Answer Key H-2

เฉลยแบบทดสอบ สาระประวัติศาสตร์ ชุดที่ 2

1) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 ปีที่สยามเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นประเทศไทย (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (ศักราช)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 เนื้อหาที่ออกสัมพันธ์กับเรื่องศักราช ซึ่งถือเป็นพื้นฐานการเรียนประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตามการออกค่อนข้างลึกมาก คือ ถามไปถึงวิธีการอ่านเลย แถมยังต้องกลับมาเทียบศักราชอีก ดังนั้นโจทย์นี้สำหรับครูแป๊ปแล้วจึงมองว่ายากมาก หากไม่มีพื้นฐานความรู้เรื่องนี้อยู่ก็ไม่มีทางตอบได้ถูกต้องแน่นอน

เข้าถึงเนื้อหา : เอกศก เป็นหนึ่งในระบบการเรียกเลขท้ายปีจุลศักราช โดยนิยมเรียกด้วยศัพท์บาลี ดังนี้

ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 1 เรียก “เอกศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 2 เรียก “โทศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 3 เรียก “ตรีศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 4 เรียก “จัตวาศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 5 เรียก “เบญจศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 6 เรียก “ฉศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 7 เรียก “สัปตศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 8 เรียก “อัฐศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 9 เรียก “นพศก”
ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข 0 เรียก “สัมฤทธิศก”
 
ดังนั้น เอกศก จึงเท่ากับปีจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข 1
 
วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อเข้าใจความหมายแล้วลำดับต่อไป เราจะมาวิเคราะห์ตัวเลือกเพื่อหาคำตอบกันต่อ โดยนักเรียนจะต้องทราบด้วยว่าแต่ละปีเหตุการณ์ที่อยู่ในแต่ละตัวเลือกคือปีใด เพื่อให้เทียบเป็นจุลศักราช และหาคำตอบได้
 
ตัวเลือกที่ 1 ปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ >> คือ ปี พ.ศ. 2325 เมื่อเทียบเป็น จ.ศ. คือ เอามา – กับ 1181 จะได้เท่ากับ จ.ศ. 1144 (จัตวาศก)
 
ตัวเลือกที่ 2 ปีที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 >> คือ ปี พ.ศ. 2310 เมื่อเทียบเป็น จ.ศ. จะได้เท่ากับ จ.ศ. 1129 (นพศก)
 
ตัวเลือกที่ 3 ปีที่สยามเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นประเทศไทย >> คือ ปี พ.ศ. 2482 เมื่อเทียบเป็น จ.ศ. จะได้เท่ากับ จ.ศ. 1301 (เอกศก)
 
ตัวเลือกที่ 4 ปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย >> คือ ปี พ.ศ. 2475 จะได้เท่ากับ จ.ศ. 1294 (จัตวาศก)
 
ตัวเลือกที่ 5  ปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 >> คือ ปี พ.ศ. 2440 จะได้เท่ากับ จ.ศ. 1259 (นพศก)
 
สรุปคำตอบ : จากที่วิเคราะห์ตัวเลือกมา เอกศกจึงตรงกับตัวเลือกที่ 3 ปีที่สยามเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็นประเทศไทย 

2) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 วอชิงตัน ดี.ซี. (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (การเทียบยุคสมัยทางประวัติศาสตร์)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับการเทียบยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ แต่เปลี่ยนรูปแบบจากที่มักให้เทียบเหตุการณ์ มาเป็นเทียบอายุของเมืองหลวงแทน แม้จะดูเหมือนยาก แต่ก็มี trick ในการหาคำตอบอยู่ คืออันดับแรกต้องรู้ก่อนว่าอายุของกรุงเทพฯ อยู่ที่เวลาใด จากนั้นจึงเชื่อมโยงหาคำตอบจากตัวเมืองโดยพยายามเชื่อมโยงเมืองนั้นๆ เข้ากับเหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อการสถาปนาเมืองหลวงขึ้นมา แล้วนักเรียนจะพบคำตอบ

