เฉลยแบบทดสอบสาระศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม ชุดที่ 1
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 ศาสนพิธีและหลักคำสอน (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับองค์ประกอบที่ปรากฎอยู่ในศาสนาปัจจุบัน หาคำตอบได้ไม่ยาก จุดเน้น คือ ดูให้ออกว่าองค์ประกอบใดที่มีในทุกศาสนา แล้วจะได้คำตอบทันที
วิเคราะห์ตัวเลือก :
ตัวเลือกที่ 2 รูปเคารพและศาสนสถาน >> รูปเคารพ ไม่ใช่องค์ประกอบของศาสนา
ตัวเลือกที่ 3 หลักจริยธรรมและศาสนพิธี >> หลักจริยธรรม ไม่ใช่องค์ประกอบ ที่ถูก คือ หลักคำสอน
ตัวเลือกที่ 1 ศาสดาและนักบวช >> จัดเป็นองค์ประกอบได้ทั้งคู่ แต่นักบวชจะไม่มีในศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ดังนั้นเราจึงยังไม่ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่มีปรากฎในศาสนาสำคัญของปัจจุบัน
ตัวเลือกที่ 5 รูปเคารพและผู้สืบทอดศาสนา >> ทั้งสองล้วนไม่ใช่องค์ประกอบของศาสนา
สรุปคำตอบ : หลังวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงได้ตัวเลือกที่ 4 ศาสนพิธีและหลักคำสอน เป็นคำตอบของโจทย์นี้ โดยทั้งสองถือเป็นองค์ประกอบที่ปรากฎในศาสนาสำคัญของโลกปัจจุบันทั้งสิ้น โดยเฉพาะองค์ประกอบในด้านหลักคำสอน ซึ่งเราถือว่าเป็นองค์ประกอบทางศาสนาที่สำคัญสูงสุด ทุกศาสนาจะขาดองค์ประกอบนี้ไม่ได้
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 พรหมัน (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับปรัชญาของฮินดู มีความยากของข้อสอบระดับปานกลาง หากนักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาของฮินดูมาบ้าง จะเชื่อมโยงหาคำตอบได้ไม่ยาก โดยจุดสำคัญ คือ ควรต้องเข้าใจคำสำคัญที่อยู่ในแต่ละตัวเลือกที่เขาให้มาด้วย ได้แก่ โมกษะ พรหมัน อาตมัน
เข้าถึงเนื้อหา : ช่วงที่ศาสนาพราหมณ์เปลี่ยนเป็นเอกเทวนิยมจะอยู่ในยุคทรรศนะทั้ง 6 (อยู่ในช่วงกลางระหว่างศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดู) ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ศาสนาพราหมณ์สอนให้นับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ พระประชาบดีหรือพระพรหม (พรหมัน) เทพเจ้าองค์เดียวที่ยิ่งใหญ่และมีอำนาจสูงสุด (เรียกว่า อติเทพ หมายถึง เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และมีศักดานุภาพมากที่สุดเพียงองค์เดียว) แนวคิดดังกล่าวจะสอดคล้องโดยตรงกับปรัชญาอุปนิษัทซึ่งถือว่าเป็นปรัชญาที่แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดของศาสนา คือ โมกษะ ที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทั้งปวงล้วนเกิดจากพรหมัน และท้ายสุดต้องกลับไปรวมกับพรหมัน สิ่งแท้จริงเพียงสิ่งเดียวสำหรับชาวฮินดู
วิเคราะห์ตัวเลือก : จากเนื้อหาปรัชญาฮินดูที่ครูแป๊ปอธิบายไป ทุกคนคงเห็นแล้วนะว่าเราจะเอาตัวเลือกไหนออกได้บ้าง ไปดูกันเลย
ตัวเลือกที่ 1 และ 2 >> ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่ศาสนาพราหมณ์นับถือช่วงนี้ โมกษะ ถือเป็นแนวทางสู่การหลุดพ้นของชาวฮินดูซึ่งหมายถึงการกลับสู่พรหมัน / พระเวท คือ คัมภีร์ที่สำคัญของศาสนา
ตัวเลือกที่ 5 อาตมัน >> ตามปรัชญาฮินดูแล้ว อาตมัน หมายถึง วิญญาณดวงย่อยที่แยกออกจากพรหมันหรือปรมาตมันหรือวิญญาณสากล ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกว่า ชีวาตมัน นั่นหมายถึงวิญญาณของสรรพสิ่งต่างๆ จากความหมายนี้บ่งชัดเจนว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดที่ศาสนาพราหมณ์ช่วงนี้นับถือแน่นอน
