Answer Key G-1

เฉลยแบบทดสอบ สาระภูมิศาสตร์ ชุดที่ 1

1) ตอบ ตัวเลือกที่ 4  เวลาของเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเส้นวันที่จะเร็วกว่าที่กรีนนิช (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฏิบัติการ (ระบบพิกัดภูมิศาสตร์ในแผนที่)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้วัดความเข้าใจของเราเกี่ยวกับเรื่องเส้นวันที่สากล หรือ International Date Line โดยในตัวเลือกจะลวงๆ เรานิดนึง ดังนั้นการจะหาคำตอบจากโจทย์นี้ได้ เราจึงควรเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเส้นวันที่นี้อย่างชัดเจน

เข้าถึงเนื้อหา

ความหมายและตำแหน่ง = อยู่ตรงข้ามกับเส้นเมอริเดียนปฐม (Prime Meridian) หรือที่เราเรียกว่าเส้นกรีนนิช (เนื่องจากลากผ่านเมืองกรีนนิช กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ) ในตำแหน่งที่เส้นเมอริเดียน 180 องศาลองจิจูดตะวันออก และ 180 องศาตะวันตก บรรจบกันพอดี บริเวณใจกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก  

ความสำคัญ = ใช้กำหนดการเปลี่ยนวันที่เมื่อมีการเดินทางข้ามเส้นนี้ไป โดยหากเดินทางไปทางตะวันออกของเส้นวันที่สากล จะต้องลดวันที่ลง 1 วัน แต่ถ้าเดินทางไปทางตะวันตกของเส้นวันที่สากล จะต้องเพิ่มวันที่อีก 1 วัน  โดยเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเส้นวันที่สากลอยู่ตรงข้ามกับเส้นเมอริเดียนปฐมที่ลากผ่านเมืองกรีนนิช ดังนั้นทิศทางจึงกลับกันหมด เช่น หากเราเดินทางจากยุโรปมาเอเชีย โดยเลือกไปทางทิศตะวันตก ผ่านสหรัฐอเมริกา เมื่อไปถึงเส้นวันที่สากล ก็คือ เราจะข้ามไปอยู่ทางทิศตะวันตกของเส้นวันที่สากล (ทิศ E ของเส้นกรีนนิช) กลับมาอยู่ในซีกโลกตะวันออก เพื่อเข้าทวีปเอเชีย และโอเชียเนีย ดังนั้นเวลาจึงต้องบวกเข้าไป 1 วัน และหากนักเรียนเดินทางจากเอเชียไปยุโรป โดยเลือกไปทางทิศตะวันออก เมื่อเราเดินทางผ่านเส้นวันที่สากล คือ เราเข้าสู่ซีกโลกตะวันตก (ทิศ W ของเส้นกรีนนิช) วันที่จึงต้องลดไป 1 วัน (ลองดูภาพประกอบนะครับ จะเข้าใจมากขึ้น)

ความคลาดเคลื่อนของตำแหน่ง = ตามการกำหนดของนานาชาติ เส้นวันที่สากลจะไม่ลากผ่านแผ่นดินที่อยู่ในเขตการปกครองเดียวกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนเรื่องการใช้วันที่ของตน ดังนั้นเส้นวันที่สากลจึงไม่ใช่เส้นทับระหว่างเส้นเมอริเดียน 180 องศาตะวันออก และ 180 องศาตะวันตก ในบางตอน (ดูรูปภาพประกอบ)

 

สรุปคำตอบ : จากคำอธิบายทั้งหมด นักเรียนคงเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบจากโจทย์นี้จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 4 เวลาของเมืองที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเส้นวันที่จะเร็วกว่าที่กรีนนิช        

2) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ดาวเทียม Theos (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฏิบัติการ (เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถือเป็นข้อสอบที่ยากมากๆ ข้อหนึ่ง ถามเกี่ยวกับดาวเทียม ซึ่งคำสำคัญที่จะนำไปสู่คำตอบก็ไม่ใช่ประโยชน์ของมันด้วย แต่อยู่ที่แทนภาพถ่ายทางอากาศ ตรงนี้เองที่ครูแป๊ปถือว่ายากอยู่ เพราะส่วนใหญ่เราก็จะเรียนแค่ว่าดาวเทียมดวงนี้ใช้ประโยชน์อะไร แต่ยากที่จะเรียนไปถึงความละเอียดในการเก็บภาพซึ่งตรงนี้เป็นหลักสำคัญที่ต้องเอามาใช้เพื่อหาคำตอบจากโจทย์นี้ 

สรุปคำตอบ : จากเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดมา ภาพจากดาวเทียมที่สามารถนำมาใช้แทนที่ภาพถ่ายทางอากาศขนาดมาตราส่วน 1 : 20000 ได้ คือ ภาพจากดาวเทียม Theos ในตัวเลือกที่ 2 โดยดาวเทียม Theos ถือเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของไทย มีชื่อในภาษาไทยว่า ดาวเทียม Thaichote ความสูงของดาวเทียมดวงนี้มีระดับจากพื้นโลก คือ ที่ระดับ 822 กิโลเมตรจากพื้นโลก ความละเอียดของภาพที่ได้จากกล้องถ่ายภาพขาว-ดำ คือ 2 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ คือ 22 กิโลเมตร ส่วนความละเอียดของภาพที่ได้จากกล้องถ่ายภาพสี คือ 15 เมตร ความกว้างแนวถ่ายภาพ คือ 90 กิโลเมตร ที่ผ่านมาเคยนำภาพจากดาวเทียม Theos มาใช้ทำแผนที่มาตราส่วน 1 : 25000 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดมา

สำหรับดาวเทียมในตัวเลือกอื่นๆ เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรเช่นกัน แต่ความละเอียดของภาพที่ได้จะไม่ตรงตามเงื่อนไขที่โจทย์ให้ คือ ใช้แทนภาพถ่ายทางอากาศ 1 : 20000 ได้

3) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 นายเอกรัตน์ ตั้งถิ่นฐานที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฏิบัติการ (พิกัดทางภูมิศาสตร์กับระบบเวลามาตรฐาน)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 มองภาพรวมอาจงงๆ ว่าเค้ากำลังถามเราในเนื้อหาเรื่องไหน จนพลอยทำให้มองไม่เห็นคำตอบได้ แต่หากเราค่อยๆ พิจารณาตัวเลือกและเชื่อมโยงกับประเด็นที่โจทย์ถามให้ดี จะเห็นชัดเลยว่า เค้ากำลังวัดเราเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งเขตเวลาในแต่ละพื้นที่ของโลกอยู่ การจะหาคำตอบจากโจทย์นี้ นักเรียนจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับการแบ่งเขตเวลาของโลกโดยใช้เส้นเมอริเดียนซึ่งบ่งชี้ผ่านค่าลองจิจูดก่อน แล้วจึงค่อยๆ นำไปโยงทีละตัวเลือกเพื่อหาคำตอบ 

เข้าถึงเนื้อหา : ประเด็นคำถามที่โจทย์ข้อนี้ถามอยู่ที่ การปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของเวลาเนื่องจากความแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืน ซึ่งในประเด็นนี้เราจะพิจารณาโดยเชื่อมโยงกับเรื่อง การแบ่งเขตเวลาโลกผ่านเส้นเมอริเดียนด้วยค่าลองจิจูด กฎของการแบ่งมีอยู่ว่า

1. พื้นที่ใดอยู่ทางตะวันออกของเส้นเมอริเดียนปฐม (0 องศา) หรือที่เรียกว่า เส้นกรีนนิช จะมีเวลาเร็วกว่าเส้นนี้ 4 นาที ต่อ 1 องศา

2. พื้นที่ใดอยู่ทางตะวันตกของเส้นเมอริเดียนปฐม จะมีเวลาช้ากว่าเส้นนี้ 4 นาที ต่อ 1 องศา

ในการแบ่งเขตเวลาโลก ลักษณะที่เรียกกันว่า เวลามาตรฐานกรีนนิช จะใช้หลักการนี้เป็นตัวยึด โดยหากดูที่แผนที่จะเห็นว่า จะเคลื่อนไปทีละ 15 องศา เนื่องจาก 15*4=60 หรือก็คือ 1 ชั่วโมง นั่นเอง แต่ละประเทศจะยึดตามเส้นเมอริเดียนหรือลองจิจูดจากพิกัดทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ตนเพื่อใช้แบ่งเขตเวลา

แผนที่แสดงการแบ่งเขตเวลาโลก (ภาพจาก https://th.wikipedia.org)

วิเคราะห์ตัวเลือก : จากเนื้อหาที่ครูแป๊ปอธิบายไป คราวนี้เราจะนำมาพิจารณาในเรื่องเขตเวลาโดยเทียบกับเวลามาตรฐานของประเทศเรากัน

ประเทศไทย ใช้เวลามาตรฐานโดยยึดตามเส้นเมอริเดียน 105 องศาตะวันออก หรือมีเวลาเร็วกว่าที่กรีนนิช 7 ชั่วโมง (GMT+7) หากลำดับพื้นที่จากตัวเลือกที่โจทย์ให้มา จะสามารถลำดับเวลาจากที่ใกล้กับเวลาของไทยไปจนไกลกับเวลาของไทย ได้ดังนี้

ตัวเลือกที่ 5 นายเอกพันธ์ เป็นศิลปินอาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน >> กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ใช้เวลามาตรฐานตามเส้นเมอริเดียน 120 องศาตะวันออก หรือมีเวลาเร็วกว่าที่กรีนนิช 8 ชั่วโมง (GMT+8) ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศเรา ปักกิ่งจะมีเวลาเร็วกว่าเรา 1 ชั่วโมง

ตัวเลือกที่ 1 นายเอกชัย กำลังศึกษาอยู่ที่กรุงมอสโคว์ รัสเซีย >> กรุงมอสโคว์ ใช้เวลามาตรฐานตามเส้นเมอริเดียน 45 องศาตะวันออก หรือมีเวลาเร็วกว่าที่กรีนนิช 3 ชั่วโมง (GMT+3) ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศเรา มอสโคว์จะมีเวลาช้ากว่าเรา 4 ชั่วโมง

