#1. ค่านิยมใดที่คนในสังคมไทยยังให้ความสำคัญน้อย แต่มีความจำเป็นต้องรณรงค์ให้มีขึ้นเนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน *
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ ตรงกับตัวเลือกที่ 5 ความยุติธรรมเสมอภาค
เห็นได้ชัดจากหลายๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมานี้ เช่น กระบวนการยุติธรรมที่ไร้ความยุติธรรม มีการเลือกข้างในการตัดสินคดีต่างๆ อย่างชัดเจน ความเสมอภาคทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีน้อยถึงน้อยมาก โดยค่านิยมดังกล่าวถือเป็นค่านิยมที่สำคัญอย่างมากต่อสังคมเรา ซึ่งพยายามบอกตัวเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่รากฐานความคิดกลับไม่มีเลย ซ้ำร้ายยังมีบางคนกลับไปเน้นย้ำด้วยว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะสมกับสังคมเรา ซึ่งแน่นอนว่าหากคิดเช่นนี้การสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืนก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
สามารถดูเหตุผลหักล้างตัวเลือกที่ไม่ใช่คำตอบได้เพิ่มเติม ผ่านหน้า Answer Key C-2 นะครับ
#2. ข้อใดบ่งชี้ว่าสังคมไทยมีแนวโน้มไปสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น ***
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 2 คนมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้นซึ่งเราจะพิจารณาได้จากระบบความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมไทยทุกวันนี้ ซึ่งนับวันจะมีแต่ความห่างเหิน การพึ่งพาต่อกันมีลดน้อยลง ผู้คนหันไปหาวัตถุ มองเทคโนโลยีต่างๆ อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอโทรศัพท์มือถือของตนเองมากขึ้น ความผูกพันทางจิตใจที่เคยมีแน่นแฟ้นในครอบครัว ตลอดจนในสังคมหน้าที่การงานก็เริ่มเลือนหายไป เหล่านี้ล้วนแต่บ่งบอกความเป็นปัจเจกชน (เน้นการอยู่ตัวคนเดียว ให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าสังคม) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การดำเนินชีวิตในสังคมเมือง
สามารถอ่านเหตุผลหักล้างตัวเลือกที่ไม่ใช่คำตอบได้เพิ่มเติมผ่านหน้า Answer Key C-2
#3. ข้อใดไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการผสมผสานวัฒนธรรมสากลให้เข้ากับวัฒนธรรมไทย (O-Net 61) **
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์ข้อนี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 วัฒนธรรมสากลต้องไม่ขัดแย้งต่อค่านิยม และความเชื่อเดิมที่มีอยู่ เพราะในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่การรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาแล้วจะไม่ขัดแย้งกับความเชื่อและค่านิยมเดิม โดยความขัดแย้งดังกล่าวหากเป็นเรื่องที่ดี สร้างสรรค์ ก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมเรา ก็นับเป็นการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ เช่น การรับวัฒนธรรมประชาธิปไตยจากโลกตะวันตกเข้ามา ซึ่งอาจจะขัดแย้งกับความเชื่อเดิมในเรื่องการแบ่งชนชั้น ความไม่เท่าเทียมในสังคม จากลักษณะสังคมแบบศักดินาของไทย แต่ก็ส่งผลให้สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความเสมอภาค สิทธิและเสรีภาพของบุคคลเพิ่มขึ้น
#4. ข้อใดแสดงถึงจุดอ่อนของรูปแบบรัฐบาลนั้นๆ ไม่ถูกต้อง *
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 อำนาจนิยม : มีโอกาสที่สังคมจะขาดระเบียบและกฎกติกา โดยรูปแบบรัฐแบบอำนาจนิยม เป็นโครงสร้างหนึ่งของการปกครองแบบเผด็จการ มีลักษณะเป็นเผด็จการทหารเน้นที่การควบคุมอำนาจทางการเมือง ซึ่งถ้านักเรียนมองให้ดีรูปแบบรัฐเช่นว่านี้ ก็ใกล้เคียงกับรูปแบบรัฐไทยในปัจจุบัน (ค.ศ. 2020) แม้เราจะได้รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งมา แต่หากเราใจเป็นกลางพอก็จะรู้ได้ว่ากลไกของกฎหมายต่างๆ มันมิใช่ประชาธิปไตยแม้แต่น้อย ท้ายสุดกลุ่มทหารที่มาจากการรัฐประหารก็ยังคงปกครองเราภายใต้พรรคการเมืองที่เขาสร้างมันขึ้นมานั่นเอง (ไม่ต้องบอกก็รู้ใช่ไหมว่า พรรคอะไร?) แล้วเมื่อเรามองไปที่กฎระเบียบ กติกาต่างๆ นักเรียนเห็นว่าเป็นอย่างไร? มันขาดหรือ? แน่นอนว่าไม่ ในทางตรงข้ามบ้านเมืองเราเต็มไปด้วยกฎที่มาจากรัฐบาลประชาธิปไตยในกรอบอำนาจนิยม ดังนั้นชัดเจนเลยว่าจุดอ่อนของรูปแบบรัฐแบบอำนาจนิยมย่อมไม่ใช่ การขาดระเบียบและกฎกติกา แน่นอน
นักเรียนสามารถอ่านเหตุผลหักล้างตัวเลือกที่ไม่ใช่คำตอบเพิ่มเติมได้ที่ Answer Key C-2
#5. การที่ระบอบประชาธิปไตยจะหยั่งรากลึกในสังคมการเมืองหนึ่งๆ อย่างกว้างขวาง เข้มแข็ง มั่นคง และไม่ถอยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการได้ง่ายๆ ต้องอาศัยปัจจัยใดเป็นเงื่อนไขสำคัญ (สามัญ 62) *
