เฉลยแบบทดสอบสาระศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม ชุดที่ 2
1) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ทำให้รู้ว่าชีวิตมีหน้าที่อย่างไรบ้าง (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 43 ถามเกี่ยวกับหลักธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งโดยรวมถือว่าเป็นข้อสอบที่หาคำตอบได้ไม่ยากเลย เพียงเข้าใจความหมายของหลักธรรมนี้เพียงเล็กน้อยก็หาคำตอบได้แล้ว
เข้าถึงเนื้อหา : หลักอาศรม 4 ถือเป็นหลักปฏิบัติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพื่อให้ศาสนิกบรรลุจุดหมายสูงสุด แบ่งออกเป็นช่วงการปฏิบัติ ตามวัยต่างๆ โดยกำหนดเกณฑ์อายุคนไว้ 100 ปี แบ่งช่วงของการใช้ชีวิตเป็น 4 ตอน ตอนละ 25 ปี ช่วงชีวิตแต่ละช่วงเรียกว่า อาศรม (วัย) ได้แก่ ปฐมวัย-พรหมจารี (อาศรมที่ 1) มัชฌิมวัย-คฤหัสถ์ (อาศรมที่ 2) ปัจฉิมวัย-วานปรัสถ์ (อาศรมที่ 3) และสันยัสตาศรม-สันยาสี (อาศรมที่ 4)
จุดมุ่งหมายสำคัญของหลักอาศรม 4 คือ เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับชีวิตให้สูงขึ้นตามช่วงวัย (ให้ทราบว่าในแต่ละช่วงวัยของชีวิตมีหน้าที่อย่างไร และจะต้องปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะกับช่วงวัย) หรือเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งสู่โมกษะ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนา
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา ตัวเลือกที่แสดงถึงความสำคัญของหลักคำสอนเรื่อง อาศรม 4 ได้ชัดเจนที่สุด จึงตรงกับตัวเลือกที่ 2 ทำให้รู้ว่าชีวิตมีหน้าที่อย่างไรบ้าง
ตัวเลือกที่ 1 และ 4 >> ไม่ใช่ความสำคัญหรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับหลักอาศรม 4
ตัวเลือกที่ 3 ทำให้เชื่อว่าโมกษะเป็นเป้าหมายของชีวิต >> จุดมุ่งหมายในหลักอาศรม 4 จะอยู่ในเรื่องแนวทางปฏิบัติซึ่งแบ่งตามช่วงวัย แม้จะมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่โมกษะ แต่ความสำคัญของหลักคำสอนนี้ไม่ได้อยู่ที่การสร้างความเชื่อ แต่จะอยู่ที่แนวทางการปฏิบัติซึ่งแสดงออกมาเป็นหน้าที่ในแต่ละช่วงวัยมากกว่า ด้วยเหตุนี้คำตอบจึงควรอยู่ในเรื่องหน้าที่ของชีวิตตามตัวเลือกที่ 2 มากกว่า
ตัวเลือกที่ 5 ทำให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตตามหลักศาสนา >> เป็นจุดเน้นของหลักคำสอน ปุรุษารถะหรือประโยชน์ 4 ไม่ใช่จุดเน้นของหลักคำสอนเรื่องอาศรม 4
2) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เหตุการณ์ตรัสรู้ = พระปัญญาคุณและพระวิสุทธิคุณ, เหตุการณ์แสดงธรรมจักร = พระกรุณาคุณ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พุทธประวัติ-พระพุทธคุณ 3)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 แนววิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างหลักพุทธคุณกับพุทธประวัติ ซึ่งถือว่าไม่ยากมากนัก หลักสำคัญที่จะทำให้นักเรียนได้คะแนนจากโจทย์นี้แน่ๆ คือ จะต้องเข้าใจก่อน พระพุทธคุณ 3 ประกอบด้วยอะไร และมีความหมายอย่างไร
เข้าถึงเนื้อหา : พระพุทธคุณ 3 หมายถึง พระคุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ในโลก ซึ่งมี 3 ประการสำคัญ คือ
