เฉลยแบบทดสอบ สาระประวัติศาสตร์ ชุดที่ 3
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 จิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตา : ความรุ่งโรจน์ทางศิลปะของจักรวรรดิเมารยะในอินเดีย **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (หลักฐาน+ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้มาแบบรวมๆ ยำประวัติศาสตร์ทุกพื้นที่เข้าด้วยกัน โดยผสานกับเรื่องหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พูดง่ายๆ ก็คือจะวัดว่าเราใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ถูกกับช่วงเวลาหรือพัฒนาการไหมนั่นแหละ ยากในระดับปานกลาง หากนักเรียนแม่นประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่เราเล่าเรียนกันมา ก็ไม่ต้องกลัวอะไรในการหาคำตอบจากโจทย์นี้
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่ใช้หลักฐานไม่สัมพันธ์กับยุคสมัยที่ศึกษา คือ ตัวเลือกที่ 2 จิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตา : ความรุ่งโรจน์ทางศิลปะของจักรวรรดิเมารยะในอินเดีย ด้วยเหตุที่ว่า จิตรกรรมฝาผนังที่ถ้ำอชันตานี้สะท้อนความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาในนิกายมหายาน รวมถึงรูปแบบงานทางศิลปกรรมอื่นๆ ของจักรวรรดิคุปตะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุคทองทางศิลปวัฒนธรรมของอินเดีย ไม่ใช่จักรวรรดิเมารยะ
ตัวเลือกอื่นๆ แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักฐานกับยุคสมัยและเรื่องราวที่ศึกษาได้ถูกต้องแล้ว กรณี ตัวเลือกที่ 3 จารึกวัดศรีชุม : ประวัติก่อนการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงของสุโขทัย จารึกวัดศรีชุม ยังบอกถึงพระประวัติของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามณี ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สืบสายมาจากพ่อขุนศรีนาวนำถุมด้วย
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 การจัดระเบียบการปกครอง **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ (ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 59 ถามในประเด็นเกี่ยวกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเลือกเอายุคโลหะมาเป็นคำถาม หากอ่านตัวเลือกรวมๆ อาจงงๆ และหลงตอบผิดได้ไม่ยาก ให้พยายามพิจารณาที่ภาพรวมของยุคนี้ อย่ามองจุดย่อยๆ แล้วจะได้คำตอบ
เข้าถึงเนื้อหา : ก่อนเราจะไปหาคำตอบกัน เรามาเรียนรู้เกี่ยวกับยุคโลหะกันก่อน
ช่วงเวลา = แบ่งย่อยได้เป็น 2 ช่วง คือ ยุคสำริด ราว 3,300 B.C. – 1200 B.C. และยุคเหล็ก ราว 1200 B.C. – 600 B.C. โดยก่อนที่มนุษย์จะรู้จักนำสำริดมาใช้ มนุษย์ได้ใช้ทองแดงมาก่อน แต่เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของการหลอม จึงปรับเป็นโลหะผสม คือ เอาทองแดงไปหลอมรวมกับดีบุก ได้เป็นสำริด ซึ่งให้คุณภาพของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ดีกว่า โดยในยุคสำริดที่นิยมทำกันมาก คือ ขวาน หอก ภาชนะ กำไล ตุ้มหู และลูกปัด แต่เมื่อเริ่มใช้เหล็ก จะหันไปทำเป็นอาวุธกันมากขึ้น
พัฒนาการเด่น = ในยุคสำริด เป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงในหน่วยทางสังคมในหลากหลายพื้นที่ของโลก จากชุมชนเกษตรในยุคหินใหม่เป็นชุมชนเมือง ที่มีการจัดแบ่งความสัมพันธ์ตามความสามารถ เพื่อประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เมื่อเข้าสู่ยุคเหล็ก จากชุมชนเมืองจะเริ่มพัฒนาสู่ความเป็นรัฐ มีโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น รัฐที่มีความเข้มแข็งทางการทหารจากการนำเหล็กมาพัฒนาอาวุธ จะเริ่มขยายอำนาจของตนจนกลายเป็นสงครามความขัดแย้งเพื่อชิงความเป็นใหญ่
