เฉลยแบบทดสอบ สาระประวัติศาสตร์ ชุดที่ 1
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 จดหมายเหตุวันวลิต (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (หลักฐานทางประวัติศาสตร์)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยใช้เกณฑ์ในเรื่องระดับความสำคัญของหลักฐาน รวมๆ เหมือนจะง่าย แต่ตัวเลือกแต่ละตัวเลือกก็ดูจะใกล้เคียงเป็นคำตอบได้หมด ดังนั้นการหาคำตอบคือเราต้องเข้านัยยะความหมายของคำว่า หลักฐานชั้นต้น ที่โจทย์ต้องการจริงๆ มิฉะนั้นก็อาจทำให้เราเลือกคำตอบผิดไปได้
เข้าถึงเนื้อหา : หากเราจัดแบ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยใช้เกณฑ์จากระดับความสำคัญ หลักฐานจะถูกแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
หลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานชั้นปฐมภูมิ = หลักฐานที่สร้างหรือเกิดขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์
หลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานชั้นทุติยภูมิ = หลักฐานที่สร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์และมักใช้หลักฐานชั้นต้นในการศึกษาอีกขั้นหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ความน่าเชื่อถือของหลักฐานประเภทนี้จึงน้อยกว่าหลักฐานชั้นต้น
**ทั้งนี้เกณฑ์ในการแบ่งการเป็นชั้นต้น ชั้นรอง มุ่งเน้นเรื่องเวลาการสร้างหลักฐานเป็นหลัก ยิ่งบ่งได้ชัดเจนจะมีความเป็นหลักฐานชั้นต้นได้มากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หลักฐานที่ถูกนำมาจัดแบ่งด้วยเกณฑ์นี้จึงมักเป็นหลักฐานประเภทลายลักษณ์อักษรเป็นหลัก**
สรุปคำตอบ : เมื่อเรากวาดสายตาดูตัวเลือกทั้งหมดตามที่โจทย์ให้มาแล้ว จะเห็นได้ว่า ตัวเลือกที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นหลักฐานชั้นต้นได้มากที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 3 จดหมายเหตุวันวลิต เนื่องจากจดหมายเหตุ ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีความถูกต้องในเรื่องของเวลาชัดเจนมากที่สุด เมื่อเทียบกับหลักฐานประเภทอื่นๆ สำหรับจดหมายวันวลิตนั้น เขียนขึ้นโดย เยเรเมียส ฟานฟลีต (Jeremias van Vliet) ผู้จัดการสถานีค้าขายของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา สมัยต้นรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็น 1 ใน หนังสือ 3 เล่ม ที่ฟานฟลีตเขียนเกี่ยวกับอยุธยา ชื่อเต็มภาษาอังกฤษของจดหมายเหตุวันวลิต คือ The Historical Account of the War of Succestion following the Death of King Pre Interajasia 22 nd King of Ayutthaya Dynasty เวลาที่เขียนจดหมายเหตุเล่มนี้ คือ ปลายปี พ.ศ. 2190 ส่วนเนื้อหาเป็นการบันทึกเหตุการณ์ช่วงปลายสมัยพระเจ้าทรงธรรมจนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง
ตัวเลือกที่ 1 พระพุทธรูป >> ไม่ได้ระบุว่าเป็นองค์ไหน เวลาสร้างอยู่ช่วงใด ดังนั้นจึงนำมาจัดประเภทเป็นหลักฐานชั้นต้น-ชั้นรองได้ยาก
ตัวเลือกที่ 2 พระไตรปิฎก >> มีการสังคายนา (แก้ไข) หลายครั้งมา ดังนั้นจึงไม่ถือเป็นหลักฐานชั้นต้นโดยตรง
ตัวเลือกที่ 5 พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ >> พงศาวดาร เป็นการบันทึกเหตุการณ์ที่ไล่ลำดับตามช่วงเวลา เมื่อใช้คำว่า พระราช หมายถึงเป็นของหลวง จะไล่ตามองค์มหากษัตริย์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างร่วมสมัยกับผู้เขียนหลักฐาน ในทางประวัติศาสตร์ เราจึงถือว่า พงศาวดาร เป็นหลักฐานชั้นรอง
ตัวเลือกที่ 4 เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง >> หนังสือเรียนส่วนใหญ่มักจัดให้เป็นหลักฐานชั้นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาเทียบกับจดหมายเหตุวันวลิตแล้ว ความถูกต้องชัดเจนของเวลา จดหมายเหตุวันวลิตจะมีมากกว่า
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 อยุธยาตอนกลาง (พ.ศ. 1991-2172) (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (การเทียบยุคสมัยทางประวัติศาสตร์)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้จัดเป็นโจทย์ที่ยากข้อหนึ่ง หากนักเรียนเรียนประวัติศาสตร์มาแบบฉาบฉวย ไม่ได้ลงลึกมาก จะหาคำตอบได้ยากมากๆ จุดสำคัญในการหาคำตอบจากโจทย์นี้ คือ นักเรียนจะต้องมองให้ออกว่ารัชสมัยของพระนาง Elizabeth I อยู่ในช่วงเวลาใด ซึ่งครูแป๊ปเข้าใจว่า คงจะยากมากที่จะมีใครระบุช่วงเวลาการครองราชย์ของพระนางได้ แต่ด้วยการเป็นยุคสมัยที่โดดเด่นมากในทางประวัติศาสตร์อังกฤษและยุโรป ดังนั้นการจะระบุช่วงเวลากว้างๆ ว่าตรงกับช่วงยุคสมัยใด นักเรียนน่าจะพอตอบได้ เมื่อได้ส่วนนี้จะทำให้นักเรียนพอจะตัดตัวเลือก เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้องได้