พระปัญญาคุณ หมายถึง พระปัญญาของพระพุทธเจ้าที่ทรงล่วงรู้ความจริงของสรรพสิ่ง และนำความจริงนั้นมาเผยต่อโลกตามพื้นเพแห่งอัธยาศัยของบุคคลเหล่านั้น
พระวิสุทธิคุณ หมายถึง ความบริสุทธ์ สะอาด ปราศจากอาสวะกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย มีพระทัยคงที่ ไม่แปรผัน ท่ามกลางอารมณ์ที่กระแทกกระทั้นจากภายนอก
พระกรุณาคุณ หมายถึง ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะแต่ประการใด
สรุปคำตอบ : จากหลักพระพุทธคุณ 3 ข้างต้นนี้ เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติจะได้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 4 เหตุการณ์ตรัสรู้ = พระปัญญาคุณและพระวิสุทธิคุณ, เหตุการณ์แสดงธรรมจักร = พระกรุณาคุณ โดย
การตรัสรู้สื่อถึงพระปัญญาของพระพุทธเจ้าที่รอบรู้ถึงอริยสัจ จนสามารถเข้าถึงการหลุดพ้นได้ ในขณะที่ยังสื่อให้เห็นถึง พระวิสุทธิคุณ คือ ความบริสุทธิ์ สะอาดหมดจด จากอาสวะกิเลส แม้จะมีสิ่งกระแทกกระทั้นจากภายนอก แต่พระทัยของพระพุทธองค์ก็ยังบริสุทธิ์ มั่นคง ไม่แปรผัน จนสำเร็จการล่วงรู้ในอริยสัจได้
การแสดงธรรมจักร สื่อถึงพระกรุณาคุณ ของพระพุทธเจ้า ที่มีความกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้ล่วงรู้ในอริยสัจ และนำไปสู่การหลุดพ้นจากวัฏสงสาร (เวียนว่ายตายเกิด) ซึ่งก่อเกิดความทุกข์ให้กับสัตว์ทั้งหลายไม่รู้จบ
กรณีเหตุการณ์ประสูติ ยังไม่สามารถสื่อความหมายได้ตรงกับพระพุทธคุณ 3
3) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 โอวาทปาฏิโมกข์ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (หลักธรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามในเรื่องเกี่ยวกับหลักธรรม ภาพรวมของโจทย์ดูจะออกลึกกว่าเนื้อหาหลักธรรมที่ปรากฎในหนังสือเรียน แต่หากนักเรียนค่อยๆ ตั้งใจพิจารณาความหมายหรือหลักสำคัญของหลักธรรมในแต่ละตัวเลือก ก็ไม่ยากเกินไปที่จะหาคำตอบเจอ
สรุปคำตอบ : จากคำสำคัญที่ปรากฎในโจทย์ คือ ทำอะไร เพื่ออะไร และทำอย่างไร สามารถโยงได้กับหลักโอวาทปาฏิโมกข์ในตัวเลือกที่ 4 โดยหลักธรรมนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ
อุดมการณ์ 3 (อดทน / นิพพาน / ไม่ก่อเวร) ซึ่งเท่ากับหลักที่ว่า เพื่ออะไร
หลักการ 3 (ทำความดี / ละเว้นความชั่ว / ทำใจให้ผ่องใส) ซึ่งเท่ากับหลักที่ว่า ทำอะไร
วิธีการ 5 (ไม่ว่าร้าย / ไม่ทำร้าย / สำรวมในมารยาทและศีล / ประมาณในอาหาร / อยู่ในที่อันสงบเงียบ / ประกอบความเพียรในการทำสมาธิ) ซึ่งเท่ากับหลักที่ว่า ทำอย่างไร
โดยโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้กับเหล่าสาวกที่เป็นพระอรหันต์ฟัง ภายหลังพระสงฆ์เหล่านี้กลับมาจากการเผยแผ่พุทธศาสนา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา
ตัวเลือกที่ 1 ปฐมเทศนา >> สื่อถึง หลักธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งหลักธรรมนี้จะมีหลักธรรมย่อย คือ มัชฌิมาปฏิปทา อริยมรรค และขันธ์ 5
ตัวเลือกที่ 2 ปัจฉิมโอวาท >> สื่อถึง หลักอัปปมาทธรรม หรือ หลักความไม่ประมาท (มีสติอยู่เสมอ)
