เฉลยแบบทดสอบ สาระภูมิศาสตร์ ชุดที่ 3
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 1 : 500,000 (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฏิบัติการ (แผนที่)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 59 ซึ่งจะให้เราคำนวณหามาตราส่วนของแผนที่ ซึ่งก็ไม่ยากนัก เพราะเรื่องสูตรการคำนวณหามาตราส่วนนี้เราเรียนกันมาทุกคนอยู่แล้ว แค่จำสูตรและมีวิธีคำนวณที่ถูกต้องก็ผ่านโจทย์ข้อนี้ได้อย่างสบายๆ
เข้าถึงเนื้อหา : จากโจทย์จะเห็นว่า เค้าเอาเรื่องความสูงของพื้นที่เข้ามาปะปนด้วย ซึ่งไม่ต้องสนใจ เราจะไม่ใช้ตัวเลขเหล่านั้นในการคำนวณ จุดหลักดูแต่ระยะทางจริง และระยะทางในแผนที่ เพื่อเข้าสูตรดังภาพนี้เท่านั้น
ส่วนที่เรานำมาคูณกับ 100,000 นั้นคือการปรับหน่วย จากกิโลเมตรเป็นเซนติเมตร
สรุปคำตอบ : จากการคำนวณที่หาออกมา ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้จึงตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 1 : 500,000
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 จำนวน 4 ภาพ (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์ด้านเทคนิคและปฏิบัติการ (เครื่องมือทางภูมิศาสตร์)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 ซึ่งจัดว่ายากมากๆ คือ ให้เราหาจำนวนของภาพถ่ายทางอากาศจากสถานการณ์ที่โจทย์กำหนดให้มา แน่นอนว่าหากเปิดหนังสือเรียนทั่วๆ ไป เรื่องนี้ไม่มีเรียนกันเลย… ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าคนออกข้อสอบเค้าจะวัดอะไรเรา สำหรับการหาคำตอบจากโจทย์นี้ นักเรียนจะต้องมีทักษะในการดูภาพถ่ายทางอากาศ มิฉะนั้นก็ยากมากๆ ที่จะเดาคำตอบได้ถูกต้อง
สรุปคำตอบ : จากเงื่อนไขที่โจทย์กำหนดให้มา เราจะสามารถเห็นภาพ 3 มิติ ที่ภาพทับกันสนิท ได้ จำนวน 4 ภาพ (ตัวเลือกที่ 3)
จากภาพบริเวณที่แรเงา จะไม่มีภาพคู่ซ้อนเต็มภาพ กล่าวคือ ภาพ 1 และ 6 จะมองเป็น 3 มิติ ได้แค่ครึ่งเดียว ส่วนภาพที่ 2-5 จะมอง 3 มิติ ได้เต็มภาพ
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ภูเขาไฟในลักษณะสมมาตร (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการเกิดภูมิประเทศ หากนักเรียนมองรวมๆ จะดูเหมือนยาก แต่หากลองจับคำสำคัญตามที่โจทย์ถาม คือ หินหนืดแทรกซอนภายใน นักเรียนจะพบคำตอบทันทีตามที่ได้เรียนมาจากเนื้อหาเรื่องกระบวนการเกิดภูมิประเทศ ค่อยๆ คิดอย่าใจร้อน แล้วนักเรียนจะได้คำตอบ
เข้าถึงเนื้อหา : กระบวนการเกิดภูมิประเทศจะมี 2 กระบวนการ คือ กระบวนการแปรสัณฐาน ซึ่งเกิดจากพลังงานภายในเปลือกโลกเป็นตัวกระทำ กับกระบวนการปรับระดับผิวดิน ซึ่งเกิดจากตัวการทางธรรมชาติเป็นตัวกระทำ ในกรณีที่โจทย์ข้อนี้ถามสัมพันธ์กับกระบวนการแปรสัณฐาน โดยจากคำสำคัญที่ว่า หินหนืดแทรกซอนภายใน ย่อมหมายความว่าเกิดจากพลังงานแปรรูปภายในเป็นตัวกระทำ โดยการดันตัวของหินหนืดนี้จะไม่โผล่พ้นเปลือกโลกตามชื่อคือแทรกซอน ซึ่งต่างจากหินหนืดแบบพุซึ่งจะพ้นเปลือกโลก (หินหนืดในที่นี้สื่อถึงหินอัคนีหากมันเย็นตัวลง เย็นภายใน = หินอัคนีแทรกซอน เย็นภายนอก = หินอัคนีพุ) ด้วยเหตุนี้ภูมิประเทศที่ไม่ได้เกิดจากหินหนืดแทรกซอนภายใน ย่อมจะต้องเป็นภูเขาไฟ เพราะภูเขาไฟ หินหนืดจะไหลพ้นเปลือกโลกออกมา
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา คำตอบของโจทย์นี้จึงอยู่ที่ตัวเลือกที่ 5 ภูเขาไฟในลักษณะสมมาตร
ภูมิประเทศในตัวเลือกที่เหลือเกิดจากกระบวนการแปรสัณฐานซึ่งมาจากการดันตัวของหินหนืดแทรกซ้อนภายในได้ทั้งหมด
