Answer Key R-3

เฉลยแบบทดสอบสาระศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม ชุดที่ 3

1) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 การได้กลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า ต.ค. 45 โดยครูแป๊ปได้เพิ่มตัวเลือกเข้าไป 1 ตัวเลือก ถามความหมายของการบรรลุโมกษะ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนาฮินดู ไม่มีอะไรยากเกิน พิจารณาที่ตัวเลือกจะเห็นคำตอบได้ไม่ยาก

วิเคราะห์ตัวเลือก :

ตัวเลือกที่ 2 ความหลุดพ้นจากทุกข์ >> เน้นไปในทางพุทธศาสนาที่เรียกกันว่านิพพาน มากกว่าหลุดพ้นแบบโมกษะของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ตัวเลือกที่ 3 การมีชีวิตเป็นนิรันดร์ในสวรรค์ >> เป็นเป้าหมายสูงสุดตามหลักศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ความหมายของการบรรลุโมกษะตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ตัวเลือกที่ 4 ประสบการณ์ทางจิตซึ่งเป็นผลจากการภาวนา >> ผิด ความหมายของการบรรลุโมกษะต้องมุ่งตรงสู่พรหมัน อีกทั้งทางที่สู่การหลุดพ้นหรือบรรลุ ไม่ได้มีแต่การภาวนาเท่านั้น แต่ยังมีกรรมโยคะ (ทางแห่งการปฏิบัติ) ภักติโยคะ (ทางแห่งการความภักดี อุทิศตนบูชาเทพเจ้า) การภาวนาเป็นส่วนหนึ่งของชญาณโยคะหรือทางแห่งปัญญา

ตัวเลือกที่ 5 การปลดเปลื้องภาระจากสังสารวัฎ >> มองภาพรวม ความหมายนี้เหมือนจะถูก คือ หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด แต่ในความหมายยังอธิบายได้ไม่ตรงทีเดียว หากเทียบกับการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าซึ่งให้ความหมายได้ชัดกว่า อีกทั้งการปลดเปลื้องภาระ ความหมายจะเอียงไปในทางหลุดพ้นจากกรรมที่ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอันเป็นแนวคิดทางพุทธศาสนามากกว่า

สรุปคำตอบ : ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 การได้กลับไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า โดยในทรรศนะของชาวฮินดู พระเจ้าคือพรหมันหรือปรมาตมัน ชาวฮินดูเชื่อว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนเกิดจากพรหมันและต้องกลับไปรวมกับพรหมันในขั้นสุดท้าย การกลับคืนสู่พรหมันนี้จะเรียกว่า การหลุดพ้นหรือโมกษะ หมายถึง หลุดจากการเวียนว่ายตายเกิดหรือสังสารวัฏ หลุดจากกรรมใดๆ ทั้งปวง

2) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 เสียงจากผู้อื่น (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (ประวัติและความสำคัญของพุทธศาสนา)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 62 ถามเกี่ยวกับเรื่องหลักการศึกษาในพุทธศาสนา โดยให้เป็นตัวอย่างเหตุการณ์มา (ตามสไตล์ข้อสอบของ สทศ. ที่มักออกแบบนี้) จริงๆ ถ้าพิจารณาทั้งคำถาม และตัวเลือกที่ให้มาจะเห็นว่าเค้าไม่ได้ถามเรื่องหลักการศึกษาโดยตรง แต่ถามเกี่ยวกับองค์ประกอบในการศึกษา หากนักเรียนตีความตรงนี้แตกก็จะช่วยให้วิเคราะห์หาคำตอบได้ง่ายขึ้น

เข้าถึงเนื้อหา : องค์ประกอบในทางการศึกษาตามหลักพุทธศาสนา แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ

1. ปรโตโฆสะ หมายถึง อิทธิพลจากภายนอก หรือนอกตัวบุคคล เช่น คำสั่งสอนจากบุคคลอื่น หรือตามสื่อต่างๆ ในหลักสูตรการศึกษา รวมความถึงวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