ตัวเลือกที่ 3 อนัตตลักขณสูตร >> เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงต่อปัญจวัคคีย์ ภายหลังแสดงหลักธัมมจักกัปปวัตนสูตร แล้ว และยังผลให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ตัวเลือกที่ 5 มัชฌิมาปฏิปทา >> ทางสายกลาง หมายถึง หลักอริยมรรค ซึ่งเป็นหนทางสู่การดับทุกข์
4) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 “กบเอยทำไมจึงร้อง กบเอยทำไมจึงร้อง ที่กบมันร้องก็เพราะว่าท้องมันปวด ท้องเอยทำไมจึงปวด ท้องเอยทำไมจึงปวด ที่ท้องมันปวดก็เพราะว่าข้าวมันดิบ ข้าวเอยทำไมจึงดิบ ข้าวเอยทำไมจึงดิบ ที่ข้าวมันดิบก็เพราะว่าฝนมันตก” (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (หลักธรรม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญ ปี 62 ซึ่งมาแปลกมาก คือ มาเป็นเนื้อเพลงเลย โดยให้วิเคราะห์เข้ากับหลักธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งถือเป็นหลักธรรมสำคัญของพุทธศาสนา แม้จะมาเป็นเชิงวิเคราะห์ แต่หาคำตอบได้ไม่ยาก ต่อให้นักเรียนจะไม่เข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทมากนัก ดูที่คำสำคัญที่เขาให้มา คือ เหตุผลปัจจัย มีเพียงตัวเลือกเดียวที่เป็นเหตุเป็นผล
เข้าถึงเนื้อหา : หลักปฏิจจสมุปบาท หรือหลักอิทัปปัจจยตา คือ หลักธรรมในพุทธศาสนาที่แสดงความเป็นเหตุเป็นผลของสรรพสิ่ง จุดประสงค์หลักของหลักธรรมนี้ คือ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนสัมพันธ์กับเหตุปัจจัย หากดับเหตุได้ ผลก็จะดับไปด้วย โดยแก่นของหลักปฏิจจสมุปบาท คือ เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เพราะสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ หลักธรรมดังกล่าวสัมพันธ์โดยตรงกับหลักนิยาม 5 ในเรื่อง ธรรมนิยาม หรือความเป็นเหตุผลของสรรพสิ่ง
สรุปคำตอบ : จากความหมายและจุดเน้นสำคัญของหลักปฏิจจสมุปบาท เนื้อเพลงที่แสดงเหตุผลตามหลักเหตุผลปัจจัยนี้ จึงตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 “กบเอยทำไมจึงร้อง กบเอยทำไมจึงร้อง ที่กบมันร้องก็เพราะว่าท้องมันปวด ท้องเอยทำไมจึงปวด ท้องเอยทำไมจึงปวด ที่ท้องมันปวดก็เพราะว่าข้าวมันดิบ ข้าวเอยทำไมจึงดิบ ข้าวเอยทำไมจึงดิบ ที่ข้าวมันดิบก็เพราะว่าฝนมันตก”
5) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 อัปปมาทธรรม (***)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ยกพุทธโอวาทในเรื่องรอยเท้าช้างมาเป็นประเด็นถาม ถือว่ายากพอสมควรเนื่องจากใช้ข้อความจากเนื้อความในพระไตรปิฎกเป็นประเด็นถาม และหลักธรรมที่เลือกมาใช้ลวงแม้จะมีบางหลักที่เราตัดออกได้ง่ายๆ แต่ก็ยังมีบางหลักที่น้ำหนักคำตอบใกล้เคียงกัน หากว่านักเรียนไม่ได้เห็นพุทธโอวาทเต็มจากพระไตรปิฎกมาก่อนก็ยากจะตอบคำถามจากโจทย์นี้ได้
เข้าถึงเนื้อหา : พุทธโอวาทโดยอุปมากับรอยเท้าช้างนี้ มีเนื้อความเต็มๆ ดังนี้ “รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้างเรียกได้ว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลายอย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาทเรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้นฉันนั้น”