วิเคราะห์ตัวเลือก :
รัชสมัยของพระนาง Elizabeth I หรือ Elizabeth มหาราช อันได้ชื่อว่าเป็นยุคทองที่อังกฤษเจริญก้าวหน้าในทุกๆ ด้านนั้น อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1558-1603 หรือหากเรามองภาพกว้างๆ คือ ช่วงสมัยใหม่ตอนต้น ราวยุคแห่งการสำรวจและการค้นพบ (Age of Exploration and Discovery) ซึ่งเมื่อได้ดังนี้ เราจึงตัดตัวเลือกที่ 4 และ 5 ซึ่งเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ทิ้งได้ทันที เพราะรััตนโกสินทร์จะตรงกับสมัยใหม่ตอนปลาย คือ ราว C.18 ลงไป
สรุปคำตอบ : เมื่อเหลืออยู่ 3 ตัวเลือก คราวนี้ ไม่มีทางเลือกแล้ว เราต้องรู้ระยะเวลาการครองราชย์ของพระนาง Elizabeth I จริงๆ มิฉะนั้นก็จะเลือกผิดแน่ๆ (หรือก็ต้องเดา 555) อย่างที่ครูแป๊ปบอกไป ระยะการครองราชย์ของพระนาง Elizabeth I อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1558-1603 เทียบได้เป็น พ.ศ. 2101-2146 ตรงกับรัชสมัยพระมหาจักรพรรดิ-รัชสมัยพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ในช่วงอยุธยาตอนกลาง คำตอบจึงอยู่ในตัวเลือกที่ 2 อยุธยาตอนกลาง (พ.ศ. 1991-2172)
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 แนวความคิดมนุษยนิยม (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากลตะวันตก
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้นำเนื้อหาเกี่ยวกับพัฒนาการของชาติตะวันตกในช่วงสมัยโบราณกับสมัยใหม่มาเชื่อมโยงกัน ไม่มีอะไรยาก มองให้ออกว่า จุดที่เหมือนกันระหว่างสมัยกรีกกับสมัยใหม่ของยุโรปอยู่ที่ตรงไหน จะช่วยให้เราตัดตัวเลือกออกได้ส่วนหนึ่ง จากนั้นค่อยเชื่อมโยงว่าจุดที่เชื่อมกันนั้น มันมีผลต่อช่วงสมัยใหม่หรือความเป็นตะวันตกจนถึงปัจจุบันมากน้อยเพียงใด เท่านี้เราก็พอมองเห็นคำตอบแล้วว่าจะอยู่ที่ตัวเลือกใด
วิเคราะห์ตัวเลือก :
อันดับแรก เราจะตัดแนวคิดที่ไม่ได้ได้เกิดขึ้นในสมัยกรีกออกไปก่อน
ตัวเลือกที่ 4 แนวความคิดเสรีนิยม >> แนวคิดนี้เกิดขึ้นในสมัยใหม่ ภายหลังการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ไปแล้ว
ตัวเลือกที่ 5 แนวความคิดปัจเจกชนนิยม >> แนวคิดนี้เกิดชัดเจนในช่วงยุค Renaissance หรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ราว C.14-16 เน้นการสร้างอัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะของความเป็นตัวเอง (จะแตกต่างจากแนวคิดมนุษยนิยม ที่มุ่งเน้นในเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์ การเชื่อมั่นในสติปัญญาของตน)
ลำดับต่อไป ทีนี้จะเหลือแนวคิดที่เกิดในสมัยกรีกทั้งหมด เราจะต้องนำไปโยงกับประเด็นคำถามหลักที่โจทย์ให้มา คือ ปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยใหม่
ตัวเลือกที่ 3 แนวความคิดแบบประชาธิปไตย >> แม้ในสมัยกรีกจะเกิดแนวคิดประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมหรือที่เรียกกันว่าประชาธิปไตยทางตรง แต่พื้นความคิดหลักที่เน้นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมจะมีผลเพียงช่วง C.18 ซึ่งเป็นยุคสมัยใหม่ช่วงหลังลงไป แต่ถ้ามองการเมืองในช่วงก่อน C.18 ส่วนใหญ่หลายพื้นที่ในยุโรปยังคงปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นหลัก
ตัวเลือกที่ 2 แนวความคิดธรรมชาตินิยม >> แนวคิดนี้เกิดสมัยกรีกจริง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงสมัยใหม่โดยตรง แต่แนวคิดธรรมชาตินิยมจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ จนนำไปสู่การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงทำให้ชาวยุโรปเริ่มหันกลับมามองเรื่องเหตุผล แล้วจึงค่อยนำไปปรับเปลี่ยนในเชิงการเมืองทีหลัง (เป็นผลโดยอ้อม ไม่ชัดเจนเท่าแนวคิดมนุษยนิยม)