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 โกรกธาร ดินตะกอนรูปพัด ที่ราบน้ำท่วมถึง (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนลำดับกระบวนการเกิดภูมิประเทศจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับเนื้อหาเรื่องกระบวนการเกิดภูมิประเทศตามช่วงวัยของแม่น้ำ จัดเป็นคำถามในระดับกลางๆ ไม่ง่ายไม่ยาก เนื้อหานั้นเราเรียนกันมาแล้วแน่นอน ค่อยๆ พิจารณาไปทีละตัวเลือกจะพบคำตอบได้แน่นอน
เข้าถึงเนื้อหา : หากเราลำดับตามช่วงวัยของแม่น้ำ หรือก็คือลักษณะการไหลของแม่น้ำจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะสามารถแบ่งได้ 3 ช่วง ดังนี้
แม่น้ำวัยอ่อน จะไหลช่วงต้นน้ำ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำผ่านภูเขาและหุบเขา โดยมีลักษณะการไหลที่แรงและตรง เน้นกัดเซาะพื้นที่ในแนวดิ่งหรือก้นน้ำ ส่งผลให้ทิศทางการไหลเป็นรูปตัววี และก่อเกิดภูมิประเทศเด่นๆ ได้แก่ โกรกธารหรือหุบผาชัน (Gorge / Canyon) น้ำตก / แก่ง / ดินตะกอนรูปพัด (Alluvial Fan)
แม่น้ำวัยหนุ่ม จะไหลช่วงกลางน้ำ โดยจะเริ่มไหลผ่านที่ราบ แต่ยังไม่ผ่านพ้นพื้นที่สูงเสียทีเดียว แรงในการไหลจะช้าลง และเริ่มไหลคดเคี้ยว ก่อเกิดเป็นภูมิประเทศต่างๆ ได้แก่ ลานตะพักลำน้ำ (Terrace) / คันดินธรรมชาติ (Levees) / ที่ราบน้ำท่วมถึง (Flood Plain) / ธารน้ำโค้งตวัดหรือทะเลสาบรูปแอก (Meander or Oxbow Lake)
แม่น้ำวัยชรา จะไหลช่วงปลายน้ำ ไหลจากที่ต่ำลงสู่ที่ต่ำกว่า โดยจะเริ่มไหลผ่านที่ราบลุ่มเพื่อลงสู่ทะเล แรงในการไหลจะช้าลงและคดเคี้ยวมาก ทางน้ำจะตวัดแกว่งออกทางด้านข้างเพื่อรักษาสมดุลการทับถมและการกัดเซาะตลิ่งจะมีสูงมาก ภูมิประเทศที่เกิดในช่วงนี้จะเหมือนช่วงวัยหนุ่ม แต่ที่เพิ่มขึ้น คือ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta)
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อพอเข้าใจในเนื้อหาของช่วงวัยแม่น้ำกับภูมิประเทศที่เกิดขึ้นแล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาไปตัดตัวเลือกกันละ
ตัวเลือกที่ 1 ที่ราบลุ่ม ดินดอนสามเหลี่ยม ดินตะกอนรูปพัด >> ผิด โดยต้องลำดับเป็น ดินตะกอนรูปพัด ที่ราบลุ่ม และดินดอนสามเหลี่ยม โดยดินตะกอนรูปพัด คือ บริเวณหุบเขาในจุดที่แม่น้ำไหลลงมาสู่ที่ราบ ก่อให้เกิดการสะสมตัวของตะกอนแผ่ขยายเป็นรูปพัด พื้นที่ที่เป็นตัวเมืองของจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ สัมพันธ์กับภูมิประเทศแบบนี้
ตัวเลือกที่ 2 โกรกธาร ทะเลสาบรูปแอก ดินตะกอนรูปพัด >> ผิด ต้องลำดับเป็น โกรกธาร ดินตะกอนรูปพัด ทะเลสาบรูปแอก โดยโกรกธาร คือ ภูมิประเทศซึ่งเกิดจากการกัดเซาะของน้ำบริเวณท้องน้ำอย่างรวดเร็วจนเป็นร่องลึก เหลือหน้าผาสูงชันทั้ง 2 ด้าน ส่วนทะเลสาบรูปแอก คือ ธารน้ำที่มีลักษณะโค้งตวัดมาก โดยกระบวนการทับถมและกัดกร่อนนี้มีผลให้ทางน้ำถูกออกจากทางเดิม จนมีลักษณะเหมือนเป็นทะเลสาบรูปตัวยู
ตัวเลือกที่ 3 ทะเลสาบรูปแอก พุน้ำร้อน ที่ราบลุ่ม >> ผิด ต้องลำดับเป็น พุน้ำร้อน ที่าบลุ่ม ทะเลสาบรูปแอก
ตัวเลือกที่ 4 ดินตะกอนรูปพัด โกรกธาร ลานตะพักลำน้ำ >> ผิด ต้องลำดับเป็น โกรกธาร ดินตะกอนรูปพัด และลานตะพักลำน้ำ โดยแม้ดินตะกอนรูปพัดกับโกรกธารจะเกิดในช่วงวัยเดียวกัน แต่พิจารณาจุดเกิดแล้ว โกรกธารจะอยู่สูงกว่า สำหรับลานตะพักลำน้ำ จะเกิดจากการการดันตัวเข้ามาของคันดินธรรมชาติ
สรุปคำตอบ : หลังการตัดตัวเลือกทิ้งหมด เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 5 โกรกธาร ดินตะกอนรูปพัด ที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นคำตอบของโจทย์นี้