ตัวเลือกที่ 4 ตรีมูรติ >> ครูแป๊ปเชื่อว่าหลายคนอาจตอบตัวเลือกนี้ เพราะเห็นว่า เป็นการรวมพลังของเทพผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสาม คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ แต่จริงๆ แล้ว ผิดครับ… เนื่องจากตรีมูรติเกิดในยุคที่ศาสนาพราหมณ์พัฒนาสู่ศาสนาฮินดูแล้ว (หลังยุคทรรศนะทั้ง 6) โดยแม้ว่าในยุคทรรศนะทั้ง 6 พวกพราหมณ์จะพยายามให้คนนับถือพรหมันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่สูงสุด แต่คนส่วนใหญ่เลือกที่จะนับถือเทพเจ้าแยกกันเป็น พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ มากกว่า (ตามความเชื่อของพราหมณ์ถือว่าพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะเป็นส่วนหนึ่งของพรหมัน เพียงแบ่งหน้าที่ต่างกันไป พระพรหม คือ พระผู้สร้าง พระวิษณุ คือ พระผู้ปกปักรักษา และพระศิวะ คือ พระผู้ทำลายล้าง) ดังนั้นภายหลังพราหมณ์จึงต้องรวมเอาพลังของเทพทั้งสามให้มาเป็นหนึ่งเดียว คือ ตรีมูรติ เน้นไปที่พลังอำนาจของเทพทั้งสามพระองค์มากกว่าจะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นอติเทพเท่านั้น
สรุปคำตอบ >> จากเนื้อหาและการวิเคราะห์ตัวเลือก เราจึงสรุปได้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ศาสนาพราหมณ์ช่วงที่เปลี่ยนเป็นเอกเทวนิยมนับถือ คือ ตัวเลือกที่ 3 พรหมัน นั่นเอง
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 มีความอดทนบากบั่นทำงานอย่างไม่ย่อท้อ (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (วันสำคัญทางพุทธศาสนา-เชื่อมโยงกับหลักธรรม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : นับว่าเป็นโจทย์พุทธศาสนาในข้อสอบวิชาสามัญที่ยากอีกข้อหนึ่ง บอกตรงๆ ตอนครูแป๊ปเห็นยังงงๆ เลยว่ามันไปอยู่ในเรื่องใดหว่า พอค้นข้อมูลจึงพบว่าเรื่องอุดมการณ์พุทธศาสนาที่โจทย์ถามนี้สัมพันธ์กับหลักธรรมในวันมาฆบูชา แทบจะตกเก้าอี้.. เพราะเอาเข้าจริง ถ้าเปิดเนื้อหาในหนังสือเรียนพุทธศาสนาตั้งแต่ ป.1 ยัน ม.6 หรือแม้แต่ที่เราได้ยินคนพูดสรุปเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนเลย ส่วนตัวครูแป๊ปจึงมองว่าโจทย์ข้อนี้ถามได้ทะลวงลึกดี ยากพอควร การหาคำตอบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราไม่ได้ศึกษาหรือรู้เรื่องนี้มาก่อน
เข้าถึงเนื้อหา : เรื่องอุดมการณ์ตามที่โจทย์ข้อนี้ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสอบวิชาสามัญของนักเรียน ม.6 ปี 2561 ถามนั้น สัมพันธ์โดยตรงกับหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา โดยหลักธรรมนี้สามารถสรุปได้เป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6
หลักการ 3 = การไม่ทำบาปทั้งปวง / การทำกุศลให้ถึงพร้อม / การทำจิตใจให้บริสุทธิ์
อุดมการณ์ 4 = ความอดทนอดกลั้นเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ / การมุ่งให้ถึงพระนิพพาน อันเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช / ไม่พึงทำให้ผู้อื่นลำบากด้วยการทำความทุกข์ทางกายและทางใจไม่ว่าจะกรณีใดๆ / เป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตก ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น
วิธีการ 6 = การไม่กล่าวร้าย / การไม่ทำร้าย / ความสำรวมในปาติโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส) / ความพอเพียง / ความสันโดษ / ความเพียรในอธิจิต