เข้าถึงเนื้อหา : กรุงเทพฯ ถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวงของไทยในปี พ.ศ. 2325 (กรุงเทพฯ ก็คือกรุงรัตนโกสินทร์) จากนั้นนักเรียนจะต้องนำ 2325 มาลบกับ 543 เพื่อเทียบให้เป็นคริสต์ศักราช จะได้เท่ากับ 1782 เมื่อได้ถึงตรงนี้ ถึงเวลาที่เราจะไปโยงกับคำตอบในตัวเลือกแล้ว  

วิเคราะห์ตัวเลือก : เมืองหลวงในตัวเลือกต่อไปนี้ มีอายุห่างจากกรุงเทพฯ

ตัวเลือกที่ 2 ปารีส >> ชื่อเมืองนี้ปรากฏเป็นครั้งแรก ราวคริสต์ศตวรรษที่ 4 และถูกใช้เป็นเมืองหลวงของฝรั่งเศสครั้งแรก ในปี ค.ศ. 508 โดยจักรพรรดิแห่งอาณาจักรแฟรงค์ (สมัยกลาง)

ตัวเลือกที่3 ลอนดอน >> ตั้งขึ้นโดยชาวโรมัน ในปี ค.ศ. 43 และถูกใช้เป็นเมืองหลวงของอังกฤษ ราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในสมัยกลาง

ตัวเลือกที่ 1 ปักกิ่ง >> ได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของจีนครั้งแรกสมัยราชวงศ์หยวน (มงโกล) อยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1271 – ค.ศ. 1368

ตัวเลือกที่ 5 โตเกียว >> ถูกสถาปนาเป็นเมืองหลวง ในปี ค.ศ. 1869 ตรงกับช่วงการปฏิรูปเมอิจิ (เดิมเป็นศูนย์กลางของโชกุนตระกูลโทคุงาวะ มีชื่อว่าเอโดะ แต่ในช่วงนี้เมืองหลวงของญี่ปุ่นจะอยู่ที่เกียวโต) 

สรุปคำตอบ : เมืองหลวงที่มีอายุใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ มากที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 4 วอชิงตัน ดี.ซี. โดยวอชิงตัน ดี.ซี. คือ เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการภายหลังชัยชนะในสงครามประกาศอิสรภาพของชาวอเมริกันต่ออังกฤษ ปี ค.ศ. 1776 เมื่อเรานำปีนี้มาเทียบกับปีที่ตั้งกรุงเทพฯ ซึ่งเราคำนวณได้แล้ว จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกันมาก คือ ปี ค.ศ. 1782

3) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในระดับสูง (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล-ตะวันตก (ยุคกลาง)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 ถามเกี่ยวกับระบบฟิวดัล ซึ่งใช้เป็นระบบการเมืองที่ถูกนำมาใช้ในยุคกลางของยุโรป เมื่อพิจารณาจากตัวเลือกต่างๆ ที่โจทย์ใช้มาลวงเราแล้ว จะเห็นว่าไม่ยากมากนัก ลักษณะหลายข้อเป็นลักษณะเฉพาะตัวของยุคกลางอยู่แล้ว

เข้าถึงเนื้อหา : ระบบฟิวดัลหรือระบบศักดินาสวามิภักดิ์ถูกพัฒนามาจากระบบ Comitatus ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมของชนเผ่าเยอรมัน โครงสร้างสำคัญของระบบได้แก่ เจ้า (Lord) ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน และ ข้า (Vassal) ซึ่งเป็นผู้ที่ขอความอุปการะจากเจ้า โดยมีที่ดิน (fief) เป็นภาระผูกพัน การปกครองตามระบบจะมีลักษณะลดหลั่นกันตามลำดับเหมือนพิรามิด ตามทฤษฎีจักรพรรดิหรือกษัตริย์มีตำแหน่งสูงสุดและเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด พระองค์จะแบ่งที่ดินให้กับขุนนางชั้นสูง ขุนนางชั้นสูงก็จะแบ่งที่ดินให้กับขุนนางชั้นรองลงไป จนกระทั่งไปสิ้นสุดที่ขุนนางยศต่ำที่สุด คือ อัศวิน (Knight)  ระบบความสัมพันธ์เช่นนี้จะก่อให้เกิดความจงรักภักดีระหว่างเจ้านายกับข้าโดยตรงต่อกัน