2. โยนิโสมนสิการ หมายถึง การรู้จักคิดรู้จักพิจารณาปัจจุบัน เรียกว่า รู้จักคิด คิดเป็น โดยโยนิโสมนสิการเป็นปัจจัยภายใน เป็นตัวที่จะมาทำต่อปรโตโฆสะ เป็นตัวที่จะมาวิเคราะห์ตรวจสอบปรโตโฆสะ ซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมที่มาจากภายนอก ทำให้มองตามความเป็นจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เป็นมาอย่างไร มีส่วนดีส่วนเสีย หรือคุณโทษอย่างไร แล้วรู้จักเลือก รู้จักรับ รู้จักพิจารณาให้ได้แต่สิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่ตน 

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าในกรณีบุตรเศรษฐี องค์ประกอบที่เค้ามีพร้อมสมบูรณ์ตามหลักการศึกษาทางพุทธศาสนา ก็คือ ตัวเลือกที่ 1 เสียงจากผู้อื่น จากการที่บิดาหรือก็คือเศรษฐีคอยสอนสั่ง แต่ที่ท้ายสุดล้มเหลว ก็เพราะขาดองค์ประกอบที่สอง คือ โยนิโสมนสิการ หรือการรู้จักคิด คิดเป็น

3) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 การแสดงธัมมจักกัปวัตนสูตร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน **

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พุทธประวัติ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ยกตัวอย่างคติเกี่ยวกับผู้ปกครองของอินเดียโบราณมาเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติ ดูภาพรวมของโจทย์เหมือนจะยาก แต่จริงๆ ไม่มีอะไร ให้นักเรียนจับประเด็นจากคำสำคัญ คือ แผ่ขยายราชอาณาจักร คำนี้จะบอกนักเรียนได้ชัดเจนว่าจะเชื่อมโยงให้เข้าได้กับตัวเลือกใด

เข้าถึงเนื้อหา : มีคำศัพท์ที่ปรากฏในตัวเลือกอยู่ 1 คำ ซึ่งอาจยากสำหรับนักเรียนที่ไม่ได้ศึกษาพุทธประวัติแบบลงลึก

การกล่าวอาสภิวาจา คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวที่พระพุทธเจ้าครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะกล่าวหลังจากคลอดจากครรภ์ของพระนางสิริมหามายา มีเนื้อความแปลเป็นไทยได้ว่า “เราผู้เป็นเลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นที่สุด บัดนี้ภพใหม่เป็นไม่มีอีกละ” โดยคำว่า อาสภิวาจา หมายถึง วาจาที่กล่าวอย่างอาจหาญ

บทวิเคราะห์ : หากตีความตามพระไตรปิฎก วาจาดังกล่าวถือเป็นเรื่องธรรมดาปกติที่เกิดขึ้นเสมอกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่หากตีความจากเนื้อหาจะแยกออกได้ 2 ประเด็น คือ เป็นวาจาที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถของมนุษย์เอง โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า หรืออำนาจใดๆ อีกต่อไป เป็นการประกาศอิสรภาพทางใจให้แก่มนุษย์ ในประเด็นที่สอง สื่อว่าการเกิดมาในชาติที่เป็นพระสิทธัตถะนับเป็นชาติสุดท้ายของพระองค์ เนื่องจากพระองค์ได้บำเพ็ญบารมีมาในอดีตชาติอย่างมหาศาล โดยเฉพาะ 10 ชาติสุดท้าย เหตุที่ว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้เข้าถึงพระนิพพาน สามารถดับกิเลสทั้งปวงและหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