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาข้างต้นที่ครูแป๊ปยกมาอธิบาย ทุกคนคงเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 1 มีความอดทนบากบั่นทำงานอย่างไ่ม่ย่อท้อ ก็อย่างที่บอกไปในส่วนวิเคราะห์ข้อสอบแหละครับ ว่าข้อนี้มันยากจริง คือ ถามอะไรที่ไม่เคยสอนกันเลย นี่เป็นหนึ่งในสไตล์การออกข้อสอบแบบวิชาสามัญ ซึ่งเขามักอ้างว่า นักเรียนควรต่อยอดหรือเรียนรู้อะไรได้มากกว่าเนื้อหาในหลักสูตรที่เรียน 55555
ตัวเลือกที่ 2 ฝึกสมาธิก่อนนอนทุกวัน เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ >> จะว่าไปแล้วตัวเลือกนี้ก็สามารถดึงไปสัมพันธ์กับอุดมการณ์ในข้อที่ 4 ในเรื่องการเป็นผู้มีจิตใจสงบได้ เพราะเน้นที่การชำระจิตใจ แต่หากเทียบกับตัวเลือกที่ 1 ที่ระบุตรงๆ ในคำว่า อดทน ตัวเลือกที่ 1 จะชัดกว่า
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 เยภุยยสิกา (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (ประวัติและความสำคัญของพุทธศาสนา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : เนื้อหาที่โจทย์ O-Net (62) ข้อนี้ถามจะโยงกับเนื้อหาเรื่อง ประชาธิปไตยในพุทธศาสนา ซึ่งโยงกับความสำคัญของพุทธศาสนา อีกทีหนึ่ง เนื้อหาเรื่องนี้มีปรากฎในหนังสือเรียนอยู่บ้าง แต่ด้วยการที่เป็นภาษาบาลีก็อาจจะยากซักนิด สำหรับนักเรียนที่ทบทวนเรื่องนี้มาแบบผ่านๆ วิธีการหาคำตอบคือพยายามตัดตัวเลือกทิ้ง จะช่วยให้เรามีโอกาสตอบถูกกันได้มากขึ้น
วิเคราะห์ตัวเลือก : 2 ใน 5 ตัวเลือกนี้ จะสัมพันธ์กับหลักธรรมเรื่อง อธิปไตย 3 หรือหลักการมอบความเป็นใหญ่ในการปกครอง 3 แบบ ซึ่งตรงนี้จะไม่ตรงกับที่โจทย์ถาม เราจะตัดออก ก่อน
ตัวเลือกที่ 5 อัตตาธิปไตย >> หมายถึง การถือตนเป็นใหญ่ กระทำการโดยยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นที่ตั้ง เปรียบได้กับการปกครองแบบเผด็จการ
ตัวเลือกที่ 1 ธรรมาธิปไตย >> หมายถึง การถือธรรมหรือความถูกต้องเป็นใหญ่ เป็นแนวทางการปกครองที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญ
เข้าถึงเนื้อหา : ทีนี้ในตัวเลือกที่เหลืออยู่ จะเป็นประเด็นตามที่โจทย์ถามทั้งหมด โดยสัมพันธ์กับเรื่อง อธิกรณสมณะ หรือ การทำอธิกรณ (ความขัดแย้ง) ให้สงบระงับ หลักการเหล่านี้ตามพระธรรมวินัย จะมี 7 วิธี แต่ที่ตรงกับตัวเลือกให้มา มี 3 วิธี ครูแป๊ปจึงขอยกมาเพียง 3 วิธีนี้เท่านั้น
สัมมุขาวินัย (ตัวเลือกที่ 4) >> การตัดสินในที่พร้อมหน้าทั้งโจทก์และจำเลย ตามพยานหลักฐาน
ตัสสปาปิยสิกา (ตัวเลือกที่ 3) >> การลงโทษแก่ผู้ผิดที่ไม่รับ การลงโทษพยานที่ไม่ยอมพูดในการสอบสวนของคณะสงฆ์
เยภุยยสิกา (ตัวเลือกที่ 2) >> การระงับด้วยเสียงข้างมาก โดยใช้วิธีจับสลาก ข้างไหนมีภิกษุผู้ร่วมพิจารณาลงความเห็นมากกว่าก็ถือเอาพวกข้างนั้น ลักษณะเช่นนี้จะเหมือนกับการโหวตลงคะแนนเสียงในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาในส่วนเข้าถึงเนื้อหา คำตอบในข้อนี้จึงตรงกับตัวเลือกที่ 2 เยภุยยสิกา นั่นเอง ความจริงเวลาเราเรียนพุทธศาสนากันเราไม่ได้เรียนลึกไปถึงเรื่องการระงับอธิกรณนี้หรอก เพราะนี่เป็นเรื่องของสงฆ์โดยตรง แต่ที่เค้าหยิบมาถามนี้ เค้ายกไปบอกกล่าวเราเลยในหัวข้อเรื่องประชาธิปไตยในพุทธศาสนา อย่างที่ครูแป๊ปบอกไปในส่วนวิเคราะห์ข้อสอบ แต่ปัญหาคือยกมาเป็นบาลีแบบนี้เลยไง ใครจำได้ก็ได้ไป จำไม่ได้ก็นะ…รู้คำตอบกันดี….