ตัวเลือกที่ 3 นายเอกวัฒน์ เป็นนักธุรกิจทำงานอยู่ที่ปลายของแหลมกูดโฮป ประเทศแอฟริกาใต้ >> ประเทศแอฟริกาใต้ ใช้เวลามาตรฐานตามเส้นเมอริเดียน 30 องศาตะวันออก หรือมีเวลาเร็วกว่าที่กรีนนิช 2 ชั่วโมง (GMT+2) ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศเรา แอฟริกาใต้จะมีเวลาช้ากว่าเรา 5 ชั่วโมง

ตัวเลือกที่ 2 นายเอกพล ทำงานอยู่ที่เกาะเคมเบล ใต้สุดของเกาะใต้ ประเทศนิวซีแลนด์ >> ประเทศนิวซีแลนด์ ใช้เวลามาตรฐานตามเส้นเมอริเดียน 180 องศาตะวันออก หรือมีเวลาเร็วกว่าที่กรีนนิช 13 ชั่วโมง (GMT+13) ดังนั้นเมื่อเทียบประเทศเรา นิวซีแลนด์จะมีเวลาเร็วกว่าเรา 6 ชั่วโมง

ตัวเลือกที่ 4 นายเอกรัตน์ ตั้งถิ่นฐานที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา >> รัฐซานฟรานซิสโก ของสหรัฐอเมริกา ใช้เวลามาตรฐานตามเส้นเมอริเดียน 105 องศาตะวันตก หรือมีเวลาช้ากว่าที่กรีนนิช 7 ชั่วโมง (GMT-7) ดังนั้นเมื่อเทียบกับประเทศ ซานฟรานซิสโกจะมีเวลาช้ากว่าเรา 14 ชั่วโมง

สรุปคำตอบ : จากการลำดับเวลาความห่างจากพื้นที่ต่างๆ ตามตัวเลือกที่โจทย์ให้มา จึงชัดเจนว่า พื้นที่ซึ่งห่างกับประเทศไทยเรามากที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 4 นายเอกรัตน์ ตั้งถิ่นฐานที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ดังนั้นนายเอกรัตน์จึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเวลามากที่สุด โดยต้องปรับกับประเทศไทยถึง 14 ชั่วโมง คำตอบจึงอยู่ที่ตัวเลือกนี้นั่นเอง จริงๆ ข้อนี้มี trick อยู่เล็กน้อยสำหรับนักเรียนที่ขี้เกียจมาเทียบละเอียดแบบที่ครูแป๊ปแสดงให้ดู ลองดูระยะทางจากประเทศต่างๆ ที่แต่ละตัวเลือกให้มาสิ จะเห็นได้ชัดเจนว่า สหรัฐฯ ดูจะไกลโขสุด ดังนั้นเรื่องเวลาเค้าก็ต้องห่างกับเรามากที่สุด และคนที่ไปทำงานที่นั่นก็ต้องรับผลกระทบจากการปรับเวลาสูงสุดยังไงหละ

4) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 ทะเลสาบแทนแกนยิกา ในประเทศคองโก (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (กระบวนการเกิดภูมิประเทศ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ภาพรวมของคำถามไม่ง่ายไม่ยากจนเกินไป เกี่ยวกับกระบวนการเกิดหุบเขาทรุดตามที่โจทย์ถามนี้อยู่ในเนื้อหาที่นักเรียนเรียนมาแล้วอย่างแน่นอน แต่หากใครเรียนมาแบบผ่านๆ ไม่ลงลึก หรืออีกกรณีคือลืมไปแล้ว… ก็ให้ลองใช้การวิเคราะห์ตัวเลือกไปเรื่อยๆ มีหลายตัวเลือกที่ค่อนข้างชัดว่าไม่เกี่ยวกับหุบเขาทรุดชัวร์ๆ ค่อยๆ ตัดตัวเลือกออก เพื่อเพิ่มโอกาสในการเก็บคะแนนจากโจทย์ข้อนี้ 

เข้าถึงเนื้อหา : หุบเขาทรุดหรือ Rift Valley มีความสัมพันธ์กับกระบวนการเกิดภูมิประเทศ ในลักษณะกระบวนการแปรสัณฐาน (Tectonic Process) ในลักษณะการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน (Fault) โดยการเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนจะมีผลให้เกิดภูมิประเทศได้ 2 ลักษณะ หากมีผลให้แผ่นเปลือกโลกยกตัว จะทำให้เกิด ภูเขาบล็อก (block Mountain) ซึ่งในทางภูมิศาสตร์จะเรียกพื้นที่ที่มีการยกตัวนี้ว่า Horst แต่หากมีผลให้แผ่นเปลือกโลกทรุดตัวลง จะทำให้เกิดหุบเขาทรุด (Rift Valley) ซึ่งในทางภูมิศาสตร์จะเรียกพื้นที่ที่ทรุดตัวลงนี้ว่า Graben 

วิเคราะห์ตัวเลือก : ภูมิประเทศในตัวเลือกต่อไปนี้ เป็นภูมิประเทศซึ่งเกิดจากกระบวนการเกิดภูมิประเทศแบบปรับระดับผิวดิน (Gradation Process) ซึ่งจะมีตัวการทางธรรมชาติเป็นตัวกระทำหลัก ไม่เกี่ยวใดๆ กับหุบเขาทรุด