สรุปคำตอบ : เมื่อเราตัดตัวเลือกออกทั้งหมดแล้ว เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 1 แนวความคิดมนุษยนิยม เป็นคำตอบของโจทย์นี้ เนื่องจากจุดร่วมที่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมหรือหลังการปฏิวัติก็ตาม (สมัยใหม่แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา โดยใช้ C.18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง) คือ ความเชื่อมั่นในความสามารถของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยใช้เหตุผล สติปัญญาของตนเอง ระยะแรก คือ การดึงอำนาจจากศาสนามาสู่กษัตริย์ ให้คุณค่าในความเป็นมนุษย์มากกว่าจะมองที่ศาสนาเท่านั้น และระยะหลัง คือ พัฒนาสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองที่เน้นหนักในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน มองที่สิทธิเสรีภาพของคนเป็นหลัก ให้ประชาชนเป็นผู้ปกครอง ตัดอำนาจศาสนาในลักษณะแบบเทวสิทธิ์ออกอย่างสิ้นเชิง
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ชาร์ล มาร์เตล (Charles Martel) ได้รับชัยชนะเหนือชาวมุสลิมที่เมืองตูร์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากลตะวันตก
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ภาพรวมของข้อสอบไม่ยากไม่ง่ายสำหรับผู้ที่พื้นฐานความรู้ในประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตกไม่ดีเท่าไรนัก แต่จะง่ายมาก หากนักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลกตะวันตกมาพอสมควร จุดสำคัญ คือ นักเรียนจะต้องเข้าใจเรื่องยุคของการสำรวจทางทะเลซึ่งเกิดขึ้นในยุโรปช่วง C.15-16 หากเข้าใจประเด็นนี้ชัด จะช่วยเชื่อมโยงไปหาคำตอบได้ง่ายมากขึ้น
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ล้วนเป็นผลของยุคแห่งการค้นพบและสำรวจทางทะเลของยุโรป (Age of Exploration and Discovery)
ตัวเลือกที่ 1 สนธิสัญญาทอร์เดซียัส (Treaty of Tordesillas) >> เป็นสนธิสัญญาที่เกิดขึ้นในช่วงยุคแห่งการสำรวจและการค้นพบของยุโรป ในปี ค.ศ. 1494 โดยเป็นข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างสเปนกับโปรตุเกสเกี่ยวกับดินแดนที่ได้มาจากการสำรวจทางทะเล โดยทั้งสองชาติได้ให้สันตปาปาอะเล็กซานเดอร์ที่ 6 เป็นผู้แก้ไขปัญหาจากการที่ทั้งสองชาติพิพาทเกี่ยวกับดินแดนที่ตนเข้าไปสำรวจ
ตัวเลือกที่ 5 บางส่วนของคาบสมุทรมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซียตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโปรตุเกส >> เรื่องนี้ก็เป็นผลมาจากสนธิสัญญาทอร์เดซียัส ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงยุคแห่งการสำรวจและการค้นพบ เช่นกัน โดยเขตอิทธิพลของโปรตุเกส จะอยู่ทางทิศตะวันออกของเส้นแบ่ง (เส้นแบ่งจะอยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะเคปเวิร์ด) ระยะเวลาการครอบครองดินแดนแถบนี้ของโปรตุเกสเทียบได้กับสมัยอยุธยาตอนกลางของไทย (ราว C.15-17) พิจารณาง่ายๆ คือ ช่วงเวลาที่โปรตุเกสเข้ามาเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอยุธยารัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ซึ่งโปรตุเกสถือเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับราชสำนักอยุธยา
ตัวเลือกที่ 2 คริสต์ศาสนาเจริญรุ่งเรืองในทวีปอเมริกาใต้ >> ถือเป็นผลโดยตรงเลยทีเดียว จากความสำเร็จในการค้นพบโลกใหม่ ชาวตะวันตก (ในกรณีอเมริกาใต้ จะเน้นที่สเปนและโปรตุเกส) มิได้เพียงนำทรัพยากรจากโลกใหม่กลับสู่ประเทศตนผ่านการบังคับใช้แรงงานจากชนพื้นเมืองเดิมเท่านั้น แต่ยังได้เผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ด้วย โดยจะเป็นสาขาเจซูอิตและโดมินิกัน ส่งผลให้ภายหลังประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในทวีปอเมริกาใต้นับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกกันหมด
ตัวเลือกที่ 3 พ่อค้ากลายเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมากขึ้นในสังคม >> เรื่องนี้ถือเป็นผลสำคัญจากการสำรวจทางทะเลอีกเรื่องหนึ่ง จากการที่เส้นทางการค้าขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้คนจึงเริ่มหันมาลงทุนทำการค้าขายเพิ่มขึ้นมากตามมา