สรุปคำตอบ : จากพุทธโอวาทที่ยกมากล่าวนี้ เห็นได้ชัดเจนว่าคำว่า รอยเท้าช้าง ถูกเทียบกับหลักธรรมเรื่องอัปปมาทธรรม (ตัวเลือกที่ 5) คือ ความไม่ประมาท นั่นเอง ทั้งนี้พระพุทธเจ้าได้เน้นย้ำว่า ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ ความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติและการกระทำทุกอย่าง ระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในความเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงามและความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง รอบคอบ และรุดหน้าเรื่อยไป กล่าวโดยสรุปเราจะต้องดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สติจะเป็นเครื่องกำกับกรรมของเราเสมอ หากไม่ขาดสติ การกระทำใดๆ ย่อมบรรลุผลในทางกุศล
6) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ฟ้ามักพูดกับพ่อแม่ ครู และเพื่อนๆ ด้วยคำไม่สุภาพจนครูต้องตักเตือนบ่อยๆ (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ออกแนววิเคราะห์ โดยให้นักเรียนเชื่อมโยงพฤติกรรมกับหลักสีลสิกขา มองรวมๆ เหมือนยาก แต่ความจริงไม่มีอะไร เพียงนักเรียนแปลความได้ว่า สีลสิกขา คืออะไรก็จะเห็นคำตอบทันที
เข้าถึงเนื้อหา : สีลสิกขา คือ หนึ่งในหลักไตรสิกขา หรือหลักการศึกษา-พัฒนา ในพุทธศาสนา (อีก 2 คือ จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา) เน้นที่ฝึกพัฒนาที่การกระทำ โดยให้ควบคุมความประพฤติหรือการกระทำเป็นหลัก หลักสีลสิกขา นี้ หากนำไปโยงกับอริยมรรค จะตรงกับ สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) สัมมาอาชีวะ (เลียงชีพชอบ)
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาเรื่องสีลสิกขา เมื่อนำไปโยงกับตัวเลือกจะเห็นได้ชัดเจนว่า ตรงกับตัวเลือกที่ 5 ฟ้ามักพูดกับพ่อแม่ ครู และเพื่อนๆ ด้วยคำไม่สุภาพจนครูต้องตักเตือนบ่อยๆ โดยฟ้าจะต้องได้รับการพัฒนาในเรื่องการพูด ซึ่งก็คือ สีลสิกขาในข้อสัมมาวาจา นั่นเอง
ตัวเลือกที่ 1 แดงเป็นคนเจ้าอารมณ์ มักหงุดหงิดโกรธง่ายจนเพื่อนๆ ไม่อยากอยู่ใกล้ และ ตัวเลือกที่ 4 เขียวรู้สึกโกรธแค้นนายดำอย่างมากที่ล้อเลียนชื่อพ่อแม่ตนเอง >> พฤติกรรมจากบุคคลใน 2 ตัวเลือกนี้ จะต้องได้รับการพัฒนาตามหลักจิตตสิกขา ผ่านหลักอริยมรรคในข้อ สัมมาสติ นั่นคือ ระลึกชอบ ทั้งนี้เพราะทั้งแดงและเขียว ขาดการครองสติ ปล่อยให้อารมณ์โกรธเข้าครอบงำจิตของตน
ตัวเลือกที่ 3 ขาวมองว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ เพราะพ่อแม่ทิ้งตนเองให้ปู่ย่าเลี้ยงดูจนเติบโต >> พฤติกรรมของขาว ต้องได้รับการพัฒนาตามหลักปัญญาสิกขา ผ่านหลักอริยมรรคในข้อ สัมมาทิฐิ นั่นคือ คิดชอบ โดยคำว่า มองว่า… คือการสื่อถึงความคิด
ตัวเลือกที่ 2 ดำคิดว่าการดื่มสุราเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง >> พฤติกรรมของดำ จะต้องได้รับการพัฒนาตามหลักปัญญาสิกขา ผ่านหลักอริยมรรคในข้อ สัมมาสังกัปปะ นั่นคือ ดำริชอบ เน้นที่การคิดตัดสินใจ (มีข้อสรุปของความคิด)
7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 การพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พุทธศาสนากับการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม)