ตัวเลือกที่ 1 แกรนด์แคนยอนในสหรัฐอเมริกา >> เกิดจากการกัดกร่อนของแม่น้ำในแนวดิ่ง (ก้นแม่น้ำ) อย่างรวดเร็วจนเป็นร่องลึก เหลือหน้าผาชันทั้ง 2 ด้าน โดยจะเกิดในช่วงต้นน้ำ (แม่น้ำวัยอ่อน)

ตัวเลือกที่ 5 ทะเลสาบรูปแอกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย >> เกิดจากการกัดกร่อนและทับถมของน้ำในแม่น้ำ มีผลให้ทางน้ำถูกตัดออก กลายเป็นทะเลสาบที่มีรูปลักษณะเหมือนตัวยู มักเกิดในช่วงปลายของแม่น้ำ (แม่น้ำวัยชรา)

ตัวเลือกที่ 4  เนินทรายหรือสันทรายในเขตทะเลทรายซาฮารา >> เกิดจากการทับถมของตะกอนทรายที่ลมพัดพามา

ตัวเลือกที่ 2 ทะเลสาบทางตอนเหนือของแคนาดา >> เกิดจากการกัดกร่อนของธารน้ำแข็ง (Glacier) บริเวณที่ราบจนเป็นหลุม เมื่อถูกกระทำอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นแอ่งขนาดใหญ่ เมื่อธารน้ำแข็งละลายจะทำให้มีน้ำเข้าไปแช่ขังกลายเป็นทะเลสาบ

สรุปคำตอบ : หลังจากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเกิดหุบเขาทรุด (Rift Valley) จนถึงหักล้างภูมิประเทศในตัวเลือกที่ไม่เกี่ยวกับหุบเขาทรุดออกจนหมดแล้ว เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 3 ทะเลสาบแทนแกนยิกาในประเทศคองโก เป็นคำตอบของโจทย์ข้อนี้ โดยทะเลสาบแห่งนี้เป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่อันดับสองในทวีปแอฟริกา ตั้งอยู่ในเขตรอยต่อ 4 ประเทศด้วยกัน คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แทนซาเนีย แซมเบีย และบุรุนดี เกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศ ทะเลสาบแทนแกนยิกา เกิดจากการทรุดตัวของแผ่นเปลือกโลกและภูเขาไฟระเบิดเมื่อราว 20 ล้านปีมาแล้ว โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแนว Great Rift Valley ซึ่งถือเป็นรอยแยกยาวต่อเนื่องขนาดยาวที่สุดในโลก (จากกระบวนการทรุดตัวลงของเปลือกโลก)

5) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (ปัจจัยที่ส่งผลต่อภูมิอากาศ) / ภัยธรรมชาติ

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญ ปี 61 ซึ่งเนื้อหาที่ถามโยงในเรื่องภูมิอากาศหรืออาจเป็นเรื่องภัยธรรมชาติก็ได้ โดยรวมค่อนข้างยากทีเดียว เพราะโดยปกติเรื่องพายุหมุนเขตร้อน เราจะเรียนเพียงแค่ชื่อพายุตามแหล่งกำเนิด หรือกำลังความแรง มากที่สุดก็คือตัวอย่างพื้นที่ซึ่งเคยได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่นี่ล่อถามไปถึงช่วงเวลากับพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบเลย จากที่ครูแป๊ปสอน part geo มายังไม่เคยเห็นหนังสือเรียนเล่มไหน อธิบายได้ละเอียดขนาดนี้เลย ดังนั้นสำหรับครูแป๊ปแล้วจึงมองว่าโจทย์ข้อนี้อยู่ในระดับยากมาก หากไม่สนใจหรือไม่ได้มุ่งเน้นศึกษาเชิงลึกในเรื่องพายุหมุนนี้จริงๆ จะยากมากๆ ในการหาคำตอบจากโจทย์นี้ได้

เข้าถึงเนื้อหา :

พายุหมุนเขตร้อน ซึ่งมีอิทธิพลต่อประเทศไทยได้จะสามารถมาได้ 2 ทิศทาง ทิศทางแรกคือทางทิศตะวันออกจากทะเลจีนใต้ เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น ทิศทางที่สอง คือ ทางทิศตะวันตกจากมหาสมุทรอินเดียบริเวณอ่าวเบงกอล เรียกว่า พายุไซโคลน แต่จากประวัติที่ผ่านมา ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นมากกว่า ทั้งนี้หากเราแบ่งกำลังความแรงของพายุไต้ฝุ่น จะแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ ดีเปรสชั่น (ความแรงสูงสุด ไม่เกิน 63 กม. ต่อ ชม.) โซนร้อน (ความแรง 63-118 กม. ต่อ ชม.) ไต้ฝุ่น (มากกว่า 118 กม. ต่อ ชม. ขึ้นไป)

การเคลื่อนตัวของพายุไต้ฝุ่นสู่ประเทศไทย จะมีหลายระยะเวลา ซึ่งแต่ละระยะก็จะมีผลต่อพื้นที่รวมถึงความรุนแรงแตกต่างกัน หากเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักไม่รุนแรงนัก เพราะว่าผ่านพื้นที่สูงในเวียดนาม กัมพูชา และลาวก่อน แต่หากพัดตรงสู่คาบสมุทรภาคใต้ ความรุนแรงจะมีมากกว่า ต่อไปนี้คือระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น

