อฝั่งอุปสงค์ (Demand) หรือฝั่งอุปทาน (Supply) หากทราบก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ที่เหลือให้ใช้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องกราฟกลไกราคาในการหาคำตอบ
สรุปคำตอบ : การเกิดโครงการแปรรูปข้าวจะมีผลต่อตลาดข้าวโดยตรง ตามตัวเลือกที่ 4 เส้นอุปสงค์เคลื่อนไปทางขวา สาเหตุสำคัญก็เพื่อกระตุ้นการบริโภค ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าในขณะนี้เกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน (ขายมากกว่าซื้อ = ของเหลือ) ในตลาดข้าว ด้วยเหตุนี้หากพิจารณาที่กราฟ ผลที่เกิดจากนโยบายนี้ คือ เส้นอุปสงค์หรือเส้น Demand (D) จะต้องเพิ่มปริมาณขึ้น (เคลื่อนไปทางขวา) ดังภาพ เส้นที่เปลี่ยนคือ จาก เส้น D จะเคลื่อนไปทางขวาเป็น เส้น D’ ในขณะที่เส้น S จะคงเดิม ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณดุลยภาพจาก 0QE เป็น 0Q’E’ และราคาดุลยภาพ จาก 0PE เป็น 0P’E’
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม : หลักคิดง่ายๆ คือ ถ้าเส้นเคลื่อนไปทางขวาไม่ว่าเส้นอุปสงค์ Demand;D หรือเส้นอุปทาน Supply;S หมายถึง เพิ่มปริมาณ แต่ถ้าเคลื่อนไปทางซ้าย คือ ลดปริมาณ
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ปริมาณการซื้อขายภายหลังการกำหนดราคาขั้นสูงจะมีมากกว่าก่อนการกำหนดราคา (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (กลไกราคา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในประเด็นเกี่ยวกับการแทรกแซงราคาโดยการกำหนดราคาขั้นสูงของรัฐบาล การหาคำตอบจากโจทย์นี้ อันดับแรกคือนักเรียนต้องเข้าใจความหมายของคำว่า กำหนดราคาขั้นสูงก่อน โดยพิจารณาว่าการกำหนดราคาดังกล่าวมีผลต่อฝั่งอุปสงค์หรืออุปทานมากกว่ากัน พอได้คำตอบตรงนี้แล้ว ควรใช้พื้นฐานเรื่องการเขียนกราฟกลไกราคาเข้ามาช่วย ถ้าได้ตรงนี้ก็การันตีได้ว่า นักเรียนจะได้คะแนนจากโจทย์นี้แน่นอน
เข้าถึงเนื้อหา : การกำหนดราคาขั้นสูง หรือที่เรียกว่ากำหนดราคาเพดาน (Price Ceiling) เป็นมาตรการแทรกแซงกลไกราคาของภาครัฐที่เน้นช่วยเหลือผู้บริโภค ในยามที่เกิดภาวะราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิตหรือเกิดภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ สามารถพิจารณาวิธีการและผลที่เกิดขึ้นได้จากกราฟจากกราฟ ราคาขั้นสูงหรือราคาเพดานที่รัฐกำหนด คือ 0PC เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลเห็นว่าราคาดุลยภาพในตลาดที่ 0PE มีแนวโน้มสูงเกินไปจนผู้บริโภคเดือดร้อน รัฐบาลจึงเข้าไปควบคุมราคาไว้ที่ 0PC (คือกำหนดให้ราคาอยู่ที่ระดับ 0PC หรืออยู่ต่ำกว่าดุลยภาพ) ราคานี้คือราคาที่มีอุปสงค์ส่วนเกิน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ขายลดปริมาณการขายมาอยู่ที่ปริมาณ 0Q2 ที่จุด A (พิจารณาจากเส้นอุปทาน-S) แต่ผู้บริโภคจะเพิ่มปริมาณซื้อไปอยู่ที่ 0Q1 ที่จุด B ทันที ลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ตั้งแต่พื้นที่ ABQ1Q2 เกิดเป็นภาวะขาดแคลนสินค้า
วิเคราะห์ตัวเลือก : จากเนื้อหาที่กล่าวมา นักเรียนจะเห็นได้ทันทีว่า ตัวเลือกต่อไปนี้ล้วนเป็นผลจากการกำหนดราคาขั้นสูงของรัฐบาลทั้งสิ้น
ตัวเลือกที่ 1 เกิดภาวะการขาดแคลนในสินค้าที่รัฐกำหนดราคาขั้นสูง
ตัวเลือกที่ 2 ผู้ผลิตจะลดปริมาณการผลิตสินค้าที่รัฐกำหนดราคาขั้นสูงลง >> จากกราฟ คือ ไปที่อยู่ที่จุด A ในปริมาณ 0Q2