วิเคราะห์ตัวเลือก : เมื่อเราพอเข้าใจความหมายของ ระบบฟิวดัล แล้ว ในลำดับต่อไปเราจะมาวิเคราะห์ตัวเลือกเพื่อพิจารณาว่าตัวเลือกไหนเป็นผลจากระบบ และตัดออกไป

ตัวเลือกที่ 5 เกิดยศฐาบรรดาศักดิ์ เช่น อาร์ชดุ๊ก ดุ๊ก เคานต์ เป็นต้น >> ยศต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลมาจากระบบฟิวดัล แน่นอน ตามที่ได้อธิบายไปในส่วนเข้าถึงเนื้อหา ที่ว่า การปกครองตามระบบฟิวดัลจะมีลักษณะลดหลั่นกันไปตามลำดับเป็นขั้นบันได จึงเกิดเป็นยศฐาบรรดาศักดิ์เหล่านี้ขึ้นตามลำดับ

ตัวเลือกที่ 1 กษัตริย์อ่อนแอ และไม่มีอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง >> แม้ตามทฤษฎีจากระบบฟิวดัล กษัตริย์จะเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมด แต่ในความเป็นจริง กษัตริย์จะต้องพึ่งพากำลังทหารของขุนนางในการทำศึกสงครามต่างๆ ดังนั้นจึงชัดเจนที่ว่า กษัตริย์ตามระบบฟิวดัลนั้นไม่ได้แข็งแกร่ง และอำนาจการปกครองก็ยังต้องอาศัยความจงรักภักดีจากขุนนางด้วย

ตัวเลือกที่ 3 คริสตจักรเข้มแข็งและมีอำนาจมาก >> ภายใต้ระบบฟิวดัล พระและนักบวช ถือเป็นกลุ่มทางสังคมกลุ่มหนึ่งภายใต้ระบบนี้ ซึ่งก็มีปัจจัยเสริมมาจากสภาพทางสังคม-การเมือง ที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการรบและทำสงครามระหว่างกันบ่อยครั้ง ผู้คนจึงหันเข้าหาคริสต์ศาสนาเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เมื่อบวกรวมเข้ากับการจัดระบบของคริสตจักรที่มีระเบียบ มีโครงสร้างที่มีลำดับขั้นชัดเจน จึงส่งผลให้คริสตจักรเป็นสถาบันที่ทรงอิทธิพลมากในช่วงสมัยกลางภายใต้ระบบฟิวดัล

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาและการวิเคราะห์ตัวเลือกออกส่วนหนึ่ง ครูแป๊ปจึงขอสรุปว่า ตัวเลือกที่ไม่ใช่ผลของระบบฟิวดัล คือ ตัวเลือกที่ 4 ผลผลิตทางการเกษตรอยู่ในระดับสูง  ด้วยเหตุที่ว่า ลักษณะเศรษฐกิจซึ่งมีความสัมพันธ์กับการปกครองแบบฟิวดัล คือ เศรษฐกิจแบบ Manor ซึ่งมีลักษณะเป็นเศรษฐกิจแบบชุมชนพึ่งพาตนเอง ใช้แรงงานจากคนที่ใช้พื้นที่ของขุนนางซึ่งรวมถึงทาสติดที่ดิน ยังไม่มีการใช้เครื่องจักรเพื่อเร่งผลผลิต ผลผลิตเน้นเพียงให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในแมเนอร์-Manor ของตน จากลักษณะเช่นนี้จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผลผลิตทางการเกษตรจะอยู่ในระดับสูง