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ฝนตกหนักและรุนแรงที่สุดในเขตจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ถามในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนที่ของลมพายุ โดยการหาคำตอบจากโจทย์นี้จะทำได้ไม่ยากเลย หากนักเรียนมองออกว่าแต่ละจังหวัดที่ปรากฎในตัวเลือก อยู่ในภาคใด แต่หากไม่รู้ โจทย์นี้ก็อาจจะกลายเป็นยากสำหรับนักเรียนไปเลยก็ได้
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ พยากรณ์ผลกระทบจากปรากฎการณ์การเคลื่อนที่ของพายุตามที่โจทย์กำหนดมาให้ได้ถูกต้องแล้ว
ตัวเลือกที่ 2 ปริมาณน้ำฝนของจังหวัดนครสวรรค์จะมีน้อยกว่าจังหวัดน่าน >> ถูกต้องแล้ว น่าน คือ จังหวัดในภาคเหนือ ในขณะที่นครสวรรค์ คือ ภาคกลางตอนบน จากข้อความที่ว่า “อ่อนตัวลงเป็นพายุดีเปรสชั่นพัดผ่านภาคเหนือตอนบน” ตรงนี้ก็ชัดเจนว่ายังไงน่านก็จะต้องมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่านครสวรรค์อยู่แล้ว
ตัวเลือกที่ 3 มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดวาตภัยในจังหวัดเลยและจังหวัดอุดรธานี >> ทั้งเลยและอุดรธานีเป็นจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวาตภัย หรือภัยจากลมพายุ ตามทิศทางการพัดของพายุที่โจทย์กำหนดมานี้แน่นอน
ตัวเลือกที่ 4 มีโอกาสเกิดอุทกภัยในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา >> ทั้ง 2 จังหวัด เป็นจังหวัดในภาคเหนือ ดังนั้นก็ย่อมได้รับอิทธิพลจากพายุ การเกิดอุทกภัยจึงเป็นไปได้
ตัวเลือกที่ 5 มีโอกาสเกิดโคลนไหล หินและดินถล่ม ตามเส้นทาง เลย-อุตรดิษถ์-พิษณุโลก >> กรณีของเลย และอุตรดิษถ์ ได้รับอิทธิพลอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากเลย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนอุตรดิษถ์คือภาคเหนือ แต่สำหรับพิษณุโลก จัดเป็นภาคกลางตอนบน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเส้นทางตามที่โจทย์กำหนดมา แต่ก็อาจได้รับอิทธิพลได้บ้าง เนื่องจากตัวจังหวัด ติดเลยและอุตรดิษถ์ ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านของพายุ
สรุปคำตอบ : จากการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 1 ฝนตกหนักและรุนแรงที่สุดในเขตจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ทั้งนครราชสีมา และชัยภูมิ เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ถือว่าไกลจากเส้นทางการพัดผ่านของพายุ ดังนั้นจึงชัดเจนว่า จะไม่ได้รับอิทธิพลของพายุนี้
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 จันทบุรี ศรีสะเกษ พิษณุโลก (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ภูมิศาสตร์กายภาพ (ภัยธรรมชาติ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งไม่ยากเกินไป ยิ่งหากนักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศไทย การหาคำตอบจะทำได้รวดเร็วมากๆ
เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : รอยเลื่อนมีพลัง เป็นต้นเหตุสำคัญที่จะก่อให้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย นอกจากนี้เมื่อรอยเลื่อนรอยใดรอยหนึ่งขยับก็มีโอกาสที่รอยเลื่อนอื่นๆ จะขยับตามและทำให้เกิดแผ่นดินไหวในจุดอื่นๆ ตามมาได้อีก ในปัจจุบันประเทศไทย มีรอยเลื่อนที่มีพลัง 14 รอย กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ซึ่งตัวเลือกต่อไปนี้สัมพันธ์กับรอยเลื่อนตามที่ได้กล่าวมา จึงเป็นเหตุให้ต้องออกแบบอาคารให้รองรับแผ่นดินไหว