สรุปคำตอบ : เมื่อพิจารณาเทียบคติเกี่ยวกับผู้ปกครองอินเดียโบราณตามที่โจทย์กำหนดให้เทียบกับเหตุการณ์ในพุทธประวัติทุกตัวเลือกแล้ว จะเห็นว่าตัวเลือกที่เทียบเคียงได้ชัดเจนที่สุด คือ ตัวเลือกที่ 3 การแสดงธัมมจักกัปวัตนสูตร ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทั้งนี้เนื่องจากการแสดงธรรมนี้ถือเป็นธรรมแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงและก่อให้เกิดภิกษุรูปแรกทันทีหลังจากแสดงจบ คือ อัญญาโกณฑัญญะ และภายหลังจากธรรมนี้พระพุทธเจ้าจะแผ่ขยายธรรมของพระพุทธองค์ซึ่งถือว่าเป็นความจริงของธรรมชาติต่อไป ยังผลให้เกิดพุทธสาวก สาวิกา ภิกษุ ภิกษุณี ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเราเทียบกับคำว่า ลั่นกลองรบเพื่อแผ่ขยายราชอาณาจักรก็ชัดเจนว่าเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ต่างกันตรงที่ว่า พระพุทธเจ้าแผ่ขยายอำนาจทางธรรม สอนให้ผู้คนเข้าใจในธรรมชาติที่แท้จริง ในขณะที่พระจักรพรรดิราช แผ่ขยายอำนาจทางโลก เน้นพิชิตอาณาจักรต่างๆ

ตัวเลือกที่ 1 การประสูติและประกาศอาสภิวาจา ณ ลุมพินีวัน >> อาสภิวาจา เน้นการที่ประกาศศักยภาพของมนุษย์ หากตีความตามความหมาย ดังที่กล่าวในส่วนเข้าถึงเนื้อหา ยังไม่สามารถเทียบกับการแผ่ขยายราชอาณาจักรได้

ตัวเลือกที่ 2, 4 และ 5 >> ยังไม่สามารถสื่อเทียบกับคำว่า การแผ่ขยายราชอาณาจักร ได้

4) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 โลกัตถจริยา (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พุทธประวัติ)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญปี 61 โดยโยงพุทธประวัติเข้ากับหลักพุทธจริยา 3 หรือการบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้า 3 ประการ จุดเน้นสำคัญที่จะทำให้นักเรียนหาคำตอบได้อย่างไม่ผิดพลาด คือ ฐานะและความเกี่ยวข้องของพระเจ้าพิมพิสารกับพระพุทธเจ้า ตรงนี้เป็นจุดเน้น หากนักเรียนมองผิดหรือไม่ทราบก็เป็นไปได้สูงที่จะเลือกคำตอบผิด

เข้าถึงเนื้อหา : พุทธจริยา 3 คือ กิจของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ 3 เรื่อง ได้แก่

โลกัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้าต่อชาวโลกภายหลังการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุข โดยมีจุดมุ่งเน้นสำคัญเพื่อชี้แนวทางสู่การดับทุกข์ เหล่านี้เห็นได้จากพุทธกิจ 5 ประการของพระพุทธเจ้าในแต่ละวัน

ญาตัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้าแก่พระญาติ เช่น การเสด็จไปกรุงกบิลพัสด์ุเพื่อโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา รวมถึงพระญาติองค์อื่นๆ การให้คำแนะนำแก่พระญาติฝ่ายบิดา (ศากยะ) และฝ่ายมารดา (โกลิยะ) ที่กำลังวิวาทกันด้วยเรื่องแย่งน้ำเพื่อการชลประทาน

พุทธัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้าในฐานะพระศาสดา เช่น การวางสิกขาบทให้กับพระภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาอุปสมบท การแนะนำให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ปฏิบัติตนถูกต้องในหน้าที่ของตน 