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 การตรัสรู้ของเจ้าชายสิตธัตถะ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (ประวัติและความสำคัญของพุทธศาสนา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : หากมองภาพรวมหลายคนอาจคิดว่าโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญข้อนี้ยาก แต่จริงๆ แล้วถ้าเราแปลความหมายของคำว่า อาสภิวาจา ได้ ทุกอย่างจะคลายในทันที โดยเนื้อหาที่โจทย์ใช้ถามนี้สามารถโยงกับเรื่องความสำคัญของพุทธศาสนาในหัวข้อที่ว่า พุทธศาสนามุ่งสู่อิสรภาพที่แท้จริง ประเด็นนี้นักเรียนทุกคนต้องเรียนผ่านไปแล้วแน่นอน แต่ปัญหามันมีอยู่ตรงที่ว่า ในเนื้อหาหนะ เค้าบอกแค่ อะไรคืออิสรภาพ แต่ไม่ได้บอกว่า อะไรคือ อาสภิวาจา นี่สิ ดังนั้นการหาคำตอบของโจทย์นี้ เราจึงควรเข้าใจความหมายของคำนี้สักเล็กน้อย เพื่อกันตอบพลาด
เข้าถึงเนื้อหา :
อาสภิวาจา = เป็นวาจาที่เจ้าชายสิตธัตถะ เปล่งออกมาในวันที่พระองค์ประสูติ มีใจความสำคัญว่า “เราเป็นผู้เลิศของโลก เป็นผู้ใหญ่ที่สุดของโลก นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป”
อิสรภาพ = ในทางพุทธศาสนา หมายถึง การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ (เวียนว่ายตายเกิด) ในภาวะที่เรียกกันว่า นิพพาน
สรุปคำตอบ : จากคำอธิบายความหมายของคำว่า อาสภิวาจา และอิสรภาพ ข้างต้น เมื่อเรานำมาโยงเข้ากับประเด็นที่โจทย์ถาม ว่า การประกาศอิสรภาพนี้เป็นจริงเมื่อใด คำตอบจะอยู่ในตัวเลือกที่ 3 การตรัสรู้ของเจ้าชายสิตธัตถะ โดยการประกาศอิสรภาพในที่นี้ คือ ประโยคที่ว่า “นี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดใหม่อีกต่อไป” ความหมายนี้คือ นิพพาน นั่นเอง การจะเข้าถึงภาวะนี้ได้ คือ การที่เจ้าชายสิตธัตถะตรัสรู้ธรรม เข้าใจในอริยสัจ เป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จุดเน้นสำคัญที่เค้าจะบอกเราในเรื่องนี้ คือ เจ้าชายสิตธัตถะเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ใช่เทพ ไม่ใช่เทวดา ก็สามารถเข้าถึงความจริงเรื่องนี้ได้ เพียงใช้สติปัญญาและความสามารถของตน ไม่ผ่านการดลบันดาลใดๆ จากเทพเจ้า นั่นหมายความว่า มนุษย์มีศักยภาพที่จะเข้าถึงอิสรภาพนี้ได้ด้วยตนเอง ผ่านการฝึกฝนบำเพ็ญเพียรต่างๆ
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 สรรพสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (หลักธรรม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบในระบบ Eทtrance เก่า เดือน ต.ค. 43 แต่ครูแป๊ปได้เพิ่มตัวเลือกเข้าไป 1 ตัว เพื่อให้ได้ 5 ตัวเลือก คำถามออกในเชิงวิเคราะห์ แต่ละตัวเลือกมองผ่านๆ จะเหมือนถูกหมด กุญแจในหาคำตอบอยู่ที่ความหมายของคำว่าทุกข์ ซึ่งจะต้องมองในความหมายเชิงศาสนา ไม่ใช่ในความหมายทั่วๆ ไป