ตัวเลือกที่ 2 แม่ฮ่องสอน ตาก อุดรธานี >> มีเพียงอุดรธานีซึ่งเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่มีความเสี่ยงในการเกิดแผ่นดินไหว แต่แม่ฮ่องสอน (จังหวัดในภาคเหนือ) ตาก (จังหวัดในภาคตะวันตก) ทั้งสองอยู่ในรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน และรอยเลื่อนเมย ตามลำดับ เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ทั้งคู่
ตัวเลือกที่ 3 เชียงราย แพร่ ระนอง >> ทั้งหมดเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว โดยเชียงรายและแพร่เป็นจังหวัดในภาคเหนือ สัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง ในกรณีของเชียงราย และรอยเลื่อนเถิน ในกรณีของแพร่ ส่วนระนองเป็นจังหวัดในภาคใต้ สัมพันธ์กับรอยเลื่อนระนอง
ตัวเลือกที่ 4 ระยอง ปราจีนบุรี น่าน >> ระยองและปราจีนบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกไม่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว แต่น่านเป็นจังหวัดในภาคเหนือ สัมพันธ์กับรอยเลื่อนปัว ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว
ตัวเลือกที่ 5 เชียงใหม่ เลย ประจวบคีรีขันธ์ >> มีเพียงเลย ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไม่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว แต่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคเหนือ สัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อยแม่ทา และประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นจังหวัดในภาคตะวันตก สัมพันธ์กับรอยเลื่อนระนอง ดังนั้น 2 จังหวัดนี้จึงเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว
สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจะได้ตัวเลือกที่ 1 จันทบุรี ศรีสะเกษ พิษณุโลก เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยทั้งสามจังหวัดนี้ไม่ได้อยู่ในเขตแนวรอยเลื่อนมีพลัง ดังนั้นการสร้างอาคารจึงไม่จำเป็นต้องออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหว จันทบุรี เป็นจังหวัดในภาคตะวันออก ศรีสะเกษเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพิษณุโลก เป็นจังหวัดในภาคกลางตอนบน
จุดสังเกตง่ายๆ เวลาถามเกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ล้วนเสี่ยงทั้งหมด
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกและให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากเป็นลักษณะดินเปรี้ยว พบมากในภาคกลางตอนล่าง (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (ปัญหาทรัพยากรดิน)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ให้สถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาดินมา แล้วให้เราหาข้อสรุปของปัญหา ไม่ยากอีกเช่นกัน ดูที่คำสำคัญในโจทย์ มันจะมีตัวบอกเราอยู่ว่านี่เป็นปัญหาเกี่ยวกับดินเรื่องอะไร
สรุปคำตอบ : จากสถานการณ์ที่โจทย์ให้มา สรุปได้ว่า ปัญหาตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกและให้ผลผลิตต่ำ เนื่องจากเป็นลักษณะดินเปรี้ยว พบมากในภาคกลางตอนล่าง โดยเราพิจารณาจากข้อความที่ว่า “เนื้อดินมีสารสีเหลืองฟาง พบคราบสนิมเหล็กในดินและน้ำจะมีรสฝาด” โดยปัญหาดินเปรี้ยวเป็นปัญหาที่พบได้ในภาคกลางตอนล่าง บริเวณจังหวัด ปทุมธานี อยุธยา นครนายก นนทบุรี ทั้งนี้ดินเปรี้ยวบริเวณนี้ จะเป็นดินเปรี้ยวที่เกิดจากการสะสมตัวของกรดกัมมะถันซึ่งเป็นผลจากดินที่พัฒนาจากตะกอนทะเลเก่า (ภาคกลางในอดีตเคยเป็นทะเลมาก่อนที่แผ่นดินจะยกระดับและมีการทับถมของตะกอนจนเป็นที่ราบเช่นทุกวันนี้)