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาข้างต้นที่กล่าวมา กรณีการโปรดพระเจ้าพิมพิสาร จัดว่าอยู่ใน ตัวเลือกที่ 3 โลกัตถจริยา เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสารถือเป็นพระสหายสนิทของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ครั้นพระพุทธเจ้ายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่ใช่พระประยูรญาติ ดังนั้นจะตอบ ญาตัตถจริยา ไม่ได้ ทั้งนี้พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ ดังนั้นจึงถือเป็นบุคคลชาวโลก ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะโปรดพระเจ้าพิมพิสาร ท่านได้โปรดชฎิล 3 พี่น้อง ซึ่งเป็นนักบวชที่มีผู้นับถือตั้งแต่กษัตริย์ (รวมพระเจ้าพิมพิสาร) ขุนนาง คหบดี ประชาชนทั่วไปก่อน เพื่อให้พระเจ้าพิมพิสารเห็นถึงสัจธรรมของพุทธศาสนาที่ต่างไปจากความเชื่อที่นับถือกันมา และการที่พระพุทธเจ้าเลือกโปรดพระเจ้าพิมพิสาร เหตุผลหนึ่งก็เพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นกษัตริย์การที่พระองค์หันมาเลื่อมใสศรัทธาและนับถือพุทธศาสนา ก็จะเป็นแบบอย่างสำคัญในการให้คนทั่วไปในแคว้นมคธสนใจและหันมานับถือพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น จุดเน้นนี้จึงถือเป็นมุมมองการโปรดต่อชาวโลก ไ่ม่ได้เกี่ยวอะไรกับพระประยูรญาติของพระองค์

5) ตอบ ตัวเลือกที่ 3 5,000 บาท สำหรับใช้จ่ายในครอบครัว / 10,000 บาท ลงทุนทำการค้า / 5,000 บาท เก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็น **

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (หลักธรรม)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 62 ถามเกี่ยวกับเรื่องการประยุกต์ใช้หลักธรรมทางพุทธศาสนา หากถามว่ายากไหม จริงๆ ไม่ยากหรอก หากรู้เกี่ยวกับหลักธรรมที่โจทย์นำมาถาม แต่หากไม่รู้ก็แน่นอนอาจยากในการหาคำตอบ และที่สำคัญหลักโภควิภาคนี่ ข้อสอบเก่าแทบไม่เคยนำมาออกเลย ดังนั้นใครที่รู้และตอบได้ก็ถือว่าเก่งจริงมีความรอบคอบในการอ่านหนังสือทบทวนมาพอควร

เข้าถึงเนื้อหา : โภควิภาค หมายถึง หลักธรรมที่สอนให้เราแบ่งทรัพย์สินออกเป็น 4 ส่วน เพื่อชีวิตที่ไม่ขัดสนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต 4 ส่วนในที่นี้คิดเป็น 25% ต่อส่วน 

1 ส่วน ใช้เลี้ยงดูตน และคนที่ควรบำรุง เช่น สามี ภรรยา ลูกหลาน บุพการี และไว้ทำประโยชน์ เช่น ทำบุญ ทำทานในชีวิตประจำวัน

2 ส่วน ใช้ลงทุนเพื่อประกอบการงาน หาวิธีทำให้ออกดอกออกผล เช่น ลงทุนในกิจการที่เราถนัด ลงทุนในกองทุนรวม

1 ส่วน กันไว้เพื่อเป็นเงินฉุกเฉินในยามจำเป็น กรณีเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิด เช่น เกิดอุบัติเหตุ มีเหตุให้ต้องออกจากงาน

สรุปคำตอบ : จากสาระของหลักโภควิภาคที่กล่าวไป เราจึงสรุปได้ว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 3 5,000 บาท สำหรับใช้จ่ายในครอบครัว / 10,000 บาท ลงทุนทำการค้า / 5,000 บาท เก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็น คือ จาก 20,000 บาท 1 ส่วน (25%=5000) ใช้จ่ายในครอบครัว 2 ส่วน (50%=10000) ลงทุนทำการค้า และ 1 ส่วน (25%=5000) เก็บไว้ใช้ยามจำเป็น

6) ตอบ ตัวเลือกที่ 1 สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก (***)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (พระไตรปิฎก)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบวิชาสามัญ 59 ถามเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่พระไตรปิฎก ซึ่งสำหรับครูแป๊ปแล้วมองว่าโจทย์นี้มีความยากพอควร แม้จะมีเนื้อหาเรื่องนี้ แต่ถือว่าค่อนข้างเป็นจุดย่อยของเนื้อหามาก และมีโอกาสมากที่ผู้เข้าสอบอาจมองข้ามไม่ได้ทบทวนเนื้อหามา การหาคำตอบจะเป็นไปไม่ได้เลย หากเราไม่ได้มีพื้นฐานความรู้ในเรื่องนี้มาก่อน