ตัวอย่างพื้นที่ = แหล่งอารยธรรมเมโสโปเตเมีย บริเวณลุ่มน้ำไทกริสและยูเฟรติส / แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำไนล์ อียิปต์ / แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุของอินเดีย / แหล่งอารยธรรมลุ่มน้ำฮวงโหของจีน
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา ครูแป๊ปเลือกตอบ ตัวเลือกที่ 1 การจัดระเบียบการปกครอง ทั้งนี้พิจารณาจากภาพรวมของพัฒนาการของยุคเหล็กตามที่บอกไปในส่วนเข้าถึงเนื้อหา โดยการเปลี่ยนแปลงของหน่วยทางสังคมจากแบบชุมชนหมู่บ้านในยุคหินใหม่ เป็นแบบเมือง ในช่วงยุคสำริด และพัฒนาเป็นรัฐหรืออาณาจักรในช่วงยุคเหล็กต่อไป การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้เกิดการวางระเบียบการปกครอง รวมถึงลักษณะความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคมตามระดับต่างๆ
ตัวเลือกที่ 3 การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ >> เป็นพัฒนาการเด่นที่เกิดในยุคหินใหม่
สำหรับตัวเลือกที่เหลือ ล้วนเกิดในยุคเหล็ก แต่เน้นเฉพาะช่วงยุคสำริด ไม่ได้มองเป็นภาพรวมเป็นยุคโลหะทั้งหมด เหมือนเรื่องการจัดระเบียบการปกครองในตัวเลือกที่ 1
ตัวเลือกที่ 2 การสร้างภาษาเขียนขึ้นใช้ >> หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า เรื่องภาษาเขียนนี้เกิดในยุคประวัติศาสตร์ หลังยุคเหล็กไปแล้ว จริงๆ คือ ผิดนะ เพราะการประดิษฐ์ตัวอักษร เริ่มต้นในช่วง 3300 B.C. ผ่านตัวอักษรคิวนิฟอร์มของชาวสุเมเรียนในเมโสโปเตเมีย และอักษรเฮียโรกลิฟฟิคของชาวอียิปต์ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นพัฒนาการสำคัญหนึ่งที่เกิดในยุคสำริด
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 นักโบราณคดีใช้วิธีเทอร์โมลูมิเนเซนท์ (thermoluminescence) ในการหาอายุของซากไม้และโครงกระดูกมนุษย์ (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากลตะวันตก (ยุคก่อนประวัติศาสตร์-สมัยโบราณ)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์วิเคราะห์หาความถูกต้อง ออกในภาพรวมๆ จะง่ายในการตัดออก 3 ตัวเลือก เพราะพวกนี้เราเรียนมาชัดเจน แต่อีก 2 ตัวเลือกที่เหลือ ถือว่าออกได้ลึกมากๆ การจะได้คำตอบ คือ นักเรียนต้องมีพื้นฐานความรู้ในเนื้อหาเรื่องนี้เท่านั้น มิฉะนั้นก็ต้องเดาสถานเดียว
วิเคราะห์ตัวเลือก : 3 ตัวเลือกที่เป็นคำอธิบายที่ถูกต้องแน่นอน คือ
ตัวเลือกที่ 2 พวกฮิตไทต์ (Hittites) ในพื้นที่เมโสโปเตเมีย รู้จักการถลุงเหล็กเพื่อทำเป็นอาวุธในยุคโลหะ >> พวกฮิตไทต์เป็นพวกอินโดยูโรเปียนที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของทะเลดำ ศูนย์กลางของพวกฮิตไทต์จะอยู่ที่นครฮัตทูซา (Hattusa) ทางตอนเหนือของตุรกี โดยในช่วงที่อาณาจักรขยายได้ครอบคลุมถึงบริเวณทางตอนเหนือของดินแดนเมโสโปเตเมียด้วย ความเจริญที่โดดเด่นสุดของพวกฮิตไทต์คือการนำเหล็กมาใช้ประดิษฐ์เป็นอาวุธแบบต่างๆ
ตัวเลือกที่ 3 มหากาพย์เล่มแรกของโลก คือ มหากาพย์กิลกาเมซ เนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรงกับชนชาติสุเมเรียน >> มหากาพย์เล่มนี้ถูกเขียนโดยพวกอัคคาเดียนโดยใช้บทกวี 4 บทของชาวสุเมเรียนเป็นฐานเนื้อหาของเรื่อง เนื้อหากล่าวถึงวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อว่า กิลกาเมซ ผู้ซึ่งนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเป็นกษัตริย์ชาวสุเมเรียนที่ปกครองนครอูรุค