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นคำถามในเชิงการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาพรวมของข้อสอบไม่มีอะไรยาก โดยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนนี้เป็น concept หลักที่เราเรียนผ่านจากสาระภูมิศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อยู่แล้ว ดังนั้นใช้องค์ความรู้จากสาระทั้งสองนี้มาหาคำตอบจากโจทย์นี้ได้เลย
สรุปคำตอบ : การพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักพุทธศาสนานั้นตรงกับความหมายในตัวเลือกที่ 5 การพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในการพัฒนาตามหลักทางพุทธศาสนาหรือแม้แต่การพัฒนาตามหลักการทั่วไป สิ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ การพัฒนาคนเพราะหากขาดการพัฒนาคนแล้ว การพัฒนาใดๆ ย่อมไม่มีทางประสบความสำเร็จ คนที่มีคุณภาพ ได้รับการศึกษา มีจริยธรรมที่ดีจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบข้างไปอย่างพอดี มีความเหมาะสม ยั่งยืน การจะพัฒนาคนให้ประสบความสำเร็จ คือ การพัฒนาการศึกษาที่ไม่ได้มุ่งแต่ให้องค์ความรู้ แต่ให้แนวทางในการใช้ชีวิต ให้ทักษะ ให้จริยธรรมประกอบกันไป ในทางพุทธศาสนา สามารถนำหลักไตรสิกขา ปัญญา 3 มาใช้ในการพัฒนาคนได้
ตัวเลือกที่ 1 การพัฒนาให้เกิดความสมดุลระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม >> ความหมายไม่ได้ผิด แต่ยังไม่ครอบคลุมถ้าเทียบกับความหมายในตัวเลือกที่ 5
8) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 ข่มใจไม่โกรธรถคันหลังที่ตะโกนด่าเพราะเราขับช้า บอกตนเองว่าเขาไม่รู้ว่าเราเพิ่งหัดขับจึงด่า (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาคริสต์
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อสอบเป็นโจทย์ข้อสอบ A-Net ปี 51 เทียบได้กับข้อสอบวิชาสามัญในปัจจุบัน ถามเกี่ยวกับหลักความรักซึ่งถือเป็นหลักคำสอนที่สำคัญมากที่สุดของศาสนาคริสต์ ลักษณะโจทย์ออกแนววิเคราะห์ ซึ่งการที่นักเรียนจะผ่านโจทย์ข้อนี้ได้ คือ ต้องเข้าใจความหมายของความรักในศาสนาคริสต์อย่างละเอียดเท่านั้น เนื่องจากแต่ละตัวเลือก ก็สื่อถึงความรักได้ทุกตัว
เข้าถึงเนื้อหา :ความรักตามคำสอนของศาสนาคริสต์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความรักระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า และความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ในส่วนที่โจทย์ถามนี้จะสัมพันธ์กับความรักระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ซึ่งตามหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ จะแสดงออกผ่านความเมตตากรุณา ความเสียสละ และการให้อภัย โดยใน 3 ความหมายนี้ที่แสดงตรงกับความรักที่ศาสนาคริสต์สอนมากที่สุด คือ การให้อภัย ทั้งนี้เพราะการให้อภัยก็คือการแสดงออกถึงความรักความเมตตาวิธีหนึ่ง (รวมความหมายไปถึงการเสียสละ) หากเรายังคงโกรธเคือง เคียดแค้น ไม่ให้อภัย ก็ไม่มีทางที่เราจะเกิดความรักความเมตตาหรือการเสียสละใดๆ ได้