สรุปคำตอบ >> หลังการหักล้างตัวเลือกทิ้งทั้งหมด เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 4 ชาร์ล มาร์เตล (Charles Martel) ได้รับชัยชนะเหนือชาวมุสลิมที่เมืองตูร์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เป็นคำตอบของโจทย์ข้อนี้ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงสมัยกลาง ในปี ค.ศ. 732 (ก่อนการสำรวจทางทะเล ซึ่งเกิดในช่วง C.15-16) ทั้งนี้ Charles Martel เป็นผู้นำทางการทหารและการเมืองของอาณาจักรแฟรงค์ วีรกรรมตามที่ตัวเลือกนี้กล่าว มีความสำคัญตรงที่เป็นการหยุดยั้งการรุกรานของกองทัพมุสลิมขึ้นทางเหนือและทางตะวันตกของยุโรป
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียถูกโค่นล้มในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากลตะวันตก (สมัยใหม่)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์วิชาสามัญปี 61 ถามในเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งไม่บ่อยนักที่จะหยิบเนื้อหาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นคำถาม ภาพรวมของข้อสอบไม่มีอะไรยากนัก อาจต้องเทียบบางตัวเลือกที่ใกล้เคียงกันบ้าง แต่ตัวเลือกที่เห็นชัดเจนว่าเป็นสาเหตุก็ดูง่ายมาก จุดเน้นสำคัญคือให้ดูที่ช่วงเวลาที่เกิดของแต่ละเหตุการณ์ว่าพวกนี้เกิดในช่วงก่อน WWI จริงไหม ถ้าไม่ใช่ตัวเลือกนั้นหละคือคำตอบ
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหรือสาเหตุหลักสำคัญที่ก่อให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
ตัวเลือกที่ 3 ประเทศในยุโรปได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 >> เรื่องนี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความขัดแย้งในกลุ่มชาติยุโรปจนขยายตัวเป็นสงครามโลกอย่างชัดเจน โดยเป็นผลสำคัญมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใน C.18 ก่อให้เกิดการแข่งขันกันทางอำนาจระหว่างชาติมหาอำนาจเพื่อขยายอาณานิคม (ล่าเมืองขึ้น) หาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มรวมถึงแหล่งระบายสินค้าจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศของตน
ตัวเลือกที่ 1 อิตาลีรวมเป็นประเทศได้สำเร็จในช่วงหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 >> ความสำเร็จในการรวมประเทศเป็นผลสำคัญมาจากการขยายตัวของแนวคิดชาตินิยมภายหลังสงครามนโปเลียน ภายหลังที่ประเทศอิตาลีถือกำเนิดขึ้น อิตาลีจึงกลายเป็นตัวแสดงสำคัญอีกตัวหนึ่งในความขัดแย้งของมหาอำนาจยุโรป โดยอิตาลีถูกมองจากประเทศมหาอำนาจเก่าในยุโรปเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย-ฮังการี ว่าเป็นชาติที่เติบโตรวดเร็ว แม้จะมีอาณานิคมน้อยเพราะเพิ่งสถาปนาประเทศ แต่ก็นับเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 อิตาลีก็เลือกที่จะเข้าร่วมสงครามโดยอยู่ฝั่งเดียวกับอังกฤษและฝรั่งเศสด้วย
ตัวเลือกที่ 4 อุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันของมหาอำนาจในยุโรปในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 >> ความแตกต่างในอุดมการณ์ถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกันที่ขยายตัวกลายเป็นความขัดแย้งและสงครามในที่สุด ที่เห็นได้ชัด คือ อุดมการณ์ชาตินิยมแบบสุดโต่งที่เกิดในเซอร์เบียและมีรัสเซียเป็นฝ่ายสนับสนุนกับอุดมการณ์แบบจักรวรรดินิยมซึ่งเน้นการแผ่ขยายอาณานิคมสร้างแสนยานุภาพและอำนาจให้กับรัฐตนซึ่งที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งกับเซอร์เบียก็คือ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีนั่นเอง
ตัวเลือกที่ 5 การแข่งขันอำนาจกันระหว่างรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการีในคาบสมุทรบอลข่าน ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 >> การแข่งขันนี้นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ขยายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยรัสเซียต้องการให้รัฐต่างๆ ในคาบสมุทรบอลข่านทั้งหมดซึ่งมีเชื้อสายเป็นสลาฟเหมือนกับตนเป็นอิสระจากการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย ความคิดดังกล่าวสอดรับกับเซอร์เบีย ซึ่งเรียกร้องให้จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีปลดปล่อยดินแดนบอสเนียให้เป็นอิสระ แต่ทางจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็ไม่อยากสูญเสียผลประโยชน์ต่างๆ จากดินแดนนี้ ความขัดแย้งนี้จึงสะสมตัวเรื่อยๆ และขยายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ภายหลังเหตุการณ์ที่มกุฎราชกุมารและพระชายาของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกลอบสังหารโดยกลุ่มก่อการร้ายเชื้อสายเซอร์เบียที่บอสเนีย