และเมื่อคำตอบอยู่ในตัวเลือกที่ 4 ตัวเลือกที่ 2 การค้าโดยภาพรวมชะงักงันจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 11 >> จึงต้องผิดไปอย่างไม่มีข้อสงสัย ด้วยเหตุที่ว่า ลักษณะเศรษฐกิจแบบ Manor มีลักษณะเป็นแบบชุมชนพึ่งพาตนเอง ผลผลิตเน้นที่เกษตรกรรม ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจจะรวมในพื้นที่ของขุนนางตามชนบททั้งหมด ในขณะที่ความเป็นเมืองซึ่งมีมานับแต่สมัยโรมัน เลือนหายไป ภาพดังกล่าวจะเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากการเกิดสงครามครูเสด ซึ่งมีผลให้ระบบแมเนอร์เสื่อมลง ทาสติดที่ดินหนีออกจากแมเนอร์ของตัวเอง และเริ่มทำการค้าในเมือง ความเจริญจะเริ่มเคลื่อนกลับมาอยู่ในเมืองมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะอยู่ในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ 11

4) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 มีการใช้รถยนต์ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล-ตะวันตก (สมัยใหม่)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของยุโรป ภาพรวมเหมือนจะง่าย แต่ก็มีตัวเลือกที่ลวงเราอยู่บางตัวซึ่งอาจส่งผลให้ตอบผิดพลาดได้ ทบทวนความจำของนักเรียนให้ดีว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นช่วงเวลาใด จากนั้นจึงค่อยวิเคราะห์ตัวเลือกเพื่อหาคำตอบอีกที

เข้าถึงเนื้อหา+วิเคราะห์ตัวเลือก : การปฏิวัติอุตสาหกรรม คือ การเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตครั้งสำคัญของชาติตะวันตก โดยเปลี่ยนจากการใช้พลังงานธรรมชาติ พลังงานคน มาเป็นพลังงานเครื่องจักร และก่อให้เกิดระบบโรงงาน ระบบบริษัทตามมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมในยุโรป ดังตัวเลือกต่อไปนี้

ตัวเลือกที่ 2 มีระบบรถไฟ >> เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคแรกของการปฏิวัติซึ่งเรียกว่า สมัยแห่งพลังไอน้ำและการปฏิวัติยุคเหล็ก โดยรถไฟที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงนี้จะใช้พลังงานจากไอน้ำเป็นพลังขับเคลื่อนหลัก ส่วนตัวโครงสร้างรถไฟ รวมถึงระบบรางจะใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการสร้าง

ตัวเลือกที่ 4 มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น >> ผลของการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการผลิตในรูปของเครื่องจักรก่อให้เกิดระบบโรงงาน ประสิทธิภาพการผลิตต่างๆ สูงขึ้น การผลิตต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดอาชีพใหม่คือ กรรมกร ขึ้นตามเมืองใหญ่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ คนในเมืองเล็กหรือตามชนบทจึงอพยพเข้ามาหางานตามเมืองใหญ่ๆ เหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นลักษณะของสังคมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ตัวเลือกที่ 5 เกิดชุมชนแออัดตามเมืองใหญ่ >> เป็นลักษณะสังคมยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยเป็นผลจากการอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ของคนในเมืองเล็กหรือตามชนบท ระยะแรกเมื่อเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วรัฐบาลของแต่ละประเทศก็ยังไม่ได้มีการจัดระบบสาธารณสุขที่ดีพอ ท้ายสุดจึงก่อให้เกิดเป็นชุมชนแออัดรวมถึงปัญหาด้านสาธารณสุขตามมา