ตัวอย่างที่แสดงถึงการให้อภัยได้ชัดเจนที่สุด จะเห็นได้จากวันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์พระองค์ได้ทรงขอร้องต่อพระเป็นเจ้าให้ยกโทษให้แก่ผู้ที่ทำร้ายพระองค์โดยพระองค์ให้เหตุผลว่าที่บุคคลเหล่านั้นทำไปเป็นเพราะเขาไม่รู้ พระองค์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนที่เกิดมานั้นเป็นคนดี การกระทำผิดที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะเขามีสันดานชั่ว แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมไม่อำนวยให้เขาผู้นั้นแสดงความดีออกมา ส่งผลให้บุคคลนั้นหลงอยู่ในความไม่ถูกต้อง ซึ่งในส่วนนี้หากแปลความแล้ว ก็คือ เกิดจากความไม่รู้ของบุคคล นั่นเอง (รู้ว่าตนเอง สามารถแสวงหาความดีได้)
สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา สรุปได้ว่า การให้อภัย ตรงกับความรักที่ศาสนาคริสต์สอนมากที่สุด ดังนั้นคำตอบจึงต้องอยู่ที่ตัวเลือกที่ 4 ข่มใจไม่โกรธรถคันหลังที่ตะโกนด่าเพราะเราขับช้า บอกตนเองว่าเขาไม่รู้ว่าเราเพิ่งหัดขับจึงด่า
ตัวเลือกที่ 2 >> แสดงถึงความเมตตา (ความคิดที่จะช่วยเหลือ)
ตัวเลือกที่ 1, 3 และ 4 >> แสดงถึงความกรุณา (การให้ จะแสดงออกผ่านการกระทำ)
9) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 พระเจ้าทรงสร้างโลกหกวันและวันที่เจ็ดทรงหยุดพักผ่อน (**)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาอิสลาม
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่ครูแป๊ปดัดแปลงมาจากข้อสอบเก่า ต.ค. 45 โดยรวมๆ เหมือนจะถามเรื่องหลักศรัทธา แต่เมื่อพิจารณาจากตัวเลือกหลายตัวรวมถึงตัวคำตอบจะเห็นได้ว่าดูจะเจาะลึกไปมากกว่าหลักศรัทธา 6 โดยรวมโจทย์นี้ถือว่ายากพอควร นักเรียนจะต้องวิเคราะห์ตัวเลือกให้ดีโดยดูว่าตัวเลือกใดบ่งชี้หลักศรัทธาได้ให้ตัดออกก่อนเพื่อเพิ่มโอกาสในการถูกของตัวเรา
วิเคราะห์ตัวเลือก : ตัวเลือกต่อไปนี้ เป็นความเชื่อในศาสนาอิสลาม
ตัวเลือกที่ 3 พระเยซูคือนบีคนหนึ่งตามความเชื่อของอิสลาม >> นบีในที่นี้สื่อถึงศาสนทูต ตรงตามหลักศรัทธาศาสนทูต โดยศาสนทูตหรือเราะห์ซูล หมายถึง ผู้นำโองการจากพระเจ้ามาประกาศสู่มวลมนุษย์ โดยที่ปรากฎในคัมภีร์อัลกุรอาน มี 25 ท่าน ที่สำคัญ คือ นบีมูซา (โมเสส ศาสดาของศาสนายูดาย) นบีอีซา (พระเยซู ศาสดาของศาสนาคริสต์) นบีมูฮัมมัด (ศาสดาของศาสนาอิสลาม และเป็นศาสนทูตคนสุดท้ายของพระเจ้า)
ตัวเลือกที่ 1 อาคีเราะห์หมายถึงวันพิพากษาตามความเชื่อของอิสลาม >> ถูกต้องตามหลักศรัทธาของศาสนาอิสลาม โดยอาคีเราะห์หรือกียะมะห์คือวันพิพากษาตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม โดยในวันนี้จะเป็นวันที่มนุษยชาติจะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเพื่อตัดสินตอบแทนผลบุญที่ได้กระทำ ผู้ตัดสินคือองค์อัลลอฮ์ ชาวสวรรค์จะได้เข้าไปพำนักในสวนสวรรค์ของพวกเขาตลอดกาล ในขณะที่ชาวนรกจะได้เข้าไปพำนักในนรกตลอดกาล
ตัวเลือกที่ 2 พระเจ้าทรงสร้างชีวิต และปล่อยให้วิวัฒนาการไปตามเงื่อนไข >> ความเชื่อนี้จะเหมือนกับความเชื่อของผู้นับถือศาสนาคริสต์ โดยพระเจ้าสร้างมนุษย์แต่ก็ยังคงให้มนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกว่าจะทำดีหรือชั่วด้วยตัวเอง เป็นไปตามหลักศรัทธาในกฎสภาวการณ์ของพระเจ้า ที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลอยู่ภายใต้การกำหนดของพระเจ้าทั้งสิ้น แต่การกระทำของมนุษย์นั้นอยู่ที่เจตนาและการตัดสินใจของมนุษย์เอง