กรกฎาคมถึงกันยายน = ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคเหนือ (ทิศทางการพัด คือ จากทะเลจีนใต้ตอนเหนือ)

กันยายนถึงปลายตุลาคม = ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก (ทิศทางการพัด คือ จากทะเลจีนใต้ตอนกลาง)

พฤศจิกายนถึงต้นมกราคม = ภาคใต้ฝั่งตะวันออก-อ่าวไทย (ทิศทางการพัด คือ จากทะเลจีนใต้ตอนล่าง)

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา ช่วงเดือนที่โจทย์ถาม คือ ตุลาคมถึงพฤศจิกายน แม้จะคาบเกี่ยว แต่ครูแป๊ปเลือกจะตอบตัวเลือกที่ 4 ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดในเขตภาคใต้ฝั่งตะวันออก-อ่าวไทย ด้วยเหตุที่ว่า มีตัวอย่างที่แสดงถึงผลกระทบในอดีตอย่างชัดเจนในช่วงระยะเวลานี้ อีกทั้งหากตอบโดยไปยึดช่วงเดือนตุลาคมเป็นหลัก คำตอบจะอยู่ถึง 2 ตัวเลือก คือ ตัวเลือกที่ 2 อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร ซึ่งเป็นกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง กับตัวเลือกที่ 3 ระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออก สำหรับตัวอย่างการสร้างความเสียหายต่อพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก-อ่าวไทย คือ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2505 (พายุแฮเรียต-ระดับโซนร้อน) พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก คือ แหลมตะลุมพุก จังหวัด นครศรีธรรมราช / ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 (พายุเกย์-ระดับไต้ฝุ่น) พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก คือ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี

ตัวเลือกที่ 1 สกลนคร นครพนม หนองคาย >> เป็นกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วงเดือนที่ได้รับผลกระทบอยู่เดือน กรกฎาคมถึงกันยายน

ตัวเลือกที่ 5 ระนอง พังงา ภูเก็ต >> เป็นกลุ่มจังหวัดในภาคใต้ฝั่งตะวันตก-ทะเลอันดามัน ซึ่งจะได้รับอิทธิพลจากพายุไซโคลน โดยหากได้รับจริง จะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝน ราวเดือนพฤษภาคม

6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 อ่าวไทยตอนบน (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (ภัยธรรมชาติในประเทศไทย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการกัดกร่อนของชายฝั่งทะเลในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศเราปัญหาหนึ่ง แต่ความยากอยู่ตรงที่ว่าเราจะต้องเชื่อมโยงให้ได้ด้วยว่าพื้นที่ใดที่ได้รับผลจากปัญหานี้มากสุด หากเป็นคนในพื้นที่และได้รับผลกระทบโดยตรงหรือเป็นคนติดตามประเด็นปัญหาเรื่องนี้เสมอก็คงไม่ยาก แต่หากไม่เป็นเช่นนี้แล้ว จะค่อนข้างยากในการวิเคราะห์ตัวเลือกเพื่อหาคำตอบ เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยความจำ+ความรู้รอบตัวเป็นหลัก

สรุปคำตอบ : พื้นที่ซึ่งมีปัญหาการกัดกร่อนของชายฝั่งทะเลรุนแรงที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 1 อ่าวไทยตอนบน อัตรากัดเซาะรุนแรง คือ เฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี (ถือเป็นพื้นที่วิกฤติหรือพื้นที่เร่งด่วน) จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชายฝั่งระยะทางรวม 180.9 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่งอ่าวไทย ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและเกิดการกัดเซาะที่รุนแรงที่สุด โดยบางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 25 เมตรต่อปี

สำหรับชายฝั่งด้านทะเลอันดามัน โดยรวมจะมีอัตราการกัดเซาะรุนแรงน้อยกว่า โดยบริเวณที่มีอัตรากัดเซาะรุนแรง คือ เฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี จะมีระยะทาง 23 กิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 2.4 ของแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน 

7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ปัญหาดินเสื่อมสภาพและขาดความอุดมสมบูรณ์ (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (ภัยธรรมชาติ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์แนววิเคราะห์ในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรดิน หากมองจากตัวเลือกจะรู้สึกว่าใกล้เคียงกันหมด แต่จริงๆ ไม่ยาก trick เล็กน้อยในการหาคำตอบจากโจทย์นี้ คือ ดูว่าตัวเลือกไหนเป็นปัญหาที่ครอบคลุม มองภาพใหญ่ นั่นแหละจะเป็นคำตอบ

วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อพิจารณาจากตัวเลือกทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าตัวเลือกที่ไม่ตรงตามเงื่อนไขที่โจทย์ถาม คือ เกี่ยวกับปฐพีวิทยา หรือการศึกษาเกี่ยวกับดิน คือ ตัวเลือกที่ 2 การจำกัดจำนวนและขนาดการเป็นเจ้าของที่ดิน และตัวเลือกที่ 3 ปัญหากรรมสิทธิ์การถือครองที่ดิน ดังนั้นเราจึงตัด 2 ตัวเลือกนี้ออกไปก่อน