กรณีของ ตัวเลือกที่ 3 ใช้ระบบธนาคาร แม้ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป แต่ถือว่าเป็นลักษณะสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปได้ เนื่องจากระบบธนาคารถูกพัฒนาขึ้นมานับแต่ช่วงปลายสงครามครูเสด ใน C.14 โดยมีศูนย์กลางของระบบอยู่ที่นครรัฐในอิตาลี เช่น ฟลอเรนซ์ เวนิส เจนัว ภายหลังจึงแผ่ขยายไปทั่วยุโรปตะวันตก ดังนั้นในช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ระบบธนาคารจึงถือเป็นลักษณะหนึ่งของสังคมในยุโรปแล้ว

สรุปคำตอบหลังจากที่เราตัดตัวเลือกออกหมดแล้ว เราก็จะได้ ตัวเลือกที่ 1 มีการใช้รถยนต์ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยรถยนต์จะถูกประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดย คาร์ล เบนซ์ วิศวกรชาวเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1886 เขาได้สร้างรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้คันแรกของโลกโดยใช้โครงสร้างแบบลูกสูบเหมือนของเครื่องจักรไอน้ำ เพียงแต่ได้เพิ่มอุปกรณ์ที่จะเปลี่ยนเชื้อเพลิงในรูปของเหลวให้กลายเป็นก๊าซ และเพิ่มวาล์วไอดีไอเสีย ในรูปแบบของเครื่องยนต์ 4 จังหวะ

จากที่กล่าวมานี้เห็นได้ชัดเจนว่า รถยนต์ ยังไม่เกิดขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงสรุปว่าเป็นลักษณะเด่นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ไม่ได้        

5) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 องค์กรสนธิสัญญาแอนซัส (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล-ตะวันตก (ร่วมสมัย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับองค์กรที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ออกในลักษณะวัดความรู้รอบตัว ไม่วิเคราะห์อะไรเลย โดยบางตัวเลือกจะง่ายต่อการตัดออก แต่บางตัวเลือกก็ดูยากอยู่ โดยเฉพาะตัวคำตอบ ซึ่งนักเรียนจะต้องมีพื้นฐานความรู้ในเนื้อหาเรื่องนี้พอควรจึงจะหาคำตอบได้

วิเคราะห์ตัวเลือก : องค์กรในตัวเลือกต่อไปนี้ ไม่มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์หลักเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

ตัวเลือกที่ 1 กลุ่มกติกาสนธิสัญญาวอร์ซอ และ ตัวเลือกที่ 5 กลุ่มโคมิคอน; COMECON >> เป็นองค์กรทางการเมืองและเศรษฐกิจของฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์โดยมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ

ตัวเลือกที่ 3 สันนิบาตอาหรับ >> เป็นองค์กรของกลุ่มประเทศอาหรับ มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อปกป้องเอกราชและอธิปไตยของประเทศสมาชิก (จุดมุ่งเน้นคือป้องกันจากอิสราเอล)

ตัวเลือกที่ 4 สหภาพแอฟริกา >> เป็นองค์กรระหว่างประเทศในทวีปแอฟริกา มีจุดประสงค์หลักเพื่อหลอมรวมประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาให้มีความเข้มแข็งและมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองระหว่างประเทศ

สรุปคำตอบ : องค์กรที่รวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อร่วมกันต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คือ ตัวเลือกที่ 2 องค์กรสนธิสัญญาแอนซัส ชื่อเต็มๆ คือ The Australia, New Zealand, United States Security Treaty จุดประสงค์หลักขององค์กรนี้คือเพื่อป้องกันการแผ่ขยายของแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เข้ามาในพื้นที่ของประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนล่าง โดยเป็นข้อตกลงระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

6) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 มนูธรรมศาสตร์ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล-ตะวันออก (อินเดีย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทลายลักษณ์อักษรศึกษาประวัติศาสตร์อินเดีย หลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏในตัวเลือก นักเรียนได้เรียนรู้มาแล้วจากเรื่องศาสนา ประวัติศาสตร์ไทย และวิชาภาษาไทย หากนักเรียนทบทวนความจำดีๆ นักเรียนจะพอทราบว่าหลักฐานเหล่านี้ใช้ในการศึกษาเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งหากนักเรียนได้มาถึงขั้นนี้ การหาคำตอบจากโจทย์ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