เข้าถึงเนื้อหา : พระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ส่วนของพระไตรปิฎก สามารถแบ่งเป็นหัวข้อย่อยในการศึกษาได้ 5 หัวข้อ 

ที = ทีฆนิกาย แปลว่า หมวดยาว หมายถึง หมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดยาวไว้เป็นส่วนหนึ่งไม่ปนกับพระสูตรประเภทอื่น ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น 34 สูตร

ม = มัชฌิมนิกาย แปลว่า หมวดปานกลาง หมายถึง หมวดที่รวบรวมพระสูตรขนาดกลางไม่สั้นเกินไป ไม่ยาวเกินไป ในหมวดนี้มีพระสูตรรวม 152 สูตร

สัง = สังยุตตนิกาย แปลว่า หมวดประมวล คือ ประมวลเรื่องประเภทเดียวกันไว้เป็นหมวดหมู่ เช่น เรื่องมรรค เรียกว่า มัคคสังยุต เรื่องอินทรีย์ เรียกว่า อินทรียสังยุต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น 7,762 สูตร

อัง = อังคุตตรนิกาย แปลว่า หมวดยิ่งด้วยองค์ คือ จัดลำดับธรรมะไว้เป็นหมวดๆ ตามลำดับตัวเลข เช่น หมวดธรรมะข้อเดียว เรียก เอกนิบาต หมวดธรรมะสองข้อ เรียก ทุกนิบาต ในหมวดนี้มีพระสูตรรวมทั้งสิ้น 7,757 สูตร

ขุ = ขุททกนิกาย แปลว่า หมวดเล็กน้อย รวบรวมข้อธรรมที่ไม่จัดเข้าใน 4 หมวดข้างต้นมารวมไว้ในหมวดนี้ทั้งหมด

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาหมวดย่อยของพระสุตตันตปิฎกที่ได้กล่าวไป จะเห็นได้ทันทีว่า ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 1 สังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก

7) ตอบ ตัวเลือกที่ 5 มนุษยโลก เทวโลก และยมโลกสามารถมองเห็นพระพุทธเจ้า และมองเห็นกันและกันได้ (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : พุทธศาสนา (วันสำคัญทางพุทธศาสนา)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบ O-Net ปี 61 ถามเกี่ยวกับความหมายของวันเปิดโลก ซึ่งหากนักเรียนได้อ่านทบทวนเนื้อหามาบ้างก็จะทราบทันทีว่าโยงกับวันออกพรรษา อาจต้องระวังในการพิจารณาหาความหมายจากตัวเลือกบ้าง แต่องค์รวมก็ไม่ถือว่ายากเกินนัก ค่อยๆ ดูไปจะเห็นคำตอบ

สรุปคำตอบ : เมื่อพิจารณาจากความหมายในทุกๆ ตัวเลือกแล้ว ตัวเลือกที่สามารถกล่าวถึงความหมายหรือที่มาของชื่อวันเปิดโลกได้อย่างถูกต้องตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 มนุษยโลก เทวโลก และยมโลกสามารถมองเห็นพระพุทธเจ้า และมองเห็นกันและกันได้ ความหมายของวันเปิดโลก คือ การที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพรรษาที่ 7 ของพระองค์หลังจากที่เสด็จขึ้นไปแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดา (ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของปีในปฏิทินจันทรคติ หรือวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา-วันเทโวโรหณะ) ในโอกาสนั้นทรงสำแดง ฉัพพรรณรังสี เป็นเหตุให้โลก (ภูมิ) ทั้งหลายตั้งแต่พรหมภูมิ ไปจนถึงนรกภูมิ เปิดสว่างจนแลเห็นซึ่งกันและกันได้ ความหมายนี้จึงตรงชัดกับตัวเลือกที่ 5

8) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 พระเจ้าในฐานะที่ปรากฏทางจิตวิญญาณของมนุษย์คอยกระตุ้นให้มนุษย์ทำความดี (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาคริสต์ (หลักคำสอน)