ตัวเลือกที่ 4 พระนางคลีโอพัตรา เป็นราชินีอียิปต์เชื้อสายกรีกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับโรมันสมัยสาธารณรัฐ >> ถูกต้องเช่นกัน พระนางเป็นราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์ปโตเลมีซึ่งแต่เดิมเป็นกรีกแต่ภายหลังได้ขยายอำนาจเข้าปกครองอียิปต์ (อยู่ในช่วงยุคพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช) ในสมัยพระนาง พระนางได้ผูกความสัมพันธ์กับจูเลียส ซีซาร์ ผู้นำของสาธารณรัฐโรมัน โดยการแต่งงาน เพื่อเป็นการประกันเอกราชให้อียิปต์
อีก 2 ตัวเลือก ค่อนข้างจะตัดยากซักนิด โดยที่เราต้องตัดออก คือ
ตัวเลือกที่ 1 ศิลปะแบบแม็กดาเลเนียน (Magdalenian) คือ ภาพวาดตามผนังถ้ำ และภาพแกะสลักบนกระดูก เป็นศิลปะที่มีชื่อเสียงของยุคหินเก่า >> ศิลปะรูปแบบนี้พบในพื้นที่ยุโรปตะวันตก
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำอธิบายที่ไม่ถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 5 นักโบราณคดีใช้วิธีเทอร์โมลูมิเนเซนท์ (thermoluminescence) ในการหาอายุของซากไม้และโครงกระดูกมนุษย์ เทอร์โมโลมิเนเซนท์ เป็นปรากฏการณ์การเรืองแสงของสารบางชนิดเมื่อได้รับความร้อน นำมาประยุกต์ใช้วัดปริมาณรังสีที่สารนั้นดูดกลืนไว้ เช่น การวัดปริมาณรังสีด้วยทีแอลดี การหาอายุโบราณวัตถุ โบราณสถาน ที่นำมาใช้ได้เด่นๆ เช่น เครื่องปั้นดินเผา โบราณสถานที่ก่อด้วยอิฐและตะกอนดิน จากลักษณะนี้จึงเห็นชัดว่า เทอร์โมโลมิเนเซนท์ ย่อมใช้หาอายุของซากไม้และโครงกระดูกมนุษย์ ไม่ได้อย่างแน่นอน
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 การศึกษาปรัชญายุคคลาสสิคเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาสังคมและการเมืองในสมัยดังกล่าว **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล-ตะวันตก (ยุโรปปลายสมัยกลางถึงสมัยใหม่)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามในเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดมนุษยนิยม ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่สำคัญต่อพัฒนาการของชาติยุโรปอย่างมากในช่วงยุคใหม่เป็นต้นไป จัดเป็นคำถามที่ไม่ยากจนเกินไป ใช้วิธีวิเคราะห์ตัวเลือกโดยเชื่อมให้เข้ากับลักษณะเด่นของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือตอบคำถามง่ายๆ ให้ได้ว่าทำไมจึงต้องมีการฟื้นฟู หากตอบได้ ก็รับรองได้ว่าคะแนนของโจทย์นี้จะเป็นของเราได้แน่นอน
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ กล่าวเกี่ยวกับแนวคิดมนุษยนิยม (Humanism) ในยุคการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ไม่ถูกต้อง
ตัวเลือกที่ 1 ความสนใจศึกษาและลอกเลียนแบบองค์ความรู้และสุนทรียะทางภาษาจากอารยธรรมคลาสสิค >> จุดที่ผิด คือ คำว่า ลอกเลียน เนื่องจากแนวคิดมนุษยนิยมที่นำมาศึกษากันนั้นไม่ใช่ copy แต่เน้นศึกษาและปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพสังคมที่เปลี่ยนผ่านจากยุคกลางที่พื้นฐานวิธีคิดทุกอย่างสัมพันธ์กับคริสต์ศาสนามาสู่สังคมยุคใหม่ ที่หันกลับมามองตัวมนุษย์เองมากขึ้น (ยุค Renaissance อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคกลางสู่ยุคใหม่)
ตัวเลือกที่ 2 ศิลปินแนวมนุษยนิยมมักผลิตงานที่สะท้อนความจริงของสังคมเป็นสำคัญมากกว่ามิติทางศาสนา >> จุดที่ผิด คือ คำว่าสะท้อนความจริงของสังคม เพราะในความจริงแล้ว งานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เกิดในยุค Renaissance ไม่ได้หลุดจากคริสต์ศาสนา แต่เน้นมองคริสต์ศาสนาในมุมมองของมนุษย์มากกว่าเน้นเพียงหลักคำสอนซึ่งผูกขาดไว้กับคริสตจักรเพียงเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงพระเจ้ารวมถึงหลักคำสอนต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่ต้องผ่านคริสตจักร