วิเคราะห์ตัวเลือก

ตัวเลือกที่ 1 มหาภารตะ >> เป็นวรรณคดีประเภทอิติหาส (มีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง) กล่าวถึงการอวตารของพระนารายณ์มาเป็นพระกฤษณะ ซึ่งจะเข้าไปเกี่ยวกับความขัดแย้งของชนชั้นปกครอง 2 ตระกูล คือ ตระกุลเการพ กับตระกูลปาณฑพ จุดเน้นของวรรณคดีเล่มนี้อยู่ในเรื่องคุณธรรมและการปกครองของชนชั้นสูง และแฝงด้วยปรัชญาอันถือเป็นเป้าหมายสูงสุดเพื่อการหลุดพ้นของศาสนาฮินดู (จากตอนที่ชื่อว่า ภควททคีตา)

ตัวเลือกที่ 2 มนูธรรมศาสตร์ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยหลักกฎหมาย จารีตประเพณี และสิทธิหน้าที่ของคนในสังคมฮินดู (สังคมอินเดียโบราณ) คัมภีร์เล่มนี้ยังถือเป็นแม่บทของกฎหมายที่สำคัญของดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีต รวมถึงไทยด้วย

ตัวเลือกที่ 3 อรรถศาสตร์ >> เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการเมือง การทูต การคลัง และการปกครอง โดยเน้นถึงอำนาจของผู้ปกครองเป็นสำคัญ

ตัวเลือกที่ 4 อุปนิษัท >> เป็นคัมภีร์ที่แสดงถึงปรัชญาสู่การหลุดพ้น (โมกษะ) อันถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาฮินดู

ตัวเลือกที่ 5 ภควัททคีตา >> เป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์มหาภารตะ แสดงถึงแนวทางสู่โมกษะ มุ่งเน้นให้ลดอัตตา ถือการปฏิบัติโดยไม่ยึดถือตัวตนแต่ให้คำนึงประโยชน์ส่วนรวมตามแนวทางของพระเจ้า

สรุปคำตอบ : จากการวิเคราะห์ตัวเลือก มนูธรรมศาสตร์ ในตัวเลือกที่ 2 ถือเป็นหลักฐานที่เราจะใช้ศึกษาวิถีชีวิตทางวัฒนธรรมของอินเดียโบราณได้ดีที่สุด เพราะเป็นคัมภีร์เล่มเดียวจากตัวเลือกทั้งหมด ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ จารีตประเพณี สิทธิหน้าที่ของคน ซึ่งบ่งบอกถึงวิถีชีวิตได้ ในขณะที่ตัวเลือกอื่นเน้นแต่ด้านศาสนา และชนชั้นปกครองเป็นหลัก

7) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 แนวคิดแบบธรรมราชา (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (สุโขทัย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้หยิบจารึกขึ้นมาถามถึงเนื้อหาโดยโยงกับเรื่องการปกครอง จัดเป็นคำถามที่ยากในระดับหนึ่ง การหาคำตอบหากนักเรียนไม่ได้รู้จักอะไรเลยกับจารึกวัดป่ามะม่วง ให้ใช้วิธีตัดตัวเลือก แนวคิดแบบใดที่ไม่ปรากฏในสมัยสุโขทัยแน่ๆ ให้ตัดทิ้งไป วิธีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาคำตอบที่ถูกต้อง