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ที่ครูแป๊ปเพิ่ม 1 ตัวเลือกจากข้อสอบ entrance ระบบเก่า มี.ค. 43 ถามถึงความหมายของพระจิตตามหลักคริสต์ศาสนา การหาคำตอบนักเรียนควรทราบก่อนว่าพระจิต โยงกับหลักคำสอนเรื่องใดของศาสนา เมื่อโยงได้แล้ว นักเรียนจะทราบทันทีว่าพระจิตสื่อความหมายตามตัวเลือกใด

เข้าถึงเนื้อหา : คำว่าพระจิต เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักตรีเอกานุภาพ ซึ่งเชื่อว่าพระเจ้ามี 3 ภาคในองค์เดียวกัน

พระบิดา หมายถึง พระยะโฮวาห์ พระเจ้าผู้สถิตอยู่ในสวรรค์ ผู้สร้างโลกและสรรพสิ่ง รวมถึงมนุษย์

พระบุตร หมายถึง พระเยซูคริสต์ พระบุตรของพระเจ้าผู้เสด็จมาในโลกเพื่อไถ่บาปแก่มนุษย์ผู้หลงผิดให้กลับคืนไปหาพระเจ้าได้ เราจึงเรียกพระองค์ในอีกชื่อหนึ่งว่า พระผู้ไถ่บาป (Messiah)

พระจิต หมายถึง พลังอำนาจของพระเจ้าที่แสดงออกต่อมนุษย์เพื่อดลบันดาลให้มนุษย์กลับใจมาประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพระเจ้า (กระทำดี) หรือในอีกความหมายหนึ่ง คือ พระวิญญาณอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าที่สถิตในมนุษย์ทุกคน

สรุปคำตอบ : จากเนื้อหาที่กล่าวมา เมื่อเรานำมาโยงกับตัวเลือก จะเห็นได้ว่าตัวเลือกที่อธิบายความหมายของคำว่าพระจิตตามหลักตรีเอกานุภาพได้ถูกต้อง ตรงกับ ตัวเลือกที่ 2 พระเจ้าในฐานะที่ปรากฏทางจิตวิญญาณของมนุษย์คอยกระตุ้นให้มนุษย์ทำความดี 

ตัวเลือกที่ 1 >> คำว่า พระเยซู สื่อชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับพระบุตรตามหลักตรีเอกานุภาพ

ตัวเลือกที่ 3 >> ผิดที่คำว่า จิตของมนุษย์ ตามหลักตรีเอกานุภาพ จิตในที่นี้คือ จิตของพระเจ้าที่สถิตในตัวเรา ดลบันดาลให้เรากระทำดีเสมอ

ตัวเลือกที่ 4 >> อธิบายไม่ตรง ตามความหมายของคำว่า พระจิต ตามหลักตรีเอกานุภาพ

ตัวเลือกที่ 5 พลังแห่งการกระทำของมนุษย์อันมีผลสืบเนื่องจากจิตที่สั่งสมมาจากอดีตและการดลบันดาลจากพระเจ้า >> มาจากการดลบันดาลของพระเจ้าถูก แต่ผิดที่สั่งสมมาจากอดีต ในความหมายนี้โยงกับจิตตามหลักพุทธศาสนาซึ่งสัมพันธ์กับเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดมากกว่า

9) ตอบ ตัวเลือกที่ 2 ไม่ผิด เพราะเป็นการรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม (**)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาอิสลาม (หลักคำสอน) 

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้เป็นโจทย์ข้อสอบเก่า มี.ค. 42 ซึ่งครูแป๊ปได้เพิ่มตัวเลือกเข้าไป 1 ตัวเลือก โดยกำหนดสถานการณ์ให้ จากนั้นถามให้ตัดสินการกระทำตามหลักศาสนาอิสลาม แน่นอนว่าหากนักเรียนเป็นชาวมุสลิม คงไม่ยากในการหาคำตอบ เพราะเป็นหลักพื้นฐานอยู่แล้ว แต่หากนับถือศาสนาอื่น และไม่เข้าใจแก่นของมุสลิมมากนัก ก็เป็นไปได้ที่ข้อนี้จะยากสำหรับนักเรียน