ตัวเลือกที่ 3 ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อสินค้าที่รัฐกำหนดราคาขั้นสูงเพิ่มขึ้น >> จากกราฟ คือ ไปอยู่ที่จุด B ในปริมาณ 0Q1
ตัวเลือกที่ 4 ราคาของสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามกฎหมายจะต่ำกว่าราคาก่อนการกำหนดราคาขั้นสูง >> จากกราฟ ราคาเดิม คือ 0PE เปลี่ยนเป็นราคาที่กำหนดราคาขั้นสูงแล้ว คือ 0Pc
สรุปคำตอบ : ภายหลังการวิเคราะห์ตัวเลือก ตัวเลือกที่ไม่ใช่ผลกระทบจากการกำหนดราคาขั้นสูงของรัฐบาลก็คือ ตัวเลือกที่ 5 ปริมาณการซื้อขายภายหลังการกำหนดราคาขั้นสูงจะมีมากกว่าก่อนการกำหนดราคา เป็นไปไม่ได้ที่จะมากกว่า จากผลที่เราก็เห็นชัดจากกราฟอยู่แล้ว คือ Demand อุปสงค์-ผู้บริโภค ต้องการมากขึ้นจากราคาที่ต่ำลง แต่ Supply อุปทาน-ผู้ผลิต ผลิตสินค้าลดลงเพราะราคาที่ต่ำลง ด้วยเหตุนี้จึงชัดเจนว่าปริมาณการซื้อขายไม่มีทางจะมากขึ้นได้ มีเพียงฝั่งอุปสงค์ที่ต้องการส่วนอุปทานยังไงก็ต้องลดลง
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ผู้ผลิตจะสามารถสร้างกำไรเกินปกติได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์จุลภาค (ตลาดและการกำหนดราคา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนมองหา ลักษณะของตลาดแข่งขันที่ไม่ถูกต้อง เป็นคำถามในภาพรวม โดยหยิบลักษณะเด่นของตลาดแต่ละประเภทมาเป็นช้อยให้เราได้พิจารณา การหาคำตอบทำได้ไม่ยากนัก ตัดตัวเลือก ซึ่งนักเรียนมั่นใจว่าเป็นลักษณะของตลาดนั้นๆ ชัวร์ๆ ออก โดยใช้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะของตลาดตามที่ได้เรียนมาเทียบไป หรืออาจพิจารณาตามความสมเหตุสมผลของลักษณะตลาดแข่งขันนั้นๆ ท้ายสุดนักเรียนจะพบคำตอบได้
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกเหล่านี้ล้วนกล่าวเกี่ยวกับลักษณะของตลาดแข่งขันนั้นๆ ได้ถูกต้องแล้ว
ตัวเลือกที่ 2 ลักษณะของการประหยัดต่อขนาดถือเป็นลักษณะเฉพาะของตลาดผูกขาด >> ตลาดผูกขาด มีลักษณะเด่น คือ จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดได้ ซึ่งหมายถึง การประหยัดต้นทุนจากการผลิตสินค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบที่ผลิตลดลงได้ ทั้งนี้เนื่องจากในตลาดผูกขาดจะมีผู้ผลิตรายเดียว ไม่มีคู่แข่ง ปริมาณการผลิตจึงมีมาก และเมื่อมีมาก ราคาต้นทุนต่อหน่วยผลิตจึงลดลงได้ หากนักเรียนไม่เข้าใจก็ให้ลองคิดง่ายๆ เหมือนนักเรียนไปสั่งเค้าผลิตเสื้อกีฬาสี ถ้าซัก 10 ตัว กับ 100 ตัว อย่างไหนราคามันจะได้ถูกกว่า นั่นหละคำตอบ
ตัวเลือกที่ 3 ลักษณะสินค้าในตลาดผู้ขายน้อยรายอาจมีความต่างหรือไม่ต่างกันก็ได้ >> ตลาดผู้ขายน้อยราย เป็นประเภทหนึ่งของตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ ซึ่งลักษณะของสินค้าในตลาดประเภทนี้จะต่างหรือไม่ต่างก็ได้ แต่ผู้ผลิตจะต้องหาวิธีสร้างกลยุทธ์ในการแข่งขันเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงและบริโภคสินค้าของตน
ตัวเลือกที่ 4 กลยุทธ์ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถือเป็นสิ่งสำคัญของผู้ผลิตในตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด >> ลักษณะสำคัญของตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด คือ สินค้าจะต้องมีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งต่างในลักษณะของสินค้าหรือต่างในความรู้สึกของผู้บริโภคก็ได้ ดังนั้นกลยุทธ์การโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อให้สินค้าของตนดูเด่น แตกต่างจากผู้ผลิตรายอื่น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ผลิตในตลาดประเภทนี้จะต้องทำ