สรุปคำตอบ3 ตัวเลือกที่เหลือ สามารถโยงเข้ากับเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดมาได้ทั้งหมด ดังนั้นเราจึงต้องเลือกที่ครอบคลุมและเป็นรากฐานมากที่สุด ในที่นี้ คือ ตัวเลือกที่ 5 ปัญหาดินเสื่อมสภาพและขาดความอุดมสมบูรณ์ การที่ดินเสื่อมสภาพมีหลายปัจจัยกำหนด เช่น การตัดไม้ทำลายป่าซึ่งรวมถึงการเผาป่า การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกพืชชนิดเดียวกันซ้ำๆ การใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เราพบได้เกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรดินในปัจจุบันและนับวันก็มีแต่รุนแรงเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง กรณีของการเปลี่ยนสภาพพื้นที่เป็นอุตสาหกรรมในตัวเลือกที่ 1 ก็จะมีผลโดยตรงมาที่ดินเสื่อมสภาพ อันอาจเกิดจากใช้ที่ดินผิดประเภท ควรเป็นเกษตรแต่ดันเอาไปทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนตัวเลือกที่ 4 การพังทลายของดิน แผ่นดินทรุด ก็มีรากฐานของปัญหามาจากกิจกรรมต่างๆ ที่มนุษย์เข้าไปกระทำ เช่น การทำเหมืองแร่ การสูบน้ำบาดาล การสร้างตึกขนาดใหญ่กดทับ เหล่านี้มีผลโดยตรงให้ดินเสื่อมสภาพ ขาดความใส่ใจในการให้ความอุดมสมบูรณ์มัน เมื่อดินเสื่อมลงจะเกิดการแห้งกรัง มีผลให้เกิดการพังทลายตามมาได้ไม่ยาก

8) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ความยั่งยืนของป่าฝนเขตร้อนของโลกจะช่วยลดอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์แนววิเคราะห์โดยให้นักเรียนหาวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นในระดับโลก ไม่ยากเกินไปในการหาคำตอบ ครูแป๊ปคิดว่า นักเรียนทุกคนคงทราบอยู่แล้วใช่ไหมว่า ทุกวันนี้ประเด็นสิ่งแวดล้อมในระดับโลกของเรา คือ เรื่องอะไร ใช้คำตอบนั้นแหละในการเชื่อมโยงไปหาตัวเลือกที่เป็นคำตอบ

วิเคราะห์ตัวเลือก : ประเด็นสิ่งแวดล้อมในตัวเลือกเหล่านี้ ไม่ใช่ประเด็นสิ่งแวดล้อมในระดับโลก และในบางตัวเลือกก็อธิบายผลกระทบไม่ถูกด้วย

ตัวเลือกที่ 2 ฝนกรดมักเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ และไม่มีผลกระทบต่อป่าไม้โดยตรง >> ฝนกรดเกิดจากควันพิษหรือก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์และโรงงานอุตสาหกรรม (ดังนั้นฝนกรดจึงไม่จำเป็นต้องเกิดเฉพาะเมืองใหญ่ แต่เกิดได้กับทุกบริเวณที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม) การเผาถ่านหินเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเมื่อลอยขึ้นสู่บรรยากาศจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดซัลฟูริกและไนตริก และผสมผสานกับฝนเกิดเป็นฝนกรด เมื่อตกลงมาสู่พื้นดินจะส่งผลให้คุณภาพของแหล่งน้ำถูกทำลาย แร่ธาตุในดินสูญสลาย (ส่งผลต่อป่าไม้โดยตรง)

ตัวเลือกที่ 3 โรงงานอุตสาหกรรมใช้น้ำจืดในสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ >> แม้จะถูกต้อง แต่สัดส่วนก็ไม่ถือว่าแตกต่างกันมากนัก อีกทั้งหากพิจารณาดูในแง่ความเป็นวิกฤติซึ่งสะท้อนภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม ถือว่ายังส่งผลไม่มากหากเทียบกับวิกฤตการณ์ที่ปรากฏในตัวเลือกที่ 1 และ 2

ตัวเลือกที่ 5 การลดลงของป่าชายเลนถือเป็นปัจจัยเร่งของปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง >> การอธิบายของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีอะไรผิด แต่เมื่อเทียบกับวิกฤตการณ์ที่ปรากฏในตัวเลือก 1 และ 2 ยังถือว่ามีความชัดเจนน้อยกว่า (ผลกระทบมีความรุนแรงหรือไม่กว้างขวางครอบคลุมเท่า)

ตัวเลือกที่ 1 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดปรากฏการณ์เอลนิญโญมากกว่าภูมิภาคอื่น เอลนิญโญ คือ ปรากฏการณ์ที่แสดงถึงความผิดปกติของกระแสน้ำที่ไหลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ส่งผลต่อการแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศ โดยจะก่อให้เกิดภัยแล้งในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ฝั่งตะวันตก ได้แก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และประเทศหมู่เกาะในแถบนี้ แต่จะก่อให้เกิดฝนตกอย่างหนักในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ฝั่งตะวันออก ได้แก่ ประเทศเปรูและชิลี จากคำอธิบายนี้บ่งชี้ว่าข้อความที่ตัวเลือกนี้กล่าวผิดตรงที่ว่าเกิดมากกว่าภูมิภาคอื่น เพราะยังมีอีกหลายพื้นที่ดังที่ได้กล่าวไปซึ่งเสี่ยงต่อปรากฏการณ์นี้ อีกทั้งหากนำปรากฏการณ์เอลนิญโญไปเทียบกับปรากฏการณ์ที่ปรากฎในตัวเลือกที่ 4 ยังถือว่าการครอบคลุมของตัวพื้นที่มีน้อยกว่า