สรุปคำตอบ : หลังจากตัดตัวเลือกที่เป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 ทิ้งจนหมดเราก็จะเหลือเพียงตัวเลือกเดียวที่ไม่ใช่สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 1 คือ ตัวเลือกที่ 2 ราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียถูกโค่นล้มในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ใช่เป็นสาเหตุ ทั้งนี้ภายหลังจากรัสเซียเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 นำไปสู่ปัญหาหลายๆ ด้าน ในประเทศ ซึ่งราชวงศ์โรมานอฟไม่สามารถแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ ท้ายสุดจึงนำไปสู่การปฏิวัติรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1917 และส่งผลให้ราชวงศ์โรมานอฟ ที่ปกครองรัสเซียมาอย่างยาวนานถูกโค่นล้มลง
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ความสำคัญของการศึกษา (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากลตะวันออก (อารยธรรมจีน)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ใช้เรื่องปรัชญาของสำนักความคิดจีนเป็นประเด็นหลักในการถาม โดยเป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 46 บางตัวเลือกจะง่ายในการตัดทิ้ง แต่จะตัดได้แค่ส่วนหนึ่ง หากนักเรียนไม่ได้เข้าใจในรากฐานทางความคิดของปรัชญาจีนหรือเรียนมาแบบคร่าวๆ ก็อาจทำให้มองคำตอบผิดได้ ความรอบคอบในการทำโจทย์นี้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ พยายามดูให้ดีๆ ว่าแต่ละแนวคิดที่ใ้ห้มานั้นมันเป็นแนวคิดเฉพาะของสำนักความคิดไหม ถ้าใช่ก็ไม่ต้องลังเลตัดได้เลย แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ ให้เก็บไว้แล้วค่อยๆ นำมาเทียบในตอนสุดท้ายอีกขั้นหนึ่ง
วิเคราะห์ตัวเลือก : แนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่แนวคิดที่ตรงกันในทุกสำนักความคิดของจีน แต่เป็นแนวคิดที่มุ่งเพียงบางสำนักเท่านั้น
ตัวเลือกที่ 1 ความมีคุณธรรมของผู้ปกครองประเทศ >> เน้นมากในหลักคำสอนของขงจื๊อ เรื่องแบบแผนความสัมพันธ์ของคนในสังคม ชี้แนวทางการปฏิบัติที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติต่อประชาชนและยังพบได้ในแนวคิดของเม่งจื๊อว่าผู้ปกครองควรปกครองโดยยึดหลักคุณธรรม มิฉะนั้นประชาชนสามารถโค่นล้มได้ อย่างไรก็ตามความมีคุณธรรมของผู้ปกครองประเทศกลับไม่ปรากฎในแนวคิดของลัทธิเต๋า เนื่องจากลัทธิเต๋าจะไม่สนับสนุนรูปแบบกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่สนับสนุนให้ดำเนินชีวิตไปตามวิถีแห่งธรรมชาติ
ตัวเลือกที่ 2 ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ >> เด่นชัดสุดจากคำสอนของขงจื๊อ ที่เน้นให้ปฏิบัติต่อกันอย่างถูกต้องตามหน้าที่ บุตรที่ดีควรกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ประชาชนควรกตัญญูรู้คุณต่อประเทศชาติและผู้ปกครอง
ตัวเลือกที่ 3 ความสำคัญของประวัติศาสตร์และจารีตประเพณี >> เป็นแนวคิดที่โดดเด่นของขงจื๊อ โดยขงจื๊อเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกรอบกฎเกณฑ์สำคัญที่ยึดมาแต่อดีตเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวให้บุคคลประพฤติดี
ตัวเลือกที่ 4 ความเข้มงวดในการใช้กฎหมาย >> เป็นแนวคิดเด่นเฉพาะสำนักนิติธรรมนิยม (ฟ่าเฉีย) เน้นการใช้กฎหมายเป็นหลักสำคัญสูงสุดในการปกครอง ให้ความสำคัญต่อผู้ปกครองเหนือประชาชน (ภาพดังกล่าวจะเด่นชัด จากนโยบายการปกครองของจักรพรรดิฉินซีฮ่องเต้ ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฉิน)
สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 5 ความสำคัญของการศึกษา เป็นคำตอบของโจทย์ข้อนี้
ทั้งนี้เพราะ การศึกษา เป็นแนวคิดร่วมที่มีอยู่ทุกๆ สำนักความคิดของจีน เช่น
ขงจื๊อเน้นว่าการศึกษาจะขัดเกลาให้เราเป็นคนดี
เม่งจื๊อเน้นว่าคนเราแท้จริงเกิดมาดี แต่สิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ การศึกษาเท่านั้นที่จะดึงพฤติกรรมมนุษย์ให้กลับมาดี
เล่าจื๊อ (ลัทธิเต๋า) เน้นว่า การศึกษามีความสำคัญแต่ควรเป็นการศึกษาสรรพสิ่งในระบบธรรมชาติ ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ไม่ฝ่าฝืนดิ้นรน