ตัวเลือกที่ 5 การโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่มีความจำเป็นใดๆ สำหรับตลาดผูกขาด >> ในเมื่อตลาดผูกขาด ครอบครองการผลิตในตลาดหรือส่วนแบ่งทางการตลาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นการโฆษณาประชาสัมพันธ์จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ
สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก จึงสรุปได้ว่า ตัวเลือกที่กล่าวถึงลักษณะของตลาดแข่งขันไม่ถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 1 ในตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ผู้ผลิตจะสามารถสร้างกำไรเกินปกติได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรณีตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ผู้ผลิตจะสามารถสร้างกำไรเกินปกติได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่เมื่อเข้าสู่ระยะยาว กำไรจะคืนสู่ปกติ เนื่องจากในระยะยาว ปัจจัยการผลิตทุกตัวจะกลายเป็นปัจจัยการผลิตแบบผันแปร หากหน่วยธุรกิจใดได้กำไรส่วนเกิน (ระยะสั้น) จะมีหน่วยผลิตอื่นๆ เข้ามาสู่ตลาดทำให้อุปทานมีมากขึ้น ซึ่งจะเท่ากับว่าราคาสินค้าจะต้องตกลง และกำไรจะคืนสู่ปกติ
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 เพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลด เพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย และขายพันธบัตรรัฐบาล (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (การเงิน การคลัง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ถามในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายทางการเงิน ซึ่งหากพิจารณาที่โจทย์แล้วก็จะเห็นได้ว่า เค้าถามถึงนโยบายการเงินที่แก้เงินเฟ้อ จากคำสำคัญคือลดปริมาณเงิน การหาคำตอบทำได้ไม่ยากเลย ใช้ concept ความรู้ที่เรียนมาในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเงินเพื่อแก้เงินเฟ้อในการวิเคราะห์หาตัวเลือกที่ถูกต้องได้เลย โดยตัวเลือกแต่ละตัวที่ให้เราวิเคราะห์ก็ไม่มีอะไรยาก ต่างกันแค่เพิ่มหรือลดเท่านั้น
เข้าถึงเนื้อหา : จากคำสำคัญที่โจทย์กำหนดมา คือ ลดปริมาณเงิน แสดงให้เห็นว่า โจทย์ถามเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ใช้แก้ปัญหาเงินเฟ้อ เน้นที่การลดปริมาณเงินออกจากระบบ นโยบายการเงินนี้เรียกเต็มๆ คือ นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งมาตรการหลักๆ ที่จะนำมาใช้ คือ
- เพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลด ( Rediscount Rate; RD) หมายถึง เพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารกลางเก็บล่วงหน้าจากธนาคารพาณิชย์เมื่อธนาคารพาณิชย์นำตั๋วเงินที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อลด (Discounting) ไปขายต่อให้ธนาคารกลาง
- เพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย หมายถึง เพิ่มอัตราเงินที่ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งมอบให้ธนาคารกลาง (คิดจากยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์)
- ขายพันธบัตรรัฐบาล โดยพันธบัตรรัฐบาล เป็นรูปแบบการกู้ระยะยาวของภาครัฐต่อประชาชน เมื่อขายย่อมหมายถึง ดึงเงินจากประชาชนมาอยู่ที่รัฐ ถือเป็นการลดเงินจากระบบ