ตัวเลือกที่ 3 นักมนุษยนิยมคริสเตียนให้ความสำคัญต่องานเขียนที่เกี่ยวข้องกับคริสต์ศาสนาและงานเขียนของกวีโรมัน >> จุดที่ผิดคืองานเขียนเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา จุดเน้นสำคัญของการศึกษา จะมุ่งที่วรรณคดีคลาสสิคในยุคกรีกและโรมัน โดยจุดเน้นของการศึกษาอยู่ที่พยายามศึกษาการใช้ภาษาละตินให้ถูกต้องตามแบบแผนดั้งเดิม
ตัวเลือกที่ 5 การใช้เหตุผลเพื่อแสดงทัศนะทางสังคมและการเมืองและเชื่อว่าเหตุผลสามารถเปลี่ยนชีวิตและสังคมให้ดีขึ้นได้ >> จุดที่ผิด คือ ข้อความที่ว่า การใช้เหตุผล เนื่องจากเรื่องเหตุผลจะเป็นเรื่องสำคัญที่ชาวยุโรปให้ความสำคัญมากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ภายหลังการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ไปแล้ว
สรุปคำตอบ : ภายหลังการตัดตัวเลือกทิ้งทั้งหมด เราจึงเหลือ ตัวเลือกที่ 4 การศึกษาปรัชญายุคคลาสสิคเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและแก้ปัญหาสังคมและการเมืองในสมัยดังกล่าว เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ด้วยเหตุที่ว่า ปัญหาสังคมและการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปลายยุคกลางต่อเนื่องถึงยุคสมัยใหม่ของยุโรป คือ การที่อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ถูกผูกขาดอยู่กับคริสตจักรคาทอลิก รวมถึงเหล่าบรรดาขุนนางตามทฤษฎีของระบบฟิวดัล ปรัชญาในสมัยคลาสสิคหรือในยุคกรีก-โรมัน ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องการเชื่อมั่นในความสามารถทางสติปัญญาและการกระทำของมนุษย์ภายใต้แนวคิดมนุษยนิยม จึงเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา การผูกขาดอำนาจดังกล่าว
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลมขึ้นในศรีลังการะหว่าง ค.ศ. 1976-2009 **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล (ร่วมสมัย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ถามเกี่ยวกับโลกร่วมสมัย อาจยากซักนิด หากนักเรียนไม่มีความเข้าใจในเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ตามที่ตัวเลือกให้มา โดยเฉพาะตัวเลือกที่เป็นคำตอบ แต่หากได้เรียนรู้กันมาแล้ว การหาคำตอบจากโจทย์ก็ทำได้ไม่ยากเลย
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้กล่าวเกี่ยวกับโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึง 21 ไม่ถูกต้อง
ตัวเลือกที่ 1 กลุ่มเอเปกมีสมาชิกอยู่ใน 3 ทวีปทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ >> กลุ่มเอเปก หรือ กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Cooperation; APEC) มีสมาชิกใน 4 ทวีป ไม่ใช่ 3 คือ ต้องบวกทวีปอเมริกาใต้ เข้าไปด้วย จำง่ายๆ ต้องเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในน่านน้ำมหาสมุทรแปซิฟิค (ไม่นับอินเดีย ยุโรป แอฟริกา)
ตัวเลือกที่ 2 กลุ่มบิมสเทคเน้นให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่ประเทศสมาชิก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย >> บิมสเทค หรือ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation; BIMSTEC) เป็นกลุ่มที่จัดต้้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 ภายใต้การริเริ่มและผลักดันของไทย ความร่วมมือภายใต้กลุ่มนี้มีถึง 14 สาขา ที่เด่นๆ เช่น การค้า การลงทุน การคมนาคม การท่องเที่ยว เทคโนโลยี ภัยพิบัติ แต่ไม่มีด้านการทหาร เลย… (จริงๆ ตัวเลือกนี้ตัดได้ไม่ยาก สังเกตคำว่า เทค มันก็น่าจะบอกเราอยู่แล้วว่ากลุ่มนี้ต้องเกี่ยวกับพวกเทคโนโลยีแหงๆ ไม่มีทางเป็นทหาร ไปได้..)