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ปราสาทเมืองสิงห์ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (ยุครัฐโบราณ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามถึงรูปแบบศิลปะ เมื่ออ่านทีเดียวจะรู้ทันทีว่าเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ไทยยุครัฐโบราณ ซึ่งแน่นอนว่าการหาคำตอบนั้น นักเรียนจะต้องทราบว่าอะไรคือศิลปะแบบลพบุรี ยิ่งถ้าระบุช่วงเวลาได้ด้วย โอกาสที่จะได้คะแนนจากโจทย์ข้อนี้ก็จะง่ายมากขึ้น
เข้าถึงเนื้อหา : ศิลปะแบบลพบุรี เป็นรูปแบบศิลปะในยุคที่รัฐละโว้ (ลพบุรี) เป็นศูนย์กลางของอำนาจเหนือดินแดนบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-19 เนื่องจากรัฐละโว้ในช่วงนี้เชื่อมโยงความสัมพันธ์อาณาจักรเขมรที่เมืองพระนคร ด้วยเหตุนี้รูปแบบศิลปะของละโว้จึงมีความเกี่ยวข้องกับเขมรเป็นสำคัญ หลักฐานที่เป็นลักษณะเด่นของศิลปะของละโว้ (ศิลปะลพบุรี) ได้แก่ การสร้างองค์ปรางค์ ปราสาทหิน พระพุทธรูปปางนาคปรก
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อเราได้ลักษณะเด่นของศิลปะแบบลพบุรีมาแล้วทีนี้ เราก็จะไปเอาตัวเลือกที่ไม่ใช่ศิลปะแบบลพบุรีออกกัน
ตัวเลือกที่ 3 พระปฐมเจดีย์ นครปฐม >> ลักษณะเจดีย์เป็นแบบทรงระฆังคว่ำ ซึ่งสร้างครอบทับเจดีย์องค์เก่าอีกที โดยหากมองที่ตัวเจดีย์ที่ถูกครอบทับอยู่จะเป็นศิลปะแบบทวารวดี (ก่อนศิลปะแบบลพบุรี)
ตัวเลือกที่ 4 พระบรมธาตุไชยา สุราษฎร์ธานี >> มีรูปแบบศิลปะแบบศรีวิชัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ในยุคที่รัฐศรีวิชัยกำลังเรืองอำนาจ
ตัวเลือกที่ 2 วัดพระเจดีย์หลวง เชียงใหม่ >> มีรูปแบบศิลปะแบบล้านนา องค์เจดีย์ถือเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะพระเจดีย์เป็นทรงปราสาท ฐานสี่เหลี่ยม โดยอาศัยองค์ประกอบของเจดีย์ทรงระฆังมาผสม
ตัวเลือกที่ 1 วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา >> หากพิจารณาที่องค์เจดีย์เป็นหลัก จะเห็นว่ามีลักษณะเป็นทรงลังกา (ระฆังคว่ำ) ซึ่งไม่ใช่ลักษณะศิลปะแบบลพบุรี คติการสร้างเจดีย์รูปแบบนี้จะโยงกับสมัยทวารวดีซึ่งส่งผลศิลปะสุโขทัย และมีผลต่ออยุธยาอีกทีหนึ่ง
สรุปคำตอบ :
เมื่อเราหักล้างตัวเลือกออกหมดแล้ว เราก็จะได้ ตัวเลือกที่ 5 ปราสาทเมืองสิงห์ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ปราสาทแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในเวลาใกล้เคียงกับพระปรางค์สามยอด ในเขตจังหวัดลพบุรี (ศูนย์กลางของรัฐละโว้) ภายในปราสาทยังพบโบราณวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโกติเศวรเปล่งรัศมี ซึ่งมีลักษณะคล้ายที่พบในเขมร ทั้งหมดนี้จึงสรุปได้ชัดเจนว่า ปราสาทเมืองสิงห์ มีรูปแบบศิลปะแบบลพบุรี
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากอ่าว เรือสินค้าเข้าถึงสะดวก (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (อยุธยา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบในระบบเก่า ต.ค. 47 ถามในเรื่องพัฒนาการทางเศรษฐกิจของอยุธยา ลักษณะคำถามเป็นแนววิเคราะห์ ซึ่งมองผ่านๆ จะเห็นได้ว่าเป็นคำตอบได้แทบทุกตัวเลือก ดังนั้นจุดที่จะทำให้เราไม่พลาดในการหาคำตอบจากโจทย์นี้จึงอยู่ที่คำสำคัญที่โจทย์ให้มา คือคำว่า เมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้า ใช้คำสำคัญนี้เป็นหลักในการเชื่อมโยงหาคำตอบ จะทำให้เราฟันคะแนนจากโจทย์ข้อนี้ได้ไม่ยากนัก
วิเคราะห์ตัวเลือก :
ลำดับแรก เราจะตัดตัวเลือกที่ไม่ตรงกับประเด็นที่โจทย์ถาม คือ อยุธยากับการเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการนานาชาติออกก่อน นั่นคือ
ตัวเลือกที่ 4 เป็นที่รวมสินค้าของป่าจากหัวเมืองที่อยู่ภายใน >> ปัจจัยนี้ต้องเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการค้าของสุโขทัย การที่สุโขทัยสถาปนาขึ้นมาในสมัยละโว้ (สมัยอิทธิพลเขมร) ก็ด้วยปัจจัยนี้เป็นหลัก (รวบรวมของป่าจากหัวเมืองเหนือและหัวเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ลำดับต่อไป ตัวเลือกที่เหลืออยู่ จะเกี่ยวข้องกับอยุธยาโดยตรง ทีนี้เราจะมาโยงเข้าประเด็นกับคำว่า เมืองท่า ตัวไหนไม่สัมพันธ์ดึงออกทันที
ตัวเลือกที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ >> ลักษณะพื้นที่ดังกล่าวจะเอื้อต่อการเกษตรมากกว่าการเป็นเมืองท่าค้าขาย