สรุปคำตอบ : ภายหลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงได้ตัวเลือกที่ 4 ความยั่งยืนของป่าฝนเขตร้อนของโลกจะช่วยลดอัตราเร่งในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เป็นคำตอบของโจทย์ข้อนี้ เพียงตัวเลือกนี้กล่าวถึงคำว่า ป่าฝนเขตร้อน นักเรียนก็อนุมานได้แล้วว่า ต้องส่งผลกระทบในวงกว้างแน่ เนื่องจากป่าฝนเขตร้อน เป็นเขตนิเวศที่สำคัญของโลก ทำหน้าที่กักเก็บความชุ่มชื้น เป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่า ส่งผลต่อการคายออกซิเจน และพอกล่าวถึงผลกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ตรงนี้นักเรียนสรุปได้เลยว่าตัวเลือกนี้ต้องเป็นคำตอบแน่นอน เพราะคงไม่มีประเทศใดในโลก ณ ปัจจุบันนี้ที่จะไม่ประสบกับปัญหาดังกล่าว

9) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 การแก้ไขการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและความแห้งแล้ง (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับโลก)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 มองรวมๆ จะดูยาก ยิ่งใครไม่เคยได้ยินชื่อแผนการดำเนินงานตามที่โจทย์ถามมานี้เลย จะยิ่งรู้สึกเช่นนั้น แต่เอาจริงๆ ครูแป๊ปไม่คิดเช่นนั้นนะ ให้นักเรียนลองจัดกลุ่มตัวเลือกดูดีๆ สิ มันจะมีตัวเลือกเดียวที่ไม่สามารถจัดกลุ่มอยู่ในประเด็นเรื่องเดียวกันได้ นั่นแหละคือคำตอบของโจทย์นี้

เข้าถึงเนื้อหา : แผนการดำเนินงานโจฮันเนสเบิร์ก คือ แผนที่เกิดขึ้นมาจากการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Summit on Sustainable Development; WSSD) ในปี พ.ศ. 2545 เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ 21 และข้อตกลงอื่นๆ โดยอาศัยหลักการพัฒนาอย่างมีบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และหลักการความรับผิดชอบร่วมกัน ภายใต้กรอบการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1. การขจัดความยากจน (Poverty Eradication) หักล้างตัวเลือกที่ 1

2. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ไม่ยั่งยืน (Changing unsustainable patterns of consumption and production)

3. การคุ้มครองและจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (Protection and managing the natural base of economic and social development)

4. การพัฒนาที่ยั่งยืนในกระแสโลกาภิวัฒน์ (Sustainable development in globalizing world)  

5. สุขภาพอนามัยและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Health and sustainable development) หักล้างตัวเลือกที่ 3

6. การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศที่เป็นเกาะขนาดเล็ก (Sustainable development of small island developing States) หักล้างตัวเลือกที่ 4

7. การพัฒนาที่ยั่งยืนในแอฟริกา (Sustainable for Africa) หักล้างตัวเลือกที่ 2

8. ความร่วมมือในภูมิภาคอื่น (Other regionals initiatives)

9. วิธีการดำเนินงาน (Means of Implementation)

10. โครงสร้างองค์กรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Institutional Framework for sustainable developement)

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาข้างต้น นักเรียนคงเห็นแล้วว่า ประเด็นที่ไม่ใช่พันธกรณีของแผนการดำเนินงานโจฮันเนสเบิร์ก จะตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 การแก้ไขการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและความแห้งแล้ง อย่างที่ครูแป๊ปได้มองทุกคนไปในส่วนวิเคราะห์ข้อสอบว่าข้อนี้มันมี trick ในการตัดตัวเลือกอยู่ ต่อให้เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเจ้าแผนนี้เลย ใน 5 ตัวเลือก มีเพียงตัวเลือกที่ 5 เท่านั้นที่ไม่ได้พูดเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนา แต่มุ่งไปในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโดยตรง ดังนั้นตัวเลือกนี้จึงดูต่างไป และกลายเป็นคำตอบนั่นเอง

การขจัดความยากจนในตัวเลือกที่ 1 ถือว่าสัมพันธ์กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ตราบใดที่คนยังจนอยู่ โอกาสเข้าถึงการเรียนรู้และการพัฒนาย่อมเป็นไปได้ยาก

10) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 การร่วมมือกันของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเพื่อพัฒนาข้าวบาร์เลย์ทนแล้ง (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (การจัดการสิ่งแวดล้อม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยเลือกประเด็นการพัฒนาของมนุษย์กับผลกระทบมาเป็นคำถาม ลักษณะคำถามของโจทย์เป็นแนววิเคราะห์ หลักการหาคำตอบจากโจทย์เช่นนี้เราจะต้องใช้การวิเคราะห์ตัวเลือก ให้นักเรียนดูที่วัตถุประสงค์ที่แต่ละตัวเลือกกล่าวให้ดี วัตถุประสงค์ตัวไหนที่เน้นประโยชน์ที่สิ่งแวดล้อมโดยตรง ไม่ได้มองที่ผลทางเศรษฐกิจที่มนุษย์จะได้เป็นหลักอย่างเดียว ตัวเลือกนั้นคือคำตอบ