ตัวเลือกอื่นๆ ล้วนอธิบายผิดหมด เนื่องจากเงื่อนไขของโจทย์บ่งชี้ชัดว่า เป็นปัญหาดินเปรี้ยว
กรณีตัวเลือกที่ 2 เขตดินเปรี้ยวในป่าพรุภาคกลาง พื้นที่ชายทะเลอ่าวไทย และบึงหัวทะเลนครราชสีมา >> มีปัญหาดินเปรี้ยวแบบพื้นที่พรุ หรือพื้นที่ลุ่มต่ำใกล้แนวชายฝั่งทะเล มีน้ำท่วมขัง และมีการสะสมตัวของซากพืชซากสัตว์ ในขณะย่อยสลาย จนเกิดเป็นกรดอินทรีย์และมีผลให้ดินเปรี้ยว จริง แต่จุดผิดคือพื้นที่ ปัญหาดินเปรี้ยวแบบพรุ หากพบในภาคกลางจะเจอที่บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ และจะเจอในภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะในเขต จ.นราธิวาส
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 การเผาไหม้เชิ้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดช่องโหว่ของชั้นโอโซน (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (ปัญหาสิ่งแวดล้อม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องปัญหาชั้นโอโซนถูกทำลาย ซึ่งหาคำตอบได้ง่ายมากๆ โดยเกี่ยวกับปัญหานี้เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินได้อ่านกันมาแล้ว แน่นอนตัวเลือกที่เป็นคำตอบเห็นชัดกันอยู่แล้ว
เข้าถึงเนื้อหา : ปัญหาชั้นโอโซนถูกทำลายหรือปัญหาช่องโหว่ของชั้นโอโซน มีสาเหตุสำคัญเกิดมาจากการใช้สาร CFCs ซึ่งถือเป็นสารทำความเย็นประเภทหนึ่งซึ่งพบได้ในกระป๋องสเปรย์ โฟม ยาปราบศัตรูพืชต่างๆ เครื่องปรับอากาศ โดยเมื่อสาร CFCs ลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศ สาร CFCs จะถูกรังสีอัลตราไวโอเลตหรือ UV ทำลาย จากนั้นจะแตกตัวปล่อยคลอรีนในรูปอนุมูลคลอไรด์ อนุมูลคลอไรด์จะไปทำลายก๊าซโอโซนหรือ O3 ในชั้นโอโซน ซึ่งโดยปกติก๊าซนี้จะมีหน้าที่หลักในการดูดซับหรือกั้นรังสี UV ไม่ให้เข้ามายังพื้นผิวโลกมากเกินไป
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อเราพอเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดปัญหาช่องโหว่ของชั้นโอโซนแล้ว ทีนี้ได้เวลาที่เราจะมาตัดตัวเลือกออกเพื่อหาคำตอบกันแล้ว
ตัวเลือกที่ 2 ระบบนิเวศทางทะเลเสียหายเนื่องจากสาหร่ายที่เป็นผู้ผลิตขั้นต้นตายมากขึ้น และ ตัวเลือกที่ 5 ต้นไม้ได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากจนเกินไปส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ช้าลง หรือทำให้พืชแคระแกร็นมากขึ้น >> ทั้งสองนี้เป็นผลของปัญหาช่องโหว่ชั้นโอโซนแน่นอน โดยรังสี UV ที่มากเกินไปจะไปทำลายฮอร์โมนและคลอโรฟิลด์ของพืช ส่งผลให้การสังเคราะห์แสงของพืชทำได้น้อยลง การเจริญเติบโตของพืชจึงได้รับผลกระทบ
ตัวเลือกที่ 4 การขยายตัวของช่องโหว่ทำให้ประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น >> เป็นผลเช่นกัน โดยรังสี UV ที่มากเกินไป มีผลให้ผิวหนังของมนุษย์ไหม้เกรียม หรือเหี่ยวย่นแก่เกินวัย มีผลต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง
ตัวเลือกที่ 1 การสลายตัวของก๊าซโอโซน (O3) กลายเป็นก๊าซออกซิเจน (O2) >> ตัวเลือกนี้ตอนแรกที่ครูแป๊ปดูจะงงๆ นิดๆ 55 เพราะเวลาศึกษาปัญหานี้มองคำอธิบายสาเหตุแบบรวมๆ ไม่ได้ดูแบบทางวิทยาศาสตร์หรือหลักทางเคมี แต่พอศึกษาละเอียดก็เข้าใจได้ว่า เมื่อก๊าซโอโซนดูดซับรังสี UV จะแตกตัวได้เป็น โมเลกุลออกซิเจน และโมเลกุลออกซิเจนที่เป็นอนุมูลอิสระ ดังสูตรตามนี้ ดังนั้นคำอธิบายนี้จึงถูกต้องแล้ว