ตัวเลือกที่ 2 ตั้งอยู่บริเวณที่แม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน >> ประเด็นสำคัญที่โจทย์ถาม คือ เมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ไม่ใช่ศูนย์กลางการค้าดินแดนภายใน ดังนั้นปัจจัยนี้จึงเอื้อต่อการค้านานาชาติไม่ได้ การจะเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการค้านานาชาติ ควรเน้นที่การเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในกับทะเลเนื่องจากเรือสินค้าจากต่างชาติเข้ามาในอาณาจักรได้ก็ต้องมาจากทะเลเท่านั้น การมีแม่น้ำสามสายมาบรรจบกันเท่านั้นจึงตอบโจทย์เรื่องนี้ไม่ได้
ตัวเลือกที่ 5 การเปิดกว้างจากนโยบายของผู้ปกครอง >> ก็จริงที่ผู้ปกครองสมัยอยุธยาไม่ได้มีนโยบายปิดกั้นการค้ากับต่างชาติ แต่หากไม่มีปัจจัยทางภูมิศาสตร์ทำเลที่ตั้งที่ดีสนับสนุนโอกาสจะเป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้านานาชาติของอยุธยาก็ไม่มีวันเกิดขึ้นได้เช่นกััน
สรุปคำตอบ : จากการวิเคราะห์หักล้างตัวเลือกทิ้ง เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 3 ตั้งอยู่ไม่ไกลจากปากอ่าว เรือสินค้าเข้าถึงสะดวก เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยอยุธยาตั้งอยู่ไม่ไกลจากอ่าวไทยเท่าใดนัก ปัจจัยนี้จึงส่งผลให้อยุธยาได้เปรียบในเรื่องการค้ามากกว่าดินแดนอื่นในช่วงเวลานั้นมาก เพราะไม่เพียงควบคุมการค้าต่างชาติได้ แต่ยังคุมการค้าของดินแดนที่อยู่ด้านในเข้าไปได้อีกด้วย
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 การสร้างจารึกวัดพระเชตุพน / การสงครามอนัมสยามยุทธ / การเปิดโรงพิมพ์หนังสือไทยของหมอบรัดเลย์ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (รัตนโกสินทร์ตอนต้น)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net 52 โดยเป็นคำถามในภาพกว้างๆ ว่านักเรียนจัดลำดับเหตุการณ์กับยุคสมัยถูกไหม ภาพรวมข้อสอบ ครูแป๊ปมองว่ากลางๆ ไม่ง่ายไม่ยาก มีวิธีการตัดตัวเลือกที่ไม่ใช่แน่ๆ ออกได้ แต่บางเหตุการณ์ นักเรียนก็ต้องมีความรู้พื้นฐานหรือเคยเรียนมาบ้าง มิฉะนั้นก็จะระบุช่วงเวลาไม่ถูกได้
วิเคราะห์ตัวเลือก :
ตัวเลือกที่ 2 การเกิดวีรกรรมของท้าวสุรนารี / การสร้างสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง / การสร้างสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง >> เฉพาะวีรกรรมท้าวสุรนารีเท่านั้นที่เกิดขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่วนสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวง ถูกสร้างขึ้นสมัยธนบุรี ในปี พ.ศ. 2319 / สวนขวาในพระบรมมหาราชวังหรือสวนศิวาลัย ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
ตัวเลือกที่ 3 การจัดทำกฎหมายตราสามดวง / การสร้างพระเจดีย์เรือสำเภาที่วัดยานนาวา / การทำสัญญาเบอร์นีย์กับอังกฤษ >> พระเจดีย์เรือสำเภาที่วัดยานนาวา กับการทำสัญญาเบอร์นีย์ เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่การจัดทำกฎหมายตราสามดวงเกิดสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1
ตัวเลือกที่ 4 การค้าสำเภากับจีนทำรายได้สูงสุด / การสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม / การสงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าครั้งที่ 2 >> เฉพาะการค้าสำเภากับจีน ที่เกิดสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ส่วนการสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ถูกสร้างสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แต่มาเสร็จสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 3 / สงครามระหว่างอังกฤษกับพม่าครั้งที่ 2 เกิดในปี พ.ศ. 2395-2396 ตรงกับต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ตัวเลือกที่ 5 การสร้างโลหะปราสาทวัดราชนัดดาราม / การทรงพระราชนิพนธ์บทละครในเรื่องอิเหนา / การเปิดโรงเรียนที่วัดมหรรณพาราม >> เฉพาะโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดา ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่บทละครในเรื่องอิเหนา เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 / โรงเรียนวัดมหรรณพาราม เกิดสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 คือ ตัวเลือกที่ 1 การสร้างจารึกวัดพระเชตุพน / การสงครามอนัมสยามยุทธ / การเปิดโรงพิมพ์หนังสือไทยของหมอบรัดเลย์ โดยการสร้างจารึก เกิดขึ้นในช่วงปฏิสังขรณ์ใหญ่ของวัดพระเชตุพนใน ปี พ.ศ. 2375 / การสงครามอนัมสยามยุทธ คือ สงครามระหว่างสยามกับญวน (เวียดนาม) เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2374-2388 / การเปิดโรงพิมพ์หนังสือไทยของหมอบรัดเลย์ เกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2379