สรุปคำตอบ : ในหลักศาสนาอิสลาม หากมีผู้อื่นมาทำร้ายเราโดยไม่มีเหตุผลแล้วเราสู้ตอบโต้ ผลการกระทำจะตรงตามตัวเลือกที่ 2 ไม่ผิด เพราะเป็นการรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม การรักษาความยุติธรรมที่ว่านี้คือการรักษาความยุติธรรมให้กับตนเอง ตามคำสอนของศาสนาที่ว่า “หากถูกรุกรานก็จงลุกขึ้นต่อสู้” เป็นไปตามหลักการช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม (การกระทำที่ไม่ยุติธรรม) และปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และดินแดนของตน ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน

ตัวเลือกที่เหลือ >> สรุปคำตอบโดยโยงกับหลักคำสอนของศาสนากับประเด็นที่โจทย์ถามไม่ถูกต้อง

10) ตอบ ตัวเลือกที่ 4 เรื่องการมีอยู่ของเทพเจ้าและเทวดา (*)

เนื้อหาที่ใช้ถาม : ศาสนาเปรียบเทียบ

วิเคราะห์ข้อสอบ : โจทย์ข้อนี้ครูแป๊ปนำมาจากข้อสอบเดือน มี.ค. 48 โดยเพิ่ม 1 ตัวเลือกถามหาความเชื่อที่สอดคล้องกันของ 4 ศาสนาสากล ไม่ยากเกินไป วิเคราะห์ตัวเลือกเชื่อมกับลักษณะเด่นของแต่ละศาสนาแล้วตัดออกทีละตัวเลือก ไม่นานนักเรียนจะได้คำตอบ

วิเคราะห์ตัวเลือก

ตัวเลือกที่ 1 เรื่องวันสิ้นโลก >> ปรากฏเฉพาะในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และหลักศรัทธาในวันพิพากษาของศาสนาอิสลาม แต่ไม่ปรากฏในความเชื่อทางพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ตัวเลือกที่ 2 เรื่องพรหมลิขิต >> ปรากฏเฉพาะศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาคริสต์และอิสลามเชื่อเรื่องพระเจ้าลิขิต (คริสต์-ยะโฮวาห์ / อิสลาม-อัลลอฮ) ศาสนาพุทธเชื่อเรื่องกรรมลิขิต (ทุกอย่างเกิดจากการกระทำของตน)

ตัวเลือกที่ 3 เรื่องพระเจ้าสร้างโลก >> ไม่ปรากฏในพุทธศาสนา

ตัวเลือกที่ 5 เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด >> ปรากฎเฉพาะในหลักคำสอนของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนา แต่สำหรับศาสนาคริสต์และอิสลามแล้ว จะเชื่อว่าเกิดชาติเดียว ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด

สรุปคำตอบ : ความเชื่อที่สอดคล้องกันใน 4 ศาสนา คือ ตัวเลือกที่ 4 เรื่องการมีอยู่ของเทพเจ้าและเทวดา ในกรณีของศาสนาประเภทเทวนิยม เช่น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม นักเรียนคงเห็นความเชื่อนี้ได้ชัดเจนอยู่แล้ว (ของศาสนาอิสลาม ยังปรากฏจากหลักศรัทธาในเทวทูต ซึ่งเรียกกันว่า มลาอิกะห์ ด้วย) สำหรับพุทธศาสนาแม้จะไม่มีคำสอนเรื่องพระเจ้าโดยตรง แต่เรื่องของเทพและเทวดาต่างๆ พุทธศาสนามีความเชื่อนี้ เช่นแนวคิดพระโพธิสัตว์ (เห็นชัดในนิกายมหายาน) คติไตรภูมิ (สวรรค์-นรก ตามความเชื่อของพุทธศาสนา) ซึ่งกล่าวถึง เทวดา อสูรกาย เปรต ฯลฯ โดยเทวดาที่ชาวพุทธน่าจะรู้จักกันดีที่สุด คือ พระอินทร์ 

จบการเฉลยชุดที่ 3
If you like, please share this!