ตัวเลือกที่ 3 โรมาเนียเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปในปี ค.ศ. 2004 >> ผิด ปีที่โรมาเนียเข้าร่วม คือ ค.ศ. 2007
ตัวเลือกที่ 4 ขบวนการไซออนิสต์ คือขบวนการของชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการจะเห็นปาเลสไตน์ได้รับการสถาปนาขึ้นอีกครั้ง >> จุดที่ผิดอย่างชัดเจน คือ ขบวนการไซออนิสต์ (World Zionist Organization) เป็นขบวนการของชาวยิวที่พยายามจะอพยพชาวยิวมาตั้งรัฐอิสระในบริเวณปาเลสไตน์ และต้องการที่จะใช้ดินแดนดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิวอพยพจากทั่วโลก ด้วยแนวคิดนี้จึงสร้างความขัดแย้งกับปาเลสไตน์รวมถึงชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้ทั้งหมด
สรุปคำตอบ : ภายหลังการตัดตัวเลือกออกแล้ว เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 5 ความขัดแย้งทางด้านเชื้อชาติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลมขึ้นในศรีลังการะหว่าง ค.ศ. 1976-2009 เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยความขัดแย้งดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสิงหล ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในศรีลังกา กับกลุ่มชาวทมิฬ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย และถูกริดรอนสิทธิหลายประการจากชาวสิงหล ท้ายสุดพวกกลุ่มทมิฬหัวรุนแรงจึงจัดตั้งกลุ่มของตนเองในชื่อว่า กลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลมหรือแอลทีทีอี (Liberation Tigers of Tamil Eilam-LTTE) ขึ้น อย่างไรก็ตามความขัดแย้งดังกล่าวสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2009 ภายหลังผู้นำของกลุ่มกบฎถูกจับกุมได้ที่มาเลเซีย
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 เมื่อโปรตุเกสแสวงหาเส้นทางเดินเรือไปหมู่เกาะเครื่องเทศ **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์สากล-ตะวันออก (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ A-Net ปี 50 โดยครูแป๊ปได้เพิ่มตัวเลือกไป 1 ตัวเลือกเพื่อให้เหมาะกับข้อสอบในรุ่นปัจจุบัน เนื้อหาที่โจทย์ถามเน้นโดยตรงที่ความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ยากจนเกินไป ประเด็นนี้หากมีพื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สากลตะวันตกในช่วงยุคการสำรวจและการค้นพบ (Age of Exploration and Discovery) ดีอยู่แล้ว ก็จะพบคำตอบได้ไม่ยากเลย
เข้าถึงเนื้อหา : ชาวตะวันตกรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานับตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิแล้ว พิจารณาจากหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการติดต่อค้าขายระหว่างกันนับแต่สมัยนั้น แต่ชาวตะวันตกจะให้ความสำคัญต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงขนาดเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายเองในช่วง C.16 เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลที่ว่า บริเวณตอนใต้ของภูมิภาค (หมายถึง หมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย) เป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยเครื่องเทศ ซึ่งชาวตะวันตกต้องการอย่างมาก เพื่อนำไปถนอมอาหาร นอกจากนี้ชาวตะวันตกยังเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปรียบเหมือนตลาดกลางระหว่างจีนกับอินเดีย มีสินค้าหลายอย่างที่พวกเขาต้องการ และราคาก็ไม่แพง เช่น ผ้าไหม เครื่องปั้นดินเผาลายคราม ชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาก่อน คือ โปรตุเกส จากนั้นชาติตะวันตกอื่นๆ จะเดินทางตามเข้ามาอีกมาก ซึ่งหากเปรียบกับประวัติศาสตร์ไทยแล้ว ช่วงเวลาดังกล่าวจะตรงกับสมัยอยุธยา
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา จะเห็นได้ทันทีว่าตัวเลือกที่ตรงกับคำตอบของโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 2 โปรตุเกสแสวงหาเส้นทางเดินเรือไปหมู่เกาะเครื่องเทศ