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 4 การพัฒนาหลักประชาธิปไตยให้กลายเป็นวิถีชีวิตของทั้งสังคม เนื่องจากเมื่อหลักประชาธิปไตยกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมแล้ว จิตสำนึกในเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงการยอมรับในความคิดที่แตกต่างกัน มันก็จะเกิดขึ้น เมื่อคนตระหนักในวิถีประชาธิปไตยเหล่านี้แล้ว การที่จะเปลี่ยนการปกครองของประเทศกลับไปสู่เผด็จการ จึงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทุกคนรู้ดีว่า หากกลับไปวิถีเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
#6. ข้อใดไม่ใช่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (สามัญ 61) *
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 1 การตรากฎกระทรวง ตามรัฐธรรมนูญแล้ว การตรากฎกระทรวงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงนั้นๆ ที่จะตราขึ้น เมื่อตราแล้วให้เสนอร่างต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติ ก็สามารถประกาศร่างกฎกระทรวงนั้นเป็นกฎหมายได้ โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
#7. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้องเกี่ยวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ **
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ คือ ตัวเลือกที่ 4 เป็นข้อตกลงพหุภาคีระดับสากลที่มีผลบังคับใช้ผูกพันกับรัฐที่ร่วมลงนาม เนื่องจากปฏิญญาฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันกับรัฐที่ร่วมลงนาม แต่ประเทศที่ร่วมลงนามจะถือเป็นพันธกรณีที่ต้องให้ความร่วมมือและปฏิบัติตาม
ดูเหตุผลหักล้างตัวเลือกอื่นๆ ได้เพิ่มเติมผ่านหน้า Answer Key C-2 นะครับ
#8. ข้อใดต่อไปนี้ไม่ใช่เนื้อหาในส่วนของกฎหมายวิธีสบัญญัติ **
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์ข้อนี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 5 คำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วสามารถถวายฎีกาเพื่อให้มีการพิจารณาคดีใหม่ได้ โดยข้อความนี้เป็นข้อความที่ไม่ถูกต้องจุดที่ผิด คือ คำพิพากษาที่ถึงที่สุด ตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความไม่ว่าจะอาญาหรือแพ่ง เมื่อถึงที่สุดแล้ว คือ จบ ไม่สามารถจะอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆ ได้อีกต่อไป ข้อความสนับสนุนชัดเจนในคำที่กล่าวนี้ เช่น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์มาตรา 147 ระบุว่า “คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป คำพิพากษาหรือคำสั่งใดซึ่งอาจอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้น ถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกา หรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง…..”
#9. ข้อใดเป็นการทำสัญญาเช่าทรัพย์ที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย (O-Net 62) **
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับ ตัวเลือกที่ 3 เด็กชายไก่ได้เข้าไปใช้บริการคอมพิวเตอร์ในร้านอินเทอร์เน็ตของนายไข่ที่คิดค่าบริการชั่วโมงละ 20 บาท เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำในตัวเลือกนี้เป็นเพียงตัวเลือกเดียวใน 5 ตัวเลือกที่มีการจ่ายค่าเช่าอย่างชัดเจน เป็นไปตามลักษณะสำคัญของสัญญาเช่าทรัพย์ที่ระบุว่า สัญญาเช่าทรัพย์เป็นสัญญาต่างตอบแทน เนื่องจากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีหนี้ตอบแทนกัน กล่าวคือ ผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าได้ใช้สอยหรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่าโดยได้รับค่าเช่าเป็นการตอบแทน ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายผู้เช่าซึ่งเมื่อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่า
#10. ผู้กระทำความผิดในข้อใดไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายไทย ***
ตัวเลือกที่เป็นคำตอบของโจทย์นี้ตรงกับตัวเลือกที่ 1 นายเอ ลักทรัพย์ผู้โดยสารบนเครื่องบินญี่ปุ่น ขณะจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรค 2 ว่า “การกระทำความผิดบนเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร” กรณีดังกล่าวตรงกับตัวเลือกที่ 2-5 แต่ตัวเลือก 1 ระบุว่า บนเครื่องบินญี่ปุ่น ดังนั้นจึงถือเป็นอากาศยานของต่างชาติ ไม่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายไทย การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผิดตามกฎหมายไทย แต่จะไปผิดตามกฎหมายญี่ปุ่นแทน
Results
เย้…! คะแนนของแบบทดสอบในสาระหน้าที่พลเมืองชุดนี้ของผู้เข้าทดสอบผ่านเกณฑ์ 60% แล้วครับ ยังไงก็หมั่นทบทวน เรียนรู้อยู่เสมอ แล้วมาทำแบบทดสอบร่วมกันอีกนะครับ
ว้า..! คะแนนของแบบทดสอบในสาระหน้าที่พลเมืองชุดนี้ของผู้เข้าทดสอบยังไม่ผ่านเกณฑ์ 60% นะครับ แต่อย่าเพิ่งท้อไปนะครับ กลับไปทบทวนกันใหม่ โดยเฉพาะจุดที่เราผิดพลาด และมาทำแบบทดสอบอีก ต้องผ่านแน่นอนครับ