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 3 การเผาไหม้เชิ้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดช่องโหว่ของชั้นโอโซน โดยเรื่องการเผาไหม้เชื้อเพลิงนี้เป็นต้นเหตุสำคัญของการเกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ปัญหาการเกิดช่องโหว่ของชั้นโอโซน
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 อนุสัญญา Basel (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้นำเรื่ององค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเชื่อมโยงกับข้อตกลงระหว่างประเทศในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จุดสำคัญที่จะทำให้เราไม่พลาดในการได้คะแนนจากโจทย์ข้อนี้ คือ ต้องรู้ขอบข่ายการดำเนินงานของกองทุนสัตว์ป่าโลก ซึ่งโจทย์ให้มาก่อน หากทราบประเด็นนี้ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ที่เหลือก็แค่ไปวิเคราะห์หาคำตอบต่อไป (Hint : คำว่า สัตว์ป่าโลก ก็ช่วยเราในระดับหนึ่งในการตัดตัวเลือกทิ้งละนะ ลองดูดีๆ)
เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : ขอบเขตการดำเนินงานหลักของ กองทุนสัตว์ป่าโลกหรือ World Wide Fund Nature; WWF มี 6 ด้าน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ / ป่าไม้ / สัตว์ป่า / น้ำจืด / มหาสมุทร / อาหาร จากขอบเขตนี้ เราจึงตัดตัวเลือกเหล่านี้ออกได้ทันที
ตัวเลือกที่ 1 ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) >> ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2015 มีจุดประสงค์หลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็แน่นอนว่า นี่คือก๊าซเรือนกระจก ต้นเหตุของภาวะโลกร้อน ดังนั้นเรื่องนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตัวเลือกที่ 2 อนุสัญญาไซเตส (Cites Convention) >> มาจากชื่อเต็มว่า Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora เน้นควบคุมการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ดังนั้นชัดเจนว่าอยู่ในขอบเขตทั้งในหมวดป่าไม้ และสัตว์ป่า
ตัวเลือกที่ 3 อนุสัญญา BDC >> มาจากชื่อเต็มว่า BDC : The Biological Diversity Convention หรืออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เน้นป้องกันปัญหาการสูญเสียระบบนิเวศของโลกในป่าเขตร้อน เน้นการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตรงนี้จึงชัดเจนว่าอยู่ในขอบเขตเรื่อง ป่าไม้ สัตว์ป่า
ตัวเลือกที่ 5 แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) >> เป็นแผนแม่บทของโลกสำหรับการดำเนินงานที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่างๆ ในประเด็นเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนหากนำไปโยงกับขอบเขตอาจไม่เห็นชัดเจน แต่ในความจริงแล้ว ขอบเขตการดำเนินงานของ WWF จะเป็นจริงไปไม่ได้เลย หากการพัฒนาเป็นไปแบบเชิงเดี่ยว หรือมุ่งเน้นแต่ตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างเดียว จนละเลยสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่าพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน นั่นเอง
สรุปคำตอบ : หลังจากเราวิเคราะห์ตัวเลือกกันเสร็จ เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 4 อนุสัญญา Basel เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยอนุสัญญาฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการนำเข้า-ส่งออก และนำผ่านของเสียอันตรายให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งเรื่องเกี่ยวกับการจัดการกับของเสียอันตรายนี้จะไม่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงาน 6 เรื่องของ WWF ตามที่กล่าวมาเลย