ตัวเลือกที่ 1 เมื่อจักรวรรดิโรมันต้องการทองคำจากสุวรรณภูมิ >> สุวรรณภูมิ มิได้มีปริมาณทองคำมากมายถึงขนาดที่จักรวรรดิโรมันต้องการถึงเพียงนั้น อีกทั้งที่ตั้งที่แน่นอนของสุวรรณภูมิ ก็มีชาวโรมันน้อยคนนักที่จะทราบ ดังนั้นจึงสรุปว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ชาวตะวันตกให้ความสำคัญต่อภูมิภาคนี้ไม่ได้
ตัวเลือกที่ 3 เมื่อโปรตุเกสกับสเปนแบ่งเขตสำรวจทางทะเล >> ตัวเลือกนี้เป็นแค่การแบ่งเขตอิทธิพลของสเปนกับโปรตุเกสภายใต้สนธิสัญญาทอร์เดซิยัส หลังจากเริ่มขยายอาณานิคม ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย
ตัวเลือกที่ 4 เมื่ออังกฤษยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคมได้สำเร็จ >> เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปแล้ว แม้จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการขยายอิทธิพลของอังกฤษจากอินเดียสู่พม่า และรัฐมลายู แต่ก็ไม่ใช่จุดเริ่มต้นหากเทียบกับตัวเลือกที่ 2
ตัวเลือกที่ 5 เมื่อชาวตะวันตกพากันเข้ามายึดครองดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยุคจักรวรรดินิยมของชาติตะวันตก เป็นต้นไป ดังนั้นมาหลังตัวเลือกที่ 2 แน่นอน
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ซากปราสาท 3 หลัง อาคารประธานวัดพระพายหลวง **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (สุโขทัย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามถึงอิทธิพลของเขมรที่ปรากฏในงานสมัยสุโขทัย คำถามมีความยากระดับปานกลาง แม้ตัวเลือกที่เป็นคำตอบอาจดูยากซักนิด แต่ก็ใช้การตัดตัวเลือกช่วยได้ โดยมีหลักสำคัญให้ยึด คือ ต้องตอบให้ได้ว่าลักษณะศิลปะแบบเขมรที่พบในงานไทย เป็นอย่างไร?
วิเคราะห์ตัวเลือก : อิทธิพลของเขมรที่ปรากฎในงานสร้างสรรค์ของไทย จะแสดงออกมาเป็นรูปแบบของปราสาทหิน ปรางค์ พระพุทธรูปหินทรายซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำเป็นปางนาคปรก ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว งานสร้างสรรค์ในตัวเลือกต่อไปนี้ไม่ปรากฎลักษณะดังกล่าว
ตัวเลือกที่ 2 เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม วัดมหาธาตุ >> เจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือที่เรารู้จักกันอีกชื่อว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นเจดีย์ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของสุโขทัย จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขมรแน่นอน โดยเกี่ยวกับเจดีย์องค์นี้นักวิชาการส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) เพื่อครอบทับเจดีย์ทรงปราสาท
ตัวเลือกที่ 3 เจดีย์ประธานของวัดช้างล้อม ในเมืองศรีสัชนาลัย >> เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ อิทธิพลลังกา ดังนั้นไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเขมร โดยพิจารณาจากเครื่องถ้วยจีนและคติการสร้างช้างล้อมเจดีย์ ซึ่งเป็นอิทธิพลลังกาที่แพร่หลายอย่างมากในช่วงยุคพญาลิไทไปแล้ว ดังนั้นนักวิชาการจึงสันนิษฐานว่าเจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพญาลิไท
ตัวเลือกที่ 4 พระมณฑปวัดศรีชุม >> ลักษณะของพระมณฑป ซึ่งเป็นอาคารสี่เหลี่ยมที่สร้างครอบพระอจนะ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสุโขทัยที่มีความงามเฉพาะตัว ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับศิลปะเขมรเช่นกัน นักวิชาการสันนิษฐานว่า พระมณฑปนี้สร้างขึ้นสมัยพญาลิไท ส่วนพระอจนะ สร้างในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ตัวเลือกที่ 5 พระพุทธรูป 4 อิริยาบถ ที่วัดพระสี่อิริยาบถ กำแพงเพชร >> 4 อิริยาบถ ในที่นี้ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน โดยประดิษฐานอยู่บนแกนอิฐขนาดใหญ่ภายในวิหารจัตุรมุข ลักษณะดังกล่าวไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอิทธิพลเขมร แต่เป็นลักษณะเฉพาะของสุโขทัย สื่อถึงพุทธประวัติตอนต่างๆ
สรุปคำตอบ : หลังการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงเหลือ ตัวเลือกที่ 1 ซากปราสาท 3 หลัง อาคารประธานวัดพระพายหลวง เป็นคำตอบของโจทย์นี้