ตัวเลือกที่ 5 พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาให้เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ >> ตามความเชื่อของชาวมุสลิม ทั้งมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติต่างถูกสร้างโดยพระเจ้าทั้งสิ้น โดยพระเจ้าได้กำหนดให้มนุษย์เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ
สรุปคำตอบ : จากการวิเคราะห์ตัวเลือกเราจะเห็นได้ว่าตัวเลือกที่ไม่ใช่ความเชื่อของศาสนาอิสลาม คือ ตัวเลือกที่ 3 พระเจ้าทรงสร้างโลกหกวันและวันที่เจ็ดทรงหยุดพักผ่อน ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อของผู้นับถือศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ ที่ว่าพระเจ้าสร้างโลก 5 วัน สร้างมนุษย์วันที่ 6 และวันที่ 7 เป็นวันหยุด ในศาสนายูดายวันหยุดนี้เรียกว่าวันสบาโต หมายถึงวันเสาร์ ส่วนศาสนาคริสต์คือวันอาทิตย์
ในกรณีของศาสนาอิสลามเชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก 6 วัน วันที่ 7 สร้างมนุษย์ ไม่มีวันหยุดเช่นเดียวกับศาสนายูดายและศาสนาคริสต์ อย่างไรก็ตามชาวมุสลิมก็ได้กำหนดวันบริสุทธิ์ของเขา คือ วันศุกร์ ในวันนี้ชาวมุสลิมจะไปพบปะกันด้วยเครื่องแต่งกายที่สะอาด และมีการทำละหมาดครั้งใหญ่ที่มัสยิด
10) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 การแบ่งปันในศาสนาคริสต์ และซะกาตในศาสนาอิสลาม (*)
เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาเปรียบเทียบ
วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ให้นักเรียนเทียบหลักธรรมของแต่ละศาสนาในเรื่องการอยู่ร่วมกัน แม้จะมากด้วยหลักธรรมหรือหลักปฏิบัติ แต่หลักที่ยกมาแต่ละตัวเลือกเราก็เรียนๆ กันมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีอะไรยาก ค่อยๆ วิเคราะห์ไปทีละตัวเลือก นักเรียนจะพบคำตอบแน่นอน
สรุปคำตอบ : หลักธรรมหรือหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขระหว่างศาสนา ที่ถูกต้องและสอดคล้องกันจะตรงกับตัวเลือกที่ 5 การแบ่งปันในศาสนาคริสต์ และซะกาตในศาสนาอิสลาม โดยทั้งสองต่างสื่อถึงการให้ การลดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวของตัวเราเองลง การช่วยเหลือเห็นอกเห็นใจกันในสังคมตามหลักนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสันติสุขให้เกิดกับสังคม
หลักธรรมในตัวเลือกที่เหลือจะไม่สอดคล้องกันโดยตรง แต่มีหลักธรรมที่สามารถนำมาใช้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คือ จาคะในพุทธศาสนา (เสียสละ) พรหมวิหาร 4 ในพุทธศาสนา (เห็นได้ชัดในหลักเมตตา กรุณา มุทิตา) สังคหวัตถุ 4 ในพุทธศาสนา (หลักธรรมเพื่อการสังคมสงเคราะห์ ประกอบด้วย ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา และสมานัตตตา)
กรณี ตัวเลือกที่ 3 ความเสมอภาคเท่าเทียมในฐานะบุตรของพระเจ้าในศาสนาคริสต์และศาสนาซิกข์ >> ความจริงหลักคำสอนนี้สามารถนำมาใช้สร้างสันติสุขให้เกิดกับสังคมได้เช่นกัน แต่ที่ผิดเพราะคำว่าบุตรของพระเจ้า ตรงนี้ใช้ได้เฉพาะศาสนาคริสต์ ส่วนศาสนาซิกข์ไม่ได้มีความเชื่อนี้ มีแต่เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เน้นทั้งความเสมอภาคทางเพศ ทั้งการไม่มีข้อจำกัดในเรื่องชนชั้นวรรณะ