เข้าถึงเนื้อหา : ความทุกข์ในพุทธศาสนา ปกติเราจะคุ้นเคยกับ ความทุกข์ที่อยู่ในหลักอริยสัจ 4 ซึ่งหมายถึง สภาวะที่ทนได้ยาก หรือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แต่จริงๆ แล้ว ทุกข์ที่อยู่ในหลักอริยสัจ 4 นี้ อยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์อีกที คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ที่สัมพันธ์กับโจทย์ คือ ทุกขัง ซึ่งหมายถึง ภาวะที่ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับสิ่งมีชีวิตเท่านั้นแต่เกิดกับทุกสรรพสิ่งในโลกใบนี้ กฎดังกล่าวเป็นกฎพื้นฐานของสรรพสิ่ง แต่มนุษย์ (รวมถึงสัตว์โลก) ไม่เข้าใจในกฎนี้ อยากคงสภาพ ไม่อยากเปลี่ยนแปลง ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากป่วย ไม่อยากแก่ ไม่อยากให้สิ่งที่ครอบครองอยู่เสื่อมสลาย ภาวะดังกล่าวจึงสร้างความทุกข์ให้กับเรานั่นเอง
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา จะเห็นได้ชัดเจนว่าคำตอบของโจทย์นี้อยู่ที่ตัวเลือกที่ 3 สรรพสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน คลุมความหมายตามที่อธิบายไปทุกอย่าง
4 ตัวเลือกที่เหลือ ล้วนเป็นองค์ประกอบย่อยของตัวเลือกที่ 3 ทั้งสิ้น
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ฉลาดและมีไหวพริบในการสนทนาทางธรรม (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พุทธสาวก พุทธสาวิกา และชาวพุทธตัวอย่าง)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้ไม่มีอะไรยาก ออกตามเนื้อหาปกติ หากได้เรียนรู้มาแล้ว ย่อมหาคำตอบได้แน่นอน
สรุปคำตอบ : คุณลักษณะที่สัมพันธ์กับพระนาคเสนเถระ คือ ตัวเลือกที่ 2 ฉลาดและมีไหวพริบในการสนทนาทางธรรม โดยพระนาคเสน คือ ผู้สนทนาธรรมกับพระยามิลินท์ ซึ่งเป็นกษัตริย์เชื้อสายกรีกที่ปกครองเมืองสาคละ แม้คำถามที่พระยามิลินท์ถามจะเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งทางพุทธศาสนา แต่พระนาคเสนก็สามารถตอบได้ฉาดฉานทุกปัญหา จนพระยามิลินท์ชื่นชมพระนาคเสน และเกิดความศรัทธาในพุทธศาสนา ประกาศพระองค์นับถือพุทธศาสนาและสร้างวิหารถวายพระนาคเสน ชื่อว่า มิลินทวิหาร
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 เป็นความคิดเพื่อกำจัดอวิชชาและตัณหา (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (การบริหารจิตและเจริญปัญญา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์นี้ถามเกี่ยวกับเรื่องวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นวิธีคิดตามแนวทางพุทธศาสนา เช่นเดียวกับโจทย์ข้อ 7 ออกตามเนื้อหาปกติ แต่จะเป็นแนววิเคราะห์เล็กน้อย การหาคำตอบเชื่อว่า นักเรียนทุกคนต้องผ่านการเรียนเรื่องโยนิโสมนสิการมาบ้าง ให้พยายามดูวิธีคิดแบบต่างๆ ตามหลักคิดเรื่องนี้ แล้วจะพบคำตอบได้ไม่ยาก
เข้าถึงเนื้อหา : โยนิโสมนสิการ เป็นกระบวนการคิดวิธีหนึ่งที่จะก่อให้เกิดปัญญา แปลเป็นไทยได้ว่า กระบวนการคิดอย่างแยบคาย หมายถึง การคิดที่ถูกต้องแยบคายหรือการคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถูกวิธี มีระเบียบ คิดตามเหตุผล และสร้างสรรค์