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 วางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (รัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ถามนักเรียนในประเด็นเกี่ยวกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วงยุคประชาธิปไตย ซึ่งไม่ค่อยบ่อยนักที่โจทย์จะเลือกยุคสมัยนี้มาถาม โดยรวมของโจทย์ออกแนวความจำปกติ สามารถเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของสาระเศรษฐศาสตร์ได้ หากนักเรียนมองออก ก็จะยิ่งทำให้หาตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ได้ง่ายขึ้น
เข้าถึงเนื้อหา : การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญในยุคที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี คือ การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตามข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา และมีธนาคารเพื่อการพัฒนาและบูรณะ (ธนาคารโลก) เข้ามาช่วยวางแผนจัดทำ โดยสาระสำคัญของแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) นี้ คือ เน้นส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน สนับสนุนการค้าเสรี โดยดำเนินตามนโยบายแบบทุนนิยมเสรี เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า
วิเคราะห์ตัวเลือก :
จากสาระสำคัญของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ซึ่งเกิดขึ้นสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ นักเรียนจะเห็นได้ทันทีว่า เราจะตัดตัวเลือกที่ 1, 3 และ 5 ออกได้ทันที เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นสาระสำคัญที่อยู่ในแผนพัฒนาฯ ทั้งสิ้น
และเมื่อเหลือ 2 ตัวเลือกสุดท้าย หลายคนอาจคิดว่า ตัวเลือกที่ 4 ยกเลิกการผูกขาดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐ เป็นคำตอบสิ เพราะตัวเลือกที่ 2 วางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง มันก็ถูกตามความหมายของการร่างแผนพัฒนาฯ หนิ แต่เอาเข้าจริงคือผิด โดยเหตุผลที่โจทย์นี้เราตอบตัวเลือกที่ 2 นั้นขอไปอธิบายในส่วนสรุปคำตอบอีกที
ตัวเลือกที่ 4 ยกเลิกการผูกขาดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐ >> เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ โดยการผูกขาดการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐเกิดขึ้นมานับตั้งแต่สมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยมโดยรัฐ หรือทุนนิยมขุนนาง แต่เมื่อมาถึงสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ดังสาระสำคัญที่นักเรียนได้เห็นจากแผนพัฒนาฯ จอมพลสฤษดิ์เน้นส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นหลัก และลดการผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรัฐ โดยท่านได้ให้สัญญากับภาคเอกชนว่า รัฐจะไม่จัดตั้งรัฐวิสาหกิจใหม่ๆ เพิ่มและไม่โอนกิจการใดๆ ของเอกชนมาเป็นของรัฐ รัฐจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้แทรกแซงเป็นผู้สนับสนุนการลงทุน
สรุปคำตอบ : สิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตรงกับตัวเลือกที่ 2 วางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง โดยการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง หมายถึง การวางแผนเศรษฐกิจจากภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะตามแนวคิดของระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์แน่นอน (แนวคิดที่จอมพลสฤษดิ์เน้นคือ ทุนนิยมเสรี ตามแบบสหรัฐอเมริกาผู้ซึ่งให้คำแนะนำในการร่างแผนพัฒนานี้ขึ้น) แม้ในยุคจอมพลสฤษดิ์จะเริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ลักษณะการทำแผน จะเป็นการวางร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน มิใช่ภาครัฐเป็นผู้ทำแต่เพียงฝ่ายเดียว