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ครูแป๊ปยกมาอธิบายในส่วนเข้าถึงเนื้อหา นักเรียนคงเห็นชัดแล้วใช่ไหมว่า นโยบายการเงินที่จะลดปริมาณเงินในระบบตามที่โจทย์ถามจะตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 เพิ่มอัตรารับช่วงซื้อลด เพิ่มอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมาย และขายพันธบัตรรัฐบาล
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 เงินบาทมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวน (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (เศรษฐกิจระหว่างประเทศ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 โดยให้เป็นตารางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินมา ซึ่งดูทีเดียวก็จะทราบทันทีว่าโจทย์กำลังถามเราเกี่ยวกับเรื่องการเงินระหว่างประเทศซึ่งถือเป็นเนื้อหาหนึ่งของเศรษฐกิจระหว่างประเทศอยู่ ภาพรวมแล้วไม่มีอะไรยากเลย ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินเป็นหลักในการหาคำตอบได้เลย
เข้าถึงเนื้อหา : จากตารางการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่โจทย์กำหนดมาให้ เห็นได้ชัดเจนว่า
กรณีเงินเยน จากเดือนมกราคม มาเดือนพฤษภาคม ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น นั่นคือ จาก 35 บาท ต่อ 100 เยน มาเป็น 38 บาท ต่อ 100 เยน (ใช้เงินบาทซื้อเงินเยนมากขึ้น ก็เท่ากับค่าเงินเราลดลง)
กรณีเงินหยวน จากเดือนมกราคม มาเดือนพฤษภาคม ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหยวนของจีน นั่นคือ จาก 498 บาท ต่อ 100 หยวน มาเป็น 480 บาท ต่อ 100 หยวน (ใช้เงินบาทซื้อเงินหยวนน้อยลง ก็เท่ากับค่าเงินเรามากขึ้น)
สรุปคำตอบ : จากส่วนเข้าถึงเนื้อหาที่ครูแป๊ปอธิบายไป จึงสรุปได้เลยว่า ผลที่ไม่ถูกต้องของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินตามตารางที่โจทย์ยกมาตรงกับ ตัวเลือกที่ 3 จ่ายเงินหยวนลดลงเพื่อซื้อสินค้าจำนวนเท่าเดิมจากประเทศไทย จากตารางอัตราแลกเปลี่ยนในตาราง เราจะเห็นชัดเจนว่า สถานการณ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม เงินบาทมีค่าแข็งขึ้น เมื่อเทียบกับเงินหยวน คือ เงินหยวนแลกเป็นเงินบาทได้น้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม ซึ่งก็คือ ค่าเงินหยวนลดลง แต่ค่าเงินบาทเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากมองจากคนจีนแล้ว คนจีนจะต้องจ่ายเงินหยวนเพิ่มขึ้นเพื่อสินค้าไทย (เงินหยวนอ่อนลง แต่เงินบาทแข็งขึ้น)
ตัวเลือกที่เหลือล้วนแสดงถึงผลของอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไปตามตารางได้ถูกต้องแล้ว
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 100 ล้านบาท (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (การพัฒนาเศรษฐกิจ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ให้นักเรียนคำนวณ GDP ด้านรายจ่าย จากตัวเลขที่โจทย์กำหนดมาให้ นับว่ามีความยากในระดับหนึ่ง สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้ผ่านการเรียนในเนื้อหานี้มา เพราะก็ค่อนข้างลงลึกจากในเนื้อหาที่เราเรียนกันพอควร บางโรงเรียนจึงอาจไม่ได้สอนเสริมในเนื้อหาเรื่องนี้ แต่หากว่าใครได้เรียนเรื่องนี้มาแล้ว ก็ไม่มีอะไรยากในการหาคำตอบเลย
เข้าถึงเนื้อหา : สูตรการคำนวณ GDP ด้านรายจ่าย คือ
รายได้ประชาชาติ = C+I+G+(X-M)
(C หมายถึง รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน
I = รายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐบาล
G = รายจ่ายเพื่อการซื้อสินค้าและบริการของภาครัฐบาล
X = การส่งออก
M = การนำเข้า)
จากสูตรสามารถนำมาแทนค่าตามข้อมูลที่โจทย์ให้มาดังนี้ 50+20+20+(40-30) = 100
สรุปคำตอบ : จากการคำนวณในส่วนเข้าถึงเนื้อหา จะพบได้ทันทีว่า GDP ด้านรายจ่ายของประเทศนี้ตามที่โจทย์กำหนดตัวเลขมา คือ ตัวเลือกที่ 3 100 ล้านบาท โดยตัวเลข 3 ตัวที่เราจะไ่ม่หยิบมาคำนวณด้วย หรือก็คือมันไม่อยู่ในสูตร คือ รายได้สุทธิจากปัจจัยการผลิตที่ได้รับจากต่างประเทศ, ภาษีเงินได้ของนิติบุคคล, ค่าเสื่อมราคา
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ภาวะเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืด (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : เศรษฐศาสตร์มหภาค (การพัฒนาเศรษฐกิจ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนมองหาตัวชี้วัดที่บ่งบอกเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อพิจารณาจากตัวเลือกจะเห็นว่า มีความเชื่อมโยงไปที่เรื่องการเงินการคลังด้วย การหาคำตอบให้นักเรียนแปลความคำว่าเสถียรภาพเป็นอันดับแรก เมื่อได้ความหมายจึงค่อยๆ นำไปวิเคราะห์โยงกับตัวชี้วัดในแต่ละตัวเลือกเพื่อหาคำตอบ
วิเคราะห์ตัวเลือก : เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หมายถึง ความมั่นคงหรือความต่อเนื่องในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่สะดุดด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจหรือสังคม ซึ่งจากความหมายนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า ตัวชี้วัดเหล่านี้นำมาใช้บ่งบอกเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยตรงไม่ได้
ตัวเลือกที่ 2 รายได้ประชาชาติ, ตัวเลือกที่ 3 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และ ตัวเลือกที่ 5 รายได้เฉลี่ยต่อบุคคล >> ทั้งหมดนี้รวมเป็นความหมายเดียว คือ รายได้ประชาชาติ เพียงแต่จะวัดมูลค่าด้วยวิธีที่ต่างกันไป จุดเน้นคือ ใช้วัดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ตัวเลือกที่ 1 ลักษณะการกระจายได้ >> ค่อนข้างวัดยากในความเป็นจริง อีกทั้งการกระจายรายได้จะใช้บ่งชี้ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจว่ากระจายทั่วถึงไหม กระจุกแต่ในเมืองใหญ่หรือเปล่า ดังนั้นจึงไม่ได้นำมาใช้บอกเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
สรุปคำตอบ : ตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ คือ ตัวเลือกที่ 4 ภาวะเงินเฟ้อและภาวะเงินฝืด ซึ่งจะบอกให้เราทราบว่า การหมุนเวียนของเงินในระบบจากการใช้จ่าย การบริโภค การลงทุน มีความสมดุลไหม มีมากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือไม่ ถ้ามากจะก่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ แต่ถ้าน้อยไปจะก่อเกิดภาวะเงินฝืด ทั้งนี้เวลาพิจารณาตัวชี้วัดนี้ จะใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Consumer Price Index; Core CPI) เป็นตัวบอก หากค่าบวกสูงแสดงถึงตัวเลขเงินเฟ้อ หากค่าลบสูงแสดงถึงตัวเลขเงินฝืด
อย่างไรก็ตามในมุมมองของครูแป๊ป ครูแป๊ปมองว่าโจทย์นี้สามารถตอบตัวเลขรายได้ประชาชาติได้ด้วย (รวมถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคล) แต่จะไม่ดูเฉพาะตัวเลขในปีนั้นๆ ต้องเอาตัวเลขที่ได้ในแต่ละปีมาเทียบกัน ถ้าสูงต่อเนื่องไม่สะดุดก็แสดงว่ามีเสถียรภาพ ถ้าสูงๆ ต่ำๆ ก็แสดงว่าไม่มีเสถียรภาพ