สรุปคำตอบ : จากความหมายของคำว่าโยนิโสมนสิการ ตามที่อธิบายไป เมื่อเทียบกับตัวเลือกแล้ว ตัวเลือกที่เป็นคำตอบจึงตรงกับตัวเลือกที่ 1 เป็นความคิดเพื่อกำจัดอวิชชาและตัณหา โดยโยนิโสมนสิการ ก็คือ การคิดที่มองหาสาเหตุของปัญหา เน้นการดับปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งตรงกับเนื้อความในตัวเลือกนี้ คือ คำว่า อวิชชา-ความไม่รู้ และตัณหา-ความทะยานอยาก หากเราสามารถคิดได้เช่นนี้เท่ากับเราเป็นผู้คิดเป็น นำไปสู่ปัญญาในที่สุด
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 ศีลล้างบาป (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาคริสต์
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ O-Net ปี 2561 ถามในประเด็นเกี่ยวกับประวัติศาสดาของศาสนาคริสต์ หากนักเรียนนับถือคริสต์ข้อนี้ก็ง่ายดายมาก แต่หากนับถือศาสนาอื่น อาจต้องคิดซักนิด เพราะการถามดูจะแหวกแนวจากการถามในเนื้อหาศาสนาคริสต์ของปีก่อนๆ ที่ผ่านมา
สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 1 ศีลล้างบาป โดยพระเยซู ทรงรับบัพติศ หรือศีลล้างบาป จากยอห์นผู้ให้บัพติศมา (John the Baptist) ในขณะที่ท่านอายุได้ 30 ปี ยอห์นผู้นี้ท่านเป็นนักเทศน์ชาวยิว และภายหลังได้รับการยกย่องเป็นนักบุญในศาสนาคริสต์ ตามประวัติของศาสนาคริสต์ ท่านมีศักดิ์เป็นญาติของพระเยซู
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เพราะเป็นการ “ตั้งภาคี” เสมอกับพระอัลลอฮ์ (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาอิสลาม
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ถามเกี่ยวกับข้อห้ามของศาสนาอิสลาม ดูตัวเลือกรวมๆ เหมือนจะยาก แต่ถ้าเข้าใจหลักศรัทธารวมถึงหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจน การหาคำตอบจากโจทย์นี้ทำได้ไม่ยากเลย
สรุปคำตอบ : เหตุผลที่ศาสนาอิสลามห้ามบูชาเครื่องรางของขลัง ตรงกับตัวเลือกที่ 4 เพราะเป็นการ “ตั้งภาคี” เสมอกับพระอัลลอฮ์ ทั้งนี้เนื่องจาก ตามหลักศาสนาอิสลาม สรรพสิ่งล้วนเกิดจากการสร้างของพระเจ้า (อัลลอฮ์) ดังนั้นมุสลิมจึงไม่ควรยกสรรพสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเสมอเหมือนหรือเท่ากับพระองค์ กรณีเครื่องรางของขลังก็เช่นกัน เหล่านี้เป็นสิ่งสมมติ มุสลิมจึงไม่ควรยกสิ่งเหล่านี้ (ผ่านการบูชาต่างๆ) ขึ้นมาเทียบเทียมพระเจ้า หลักความคิดดังกล่าวสัมพันธ์ทั้งหลักศรัทธา และหลักปฏิบัติของมุสลิม ที่ว่า มุสลิมต้องศรัทธาในอัลลอฉ์และปฏิญาณตนว่าจะมีอัลลอฮ์เป็นพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว จะไม่ตั้งภาคีหรือสิ่งสมมติอันใดเสมอเหมือนอัลลอฮ์
ตัวเลือกที่ 2 เพราะเครื่องรางของขลังเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และตัวเลือกที่ 5 เพราะทุกชีวิตจะต้องดำเนินไปตามลิขิตของอัลลอฮ์ >> เหตุผลในการตอบจะยังไม่ชัดเจน ตรงจุดเท่ากับระบุเรื่อง ตั้งภาคี ไปเลย