Economics หรือเศรษฐศาสตร์ จัดเป็นสาระการเรียนรู้ที่ 3 ในวิชาสังคมศึกษา ถือเป็นสาระการเรียนรู้ที่เนื้อหาไม่เยอะมากนัก แต่มีความยากในบางบท มีคำสำคัญที่จะต้องเรียนรู้ต้องเข้าใจพอสมควร เวลาพวกข้อสอบเข้าออกสาระนี้ สามารถทำให้ยากจนแทบจะมองไม่เห็นคำตอบเลยสำหรับผู้ทำข้อสอบที่ไม่เข้าใจใน concept หรือมีความรู้พื้นฐานในเรื่องที่ข้อสอบนั้นถาม แต่ถ้าหากออกให้ง่ายก็จะง่ายไปเลยเนื่องจากสาระเศรษฐศาสตร์เน้นออกตาม concept เนื้อหา หากเข้าใจก็ทำได้แน่นอน
ปกติครูแป๊ปจะแบ่งเนื้อหาของสาระเศรษฐศาสตร์ออกเป็น 3 บทใหญ่ๆ คือ ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์และระบบเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์จุลภาค และเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยในบทเศรษฐศาสตร์จุลภาคจะแยกเป็น 2 เนื้อหาย่อย คือ การบริหารจัดการทรัพยากร (ครอบคลุมเรื่อง การผลิต การบริโภค) และกลไกราคา ส่วนเศรษฐศาสตร์มหภาคจะแยกเป็น 3 เนื้อหาย่อย คือ การเงินการคลัง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการพัฒนาเศรษฐกิจ (เรื่องสหกรณ์และเศรษฐกิจพอเพียง รวมอยู่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ)
อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่ครูแป๊ปแบ่งนี้ อาจแตกต่างจากที่กระทรวงศึกษาธิการลำดับเวลามาทำหนังสือเรียน แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องเรียนหมดตามนี้แน่นอน ทั้งนี้เวลาข้อสอบออกจะมีสัดส่วนการออกจะเทไปที่เศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาคเป็นหลัก แต่อย่างที่บอกไปข้างต้น เนื่องจากสาระนี้เนื้อหาไม่เยอะ อยากให้นักเรียนทุกคนอ่านทำความเข้าใจในเนื้อหาให้ครบ เพราะเนื้อหาในแต่ละบทของสาระนี้มันเชื่อมโยงกันได้หมด เช่น เราสามารถใช้ Concept เรื่องกลไกราคา มาทำความเข้าใจเรื่องการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนในบทเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้
ทักษะสำคัญที่ควรมีเพื่อใช้พิชิตข้อสอบสาระเศรษฐศาสตร์ คือ การทำความเข้าใจกับศัพท์เฉพาะหรือ Concept พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เช่น อุปสงค์ส่วนเกิน การกำหนดราคาขั้นต่ำ อัตรารับช่วงซื้อลด เงินคงคลัง ทุนสำรองระหว่างประเทศ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเบื้องต้น เนื่องจากข้อสอบมักชอบนำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาถามอยู่บ่อยครั้ง หากเราไม่เข้าใจ ก็ยากที่จะทำข้อสอบข้อนั้นได้ อีกทักษะที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ทักษะการอ่านและเขียนกราฟเรื่องกลไกราคา เนื่องจากหลังๆ มานี้ข้อสอบหยิบประเด็นนี้มาออกพอสมควร หากเข้าใจกราฟ และสามารถอ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ผ่านกราฟได้ ก็ถือว่ามีชัยในการทำข้อสอบสาระนี้ไปได้มากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว และเช่นเดียวกับสาระหน้าที่พลเมือง ข้อสอบสาระเศรษฐศาสตร์มักชอบถามโดยโยงกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ การติดตามข่าวสาร อ่านบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจบ้าง ก็จะช่วยให้มีพื้นความรู้ที่ดีในการพิชิตข้อสอบลักษณะเช่นนี้ได้
ใน Learn form Quiz ครูแป๊ปจะแยกข้อสอบของสาระเศรษฐศาสตร์ออกมาเป็นเนื้อหาใหญ่ๆ ดังนี้
- ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์และระบบเศรษฐกิจ
- เศรษฐศาสตร์จุลภาค
- การบริหารจัดการทรัพยากร (การผลิต+การบริโภค)
- กลไกราคา
- เศรษฐศาสตร์มหภาค
- การเงินการคลัง
- เศรษฐกิจระหว่างประเทศ
- การพัฒนาเศรษฐกิจ (รวมเรื่องสหกรณ์+เศรษฐกิจพอเพียง)