เกร็ดความรู้เพิ่มเติม :
WWF เป็นองค์กรเอกชนอิสระที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมีขอบเขตการดำเนินงานรวมถึงขนาดขององค์กรใหญ่ที่สุด ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1961 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู บ้านหัวเขา จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินงานเพาะเลี้ยงลูกปูก่อนปล่อยลงสู่ทะเล และได้กระจายความรู้ให้แก่ชาวประมงในเขตอื่นๆ ด้วย (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (การจัดการสิ่งแวดล้อม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนหาแนวทางที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้แต่ละตัวเลือกจะยาวๆ ตามสไตล์ข้อสอบแบบไทย แต่โดยรวมไม่ได้ยากนัก ถึงจะมีหลอกบ้างแต่ก็ยังมีจุดหักล้างในแต่ละตัวเลือกชัดเจน พยายามเชื่อมโยงกับคำว่า มีส่วนร่วม และยั่งยืน โดยค่อยๆ พิจารณาดู แล้วนักเรียนจะพบคำตอบ
วิเคราะห์ตัวเลือก : แนวทางในตัวเลือกเหล่านี้ยังไม่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมและการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนหรือยังสะท้อนได้ไม่ชัดเจน
ตัวเลือกที่ 1 การที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้หยุดยั้งการปลูกยางพาราในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โดยได้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการในพื้นที่ และ ตัวเลือกที่ 5 กรุงเทพมหานครจัดทำโครงการสร้างถนนเลียบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและมีการปลูกต้นไม้รายล้อมเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เขตเมือง >> ทั้งสองต่างไม่แสดงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน
ตัวเลือกที่ 4 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมและสนับสนุนสหกรณ์นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ จำนวน 500 โรงเรียน ให้ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น >> ดูเผินๆ เหมือนจะถูก แต่นี่ไม่ใช่หน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ อีกทั้งเพียงแค่สร้างความตระหนัก แต่ไม่ได้บอกวิถีทางที่จะใช้สร้าง จึงยังไม่สะท้อนภาพการมีส่วนร่วมออกมาได้
ตัวเลือกที่ 2 ชาวบ้านจังหวัดกาฬสินธ์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยตรวจสอบการปล่อยให้สารเคมีรั่วไหวสู่ชุมชนของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง >> การกระทำนี้อาจได้ในบริบทการมีส่วนร่วม แต่ยังไม่สะท้อนการพัฒนาที่ยั่งยืน การแก้ปัญหามองไปที่ปลายเหตุเท่านั้น คือมุ่งให้มาตรการทางกฎหมายเมื่อเกิดความเดือดร้อนขึ้นแล้ว
สรุปคำตอบ : แนวทางที่ชัดเจนซึ่งได้ทั้งในเงื่อนไขการมีส่วนร่วมและการอนุรักษ์-พัฒนาที่ยั่งยืน คือ ตัวเลือกที่ 3 ศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู บ้านหัวเขา จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินงานเพาะเลี้ยงลูกปูก่อนปล่อยลงสู่ทะเล และได้กระจายความรู้ให้แก่ชาวประมงในเขตอื่นๆ ด้วย สะท้อนถึงความเข้าใจในระบบนิเวศท้องทะเลตรงตามหลักการอนุรักษ์ และในขณะเดียวกันก็ให้ประชาชนซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องดังกล่าวเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เพื่อแก้ไขปัญหาด้านระบบนิเวศในท้องทะเลระยะยาวด้วย