เข้าถึงเนื้อหา : จารึกวัดป่ามะม่วง เป็นจารึกที่เล่าเรื่องราวในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไท) ประกอบด้วยจารึก 4 หลัก มีทั้งภาษาบาลี เขมร อย่างละ 1 หลัก และไทย 2 หลัก ทุกหลักมีเนื้อเรื่องคล้ายกันเป็นเรื่องการผนวชของพระยาลิไท โดยวัดป่ามะม่วงคือวัดที่พระยาลิไทจำพรรษา แล้วกล่าวถึงการฉลองพระสำริดกลางเมืองสุโขทัยด้านตะวันออกของมหาธาตุ เรื่องพระยาลิไทเสด็จจากเมืองศรีสัชนาลัยมาปราบศัตรูที่สุโขทัยแล้วขึ้นครองราชย์ ในด้านนัยยะทางการเมืองที่ซ่อนอยู่ในจารึกนี้จะบ่งถึงแนวคิดแบบธรรมราชาซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากคัมภีร์ทสโพธิสัตตุปปัตติกถาที่แต่งในลังกาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 คัมภีร์นี้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ 10 องค์ที่จะตรัสรู้ต่อจากพระพุทธเจ้าศากยมุนี แต่ในจารึกได้ยกย่องพระยาลิไทว่าทรงเป็นพระอนาคตพุทธเจ้าด้วย จากข้อความที่ว่า

      “…..บรรดาพระโพธิสัตว์ 10 องค์มีพระศรีอริยเมตไตรยเป็นต้น ผู้มีคุณคือบารมีถึงพร้อมแล้ว พระธรรมราชาทรงพระนามว่าลิไทยก็จะมาในอนาคต”

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดเจนว่าเนื้อหาในจารึกวัดป่ามะม่วงสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับผู้ปกครองแบบธรรมราชา (ตัวเลือกที่ 2)

8) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 นครศรีธรรมราช (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (อยุธยา)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับชื่อเมือง เรียกได้ว่าออกได้ลึกดีมาก ในแง่เนื้อหาโยงได้อยู่แล้ว แต่ตัวคำถามค่อนข้างจะออกเชิงรายละเอียดมากเกิน หากอ่านมาไม่ดีหรือไม่มีความรู้ในเรื่องนี้อยู่ ก็ยากมากๆๆๆ ที่จะหาคำตอบได้ ต้องเดาสถานเดียว

สรุปคำตอบ : ลิกอร์ สันนิษฐานว่า คือ เมืองนครศรีธรรมราช (ตัวเลือกที่ 2) ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ คำว่า ลิกอร์ สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า นคร โดยชาวโปรตุเกสที่เข้ามาค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นผู้เรียกก่อน และนอกจากชื่อนี้แล้ว ด้วยเหตุที่นครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าแก่ และเป็นเมืองสำคัญซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนขนาดใหญ่ในคาบสมุทรมลายู จึงมีชื่ออื่นๆ อีกหลายชื่อ คือ ตามพรลิงค์ ตั่งหม่าหลิ่ง โลแค็ก นครตอนพระ 

9) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 รักษาพระองค์ (**) 

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (รัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 คำถามสามารถเชื่อมได้ทั้งในส่วนเรื่องพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และประวัติบุคคลสำคัญ อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จประพาสนี้เราจะคุ้นเคยกันในส่วนการประพาสครั้งแรกมากกว่า เมื่อถามถึงจุดประสงค์ในการประพาสครั้งที่ 2 สำหรับนักเรียนที่ไม่ได้อ่านหรือดูเนื้อหามาอย่างละเอียด ก็อาจจะไม่ง่ายนักในการวิเคราะห์หาคำตอบ

เข้าถึงเนื้อหา : การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดขึ้น 2 ครั้ง

ครั้งแรก คือ ปี พ.ศ. 2440 (ภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112/พ.ศ. 2436 ได้ 4 ปี) วัตถุประสงค์ในการเสด็จประพาสครั้งนั้น คือ เพื่อเป็นการแสดงให้บรรดาประเทศมหาอำนาจขณะนั้นเห็นว่าสยามมิได้ล้าหลังและป่าเถื่อน ซึ่งในการเสด็จประพาสในครั้งแรกนี้ยังทำให้พระองค์สามารถสร้างพันธมิตรให้กับสยามด้วย ซึ่งนั่น คือ รัสเซีย และเยอรมนี (มีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นเดียวกับสยาม)