ทั้งนี้ซากประสาททั้ง 3 หลัง แต่เดิมเป็นปราสาทเขมร 3 หลัง ตั้งเรียงกัน แต่พังทลายไป ปัจจุบันเหลือเพียงหลังเดียว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในศิลปะบายน ช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 18 คล้ายพระปรางค์ 3 ยอด ที่จังหวัดลพบุรี จากลักษณะดังกล่าว ร่วมกับข้อมูลที่ว่าวัดพระพายหลวงเป็นพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจของผู้นำสุโขทัยก่อนการสถาปนาราชวงศ์ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งยังเป็นเวลาที่เขมรยังมีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมต่อสุโขทัยอยู่ จึงสรุปได้ว่า สถานที่นี้มีอิทธิพลของเขมร อยู่อย่างชัดเจน
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม *
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (อยุธยา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 โดยให้หาหลักฐานที่ไม่ใช่หลักฐานสมัยอยุธยา แม้จะมีตัวลวงเยอะ สำหรับนักเรียนที่ไม่ค่อยศึกษาประวัติศาสตร์แบบลงลึกเท่าไหร่นัก แต่ตัวเลือกที่เป็นคำตอบค่อนข้างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้นโจทย์นี้จึงเป็นอะไรที่ง่ายมาก
วิเคราะห์ตัวเลือก : หลักฐานในตัวเลือกเหล่านี้ ล้วนเป็นหลักฐานที่ใช้ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาได้
ตัวเลือกที่ 4 จารึกลานทองวัดส่องคบ จังหวัดชัยนาท >> เป็นจารึกภาษาไทย อักษรขอมอยุธยา โดยเป็นจารึกในสมัยอยุธยาตอนต้น รัชสมัยพระรามราชาธิราช ระบุปีที่จารึก คือ พ.ศ. 1951 เนื้อหากล่าวถึงการทำบุญของเจ้าเมืองนามว่า เจ้าเพชญสาร
ตัวเลือกที่ 5 ซากเตาเผาโบราณบริเวณแม่น้ำน้อย จังหวัดสิงห์บุรี >> ปัจจุบันตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี ถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยอยุธยา
ตัวเลือกที่ 3 ศิลาจารึกวัดจุฬามณี จังหวัดพิษณุโลก >> เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงการสร้างวัดจุฬามณี การจำพรรษาของ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และยังกล่าวถึงการสร้างพระพุทธบาทจำลองของพระนารายณ์มหาราช ดังนั้นจารึกนี้จึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ปัจจุบันศิลาจารึกนี้ฝังอยู่กับผนังบริเวณซุัมพระปรางค์ วัดจุฬามณี
ตัวเลือกที่ 2 ป้อมวิไชยประสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร >> ป้อมแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยขุนนางต่างชาติ คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือเจ้าพระยาวิชเยนทร์
สรุปคำตอบ >> หลังจากหักล้างตัวเลือกหมด เราจึงได้ ตัวเลือกที่ 1 องค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เป็นคำตอบของโจทย์นี้
โดยองค์พระปฐมเจดีย์ที่เราเห็นกันในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำอิทธิพลลังกา โดยเจดีย์องค์นี้สร้างครอบเจดีย์ทรงสถูปสาญจีตามแบบอินเดียในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สันนิษฐานว่าตัวเจดีย์มีอายุในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และยังมีเจดีย์ทรงขอมทับอยู่อีกชั้นหนึ่ง (ก่อน ร.4 จะสร้างเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่เราเห็นในปัจจุบัน)
จากลักษณะเจดีย์ที่กล่าวมานี้ เห็นได้ชัดเจนว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของอยุธยาเลย
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ภาษีที่เก็บจากชาวจีนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงาน *
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (รัตนโกสินทร์ตอนต้น)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 ถามเกี่ยวกับเรื่องการจัดเก็บภาษีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จัดเป็นคำถามที่ออกตามเนื้อหาปกติ ไม่มีอะไรยากเลย พิจารณาจากตัวเลือกแล้วก็จะเห็นคำตอบทันที
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับเงินผูกปี้