วิเคราะห์ตัวเลือก : การจัดการหรือการพัฒนาในตัวเลือกต่อไปนี้ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์ของมนุษย์หรือยังสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมอยู่มาก

ตัวเลือกที่ 5 การสร้างเขื่อนสามผาของจีนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและแก้ปัญหาอุทกภัย >> ขึ้นชื่อว่าเขื่อนยังไงก็ต้องเบียดเบียนธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่มีทางที่จะส่งผลน้อย ยิ่งโดยเฉพาะกับเขื่อนสามผาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ย่อมหมายถึงต้องระเบิดภูเขาเพื่อจะสร้าง ระเบิดภูเขาก็เท่ากับทำลายระบบนิเวศบริเวณนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ยังไม่นับเรื่องน้ำหนักของน้ำบริเวณเหนือเขื่อนที่ถ้ากักเก็บมากเกินไปจะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะตลิ่ง และอื่นๆ อีกมาก

ตัวเลือกที่ 3 การถมทะเลของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เพื่อสร้างเกาะรูปปาล์มรองรับศูนย์กลางธุรกิจและโรงแรม >> การพัฒนาเช่นนี้ดูจากวัตถุประสงค์ก็เป็นไปเพื่อมนุษย์เป็นหลัก ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ได้อะไรเลย ในทางตรงข้ามการพัฒนาดังกล่าวยังอาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นจากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวหรือผู้คนจำนวนมาก อีกทั้งตัวโครงการนับแต่ปี ค.ศ. 2012 ก็ต้องเผชิญกับการถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ทั้งหมดนี้ยืนยันได้อย่างดีว่าการพัฒนานี้ไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและยังส่งผลด้านลบด้วย

ตัวเลือกที่ 1 การพัฒนาระบบโพลเดอร์ของเนเธอร์แลนด์เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก >> หากเทียบกับการสร้างเขื่อนสามผาของจีนและการถมทะเลของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ระบบโพลเดอร์ของเนธอร์แลนด์เป็นการพัฒนาที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า แต่หากถามว่าน้อยที่สุดยังตอบได้ยาก จุดเน้นของระบบนี้คือการใช้พลังงานลมเป็นหลักเพื่อผันน้ำจากบริเวณพื้นที่ที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลบริเวณใกล้ชายฝั่ง หรือบริเวณพื้นที่พรุ (พื้นที่ป่าที่น้ำท่วมขัง) เมื่อพื้นที่แห้งก็จะเอาไปใช้ประโยชน์ต่อไป เมื่อถึงขั้นนี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ายังเป็นไปเพื่อประโยชน์มนุษย์เป็นหลัก อีกทั้งพื้นที่ที่ผันน้ำออกหากเป็นพื้นที่พรุดังที่กล่าวไปจะเท่ากับเป็นการทำลายระบบนิเวศของพื้นที่นั้นทันที

ตัวเลือกที่ 2 การพัฒนาข้าวสายพันธุ์ กข. ของไทยเพื่อรองรับการส่งออก >> จุดเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้คือทนต่อโรคและแมลง และใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยเนื่องจากเป็นข้าวอายุสั้น พิจารณาจากประเด็นนี้จะเห็นว่าการพัฒนานี้เข้าประเด็นกับที่โจทย์ถามได้พอดี แต่…..ยังตอบไม่ได้ด้วยเหตุที่ว่า เพื่อรองรับการส่งออก ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเพื่อรองรับการส่งออกย่อมหมายถึงต้องผลิตจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปอีก ต่อให้ดีในด้านการใช้น้ำน้อย แต่ขยายพื้นที่ท้ายสุดยังไงก็ต้องใช้น้ำเยอะ อีกทั้งเป็นข้าวอายุสั้น การเก็บเกี่ยวจะเร็ว การเพาะปลูกสามารถทำได้ทั้งปี เช่นนี้ก็เท่ากับต้องใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกตลอดอยู่ดีนั่นเอง

สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัดตัวเลือกออกหมด เราจึงได้ตัวเลือกที่ 4 การร่วมมือกันของประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเพื่อพัฒนาข้าวบาร์เลย์ทนแล้ง เป็นคำตอบของโจทย์นี้ การพัฒนาดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องและส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหากเทียบกับ 4 ตัวเลือกที่กล่าวมา คำว่า ทนแล้ง ย่อมหมายความว่าพื้นที่ที่จะใช้เพาะปลูกนั้นแล้ง โดยปกติการทำการเกษตรบริเวณแถบนี้ค่อนข้างยากอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวดังกล่าวเท่ากับว่าส่งผลให้พื้นที่ที่แล้งนี้กลับมาเพาะปลูกได้ เมื่อเพาะปลูกดินจะถูกใช้ หลังการให้ปุ๋ยดินจะได้รับการปรับสภาพให้ดีขึ้น เช่นนี้แล้วก็ถือว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้นได้ผลดีจากการพัฒนาดังกล่าวไปในตัว     

จบการเฉลยชุดที่ 1
If you like, please share this!