ครั้งที่สอง คือ ปี พ.ศ. 2450 เป็นไปเพื่อรักษาพระวรกายแบบสปาบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ส่วนพระองค์ชาวต่างชาติ ที่ประเทศเยอรมนี   

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาการเสด็จประพาสที่กล่าวมา คำตอบของโจทย์นี้จึงอยู่ที่ ตัวเลือกที่ 1 รักษาพระองค์

ตัวเลือกที่ 2 แสวงหาพันธมิตร >> เป็นผลจากการเสด็จประพาสครั้งแรก

ตัวเลือกที่ 5 ทอดพระเนตรความเจริญของต่างประเทศ >> เกิดขึ้นจากการเสด็จประพาสครั้งที่ 2 และกลายเป็นที่มาของบทพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ซึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาที่พระองค์ส่งถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภา นภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดา

10) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (รัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามเกี่ยวกับเรื่องนายกรัฐมนตรีของไทย ดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจกับประเทศของเรามาก เนื่องจากที่ผ่านมาแม้เราจะบอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ผู้บริหารประเทศเราส่วนมากกลับมาจากทหาร โดยการแต่งตั้งแทบทั้งนั้น แม้กระทั่งทุกวันนี้ ที่บอกมาจากกระบวนการรัฐสภา แต่ใครๆ ก็รู้ว่าจริงป่าว? 5555 สำหรับโจทย์นี้จริงๆ ไม่ยากมาก หากนักเรียนได้เรียนรู้พัฒนาการทางการเมืองที่เกิดในยุคนี้บ้าง แต่ถ้าไม่เลย โจทย์นี้ก็อาจจะกลายเป็นยากสำหรับนักเรียนได้

วิเคราะห์ตัวเลือก : นายกรัฐมนตรีในตัวเลือกต่อไปนี้ ได้ตำแหน่งผ่านกระบวนการแต่งตั้งทั้งหมด

ตัวเลือกที่ 1  พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ >> ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของไทย จากมติของคณะปฏิวัติในปี พ.ศ. 2521 ภายใต้การนำของพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ที่ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก รัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร

ตัวเลือกที่ 2 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ >> ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย โดยได้รับการหยั่งเสียงเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2523 (ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเอง แต่มาจากการคัดเลือกโดยสภาเลย ลักษณะคล้ายกับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกของเราคนปัจจุบัน) และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องถึง 3 สมัย

ตัวเลือกที่ 3 พลเอก สุจินดา คราประยูร >> ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของไทย โดยได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2535 ในลักษณะเดียวกับพลเอกเปรม แต่เนื่องจากท่านเป็นบุคคลในคณะรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2534 และเคยประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ ทั้งยังถูกกล่าวหาในเรื่องการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องตนเอง การขึ้นดำรงตำแหน่งของท่านจึงเป็นที่มาของการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 และเป็นเหตุสำคัญที่ท่านต้องลาออกจากตำแหน่งไป

ตัวเลือกที่ 5 พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ >> ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของไทย โดยได้รับการเชิญถึง 2 ครั้ง จากพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งได้ทำรัฐประหารล้มอำนาจรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ในปี พ.ศ. 2549 พลเอกสุรยุทธ์ เข้าดำรงตำแหน่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2549

สรุปคำตอบ : หลังจากวิเคราะห์ตัวเลือกแล้ว เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 4 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย ภายหลังจากที่ท่านนำพรรคชาติไทย ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าพรรคได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสูงสุดในปี พ.ศ. 2531 (ในปี พ.ศ. 2535 พลเอก ชาติชาย ยังได้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา ขึ้นอีกด้วย)

จบการเฉลยชุดที่ 2
If you like, please share this!