ตัวเลือกที่ 1 ภาษีการขนสินค้าผ่านด่านทั้งทางบกและทางน้ำ >> หมายถึง จังกอบหรือจกอบ ซึ่งมีการเก็บกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ตัวเลือกที่ 2 สิ่งของหรือสินค้าที่ไพร่นำมามอบให้แทนการถูกเกณฑ์แรงงาน >> หมายถึง ส่วย เก็บกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
ตัวเลือกที่ 3 ภาษีที่เก็บจากราษฎรที่ทำสวน >> หมายถึง อากร เก็บตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ตัวเลือกที่ 4 ภาษีปากเรือ >> เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ภาษีเบิกร่องเก็บตามความกว้างของเรือ โดยเก็บวาละ 1,700 บาท หากเรือมิได้บรรทุกสินค้าเข้ามาเก็บวาละ 1,500 บาท
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นความหมายของเงินผูกปี้ คือ ตัวเลือกที่ 5 ภาษีที่เก็บจากชาวจีนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่ไม่ต้องการถูกเกณฑ์แรงงาน โดยเงินผูกปี้นี้ ถือว่าเป็นวิธีการจัดการกับแรงงานซึ่งนำมาใช้ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น อันเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนอพยพเข้ามาในสยามมาก และใช้จนถึงสมัย ร.5 ในยุคปรับปรุงประเทศ โดยจะใช้วิธีผูกเชือก (ไหมสีแดง) ที่ข้อมือข้างหนึ่งและตีด้วยครั่ง โดยมีการอัตราเก็บ คือ 3 ปีต่อครั้ง ครั้งละ 1.50 บาท (แต่ถ้าเป็นไพร่ส่วย 18 บาทต่อปี)
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ฝรั่งเศสคืนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมเรียบให้ไทย **
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ประวัติศาสตร์ไทย (รัตนโกสินทร์ยุคประชาธิปไตย)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับความขัดแย้งของไทยกับฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเนื้อหาค่อนข้างจะลงในเชิงรายละเอียดพอควร การหาคำตอบจะยากหากนักเรียนไม่เคยรู้ความขัดแย้งดังกล่าวเลย ให้นักเรียนพยายามเชื่อมโยงหาคำตอบโดยพิจารณาจาก สภาพโดยรวมของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระยะช่วงปีตามที่โจทย์ถาม และชื่ออนุสัญญาที่มีญี่ปุ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เหล่านี้จะบอกนักเรียนได้คร่าวๆ ว่าใครจะได้เปรียบเสียเปรียบจากกรณีพิพาทครั้งนี้
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่สามารถบ่งชี้เนื้อหาในอนุสัญญาโตเกียวซึ่งแสดงถึงผลของกรณีพิพาทระหว่างไทยกับดินแดนในการปกครองของฝรั่งเศสนี้ได้อย่างถูกต้อง คือ ตัวเลือกที่ 4 ฝรั่งเศสคืนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมเรียบให้ไทย ทั้งนี้กรณีพิพาทครั้งนี้เกิดจากการที่ไทยต้องการเรียกร้องดินแดนที่เคยเสียให้ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ 5 คืนมา (ไทยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ) ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในปลายปี ค.ศ. 1940 เมื่อฝรั่งเศสปฏิเสธที่จะคืนดินแดนให้ การดำเนินไปของความขัดแย้งนี้แม้ฝรั่งเศสจะไม่ได้พ่ายแพ้ไทยเสียทีเดียว แต่ไทยก็สามารถเข้ายึดพื้นที่ในอินโดจีนซึ่งเป็นของฝรั่งเศสได้หลายจุด ด้วยเหตุที่ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสในขณะนั้นอ่อนแอ ปารีสรวมถึงฝรั่งเศสภาคเหนือถูกเยอรมนียึดครองไป รัฐบาลฝรั่งเศสที่ต่อสู้กับฝ่ายไทยตอนนั้นเป็นเพียงรัฐบาลหุ่นของเยอรมนี เมื่อความขัดแย้งดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งกำลังแผ่ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสนอตัวไกล่เกลี่ยจนที่สุดเกิดเป็นอนุสัญญาโตเกียว ในปี ค.ศ. 1941 ซึ่งจากการลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ทำไห้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ พระตะบอง ศรีโสภณ เสียมเรียบ คืนมา โดยไทยได้แบ่งแยกเป็น 4 จังหวัด คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจำปาศักดิ์ จังหวัดลานช้าง อย่างไรก็ตามภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝรั่งเศสเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ชนะสงคราม ไทยต้องคืนดินแดนเหล่านี้กลับคืนสู่ฝรั่งเศสตามสนธิสัญญาวอชิงตัน ในช่วงปี ค.ศ. 1946